วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

สํารวจลูกน้อย ด้วยอัลตร้าซาวนด์ 4 มิติ


สํารวจลูกน้อย ด้วยอัลตร้าซาวนด์ 4 มิติ

ความตื่นเต้นของคุณแม่อย่างหนึ่งในช่วงตั้งครรภ์ ก็คือการได้เห็นความเป็นไปของลูกในท้องโดยการตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งปัจจุบันอัลตร้าซาวนด์ได้พัฒนาขึ้นมาก จนสามารถดูภาพของลูกในท้องแบบเคลื่อนไหวได้ เสมือนดูภาพยนตร์ ด้วยการตรวจอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติ ฉบับนี้ พญ.ฐิตินันท์ ตัณสถิตย์ สูติ-นรีแพทย์ จะเป็นผู้อธิบายถึงการตรวจอัลตร้าซาวนด์ 4 มิติ ให้ได้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ

อัลตร้าซาวนด์ 4 มิติ คืออะไร?
อัลตร้าซาวนด์ เป็นการตรวจครรภ์โดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกไปจากหัวตรวจ จากนั้นคลื่นเสียงที่ไปกระทบเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกาย จะสะท้อนกลับมายังตัวเครื่อง หัวตรวจก็จะรับสัญญาณคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับนํามาประมวลผลและแปลงเป็นภาพ

การอัลตร้าซาวนด์ตรวจการตั้งครรภ์ แบ่งออกเป็น
- แบบ 2 มิติ เป็นการอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูความสมบูรณ์หรือความผิดปกติของทารก ภาพที่แสดง จะมีเพียงความกว้างและความยาว
- แบบ 3 มิติ ภาพที่ปรากฏนอกจากจะมีความกว้างและความยาวแล้ว ยังเพิ่มมิติของความลึกหรือความหนา ทําให้ภาพนั้นเสมือนวัตถุจริง
- แบบ 4 มิติ จะเหมือนแบบ 3 มิติ แต่เพิ่มมิติของเวลาเข้ามา ทําให้เห็นภาพเสมือนเหตุการณ์จริงที่กําลังเกิดขึ้นภายในท้องของคุณแม่ (Real Time) ซึ่งจะดีกว่าแบบ 3 มิติ ที่ได้เห็นแค่รูปลักษณ์ หน้าตา หรือแขนขา แต่แบบ 4 มิติจะได้เห็นว่าตอนอยู่ในท้องทารกทําอะไรบ้าง เช่น ดูดนิ้ว ยิ้ม แลบลิ้น เป็นต้น

ความจําเป็นของการอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติ
โดยทั่วไป การอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติ มักจะทําเพื่อความเพลิดเพลิน เนื่องจากการอัลตร้าซาวนด์แบบ 2 มิติก็สามารถดูอวัยวะภายในและความ ผิดปกติของทารกได้เกือบหมดแล้ว แต่มีงานวิจัยบางชิ้นที่ใช้แบบ 4 มิติ เพื่อดูว่าตอนที่ทารกอยู่ในท้องมีปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งต่างๆ อย่างไรบ้าง

เนื่องจากการอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติ จะมีหลายเมนู เช่น โหมด Surface จะประมวลผลมาเป็นภาพพื้นผิว เห็นใบหน้า จมูก ปาก ว่าเป็นอย่างไร แต่จะไม่สามารถบอกได้ว่าข้างในมีความผิดปกติ เช่น เพดานโหว่ หรือมีอาการลําไส้อุดตันหรือไม่ ต้องใช้แบบ 2 มิติดู แต่การอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ เข้าใจมากขึ้นจากการดูแบบ 2 มิติ ในกรณีที่ทารกมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ หรือเนื้องอกที่ผิวบางชนิด เมื่อประมวลออกมาเป็นภาพ 4 มิติแล้ว ก็จะเห็นรายละเอียดมากขึ้นในลักษณะหลายระนาบว่ามีความผิดปกติที่ใดบ้าง

อายุครรภ์กับการอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติ
หากเป็นการอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูความผิดปกติของครรภ์ ควรตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 4-5 เดือน (หรือในช่วง 18-22 สัปดาห์) เพราะอวัยวะต่างๆ มีครบหมดแล้ว

ทุกช่วงของอายุครรภ์สามารถทําการตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์ 4 มิติได้ ในช่วงอายุครรภ์น้อยๆ จะช่วยให้ สามารถมองเห็นภาพของทารกทั่วร่างกาย แต่เนื่องจากอัลตร้าซาวนด์เป็นคลื่นเสียง ไม่สามารถผ่านของแข็งหรืออากาศได้ดี แต่สามารถผ่านน้ำได้ดี ช่วงที่เหมาะกับการอัลตร้าซาวนด์แบบ 4 มิติ ก็คือช่วงที่น้ำคร่ำเยอะที่สุด ในระยะ 28-30 สัปดาห์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคน บางคนตั้งแต่ 25 สัปดาห์ขึ้นไป เด็กก็จะเริ่มตัวโต ดูน่ารัก และถ้าอายุครรภ์มากๆ 30 สัปดาห์ขึ้นไป ภาพก็จะออกมาสวยและชัดขึ้น แต่ในช่วงนี้เด็กจะตัวใหญ่และตัวอ้วนขึ้นแล้ว น้ำคร่ำก็จะน้อยลง ภาพที่ออกมาก็มีโอกาสที่จะไม่อยู่ในท่าทางที่จะตรวจได้ อายุครรภ์ที่เหมาะสมจึงอยู่ในช่วงตั้งแต่ 25-34 สัปดาห์

สําหรับการตรวจครรภ์แฝดซึ่งเด็กจะอยู่กันค่อนข้าง แน่นในรก โอกาสที่จะเห็นแบบ 4 มิติ จึงมีน้อยมาก ยกเว้นจะเกิดความผิดปกติของเส้นเลือดที่รก ทําให้เกิดภาวะที่แฝดคนหนึ่งตัวเล็ก แต่อีกคนหนึ่งตัวใหญ่หรือบวมน้ำ ช่วงที่เหมาะกับการตรวจอัลตร้าซาวนด์ 4 มิติของการตั้งครรภ์แฝด คือช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์

ทั้งนี้ การตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงจึงไม่มีอันตรายหรือผลกระทบ ต่อทารก แต่การตรวจต้องใช้ค่าใช้จ่าย คุณหมอจึงมักจะให้ตรวจอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าการอัลตร้าซาวนด์จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าทารก จะปกติ แต่ก็สามารถลดความกังวลของคุณแม่ พร้อมๆกับเติมรอยยิ้มให้คุณแม่ยามที่ได้เห็นลูกในท้องได้

พญ.ฐิตินันท์ ดัณสถิตย์

ขอบคุณ : โรงพยาบาลพระราม 9



ที่มา
http://www.motherandcare.in.th/

สามเรื่องกังวลสำหรับคนท้อง

สามเรื่องกังวลสำหรับคนท้อง

ความเครียดและความกังวลช่วงตั้งท้องเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ซึ่งคุณแม่อาจกังวลเกี่ยวกับการทำงาน รูปร่าง หรือลูกในท้อง คุณแม่จึงควรรับมือกับความกังวลเหล่านี้และหาวิธีผ่อนคลายอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องค่ะ

1. กังวล เรื่องการทำงาน
ในช่วงที่ตั้งท้อง คุณแม่ที่ต้องทำงาน อาจต้องพบกับภาวะกดดันและความเครียดจากการทำงาน แต่คุณแม่ก็ต้องแบ่งเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว และแบ่งเวลาสำหรับตัวเองให้ดีเพื่อที่จะได้ไม่กระทบกระเทือนต่อลูกน้อยในท้อง เพราะความเครียดนอกจากจะทำให้คุณแม่ไม่สบายใจแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพทางกาย เช่น ทำให้อ่อนล้า ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร เป็นต้น การหยุดพักจากการทำงานชั่วคราว และออกไปเดินเล่น ดูหนังหรือฟังเพลงจะช่วยคลายความเครียดลงได้

2. กังวล เรื่องรูปร่าง
ช่วงตั้งท้อง ร่างกายและฮอร์โมน ในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้อารมณ์ของคุณแม่แปรปรวนและเกิดความกังวล ทั้งเรื่องการแพ้ท้อง รอบเอวที่ขยายขึ้น รูปร่างและผิวที่เปลี่ยนแปลงไป และกังวลว่าหลังคลอดลูกแล้วรูปร่างจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้น ในช่วงตั้งท้องต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ควรกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือกินมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ลดน้ำหนักยากในช่วงหลังคลอด

โดยปกติแล้ว ถ้าน้ำหนักตัวที่เพิ่มในขณะตั้งครรภ์อยู่ในภาวะสมดุล น้ำหนักตัวจะกลับสู่ภาวะเดิมภายใน 2 เดือนหลังคลอด ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้น้ำหนักตัวกลับสู่ภาวะเดิมได้เร็วขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ควรคำนึงถึงการรักษาสุขภาพและหลักการกินอาหารที่ ถูกต้องทั้งระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดแล้ว เพื่อคุณแม่จะได้มีความสุขกับการตั้งครรภ์และลูกจะได้แข็งแรงเติบโตสมวัย

3. กังวล เรื่องลูก
คุณแม่ท้องเกือบทุกคนมักจะกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกในท้อง เช่น กังวลว่าลูกจะไม่สมบูรณ์ ลูกจะไม่โตตามอายุครรภ์ เป็นต้น หรือบางครั้งคนรอบข้างอาจแนะนำหรือเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวระหว่างท้องด้วยความหวังดีแต่กลับทำให้วิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งคุณแม่สามารถกำจัดความกังวลเหล่านี้ได้โดยการปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ด้วย เพื่อขอ คำแนะนำและการช่วยเหลือที่เหมาะสม และคุณหมออาจตรวจความผิดปกติของทารก ในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ ก็จะช่วยให้คลายความกังวลได้

รับมือกับความกังวลอย่างไร?
หากมีความกังวลนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ลองใช้วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คลายความกังวลระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนี้

พูดคุยอย่างเปิดเผย การเล่าความกังวลหรือปัญหาให้คนที่ไว้ใจ เช่น สามี ครอบครัว หรือเพื่อนสนิทฟัง อาจทำให้รู้สึกดีและสบายใจขึ้น และอาจได้รับคำแนะนำที่ดีในการแก้ปัญหาด้วย

หาสาเหตุของความเครียด เช่น ปัญหาในครอบครัว ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งบางครั้งคุณแม่อาจรับภาระหน้าที่เกินกำลังที่จะทำได้ ดังนั้น ควร แบ่งเบางานบางอย่างให้คนอื่นบ้าง หรืออาจจัดลำดับความสำคัญของงาน เพื่อจะได้ค่อยๆ ทำงานเหล่านั้นให้เสร็จตามลำดับก่อน-หลัง

อาบน้ำลดความเครียด จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย หลังอาบน้ำ อาจนอนหลับหรืองีบพักผ่อนก็จะทำให้คุณแม่ได้พักทั้งร่างกายและจิตใจ

นอกจากนี้ การกินอาหารเต็มที่และครบถ้วนจะช่วยเสริมพลังให้ร่างกาย ต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และในการทำงานต่างๆ ด้วย

TIP การผ่อนคลายโดยการฝึกสมาธิ เป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่ท้องสามารถปฏิบัติได้ทุกที่และทุกเวลา โดยการนั่งหลับตา พยายามปล่อยกล้ามเนื้อทุกส่วนให้ผ่อนคลาย กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ หายใจเข้าจนหน้าท้องป่องออก แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อไหล่และคอพร้อมกับปล่อยลมหายใจออกช้าๆ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนรู้สึกผ่อนคลายความกังวล


ที่มา
http://www.motherandcare.in.th/

หลังคลอดแล้วไร้อารมณ์ร่วมรัก จริงหรือ

หลังคลอดแล้วไร้อารมณ์ร่วมรัก จริงหรือ


มีผู้กล่าวว่าหลังคลอด จะเริ่มทำให้ชีวิตคู่ห่างเหินมากเพราะไร้อารมณ์ จริงหรือ

มีคนกล่าวเรื่องตลกบนความเศร้าเคล้าความจริงว่า “ถ้าอยากให้เธอหยุดร่วมรักกับคุณ ก็จงรีบให้เธอมีลูกเสียสิ” อยากจะหัวเราะ แต่น้ำตาแทบหยดทั้งสองฝ่าย กับคำที่บอกว่า เหนื่อย ไม่ว่าง ลูกจะตื่น ฯลฯ เป็นข้ออ้างหรือเปล่า เธอพูดจริง หรือเธอหมดรักคุณแล้ว ทำไมต้องอ้างแต่ลูก แล้วผมหละทำไมเธอต้องปฏิเสธ… มาดูกันดีกว่า การที่เธอปฏิเสธคุณมันต้องมีสาเหตุแน่นอน แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร

กลัวเจ็บแผล กลัวแผลแยก
ในชีวิตจริง นี่คือสิ่งที่ทุกคนกลัว ไม่ว่าจะคลอดเองตามธรรมชาติทางช่องคลอด หรือผ่าตัดเอาลูกออกทางหน้าท้อง ก็ย่อมมีแผลที่เย็บไว้ แต่แผลจะหายเมื่อไร แล้วจะมีปัญหาไหม นี่คือความกริ่งเกรงกลัวในใจของคนที่มีแผลทุกคน

ธรรมชาติคือ แผลเย็บทั้งหลายมักจะสมานดีหายได้ไม่ปริแยกจากกันใน 10-14 วัน ส่วนใหญ่การตัดไหมมักจะทำในวันที่ 7 หลังผ่าตัด แผลที่ฝีเย็บตรงปากช่องคลอดมักใช้ไหมละลาย ซึ่งจะละลายไปเองใน 1-2 เดือนแล้วแต่ลักษณะของไหมที่ใช้

ดังนั้นก็คือ ถ้าไม่รู้สึกเจ็บร้าวระบมที่แผลเมื่อไร ก็ไม่ได้ห้ามที่จะร่วมรักกัน คุณสามีก็ควรลองถามไถ่ภรรยาอย่างห่วงใยบ้างว่ายังเจ็บแผลอยู่ไหม


กลัวการติดเชื้อ
ในชีวิตจริง หลังคลอดจะมีเลือดออกจากโพรงมดลูกตรงส่วนที่รกเคยเกาะและลอกตัวออกไปหมดแล้ว เรียกเลือดที่ออกนี้ว่าน้ำคาวปลา

ธรรมชาติคือ ใน 2-3 วันแรกจะมีน้ำคาวปลามากหน่อย แล้วค่อยๆ ลดลงเหลือเพียงสีชมพูจางๆ จนหมดไปใน 3 สัปดาห์ นั่นคือสัญญาณที่บอกว่าแผลที่รกลอกออกหายดีแล้ว ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง ขณะที่ลูกดูดนม แม่จะมีสาร oxytocin หลั่งออกมาเพื่อช่วยให้มดลูกบีบตัวก็จะรู้สึกหน่วงๆ ที่มดลูกตรงบริเวณท้องน้อยได้ ขบวนการนี้จะทำให้เลือดหยุดได้ดีและมดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น นั่นก็คือ 3 สัปดาห์หลังคลอด หรือหลังจากน้ำคาวปลาหมด ก็จะร่วมรักกันได้โดยที่โอกาสติดเชื้อจะน้อยลงแล้ว


กลัวว่าถ้าร่วมรักกันแล้วน้ำนมจะไหล
ในชีวิตจริง แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองเต้านมจะคัดและเจ็บตึง เมื่อมีการแตะต้อง จับ ดูด ก็มักจะมีน้ำนมไหลได้เสมอ

ธรรมชาติคือ เมื่อเวลาที่มีการเล้าโลมก่อนร่วมรักมักมีการลูบคลำดูดจับเต้านมด้วยเสมอ

นั่นก็คือ การร่วมรักกันหลังจากที่ให้นมลูกอย่างพอเพียงและลูกหลับแล้วใหม่ๆ ก็อาจช่วยลดภาวะน้ำนมไหลได้


กลัวว่าจะท้องอีก
ความจริงคือ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเริ่มคุมกำเนิดดี ถ้าไม่คุมแล้วจะท้องไหม

ธรรมชาติคือ หลังจากคลอดแล้วจะเริ่มมีการตกไข่ได้เร็วที่สุดที่ประมาณ 40 วันหลังคลอด แต่ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง ฮอร์โมน prolactin ที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมจะช่วยห้ามไม่ให้มีการตกไข่ ก็เป็นการคุมกำเนิดในทางธรรมชาติกรายๆ แต่ไม่แน่นอนนัก

นั่นก็คือ ยังไงๆ ก็ควรจะคุมกำเนิดก่อนที่จะเริ่มร่วมรักกัน ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะใช้วิธีไหนดี หรือยังไม่ได้ปรึกษาใคร ใช้ถุงยางคุมกำเนิดด้วยทุกครั้งก่อน แล้วค่อยมาปรึกษาแพทย์ทีหลังก็ได้ โดยปกติ แพทย์มักจะนัดตรวจที่ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อดูว่าแผลหายดีหรือไม่ มดลูกเข้าอู่หรือยัง ตรวจเช็คมะเร็งที่ปากมดลูกให้เลย รวมทั้งให้คำแนะนำในการเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมให้ด้วย ดังนั้นตามมาตรฐาน มักจะเริ่มมีการร่วมรักกันได้โดยปลอดภัยและสบายใจที่ประมาณ 6 สัปดาห์ หลังคลอด


ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อารมณ์ปรวนแปร ทำให้ไร้อารมณ์ร่วมรัก
ความจริงคือ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มร่วมรักกันครั้งแรกหลังคลอดไปแล้วที่ 3 เดือน มี 20% ที่สบายใจที่จะร่วมรักเมื่อคลอดไปแล้วที่ 6 เดือน และมีมากถึง 57% ที่ร่วมรักกันน้อยมากในช่วงอายุ 1 ปีแรกของลูก

ธรรมชาติคือ หลังคลอดจะมีฮอร์โมน prolactin หลั่งออกมาเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้ลูกกิน ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนยังคงน้อยลงอยู่ทำให้ช่องคลอดแห้งเมื่อนอนร่วมรักกันก็มักจะเจ็บเพราะไม่มีน้ำหล่อลื่นพอ ระดับของฮอร์โมนสองตัวนี้ช่วยกันทำให้ความสนใจในการอยากร่วมรักลดลง ตราบนานเท่าที่ยังให้นมลูกอยู่

นั่นก็คือ เมื่อคุณรับรู้ว่าการที่เธอยังไม่มีความพร้อมทางอารมณ์ที่จะร่วมรักกับคุณนั้นไม่ใช่เพราะหมดรักหมดความต้องการคุณ แต่เป็นเพราะธรรมชาติที่ให้มาว่านมแม่ดีและเหมาะสมสำหรับลูกตัวเองและเมื่อลูกเล็กนั้นมีความจำเป็นที่จะให้แม่ต้องสนใจดูแลปกป้องห่วงใยลูกตัวเองยิ่งกว่าอื่นใด คุณก็น่าที่จะเข้าใจและทำใจได้ระดับหนึ่ง คุณแม่คนใหม่ก็ควรทำความเข้าใจว่าที่คุณพ่อของลูกต้องการนั้นคือ ความรู้สึกมั่นใจว่าคุณยังรักและสนใจห่วงใยและต้องการเขาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป พูดคุยกันให้ความเอื้ออาทรถามไถ่กัน ช่วยกันดูแลลูกแบ่งปันผ่อนคลายความเหนื่อยล้ากังวลด้วยกัน ความผูกพันเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่บอกความมั่นคงของจิตใจในความรักได้โดยไม่ต้องร่วมรัก


วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง เหนื่อยล้า กังวล วิตก ทำให้เศร้าหมอง
ความจริงคือ ในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่คนใหม่มักยังเหนื่อยล้าจากการคลอด และมักจะมีความสับสน วุ่นวายใจ จัดตัวเองไม่ถูกว่าจะทำอะไรอย่างไรดี ไหนจะลูกที่ยังไม่รู้จะเลี้ยงยังไง ต้องกินนมทุก 2-3 ชั่วโมง จะหมุนตัวทำอะไรก็ไม่ทัน ง่วงจะตายนอนก็ไม่หลับ ตัวเองยังไม่ทันจะได้เข้าห้องน้ำอาบน้ำเลยลูกร้องอีกแล้ว อะไรกันนักกันหนานะ ไหนจะสามีที่ไม่รู้ว่าจะดูแลยังไง บางครั้งอาจเศร้ามากจนต้องร้องไห้

ธรรมชาติคือ เมื่อระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงทำให้อารมณ์แปรปรวนและเกิดอาการเศร้าหมองได้ ก็มักจะไม่มีอารมณ์ที่จะทำสิ่งอื่นใดรวมทั้งร่วมรักด้วย

นั่นก็คือ จากสถานะที่เคยเป็นคนรักกันเมื่อยังไม่มีลูก กลับกลายเป็นพ่อแม่คน ความรู้สึกรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ขึ้นต้องการการปรับตัวและช่วยประคับประคองจิตใจดูแลเอาใจใส่กัน ช่วยกันดูแลลูกร่วมกันแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน ก็จะช่วยให้คุณแม่คนใหม่ค่อยคลายกังวลได้ และค่อยปรับตัวดูแลลูกได้ แต่บางคนถ้าไม่สามารถผ่านภาวะนี้ไปได้ กลับวิตกมากขึ้นกินไม่ได้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย สับสน ดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยแก้ไข


รูปร่างที่เปลี่ยนไป น้ำหนักที่มากขึ้นทำให้ไม่มั่นใจ
ในชีวิตจริง น้ำหนักที่เพิ่มเกินพิกัดหลังคลอดแล้วยังลดไม่ได้เลย รูปร่างน่าเกลียด เขาจะยังอยากกอดเราอยู่อีกหรือน่าอายรูปร่างที่น่าเกลียดของตัวเองจะตาย

ธรรมชาติคือ ถึงแม้ว่าคุณจะเห็นว่าเธอยังสวยอยู่หรือไม่ได้สนใจว่าเธออ้วนยุ้ยจนน่าเกลียดมากแค่ไหน แต่ผู้หญิงเกือบจะทุกรายย่อมกลัวความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่สวยว่าจะเป็นเหตุทำให้สามีเลิกรักเลิกสนใจ

นั่นคือ อย่าได้พูดล้อเลียน หยอกเย้ากระเซ้าแหย่บ่อยๆ ถึงรูปร่างที่เธอเปลี่ยนในขณะที่เธอกำลังพยายามปรับปรุงให้ดูดีเหมือนเดิม เพราะเหมือนกับเป็นการย้ำเตือนว่าคุณไม่อยากกอดผู้หญิงที่มีรูปร่างเช่นเธอ คุณควรกอดเธอและให้ความมั่นใจกับเธอว่ารูปร่างที่เปลี่ยนไปไม่ได้ทำให้ความรักที่คุณมีต่อเธอเสื่อมคลายลงได้


เมื่อรู้สาเหตุ รู้ธรรมชาติแล้ว หวังว่าทั้งคู่คงเข้าใจถึงอารมณ์และจิตใจซึ่งกันและกันดีขึ้น และเมื่อเธอมีความพร้อมเธอก็คงไม่ปฏิเสธที่จะให้คุณกอดและร่วมรักกับคุณแน่นอน

บทความจาก http://www.healthtoday/thailand

เซ็กส์ในสตรีตั้งครรภ์ มีได้หรือไม่

เซ็กส์ในสตรีตั้งครรภ์ มีได้หรือไม่

เซ็กส์ในสตรีตั้งครรภ์ มีได้หรือไม่ หลายๆ ท่านคงอยากได้คำตอบ ที่ถูกแล้วคือ มีได้เกือบตลอดการตั้งครรภ์ แต่มีข้อยกเว้นนะครับ

ปกติ เมื่อพูดถึงเพศสัมพันธ์ในหญิงตั้งครรภ์ คงหาข้อยุติยาก ด้วยว่าหลายๆ ที่ละไว้ไม่กล่าวถึง โดยเฉพาะสังคมเรามักจะให้ผู้ตั้งครรภ์เตรียมการเป็นมารดาโดยไม่อยากกล่าวถึงเรื่องเพศ แต่ในทางปฏิบัติ เราพบว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ มีระดับความต้องการทางเพศแปรปรวน และผันแปรกับระยะของการตั้งครรภ์ ตั้งแต่มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น หรือไม่ต้องการเลย ในกรณีนี้ ต้องทำความเข้าใจและพูดคุยระหว่างสามี หญิง และแพทย์ เนื่องจากในบางครั้ง ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจในระหว่างสามีภรรยา และทำให้ชีวิตในช่วงตั้งครรภ์แย่ลงได้

การมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างตั้งครรภ์ ปลอดภัยหรือไม่
ในกรณีที่ตั้งครรภ์ปกติ บอกได้เลยว่าปลอดภัย และแทบจะไม่มีข้อจำกัดเลยในอายุครรภ์ ยกเว้นในช่วงสัปดาห์สุดท้าย เพราะแพทย์เชื่อว่า อสุจิอาจเข้าไปกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวเกิดการตั้งครรภ์ก่อนกำหนดได้

แล้วอย่างไรจึงจะเป็นการตั้งครรภ์ปกติ แน่นอน อาจต้องปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของท่าน ถ้าไม่แน่ใจ จะมีกล่าวถึงในตอนต่อไป
แม้การมีเพศสัมพันธ์จะปลอดภัย แต่ไม่หมายความว่าคุณต้องมี สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักตื่นเต้น หรือวิตก จนทำให้ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ (แต่ความต้องการอาจจะยังมี หรือแม้เพิ่มขึ้น)และเช่นกัน บางท่านเมื่อท้องใหญ่และตัวใหญ่ทำให้การมีเพศสัมพันธ์มีปัญหา เราอาจต้องคุยกับสามีอย่างเปิดเผย และไม่จำเป็นว่าต้องจบลงด้วยการมีเพศสัมพันธ์ การจับมือ โอบกอด หรือกิจกรรมร่วมที่ทำให้ชีวิตคู่ อบอุ่นหรือผ่อนคลายอาจช่วยบรรเทาอาการตะขิดตะขวงใจเหล่านี้

เมื่อไรจึงจะไม่ปลอดภัย
การปฏิบัติกิจทางเพศที่ไม่ปลอดภัยสองอย่างในคนตั้งครรภ์คือ การใช้ปากเป่าลมเข้าในอวัยวะเพศสตรี และการมีเพศสัมพันธ์กับบุรุษที่อาจมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ส่วนการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงถ้ามีเพศสัมพันธ์ได้แก่
- มีประวัติแท้ง
- ประวัติคลอดบุตรก่อนกำเนิด
- เลือดออกในช่องคลอด หรือมีการบีบเกร็งของมดลูกผิดปกติ
- มดลูกเกาะต่ำ
- ปากมดลูกปิดไม่สนิท
- มีบุตรแฝด
- น้ำครำไหลออก

การมีเพศสัมพันธ์ทำอันตรายต่อเด็กหรือไม่
คำตอบคือไม่ เพราะมีถุงน้ำครำเป็นตัวป้องกัน

การมีเพศสัมพันธ์ทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
คำตอบคือถ้าคุณมีความเสี่ยงอย่างที่กล่าว ก็จะทำให้เกิดได้ แต่โดยทั่วไป การหดตัวของมดลูกในขณะถึงจุดสุดยอด จะต่างไปจากการหดตัวของมดลูกในขณะคลอด ดังนั้น ถ้าคุณไม่เสี่ยง ไม่น่าเกิดปัญหา ยกเว้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด

โดย
http://www.thaihealth.net/h/article449.html

ท่าสบายสําหรับแม่ท้อง



ท่าสบายสําหรับแม่ท้อง

ยืนอย่างไร ไม่ให้เมื่อย?
• ยืนตัวตรง ศีรษะและคอตั้งตรง โดยให้น้ำหนักสมดุลอยู่ตรงกลางของบ่าทั้งสองข้าง ปล่อยไหล่ตามสบาย ไม่เอียงศีรษะ เพราะจะทําให้ปวดเมื่อยคอและหลัง

• วางเท้าทั้งสองข้างให้หันไปในทิศทางเดียวกัน ปลายเท้าแยกจากกันเล็กน้อย ทิ้งน้ำหนักตัวลงระหว่างส้นเท้าและกลาง- เท้า พยายามเฉลี่ยน้ำหนักตัวให้สมดุลบนเท้าทั้งสองข้าง หลีกเลี่ยงการยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน เพราะจะทําให้กล้ามเนื้อเกร็งตลอดเวลา เกิดอาการเมื่อยและเป็นตะคริว อาจขยับเปลี่ยนน้ำหนักโดยก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหน้าและถ่ายน้ำหนักสลับไปมา จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงและเลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น

• หากต้องยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน คุณแม่อาจพักเท้าข้างหนึ่งบนเก้าอี้เล็กๆ สลับไปมาระหว่างเท้าทั้งสองข้างทุกๆ 5-15 นาที ก็จะช่วยคลายอาการเมื่อยลงได้





นั่งท่านี้..ไม่มีปวดหลัง
• นั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลังและที่วางแขน เบาะรองนั่งไม่นุ่มจนเกินไป ควรนั่งในท่าเอนเล็กน้อย หลังพิงพนัก-เก้าอี้ในท่าที่ผ่อนคลาย และมีหมอนเล็กมาหนุนไว้ที่หลังบริเวณสะโพก

• ให้ข้อพับขาเหลือออกมาขอบเก้าอี้ประมาณ 1 นิ้ว และมีเก้าอี้ตัวเล็กรองไว้ที่เท้า ให้เข่าอยู่ในลักษณะตั้งฉาก เพิ่มการไหลเวียน โลหิตให้ดีขึ้นและช่วยลดอาการบวมตามเท้า

• เมื่อต้องลุกขึ้นยืน ค่อยๆ เลื่อนเก้าอี้ออกพร้อมกับใช้มือช่วยพยุงตัวและลุกขึ้นอย่างช้าๆ





ยกของให้ปลอดภัย
• ก่อนจะยกของ เท้าจะต้องอยู่ในระยะที่เหมาะสมและอยู่ในท่ายืนตัวตรง แยกเท้าออกจากกันประมาณ 1 ฟุต โดยให้ปลายเท้า เฉียงออก

• หากยกสิ่งของที่อยู่ระดับต่ำกว่าเอว หลังต้องตั้งตรง งอเข่าและย่อตัวลงโดยให้น้ำหนักอยู่กลางลําตัวและลงที่ส่วนก้น

• ยกของจากพื้น ให้ใช้กําลังแขนและไหล่ แล้วใช้กําลังขาพยุงตัวให้ยืนขึ้นโดยไม่ใช้หลัง ค่อยๆ ยกของขึ้นมา เพื่อมิให้เสียการทรงตัวและจะช่วยผ่อนแรงไม่ให้หลังรับน้ำหนักมากจนเกินไป ทั้งนี้ ไม่ควรก้มลงยกของจากพื้นตรงๆ เพราะจะทําให้กล้ามเนื้อ หลังโค้งงอและรับน้ำหนักมากเกินกําลัง







แม่ท้อง..นอนสบาย
• เมื่อตั้งท้องได้ 16 สัปดาห์ขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย เนื่องจากมดลูกจะเริ่มโตขึ้น การนอนหงายจะทําให้มดลูกอาจไปกดทับ เส้นเลือดใหญ่บริเวณส่วนกลางหลัง เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลัง ความดันโลหิตต่ำลง เวียนศีรษะหรือหน้ามืด เป็นลมได้

• ท่านอนที่ดีที่สุดสําหรับแม่ท้อง คือท่านอนตะแคงข้างซ้าย โดยใช้หมอนรองรับในส่วนคอและไหล่ใบหนึ่ง และใช้หมอนอีกใบสอดที่หว่างขาขวา เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักและป้องกันไม่ให้มดลูกกดทับเส้นเลือดใหญ่ ทําให้เลือดหมุนเวียนได้ดีตลอดร่างกาย




ที่มา
http://www.motherandcare.in.th/

รับประทานปลาในแม่ตั้งครรภ์ ช่วยให้เด็กในท้องโตเร็วสมบูรณ์

รับประทานปลาในแม่ตั้งครรภ์ ช่วยให้เด็กในท้องโตเร็วสมบูรณ์


การศึกษาใหม่ในอังกฤษ ได้ผลสรุปว่า การรับประทานปลามาก ๆ ในหญิงตั้งครรภ์ ช่วยให้เด็กในครรภ์เจริญเร็วสมบูรณ์ แต่ไม่ได้มีส่วนให้ตั้งครรภ์นานกว่าปกติ


ปลาที่มีน้ำมันปลาประเภท โอเมก้า ทรีซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพัฒนาเซลและสมอง เชื่อว่า ถ้าแม่รับประทานมากๆ ช่วงเดือนสองเดือนแรก เด็กจะโตเร็วและสมบูรณ์กว่า

โดยการศึกษาย้อนหลังจากมหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษ ในหญิงมีครรภ์ 11580 คน พบการเจริญของเด็กในครรภ์สูงกว่าในมารดาที่รับประทานปลา เมื่อเทียบกับหญิงมีครรภ์ที่ไม่ได้รับประทาน

จำนวนและปริมาณของปลา หรือน้ำมันปลาที่แนะนำยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่จากการศึกษาได้ค่าเฉลี่ยที่ประมาณ33 กรัม หรือเท่า ๆ กับครึ่งกระป๋องของปลาทูน่า ต่อวัน ซึ่งจะมีกรดไขมันชนิดโอเมก้าทรี อยู่ประมาณ 0.15 กรัม

ที่มา
http://www.thaihealth.net/h/article452.html

ต้องปรึกษาแพทย์อย่างรีบด่วนเมื่อไร

ต้องปรึกษาแพทย์อย่างรีบด่วนเมื่อไร ?

1. เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนออกมาอย่างแรง และเป็นอยู่เป็นเวลานาน
2. มีเลือดออกมาทางช่องคลอด แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม จะต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
3. มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นอยู่นานแล้วก็ยังปวดไม่หาย
4. มีอาการปวดบวมตามใบหน้า มือ เท้า รวมทั้งข้อเท้า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเกิดมีเกลือ คั่งอยู่ในร่างกายของท่านก็ได้ เมื่อแพทย์แนะนำให้ลดอาหารที่มีรสเค็มลง เช่น ลดน้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว ซ็อสต่างๆ ก็จะต้องลดลงตามคำแนะนำ ไม่เช่นนั้นก็เกิดผลเสียตามมาอีกเป็นอันตรายได้ ความดันโลหิตจะสูงขึ้นได้ ไตก็ทำงาน ผิดปกติได้ แพทย์เรียกว่า "ครรภ์เป็นพิษ" เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่สตรีตั้งครรภ์เสียชีวิตลงได้รวมทั้งในระยะคลอดหรือหลังคลอดด้วย
5. มีอาการปวดศีรษะมาก ปวดอยู่นานๆ ก็ไม่หายสักที
6. ตามัวมองอะไรก็เป็นจุดเป็นดวงไปหมด
7. ปัสสาวะน้อยลง หรือเวลาขับถ่ายปัสสาวะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนหรือขัดเวลา ถ่ายปัสสาวะ
8. มีอาการไข้ หนาวสั่น
9. ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงหรือเฉยไม่ดิ้นเอาเลย
10. เกิดอาการถุงน้ำแตก มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด สิ่งเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยรีบด่วนทั้งนั้น เพราะบางทีอาจจะเกิดอันตรายรุนแรงได้


ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
ผู้ที่จะเป็นมารดาทั้งหลายนั้น จำเป็นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนบางอย่างเพื่อความปลอดภัยของท่านเสมอ วัคซีนที่จะฉีดนั้น แพทย์จะฉีดให้ท่าน รวม 2 ครั้ง เป็นวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

ฉีดครั้งแรกในตอนที่ท่านไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย

ฉีดครั้งที่ 2 เมื่อก่อนกำหนดคลอด 1 เดือน เป็นอันว่าครบถ้วน เพื่อป้องกันบาดทะยักที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในสมัยโบราณนั้น "หมาตำแย" ได้ทำคลอดด้วยความสกปรก ไม่มีการระมัดระวังในเรื่องความสะอาดนัก บางทีผู้เป็นมารดาได้รับเชื้อบาดทะยักเข้าไปเวลาคลอดก็มากมาย ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นได้ในที่สุด เพราะบาดทะยักนั่นเอง บางทีทารกก็เสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเชื้อยาดทะยักเข้าไปทางบาดแผลที่สายสะดือ เพราะ "หมอตำแย" เอาไม้ไผ่ตัดสายสะดือทารกนั่นเอง เชื้อบาดทะยัก หรือ "เตตานัส" ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก บาดทะยักในทารกนั้นได้ทำให้ทารกที่เกิดมาตายไปแล้วไม่ใช่น้อย มักจะเสียชีวิตหลังคลอดเพียง 4 - 14 วันเท่านั้นเอง ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันเอาไว้เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์มาก เป็นการป้องกันเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ยาบำรุงเลือด จำเป็นสำหรับสตรีมีครรภ์
สตรีมีครรภ์ทุกท่านจะต้องคิดถึงเรื่องนี้อีกเรื่องหนึ่ง สมัยก่อนอาจจะยังไม่มีใครใช้ แต่สมัยนี้แพทย์แนะนำให้สตรีมีครรภ์รับประทานยาบำรุงเลือด นอกจากสตรีมีครรภ์จะต้องรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงอาหารที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ อีกด้วย

สำหรับยาวิตามินที่สตรีมีครรภ์ได้รับจากโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยเมื่อฝากครรภ์นั้น จำเป็นมากสำหรับบำรุงเลือดให้ผู้ที่จะเป็นมารดาหรือสตรีมีครรภ์มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง คลอดง่าย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการตกเลือดในระหว่างคลอดอีกด้วย

การรับประทานยาบำรุงเลือด ให้รับประทานยา 1 -2 เม็ด หลังอาหารเช้าหรือก่อนนอน ต่อจากนั้นก็พักผ่อนให้เพียงพอ ไปพบแพทย์ตามนัด ท่านก็มั่นใจได้ว่า การคลอดของท่านนั้นสมบูรณ์แบบและปลอดภัยที่สุดแน่นอน ไม่มีปัญหา อุปสรรค ใดๆ เกิดขึ้นเลย

อาหารของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

อาหารของผู้ที่จะเป็นมารดา จะต้องมีอะไรบ้าง สำคัญอย่างไร ?

เรื่องอาหารนั้นสำคัญมากไม่ว่าใครก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังจะเป็นมารดานั้น พึงระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะต้องมีอาหารที่ดี มีประโยชน์ และควรงดอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์และมีโทษแก่ตนเองและทารกในครรภ์ด้วย

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำว่า อาหารของผู้ที่จะเป็นมารดานั้นจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ คือรับประทานอาหารมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าสตรีมีครรภ์นั้นต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นสำหรับตัวเองและทารก

ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์จะต้องรับประทานอาหารให้มากพอกับความต้องการ โดยรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ทุกๆ วัน เพื่อให้อาหารที่รับ ประทานเข้าไปบำรุงร่างกายผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ให้แข็งแรง สุขภาพดี การคลอดก็จะง่ายขึ้น อีกประการหนึ่งเพื่อเอาอาหารเข้าไปบำรุงทารกให้สมบูรณ์ เพื่อ สร้างน้ำนมให้เพียงพอสำหรับทารกที่จะเกิดมา คราวนี้มาลองพิจารณาดูอาหารของสตรีมีครรภ์กันต่อไปบ้างมีอะไร


ชนิดของอาหารที่ต้องรับประทาน
- อาหารหมู่ที่ 1 น้ำนม ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา ตับ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว อาหารพวกนี้จะเข้าเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกายได้เป็นอย่างดี

- อาหารหมู่ที่ 2 ข้าวสวย ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน น้ำตาล อาหารพวกนี้จะเข้าไปสร้างพลังงานแก่ร่างกาย

- อาหารหมู่ที่ 3 ผักใบเขียวทุกชนิด มะเขือเทศ ฟักทอง และผักชนิดต่างๆ อาหารพวกนี้จะเข้าไปควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ

- อาหารหมู่ที่ 4 ผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง อาหารพวกนี้จะเข้าไปควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ

- อาหารหมู่ที่ 5 น้ำมันจากพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำกะทิ อาหารพวกนี้จะให้กำลังงานแก่ร่างกาย

นอกจากนี้ผู้ที่กำลังจะเป็นมารดาจะต้องดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว ยกเว้น กรณีที่แพทย์แนะนำเป็นอย่างอื่น มีการขับถ่ายทุกวันโดยเฉพาะเวลาเช้า เพื่อสุขภาพร่างกายที่เป็นปกติเสมอ


อาหารและสิ่งที่ควรงดเว้นเด็ดขาด
ความจริงแล้วอาหารของผู้ที่จะเป็นมารดารับประทานไม่มีอะไรเป็นของแสลง สมควรรับประทานเพื่อการผลิตน้ำนมของท่านจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ คนโบราณที่มี ความเชื่อว่ารับประทานไข่ไก่ไม่ได้ แสลง รับประทานเนื้อไก่ก็แสลง จะต้องรับประทานข้าวกับเกลือเท่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียแล้ว

แต่สิ่งที่ควรงดเว้นเด็ดขาดก็เห็นจะเป็นการดื่มสุรา เบียร์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยไม่ดีแน่นอน เป็นผลเสียแก่ร่างกายของท่านเอง รวมทั้งทารกในครรภ์ น้ำชา กาแฟ ก็ไม่สมควรดื่ม ไม่มีประโยชน์อะไรกับผู้ที่จะเป็นมารดาเลย ควรดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้จะดีที่สุด

บุหรี่ไม่ควรสูบ ไม่เกิดประโยชน์อะไรมีแต่โทษทั้งผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ของตนเอง พิษของบุหรี่นั้นมีมากมาย จะเข้าไปยับยั้งความเจริญเติบโต. ของทารกให้ช้าลง เซลล์ต่างๆ จะไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทารกคลอดออกมาก็ตัวเล็กผิดปกติด้วย ดีไม่ดีเกิดพิการก็จะสร้างความเสียใจให้แก่ท่านทันที


สตรีมีครรภ์ควรรับประทานอย่างไร ?
ในระยะ 3 เดือนแรกให้อาหารปกติ ในระยะหลังจึงควรเพิ่มอาหาร ควรบริโภคให้เหมาะกับน้ำหนักตัวที่เพิ่ม คือ

เดือนที่ 4 เพิ่ม 10% เดือนที่ 5 เพิ่ม 18% และเป็น 23% เมื่อคลอด โปรตีนควรเพิ่มมากกว่า 40% ของที่เคยได้รับปกติ คาร์โบไฮเดรทและไขมัน จัดให้พอเหมาะกับแรงงาน ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
วิตามิน เอ บี ซี และ ดี และเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไอโอดีนเพิ่มขึ้นตามส่วน ควรได้จากอาหาร ยกเว้นแต่ถ้ามารดาไม่สามารถกินอาหารได้ ก็จำต้องให้ยา ที่มีวิตามินและเกลือแร่ดังกล่าว หญิงมีครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือที่เรียกว่าแพ้ท้อง ระยะนี้ไม่ควรรับประทานอาหารพวกไขมัน เพราะจะทำ ให้คลื่นไส้อาเจียน ปกติตอนกลางวันอาการคลื่นไส้มักจะหายไป ดังนั้นมารดาอาจจะกินอาหารได้ตอนบ่ายๆ ตอนเย็น และก่อนนอน หากกรณีมารดากินอาหารคาวไม่ได้ ในระยะแพ้ท้อง ให้กินน้ำถั่วเหลืองหรือเต้าหู้แทน ถ้ากินนมได้ยิ่งดี

ในสตรีที่เป็นแม่นม ต้องใช้เพิ่มในการหลั่งน้ำนม ดังนั้นจึงควรเพิ่มอาหารให้อีกไม่น้อยกว่า 600 แคลอรี่ และโปรตีนต้องไม่ต่ำกว่า 15%

ท่านควรฝากครรภ์เมื่อไรที่ไหน ? ทำไมจึงจะต้องฝากครรภ์ ?

ท่านควรฝากครรภ์เมื่อไรที่ไหน ? ทำไมจึงจะต้องฝากครรภ์ ?

การฝากครรภ์นั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ที่จะเป็นมารดา นับว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์แก่แม่และเด็กจริงๆ แต่ว่า เมื่อไรท่านจึงต้องไปฝากครรภ์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์แนะนำให้ผู้ที่จะเป็นมารดาไปฝากครรภ์ได้ทันทีที่คิดหรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์

บางท่านอาจจะคิดว่าทำไมจะต้องรีบร้อนไปฝากอะไรกันนักหนา เพิ่งเริ่มต้น เพิ่งจะทราบ เพราะเป็นระยะแรกเริ่มแท้ๆ น่าจะไปฝากครรภ์ทีหลังก็ได้ หรือไปฝากจวนๆ ที่จะคลอดก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไรเลย ไม่ต้องเสียเวลาไปหลายครั้งหลายหนด้วย

ความจริงแล้วความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยมากแล้วเราจะเห็นได้ว่าที่แผนกตรวจคนไข้นอกนั้น ผู้ที่จะเป็นมารดามักมาฝากครรภ์เกินระยะ 6 เดือนไปแล้วมากมาย ซึ่งส่วนมากยังไม่ทราบถึงประโยชน์ของการฝากครรภ์อย่างแท้จริง


ความสำคัญของการฝากครรภ์
เรื่องนี้จะต้องให้ผู้เป็นมารดาทราบเอาไว้ เพราะมีความสำคัญจริงๆ คือ

1. แพทย์จะได้ทำการตรวจและให้ความแน่นอนว่าการตั้งครรภ์ของท่านนั้นเป็นปกติหรือ ผิดปกติ นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นมารดาได้รับคำแนะนำ การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองให้ดี ถูกต้อง ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากโรคแรกซ้อนต่างๆ ในขณะที่ตั้งครรภ์ ให้ความปลอดภัยเกี่ยวกับการคลอด ตลอดจนการรู้จักดูแลรักษาตัวเองภายหลังคลอดอีกด้วย อีกทั้งผู้ที่เป็นมารดาก็จะมีความใกล้ชิดกับแพทย์ พยาบาล มีความเชื่อมั่น อีกทั้งมีโอกาสที่จะสอบถามขอคำแนะนำในสิ่งที่ตนเองสงสัยข้องใจจากแพทย์และพยาบาลหรือผดุงครรภ์ที่ดูแลอยู่

2. ในการตรวจครรภ์ครั้งแรกนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยทั่วไปอีกด้วย เพื่อ ตรวจดูว่าผู้ที่จะเป็นมารดานั้นมีโรคอะไรที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อทารกในครรภ์บ้าง หากว่ามีก็จะได้ทำการรักษาเสียให้หายขาดในระยะแรกๆ เป็นต้นว่า บางทีก็ตรวจพบว่าเป็นเป็นโรคหัวใจแต่ทว่าคนไข้ก็ยังไม่มีอาการอะไรออกมาให้เห็น โรคพวกนี้ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่รักษาเสียแต่ในระยะแรกอาจจะเกิดหัวใจวายได้เมื่อครรภ์แก่ใกล้คลอด ในระยะคลอดหรือหลังคลอดก็ได้

3. การตรวจทางห้องทดลองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก จำเป็นอย่างไรโปรดพิจารณาดูได้ ดัง ต่อไปนี้

ก. การตรวจโลหิต แพทย์จะได้ทราบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โรคที่แพทย์พบบ่อยๆ ก็ คือ โรคโลหิตจาง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกส่วน หรือมีสาเหตุมาจากโรคเลือดอย่างอื่นๆ หากพบเสียแต่แรกก็จะได้ทำการรักษาผู้ที่จะเป็นมารดา ได้ทันเวลาก่อนที่จะย่างเข้าสู่ระยะคลอด

ข. ตรวจเลือดเพื่อจะดูว่าผู้ที่เป็นมารดานี้เป็น กามโรคชนิดใดหรือไม่อย่างไร? หากมีอยู่ เช่น ซิฟิลิส โกโนเรีย ก็จะได้ทำการรักษาให้หายเสียก่อน เพื่อป้องกันโรคมิให้แพร่เข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้

ค. การตรวจปัสสาวะ อาการผิดปกติของการตั้งครรภ์บางอย่างก็ตรวจพบได้ด้วยการหา "ไข่ขาว" ในปัสสาวะ นอกจากนั้นการตรวจปัสสาวะก็จะทราบได้ว่ามีอาการผิดปกติในทางเดินปัสสาวะด้วยหรือไม่ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ซึ่งมักพบได้บ่อยๆ ในระยะตั้งครรภ์ การตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะก็เป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องตรวจให้แน่ว่า ผู้ที่จะเป็นมารดานี้ป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ ถ้าป่วยก็จะต้องได้รับการเยียวยารักษาต่อไปอีก หลังจากการตรวจครั้งแรกผ่านไปแล้ว แพทย์ก็จะนัดให้ผู้ที่จะเป็นมารดาไปตรวจอีกเป็นระยะๆ ไป ในรายที่ครรภ์อ่อนๆ ก็จะต้องได้รับการตรวจทุกๆ 4 - 6 สัปดาห์ ในระยะหลังๆ ของการตั้งครรภ์ก็จะนัดให้ไปตรวจทุก 1 - 3 สัปดาห์ แล้วแต่ความจำเป็นที่แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป การไปตรวจครรภ์ตามนัดนั้น ขอให้ผู้ที่จะเป็นมารดาเข้าใจว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าไม่สามารถไปตามนัดได้ก็รีบไปในทันทีที่มีเวลา ในการตรวจครรภ์ในระยะนี้ก็เพื่อจะได้ทราบถึงภาวะของการตั้งครรภ์ เช่น ทารกมีความเจริญเติบโตตามกำหนดหรือไม่ อย่างไร ทารกอยู่ในท่าที่เป็นปกติหรือเปล่า หรือมีอาการของโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง โรคแทรกซ้อนบางอย่างนั้นบางชนิดก็เกิดในระยะหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งหากได้รับการรักษา ป้องกัน ก็จะทำให้การคลอดดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยทั้งมารดาและทารกด้วย


ฝากครรภ์ที่ไหน?
ในการฝากครรภ์นั้น ผู้ที่จะเป็นมารดาควรจะไปฝากที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย แพทย์จะได้ทำประวัติ แนะนำวิธีปฏิบัติตนเองและตรวจวินิจฉัยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นควรทำอย่างไร หรือไม่ควรทำอะไร อะไรที่ควรงดเว้นเด็ดขาด อีกประการหนึ่งแพทย์ก็จะได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ด้วย และมีการกำหนดวันคลอดให้อีก

โรคต่างๆ กับการตั้งครรภ์

ระวังให้ดี โรคต่างๆ ที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์

บางทีผู้ที่กำลังจะเป็นมารดาหรือสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ก็เคยเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่สำคัญมาก่อน นับว่าเป็นอันตรายแก่การตั้งครรภ์มาก เพราะเมื่อตั้งครรภ์แล้วมักเป็นปัญหาแก่สตรีมีครรภ์เอง รวมทั้งทารกในครรภ์อีกด้วย โรคที่สำคัญและมีอันตรายมากได้แก่

1. โรคความดันโลหิตสูง
2. โรคซีด
3. โรควัณโรคปอด
4. โรคไตเรื้อรัง
5. โรคเบาหวาน
6. โรคหัวใจ
7. โรคหืด
8. โรคหัดเยอรมัน

โรคเหล่านี้จะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้ ในขณะที่คลอดก็ได้ หรือหลัง คลอดก็ได้อีก ซึ่งอาจจะมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ด้วย


โรคที่สตรีมีครรภ์เคยเป็นในการตั้งครรภ์ก่อนๆ

ระวังสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยคือ แท้งมาก่อน มีลูกยาก คลอดด้วยการผ่าท้องเอาทารกออก เจ็บท้องนานมากกว่า 24 ชั่วโมง คลอดยาก ทารกตายในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดเลยกำหนด ตกเลือดหลังคลอด

หากมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่สตรีมีครรภ์ดังกล่าว แพทย์ก็จะต้องศึกษาผลจากการคลอดในครั้งก่อนๆ เพื่อทำการช่วยเหลือในการคลอดครั้งนี้ให้ดีที่สุด


โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์

โรคแทรกเหล่านี้ คือ
1. อาการตกเลือด
2. โรคพิษแห่งครรภ์
3. ท้องแฝด
4. เจ็บท้องก่อนกำหนด
5. น้ำเดินก่อนเจ็บท้อง
6. ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ
7. ทารกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย
8. ใช้ยารักษาโรคบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์
9. โรคซีด
10. ตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิส

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าสตรีมีครรภ์เป็นโรคพวกนี้แล้วก็จะรีบทำการเยียวยารักษาทันที แพทย์อาจจะนัดมาพบเพื่อตรวจรักษาในทุกๆ 1 หรือ 2 อาทิตย์ ก็ได้ จนกว่าโรคจะหายขาดไป


ที่มา
http://www.thaihealth.net/h/article247.html

การตั้งครรภ์ ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ คลอดเอง-ผ่าออก? อะไรคือความเสี่ยง

การตั้งครรภ์ ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ คลอดเอง-ผ่าออก? อะไรคือความเสี่ยง


การตั้งครรภ์และการคลอด เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่การแพทย์

เมื่อไรที่ผมเห็นคำกล่าวนี้ซึ่งสั่งสอนมาแต่โบราณ ทำให้ผมอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า เรานี้ช่างโชคดีหนอ และ ลูกเมียเรานี้ช่างโชคดีจริงๆ หนอ (ที่ผ่านช่วงธรรมชาติของการตั้งครรภ์และการคลอดมาได้) แม้ว่าตนเองจะเป็นแพทย์ และลูกคนสุดท้องจะได้ทำคลอดด้วยมือของตนเอง ก็ยังจำความรู้สึกตื่นเต้นได้ดี

อย่าให้ความเป็นธรรมชาติ ต้องถูกบิดเบือนไปมากนัก อย่าเพิ่งคิดว่า เมื่อเราปล่อยไปตามธรรมชาติแล้ว จะไม่มีความเสี่ยงเลย และประการสำคัญคือ อย่าให้ธรรมชาติ ถูกเบี่ยงเบนไปทำให้เกิดความเสี่ยงมากชึ้น

การคลอดโดยธรรมชาติ คือธรรมชาติที่สุดแล้ว เป็นวิธีพื้นฐานที่สุดในการดำรงเผ่าพันธ์เรามานับล้าน ๆ ปี มาปัจจุบัน ด้วยวิทยาการก้าวหน้าขึ้น การคลอดธรรมชาติโดยมีคนช่วยมีความปลอดภัยสูง ผลดีต่อแม่และเด็กมากมาย แม้จะมีการพัฒนาวิธีการอื่นๆ มากมาย การคลอดโดยธรรมชาติ ในทางการแพทย์ ก็ยังดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดเพราะผ่านการพิสูจน์มาแล้วนับล้านๆ ปี

แต่...ด้วยความคาดหวังของพ่อแม่ สังคม หรือด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ ทำให้มีการเลือกที่จะผ่าตัดทำคลอดมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า การผ่าตัด ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าธรรมชาติ ไม่ว่าจะกล่าวอ้างอย่างไร การผ่าคลอด ก็ยังมีความเสี่ยงที่แม่เด็กจะเสียชีวิต 3 เท่าเมื่อเทียบกับการคลอดโดยธรรมชาติอยู่ดี และเมื่อฝืนธรรมชาติ ...ก็ควรต้องมีการยอมรับสิ่งที่จะตามมา..ไม่ว่าจะผลข้างเคียง แม้ว่าเราจำใจจะต้องผ่า เพราะเกิดภาวะแทรกซ้อน ก็ตาม

คิดๆดู....เรากว่าจะเกิดมามีความเสี่ยงมากมาย ไหนจะตั้งแต่ตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสแท้ง และเมื่อการตั้งครรภ์ผ่านไป ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงอีก 8% ที่เรียกว่า "การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง" โดยเฉพาะถ้าแม่มีอายุมาก ก็จะประสบปัญหา "ความเสี่ยงในการคลอดของแม่อายุมาก" เพิ่มกว่าปกติ พอเกิดมาแล้ว โอกาสที่จะมีกรรมพันธ์บกพร่องอีกประมาณ 1 ใน 1000 รวมๆ แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า เราที่ครบ32สมองปกติ และเกิดจากการคลอดปกติที่ไร้ปัญหาเลย(ไม่ต้องผ่า) นี้เกิดมาได้เป็น หนึ่งในประมาณ 900 กว่าคน จาก 1000 การตั้งครรภ์

แต่...ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าความเสี่ยงทั้งหลาย จากการคลอดเอง ไม่ว่าจะปกติ หรือไม่ปกติ ก็ตาม ก็ยังเทียบไม่ได้ กับการอยู่ในสังคมที่มีความเสี่ยง เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เสี่ยงที่จะเกิดการเป็นมะเร็งหรือเจ็บป่วยโรคร้ายแรงอื่น ๆ เสี่ยงที่ลูกเราจะโดนฆาตกรรม หรือเสียผู้เสียคน คิดดูเล่น ๆ สงกรานต์ปีนี้(แค่ 10วัน) มีคนตายกี่คน เมื่อเทียบกับการมีแม่ที่ตายคลอด ก็พอจะเห็นตัวอย่างได้

อะไรคือการผ่าท้องคลอด caesarian section

บางครั้ง คุณอาจเคยได้ยินหมอกล่าวกับพยาบาลว่า "เคสนี้สงสัยหัวติด น่าจะต้อง ซีซาร์ด่วน" ลองดูซิว่า คุณจะเข้าใจว่าอะไรบ้าง "หัวติด" หมายถึงความกว้างของหัวเด็ก มากกว่าความกว้างของอุ้งเชิงกราน หรือมีอะไรไปกันไม่ให้เด็กเอาหัวลงคลอดผ่านมาทางช่องคลอดปกติ (ซึ่งภาวะหัวติดนี้ เป็นภาวะที่ทำให้แพทย์ตัดสินใจทำคลอดด้วยวิธีการผ่าออกมากที่สุด)

"ซีซาร์" ที่แพทย์หรือพยาบาลชอบใช้กัน ก็มาจากคำว่า "ซีซาเรียน เซ็คชั่น"ซึ่งก็คือการผ่าเอาเด็กออกทางหน้าท้อง ทำไมต้องเป็นซีซาร์ จากหลักฐานและตำนานต่างๆ เชื่อกันว่า จักรพรรดิโรมันผู้ยิ่งใหญ่ คือ จูเลียส ซีซาร์ ถือกำเนิดมาด้วยวิธีนี้ (และมีนิยายเล่าขานว่า ตัวแม่ของเขาก็ปลอดภัย! อาจเป็นเลื่องเล่าลือ เพราะแค่เมื่อสมัย 100 กว่าปีมานี้ การผ่าคลอดก็เสี่ยงที่แม่จะตายถึง 80 กว่า % แล้ว ไม่ต้องพูดถึงสมัยสองพันกว่าปี) แต่ข้อมูลที่น่าจะอธิบายได้ดีกว่า คือแม่ของซีซาร์ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า มาร์ฟาน(marfan's syndrome) โรคกรรมพันธ์ซึ่งจะทำให้หญิงที่คลอดบุตรนั้นเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตร ทำให้เชื่อว่า ซีซาร์ ถูกผ่าเอาออกมาจากท้องแม่ ก่อนที่แม่จะตายไป หรือเมื่อแม่เพิ่งจะตายไป



ข้อบ่งชี้ การตัดสินใจในการผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง

- การดำเนินไปของการคลอดหยุดชะงัก(เด็กไม่ลงมาอีกหลังจากลงต่ำมาระยะหนึ่ง)
- เด็กมีอาการของการขาดออกซิเจน(fetal distress)
- แม่มีปัญหาเช่น การตั้งครรภ์เป็นพิษ
- เด็กแฝดหลายคน
- ความผิดปกติของท่าการคลอดเช่น เด็กเอาเท้าลง
- ใช้ยากระตุ้นคลอด หรือใช้เครื่องมือดึงเด็กไม่ออก
- เด็กตัวใหญ่เกินไป
- รกเกาะต่ำ (placenta previa) หรือรกลอกก่อนกำหนด
- การติดเชื้อในมดลูก หรือช่องคลอดบางอย่าง
- แม่ที่เคยมีการผ่าคลอดมาแล้ว

สำหรับแม่ที่มีการผ่าคลอดมาแล้ว เหตุผลที่ว่าทำไมต้องผ่าอีก เพราะในสมัยก่อน การผ่าคลอด จะทำในแนวตั้ง และกรีดเอากล้ามเนื้อของมดลูกทำให้มดลูกขาดความแข็งแรง เสี่ยงต่อการที่พอเบ่งเต็มที่ในการคลอดแล้วจะมดลูกแตกได้ แต่ปัจจุบัน เรามักผ่าในแนวนอนโคนมดลูก เหนือต่อกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งไม่ค่อยมีผลต่อการหดตัวกล้ามเนื้อ เราจึงพบว่า แม่บางคน ผ่าคลอดในลูกคนแรก ก็สามารถคลอดปกติในลูกคนต่อไปได้

ความเสี่ยงของการผ่าคลอด

ข้อมูลจาก textbook เมื่อปี 1990 สิบปีมาแล้ว พบว่า จะมีผู้หญิงเสียชีวิต 1 ใน 2500 ครั้งของการผ่า เมื่อเทียบกับ 1 ใน 10000 ของการคลอดเอง ปัจจุบัน ตัวเลขลดน้อยลงมาก แต่ก็ยังเป็น 3 เท่าของการคลอดธรรมชาติ

ชนิดของการผ่า

- classical วิธีโบราณ ผ่าตามแนวยาว ทำได้รวดเร็ว เด็กคลอดเร็ว มีพื้นที่เปิดหน้าท้องมากกว่า แต่ไม่นิยมทำกันในปัจจุบัน เพราะเสี่ยงต่อการที่ท้องต่อไปมดลูกแตก แผลไม่สวย เลือดออกมาก

- ผ่าตัดส่วนล่าง นิยมในปัจจุบัน สามารถซ่อนแผลลงในกางเกงในได้

- ผ่าพร้อมตัดมดลูกไปด้วย ในกรณีที่เกิดปัญหาของการคลอด เช่น รกเกาะต่ำ เกาะไปโดนเส้นเลือด ทำให้ตกเลือด เลือดออกไม่หยุด เอารกออกไม่ได้เพราะเกาะแน่น เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน และด้วยข้อบ่งชี้ใด ๆ มีความเสี่ยงเสมอ สำหรับ ซีซาร์ ให้พร้อมรอรับ และรอรับสิ่งที่จะตามมาคือ การพักฟื้นที่ยาวนานกว่า การปวดแผลที่มากกว่า การคลอดปกติ (และเสียเงินมากกว่าด้วย)

ที่มา
http://www.thaihealth.net/h/article572.html

ท้องนอกมดลูก การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy)

ท้องนอกมดลูก การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy)


การตั้งครรภ์บริเวณอื่น เช่นปีกมดลูก หรือรังไข่ ถือเป็นภาวะที่น่ากลัวและต้องรักษาอย่างเร่งด่วน ในแพทย์ทั่วไป ถือว่าภาวะนี้เสี่ยงต่อการวินิจฉัยผิดและเสียชีวิตได้


เหตุที่กล่าวว่าอันตรายเพราะ การตั้งครรภ์นอกมดลูกมักเป็นในสาว ๆ รุ่นๆเช่นนักเรียนที่แอบมีเพศสัมพันธ์และไม่ต้องการบอกให้ใครรู้ ดังนั้นหลายรายจะปฏิเสธว่าตัวเองประจำเดือนไม่หายจนมาอีกทีก็ช๊อค บางคนก็ไม่ปวดท้อง มาถึงก็ช๊อคเลยเพราะการเกาะของรกไปเกาะแถว ๆ รังไข่ หรือในช่องท้อง

ที่หนักกว่านั้นก็คือ ไปผ่านการทำแท้งหรือขูดมดลูกมาจากคลินิคเถื่อนโดยคิดว่ากำจัดหมดแล้ว แต่ไม่ได้ทำอัลตราซาวด์ดู หลายรายจึงพบว่าไปทำแท้งมาแล้ว แต่ตกเลือดจากตั้งท้องนอกมดลูก( ในโรงพยาบาลที่เคยอยู่ เจอทุกวัน)และมักปฏิเสธจนกระทั่งคาดคั้นถึงยอมรับ

การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากไข่ที่ถูกผสมเกาะตัวอยู่นอกโพรงมดลูก ที่พบบ่อยคือ ที่ท่อรังไข่ แล้วเกิดการแตก ทำให้ตกเลือดในช่องท้อง มักพบในผู้หญิงที่เคยเป็นโรคปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง มีการผ่าตัดของท่อรังไข่ หรือท่อรังไข่ผิดปกติมาแต่เกิด ทำให้ไข่ที่ถูกผสมไม่สามารถลงมาเกาะตัวอยู่ในโพรงมดลูกตามปกติ
พบได้ประมาณ 1 ใน 200 ของหญิงตั้งครรภ์

อาการ
ผู้ป่วยมักมีประวัติขาดประจำเดือน 1-2 เดือน หรือไม่ก็สังเกตว่าประจำเดือนมาผิดไปจากทุกครั้ง เช่น มากะปริดกะปรอยไม่มาก สีน้ำตาลคล้ำ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีอาการปวดเสียดในท้องน้อยขึ้นทันทีทันใด ปวดรุนแรงเป็นชั่วโมง อาจร้าวไปหลัง ถ้านอนหัวต่ำ อาจมีอาการปวดเสียวที่หัวไหล่

ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีเพียงอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ร่วมกับประจำเดือนกะปริดกะปรอย

สิ่งตรวจพบ
- ซีด กระสับกระส่าย ชีพจรเบา ความดันต่ำ อาจกดเจ็บหรือคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย
- ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจตรวจไม่พบอาการชัดเจน ทำให้คิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ก้อนถุงน้ำของรังไข่ (ovarian cyst) หรือแท้งบุตรได้

อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้ปีกมดลูกอักเสบ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเป็นหมัน ที่สำคัญคือ เกิดการตกเลือดในช่องท้องจนช็อกถึงตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การรักษา
ถ้าสงสัยควรส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้ามีภาวะช็อกควรงดน้ำและอาหารและให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจภายในช่องคลอด เจาะเลือด ตรวจดูระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ซึ่งย่อมาจาก (human chorionic gonadotropin) อาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์ หรือใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscope) ถ้าเป็นจริงก็ต้องรีบให้เลือด และทำการผ่าตัดทันที

ข้อแนะนำ
1. ถ้าพบผู้หญิงที่มีอาการเป็นลมหรือปวดท้อง ควรถามประวัติที่เกี่ยวกับประจำเดือนทุกราย (แม้ว่าจะไม่ได้ประวัติการแต่งงานอย่างเป็นทางการก็ตาม) ถ้ามีอาการประจำเดือนขาดหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย อาจมีสาเหตุการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
2. การรักษาโรคนี้มีวิธีเดียวคือ การผ่าตัด หลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ที่ปกติได้ ถึงแม้มีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงก็ตาม
* ผู้หญิงที่ปวดท้องรุนแรงและประจำเดือนขาด อาจเป็นโรคตั้งครรภ์นอกมดลูก

ที่มา
http://www.thaihealth.net/h/article518.html

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (toxemia of pregnancy)

ภาวะครรภ์เป็นพิษ(toxemia of pregnancy)


เมื่อสองสามวันก่อน พบคนไข้ประจำรายหนึ่ง มาด้วย"แพทย์บอกว่า มีความดันสูงในขณะตั้งครรภ์ เพราะกลัวครรภ์เป็นพิษ"เลยต้องนัดพบแพทย์ถี่หน่อย เรื่องนี้น่าสนใจ ผมจะแนะนำให้ฟังว่า เป็นอย่างไร

ครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of pregnancy)
ครรภ์เป็นพิษ หมายถึง ภาวะผิดปกติที่พบในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งประกอบด้วยอาการ 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ อาการบวม, ความดันโลหิตสูง และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ

โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของหญิงตั้งครรภ์ มักมีอาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนขึ้นไป จนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์

ครรภ์เป็นพิษยังแบ่งเป็น พรีอีแคลมป์เชีย (preeclampsia) ซึ่งมีเพียงอาการบวม ความดันโลหิตสูง และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ ไม่มีอาการชักหรือหมดสติ, กับอีแคลมป์เชีย (eclampsia) ซึ่งจะมีอาการชักหรือหมดสติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 5 ของครรภ์เป็นพิษชนิดพรีแคลมป์เชียอาจกลายเป็นชนิดอีแคลมป์เชีย หลังจากคลอดแล้วอาการของครรภ์เป็นพิษจะค่อยๆ หายไปได้เอง

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด มักพบในครรภ์แรก, ครรภ์แฝด, ครรภ์ไข่ปลาอุก และในผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไตอยู่ก่อน

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ตามัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดตรงใต้ลิ้นปี่ บวมตามมือตามเท้าและใบหน้า
ในรายที่เป็นพรีอีแคลมป์เชียระยะรุนแรง จะพบความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท อาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงตก, เอนไซม์ตับขึ้นสูง และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (เลือดออกง่าย) อาจมีอาการปวดตรงลิ้นปี่รุนแรง เนื่องจากมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มตับ

ในรายที่เป็นอีแคลมป์เชีย จะมีอาการชักหรือหมดสติ ซึ่งอาจเกิดก่อนคลอด ขณะคลอด หรือภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด

สิ่งตรวจพบ
- ความดันโลหิตช่วงบน (ซิสโตลี) > 140 มิลลิเมตรปรอท หรือช่วงล่าง (ไดแอสโตลี) >90 มิลลิเมตรปรอท (ถ้าช่วงบน > 160 มิลลิเมตรปรอท หรือช่วงล่าง > 110 มิลลิเมตรปรอท ก็ถือว่ารุนแรง)
- เท้าบวม กดมีรอยบุ๋ม
- อาจตรวจพบภาวะซีด จ้ำเขียว เลือดออก
- นอกจากนี้ ยังตรวจพบรีเฟลกซ์ของข้อไว (hyperreflexia) หรือภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ซึ่งใช้เครื่องฟังปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
- ตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาว (albumin) ซึ่งถ้ายิ่งมีมาก (ขนาด 3+ หรือ 4+) ก็ถือว่ายิ่งรุนแรง
- การตรวจเลือดอาจพบเอนไซม์ตับ (เอแอลที=sgot) และสารบียูเอ็นรวมทั้งครีอะตินีนสูงขึ้น(BUN,Cr)

อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด เด็กคลอดตัวเล็ก เลือดออกในสมองของหญิงตั้งครรภ์ บางรายอาจมีภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือตับอักเสบ (ดีซ่าน) แทรกซ้อน
ในรายที่เป็นครรภ์เป็นพิษชนิดร้ายแรง หรืออีแคลมป์เชีย (มีอาการชัก หมดสติ) มีอัตราตายได้ถึงร้อยละ 10-15

การรักษา
1. หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะ
ในรายที่เป็นไม่มาก ไม่จำเป็นต้องพักโรงพยาบาล ควรแนะนำให้นอนพักที่บ้านให้เต็มที่ทั้งวัน (การนอนพักจะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังสมอง หัวใจ ตับ ไต และรกได้ดี อาการของโรคอาจทุเลาได้) และนัดผู้ป่วยมาตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 2 วัน หรือส่งพยาบาลไปเยี่ยมบ้าน เพื่อประเมินอาการทุกวัน
ถ้าไม่ดีขึ้น หรือความดันช่วงบน > 140 หรือ ช่วงล่าง > 90 มิลลิเมตรปรอท หรือมีปัญหาไม่สามารถติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยนอนพักให้เต็มที่ ทำการตรวจวัดความดันโลหิต, ตรวจรีเฟลกซ์ของข้อ, ตรวจดูสารไข่ขาวในปัสสาวะ และฟังเสียงหัวใจทารกบ่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องตรวจเลือด (ดูจำนวนเกล็ดเลือด, อิเล็กโทไลต์, บียูเอ็น, ครีอะตินีน, เอนไซม์ตับ) ทุก 1-2 วัน
ถ้าพบว่ามีความดัน > 160/110 มิลลิเมตปรอท จะให้ยาลดความดัน เช่น ไฮดราลาซีน (hydralazine) 5-10 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้อมไนเฟดิพีน 10 มิลิกรัม ไว้ใต้ลิ้น ควรควบคุมให้ความดันช่วงล่างอยู่ระหว่าง 90-100 มิลลิเมตรปรอท (ถ้าลดต่ำกว่านี้อาจทำให้รกขาดเลือดไปเลี้ยงได้) ห้ามให้ยาลดความดันกลุ่มยาต้านเอช เพราะอาจทำให้ทารกพิการ และมารดาไตวายได้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาขับปัสสาวะโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงรกได้ไม่ดี (ยกเว้นในรายที่มีปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากไตวาย อาจให้ฟูโรซีไมด์)

ถ้าเป็นมาก อาจฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate) เพื่อป้องกันอาการชักและลดความดัน
เมื่อครรภ์ใกล้กำหนดคลอด (มากกว่า 34 สัปดาห์) ควรหาวิธีทำให้เด็กคลอด โดยการใช้ยากระตุ้น หากไม่ได้ผลอาจต้องทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง

2. หากมีอาการชัก ให้ฉีดไดอะซีแพม 5-10 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน แพทย์จะฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต หรือไดอะซีแพม ควบคุมอาการชัก และรีบทำการคลอดเด็ก หลังคลอดอาจต้องให้ยาป้องกันการชักต่อไปอีก 1-7 วัน

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้สามารถให้การดูแลรักษาให้ปลอดภัยได้ทั้งมารดาและเด็กในครรภ์ ถ้ามีการตรวจพบตั้งแต่เริ่มเป็น ดังนั้นจึงควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ หมั่นชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะ ถ้าพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรแนะนำไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
2. ในการฝากครรภ์ ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการปวดศีรษะ ตามัว หรือบวมตามหน้าหรือมือด้วยตนเอง หากพบก็ให้รีบกลับมาตรวจก่อนนัด
3. ถ้าพบอาการครรภ์เป็นพิษในระยะแรกๆ (ก่อนอายุครรภ์ 5 เดือน) ควรสงสัยว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก

ที่มา
http://www.thaihealth.net/h/article522.html

บริหารสมองช่วงตั้งท้อง


บริหารสมองช่วงตั้งท้อง

เรื่องของ ‘ความเครียด’ เกิดขึ้นได้กับทุกวัยไม่เว้นแม้แต่ช่วงตั้งท้อง ไหนจะเจอกับภาวะกดดันจากเรื่องงาน ความคาดหวัง จากคนรอบข้าง บางครั้งก็ยุ่ง จนหลงๆ ลืมๆ เรื่องสำคัญและกังวลเกี่ยวกับลูกอีก

เอาล่ะค่ะ! ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่จะโยนเรื่องเครียดและความกังวลทิ้งไป แล้วมาบริหารสมองให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว เพื่อสุขภาพ กาย-ใจของคุณแม่และลูกค่ะ

บริหารสมอง...ด้วยอารมณ์ ‘เบิกบาน’

หากคุณแม่เบิกบาน ลูกก็จะเบิกบานไปด้วย การออกกำลังสมองเป็นประจำจะทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ การเคลื่อนไหว ช่วยผ่อนคลาย ความตึงเครียด ลดความตื่นเต้นและทำให้จิตใจสงบด้วย

+ เบิกบานด้วยเสียงหัวเราะ :
เพียงแค่มองหาความสุขเล็กน้อยใกล้ตัว ฟังหรืออ่านเรื่องขำขัน และหัวเราะในทุกๆ วันก็ถือเป็นการบริหารสมองแล้วค่ะ เพราะการเปล่งเสียงหัวเราะออกมาจะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ขยับเขยื้อนไปด้วย และทำให้ร่างกายหลั่งสารความสุข อย่างสารเอนโดรฟินออกมา แถมยังช่วยให้การเต้นของหัวใจทำงานดีขึ้น เลือดในร่างกายสูบฉีดและไหลเวียนไปเลี้ยงสมองดีขึ้น

+ เบิกบานด้วยการพูดคุย :
การพูดคุยเรื่องเบาๆ อย่างเรื่องช้อปปิ้ง เรื่องอาหารอร่อยๆ เรื่องแฟชั่น หรือการร้องเพลง จะช่วยให้คุณแม่มีความสุขและผ่อนคลายมากขึ้นและเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้สมองได้ดีอีกด้วย

+ เบิกบานด้วยการคิดบวก :
หากมีทัศนคติและคิดในเชิงบวกอยู่เสมอ ไม่คิดกังวลเรื่องใดไปล่วงหน้า จะช่วยให้สมองจดจำแต่สิ่งที่ดีๆ และมองว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ

+ เบิกบานด้วยการพักผ่อน :
การพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ช่วยให้ตื่นมาด้วยกายและใจที่สดชื่น พร้อมทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความกระฉับกระเฉง

+ เบิกบานด้วยกิจกรรมฝึกสมอง :
หากรู้สึกเครียดหรือกังวล ก็ลองหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อให้สมองไม่ติดอยู่กับความเครียดนั้น อาจเล่นเกมใบ้คำ เกมอักษรไขว้ ต่อจิ๊กซอว์ ก็จะช่วยให้จดจ่ออยู่กับกิจกรรมเหล่านั้น นอกจากจะได้บริหารสมองแล้วยังเป็นการฝึกสมาธิไปในตัวด้วย


บริหารสมอง...กระตุ้น ‘ความจำ’

เรื่องของความจำก็เป็นอีกเรื่องที่หลายท่านมักจะเจอปัญหานี้โดยที่ยังไม่ทันจะแก่ ไม่ว่าจะหลงๆ ลืมๆ เพราะในแต่ละวันก็มีเรื่องให้จำให้ทำเยอะแยะไปหมด ทั้งเรื่องลูก เรื่องครอบครัว และเรื่องงาน ลองมา บริหารสมองเพื่อให้จดจำเรื่องต่างๆ ได้อย่างแม่นยำกันดีกว่าค่ะ

+ จำด้วยการเชื่อมโยง :
เมื่อพยายามจำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้ลองเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะช่วยทำให้จำได้ง่ายหรือผูกเป็นเรื่องสั้นๆ เช่น การเชื่อมโยงเรื่องที่ต้องจำโดยการร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราว อย่าง สมัยเด็กๆ ที่ต้องจำพยัญชนะอักษรกลางก็จะใช้การท่อง “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” เพื่อเป็นการช่วยให้จำได้ ง่ายขึ้นค่ะ

+ จำด้วยการแบ่ง :
เรื่องบางเรื่องอาจจะยากที่จะจำ ให้ได้หมด อาจใช้การแบ่งการจำเป็นช่วงๆ เช่น การแบ่งจำเลขรหัสประจำตัวในบัตรประชาชนเป็นช่วง หรือการจัดระบบความจำโดยการแบ่งจำตามช่วงเวลา สถานที่ เป็นต้น

+ จำด้วยการจด :
ถ้าเป็นคนที่ชอบหลงลืมเป็นประจำ การจดโน้ตสั้นๆ สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำหรือจะทำในวันนั้น ติดไว้ที่ตู้เย็น โต๊ะทำงานหรือสถานที่ที่มองเห็นได้ง่าย จะช่วยเตือนความจำได้ดีขึ้น


บริหารสมอง...ด้วยการ ‘ออกกำลัง’

การออกกำลังเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายเป็นปกติ ทั้งยังเป็นการฝึกหายใจไปในตัว เพื่อให้ออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีกว่าการอยู่เฉยๆ ค่ะ

+ ออกกำลังกายเบาๆ :
การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การออกกำลังกายเบาๆ ในช่วงตั้งท้องหรือหลังคลอดจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สมองปลอดโปร่ง เช่น การเดิน เต้นแอโรบิกท่าง่ายๆ หรือว่ายน้ำ เป็นต้น

หากเป็นช่วงที่ใกล้คลอดอาจใช้การฝึกลมหายใจเพื่อช่วยผ่อนคลายร่างกายและยังเป็นการฝึกก่อนการเบ่งคลอดลูก เพียงแค่นั่งหรือยืนหลังตรงแล้วสูดหายใจเข้า-ออกลึกๆ ก็จะช่วยให้อากาศเข้าและออกสู่ร่างกายได้สะดวก ไม่รู้สึกอึดอัด

+ ออกกำลังด้วยการฝึกทำสิ่งใหม่ๆ :
การหางานอดิเรกทำในยามว่างช่วงตั้งท้องหรือหลังคลอดก็เป็นวิธีที่ช่วยบริหารสมองได้ เช่น ฝึกถักโครเชต์ ประดิษฐ์ของใช้หรือทำงานฝีมือ วาดรูป ฝึกทำอาหาร ซึ่งการทำงานอดิเรกจะช่วยให้คุณแม่ได้ขยับร่างกายอย่างง่ายๆ รู้สึกสนุก สมองตื่นตัว มีสมาธิ และอาจใช้หารายได้เสริมได้ด้วย


เคล็ดลับเพิ่มพลังสมอง
นอกเหนือจากการบริหารสมองด้วยวิธีต่างๆ แล้ว ยังสามารถเพิ่มพลังให้สมองได้ดังนี้
น้ำและอากาศ : การดื่มน้ำสะอาดจะช่วยให้ร่างกายและสมองรู้สึกสดชื่น หากได้รับอากาศบริสุทธิ์ด้วยจะช่วยให้สมองได้รับออกซิเจนเข้าไปไหลเวียนหล่อเลี้ยงสมองทำให้ตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า
อาหาร : คุณแม่ต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้งช่วงตั้งท้องและหลังคลอด เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำอุดมด้วยผักผลไม้ กินปลาเป็นประจำ ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย ไม่ควรกินอาหารก่อนนอนหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด

‘หาว’ ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้สมอง
หลับตาให้สนิทแล้วใช้มือทั้ง 2 ข้าง ถูนวดบริเวณข้างแก้มขึ้น-ลง แล้วอ้าปากกว้างๆ ทำท่าหาว พร้อมนวดกล้ามเนื้อไปพร้อมๆ กันจะช่วยให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น




ข้อมูลจาก
http://www.motherandcare.in.th/

วิธีแก้ท้องลาย

วิธีแก้ท้องลาย


ใครที่พบกับปัญหา หน้าท้องลาย บ้าง วันนี้เกร็ดความรู้มีวิธีแก้มาฝากกัน....

สาเหตุ

เกิดจาก การยืดของผิวหนังอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ มีทั้งที่พบได้ในภาวะปกติ และในคนที่เป็นโรค เช่น หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร, คนที่อ้วนขึ้นอย่างรวดเร็ว, ในวัยรุ่น (อยู่ในช่วงอายุ 9-13 ปี) ที่มีการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว คนที่เป็นโรค Cushing's และ Marfan syndromes ผู้ป่วย เบาหวาน และการใช้ยาทา หรือรับประทานที่มีส่วนประกอบของสเตีรอยด์นานเกินไป

วิธีรักษา

ถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์หลังคลอดบุตรแล้วอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่อาจป้องกันด้วยการทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โอกาสเกิดก็จะน้อยลง ส่วนในคนที่อ้วน ถ้า ลดน้ำหนัก ลงมารอยแตกลายงาก็จะน้อยลง ที่สำคัญอย่าใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันนานจนเกินไป และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

การรักษา

ด้วยการใช้ยาทาที่ประกอบด้วย กรดวิตามินเอ เช่น tretinoin ทำให้อาการของโรคนี้ดีขึ้น และข้อแนะนำ คือ ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้รูปร่างดีและแข็งแรงด้วย

สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร

สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร

หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

การตรวจสอบสิทธิ:
1. ตรวจสอบว่าผู้ประกันตนเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่ได้รับการลดส่วนกรณีคลอดบุตรหรือไม่ ถ้าใช่ให้วินิจฉัยเป็นกรณีไม่มีสิทธิ
2. ตรวจสอบประวัติการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรของผู้ประกันตน ถ้าเคยใช้สิทธิครบ 2 ครั้งแล้วให้วินิจฉัยเป็นกรณีไม่มีสิทธิ


1. ตรวจสอบวันที่คลอดบุตร
2. คลอดบุตรก่อนวันที่ 1 มกราคม 2550 ใช้สิทธิตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548
3. คลอดบุตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ใช้สิทธิตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
4. ตรวจสอบการจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนเดือนที่คลอดบุตร ถ้าไม่ครบ 7 เดือนให้วินิจฉัยเป็นกรณีไม่มีสิทธิ

การวินิจฉัย:
คลอดบุตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป
- คลอดบุตรที่ใดก็ได้ ให้วินิจฉัยจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย กรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 12,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
- กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีคลอดบุตรในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯก่อนวันที่ 1 มกราคม 2550 แต่มีการคลอดบุตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ตั้งแต่เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯยังต้องรับผิดชอบจนสิ้นสุด การรักษาผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล และผู้ประกันตนสามารถนำสูติบัตรมาขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้ ให้วินิจฉัยจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 12,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน

การตรวจสอบเอกสาร:

1. ตรวจสอบแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วนพร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
2. ตรวจสอบสำเนาสูติบัตรบุตรคนที่จะใช้สิทธิ
- กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันตนหรือไม่
- กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อบิดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้อง ตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันหรือไม่ และตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของคู่สมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนตามทะเบียนสมรสหรือหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสหรือไม่
- ถ้าไม่ถูกต้องตรงกันเนื่องจากสูติบัตรพิมพ์ผิด ให้ผู้ประกันตนนำสูติบัตรกลับไปให้หน่วยงานที่ออกสูติบัตรแก้ไข ถ้าไม่ถูกต้องตรงกันเนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล ให้ขอสำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบหย่า


ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน
1. ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นหรือให้ผู้อื่นมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด / สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่พร้อมหลักฐานหรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์ โดยมีหลักฐานครบถ้วน
2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
4. พิจารณาสั่งจ่าย
4.1 เงินสด / เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน)
4.2 ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน
4.3 โอนเข้าบัญชีธนาคาร ตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน

ที่มา
http://www.being-mom.com

เลือกกุมารแพทย์ให้ลูก

เลือกกุมารแพทย์ให้ลูก

โดยปกติ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะสอบถามเพื่อนฝูง คนรู้จัก เพื่อขอคำแนะนำในการฝากครรภ์ว่าควรจะฝากที่ไหน แพทย์คนใด แต่ส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่า หลังจากคลอดแล้ว แพทย์ที่จะดูแลลูกต่อจากนั้นไม่ใช่สูติแพทย์ท่านเดิมแล้วค่ะ จะต้องเปลี่ยนเป็นกุมารแพทย์ ฉะนั้นก่อนคลอดควรสอบถามและเลือกกุมารแพทย์ที่สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้เป็นกุมารแพทย์ ประจำตัวลูกนะคะ (ถ้าก่อนคลอด คุณแม่ไม่ได้ระบุว่าต้องการกุมารแพทย์ท่านใด ทางโรงพยาบาลจะจัดให้เองค่ะ)

แม้ว่าแพทย์และพยาบาลทุกท่านจะพูดตรงกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ก็ไม่ใช่ว่าแพทย์หรือพยาบาลทุกท่านจะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต่อเมื่อกรณีนั้นไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากมีปัญหาเมื่อใด ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้หย่านม หรือใช้นมผสมช่วย แพทย์หรือพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างแท้จริง จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาให้คุณแม่ เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดำเนินต่อไปได้

ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตว่าแพทย์หรือพยาบาลท่านนั้น ไม่ได้ สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างจริงจัง

1. แพทย์ท่านนั้นให้นมผสมที่แจกฟรีเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเอกสารแนะนำคุณสมบัติของนมผสมยี่ห้อนั้นๆ แก่คุณ

การแจกตัวอย่างนมผสมผ่านโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์นั้น เป็นสุดยอดการตลาดที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณแม่ทั้งหลายว่านมผสมนั้นดีไม่แพ้นมแม่ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

2.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมหรือนมแม่ก็เหมือนๆ กัน

แม้ว่าทารกที่กินนมผสมหรือกินนมแม่ ต่างก็เจริญเติบโตได้เหมือนๆ กัน ไม่ได้หมายความว่า นมผสมจะเหมือนกับนมแม่ทุกประการ มีส่วนประกอบหลายชนิดที่มีในนมแม่ แต่ไม่มีในนมผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิคุ้มกันและเซลล์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อโรคของทารก

3. แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมยี่ห้อ XXX ดีที่สุด

4.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า ไม่จำเป็นต้องรีบพาลูกมาดูดนมทันทีหลังคลอด เพราะคุณแม่ควรจะพักผ่อน

แม้จะไม่จำเป็นจริงๆ แต่การนำลูกมาดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการกระตุ้นเร็ว น้ำนมก็จะมาเร็ว

5.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า เด็กทารกไม่มีปัญหากับการสับสนในการดูดนมแม่หรือนมขวดหรอก ควรจะหัดให้ดูดขวดเร็วๆ ลูกจะได้ไม่ปฏิเสธขวดในภายหลัง

การดูดนมแม่และดูดขวดนั้นมีลักษณะการดูดที่แตกต่างกัน การดูดขวดนมนั้น น้ำนมจะไหลเร็วตลอดเวลา โดยที่ลูกไม่ต้องออกแรงมาก ทำให้ลูกเคยชินกับการดูดขวดนมได้ง่าย เพียงแค่ให้ดูดครั้งหรือสองครั้ง หลังจากนั้นลูกจะปฎิเสธการดูดนมแม่ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า

6. แพทย์ท่านนั้นแนะนำให้คุณหยุดให้นมลูก เมื่อคุณหรือลูกไม่สบาย

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคุณหรือลูกป่วย มีน้อยกรณีมากที่จะไม่สามารถให้นมต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร มียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ โดยไม่กระทบกับการให้นมลูกของคุณ หากได้รับคำแนะนำให้หยุดให้นมลูกจากแพทย์ท่านใด แสดงว่าแพทย์นั้นไม่เห็นความสำคัญของ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขอให้สงสัยไว้ก่อน และลองปรึกษาแพทย์คนใหม่ดู

7. แพทย์ท่านนั้นพูดหรือแสดงอาการแปลกใจว่า ทำไมคุณยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ ทั้งๆ ที่ลูกอายุตั้ง 6 เดือนแล้ว

8.แพทย์ท่านนั้นบอกว่าหลังจาก 6 เดือน นมแม่ไม่มีประโยชน์แล้ว

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน นมแม่ก็ยังเป็น นม เหมือนเดิม มีไขมัน โปรตีน พลังงาน วิตามินและภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคให้กับทารกได้เหมือนเดิมทุกประการ

9.แพทย์ท่านนั้นแนะนำว่า ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาอกแม่

ถ้าลูกหลับได้เองโดยไม่ต้องดูดนมแม่ก็เป็นเรื่องดี แต่การที่ลูกหลับคาอกแม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรทำ กลับเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลินเสียด้วยซ้ำ ลูกก็หลับ แม่ก็ได้พักผ่อน อบอุ่นกันทั้งแม่ทั้งลูก

ย่อความจาก How to Know a Health Professional is not Supportive of Breastfeeding By Jack Newman, MD, FRCPC

ที่มา
http://www.being-mom.com/

vdo แสดงการเจริญเติบโตทารกในครรภ์

vdo แสดงการเจริญเติบโตทารกในครรภ์

vdo แสดงการปฎิสนธิ

vdo แสดงการปฎิสนธิ


vdo แสดงการคลอด การผ่าตัดคลอด

vdo แสดงการคลอด การผ่าตัดคลอด

vdo แสดงการคลอด การคลอดธรรมชาติ

vdo แสดงการคลอด การคลอดธรรมชาติ

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 37-40

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 37-40


เมื่อครบ 9 เดือน ศีรษะของลูกจะเคลื่อนเข้ามาในอุ้งเชิงกราน ความสูงของยอดมดลูกจะลดลง ที่เรียกกันว่า “ท้องลด” คุณแม่อาจรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเล็ด เกิดเพราะ ศีรษะลูกเคลื่อนมากดกระเพาะปัสสาวะของแม่ แต่คุณอาจรู้สึกหายใจสะดวกขึ้น เนื่องจากมดลูกเคลื่อนตัวลงมา ทำให้ดันกระบังลมและปอดน้อยลง ปากมดลูกเข้าสู่การเตรียมตัวเปิดขยาย สำหรับให้ทารกผ่านออกมา

เมื่อมดลูกมีการบีบตัว ปากมดลูกจะเริ่มนิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมดลูกบีบตัวแรง และถี่ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บร้าวไปที่ท้องและหลัง อาการเจ็บท้องจะเกิดขึ้นบ่อยจนคุณรู้สึกเครียด เหนื่อย ช่วงก่อนคลอดเดือนสุดท้ายนี้ คุณหมอจะนัดตรวจ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนถึงกำหนดวันคลอด คุณแม่ควรเตรียมของใช้ สำหรับนำไปใช้ที่โรงพยาบาลเวลาคลอด ใส่กระเป๋าเอาไว้ จะได้หยิบฉวยได้ทันที บุคคลรอบข้าง สามีควรให้กำลังใจ ช่วยให้คุณคลอดลูกอย่างปลอดภัย

และแล้วลูกในท้อง ก็พร้อมที่จะออกมา เผชิญกับโลกภายนอก เสียที เขาจะเติบโตเต็มที่ ผิวหนังเรียบเนียน กระดูกศีรษะนิ่ม และยืดหยุ่น เพื่อที่จะปรับขนาด ให้ลอดช่องเชิงกรานของแม่ เขาจะนอนอยู่ในท่างอตัว เข่าชิดคางและจมูก ต้นขาพับมาบนหน้าท้อง เมื่อถูกมดลูกบีบตัว เป็นแรงผลักให้ลูกค่อยๆเคลื่อนเข้าสู่ช่องเชิงกราน หัวโผล่นำออกมาก่อน แล้วไหล่จะถูกคลอดตามออกมาจนหมดตัว ลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 2500-3000 กรัม และยาวประมาณ 50 ซ.ม.

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 33-36

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 33-36


เมื่อตั้งท้องได้ 8 เดือน ดูเหมือนว่าท้องจะโตเต็มที่ ยอดของมดลูกดันอยู่ที่ยอดอก แถวลิ้นปี่ คุณอาจรู้สึกหายใจไม่อิ่ม อึดอัด แล้วยังมีปวดหลัง และปวดหน้าท้อง เพราะลูกเติบโตขนาดตัวใหญ่ขึ้น อาการเจ็บท้องเตือนจะเพิ่มความรุนแรง และความถี่ขึ้น เป็นการฝึกบีบตัวคลอดของมดลูก เต้านมก็ฝึกผลิตน้ำนม เห็นได้จากที่หัวน้ำนม ซึมออกมาจากเต้านมทางหัวนม ท้องที่โตมากในระยะนี้ เป็นอุปสรรคต่อท่าการนอนของคุณแม่ คุณแม่จะหาท่าที่สามารถนอนได้สบายได้ยาก ทนอีกสักหน่อย ลูกของคุณเกือบพร้อมที่จะออกมาชมโลกแล้ว ถ้าอึดอัดมากก็ลองนอนตะแคง ขาข้างหนึ่งทับซ้อนอีกข้างหนึ่งดูซิคะ อาจจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ถ้ายังไม่ดี อาจจะใช้หมอนสอดระหว่างขา จะทำให้สบาย และยังช่วยลดอาการบวมที่ข้อเท้าและเท้าได้อีกด้วย

ทารกที่สมบูรณ์ จะเคลื่อนไหว จะแตะแรงขึ้น หน้าท้องโป่ง แหลม จะพอจะเดาได้ว่า เป็นศอก หรือส้นเท้าที่ลูกยกมายันที่หน้าท้องแม่ กระดูกของลูกจะแข็งมากขึ้น กระดูกที่ศีรษะจะแตกต่างจากกระดูกที่อื่นๆ คือ นิ่ม และยืดหยุ่นได้พอสมควร เล็บลูกน้อยจะยาวเกินปลายนิ้ว ทารกเพศชาย จะพบว่าลูกอัณฑะเคลื่อนตัวจากช่องท้องลงมาอยู่ใน ถุงอัณฑะแล้ว ขณะอยู่ในท้อง ทารกอาจจะสะอึกได้ จนแม่รู้สึกว่าลูกเคลื่อนไหวแบบกระตุกๆ

น้ำหนักตัวจะประมาณ 2000-2300 กรัม และลำตัวยาวประมาณ 42-45 ซ.ม.

เตรียมตัวคลอด

คุณแม่มีใจจดจ่อกับลูกน้อย ที่กำลังจะเกิด คุณแม่อาจไปเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับ การฝึกคลอด จัดเตรียมบ้านเพื่อต้อนรับสมาชิกคนใหม่ การหาคนช่วยเลี้ยงลูก คนที่เป็นเพื่อนและช่วยเหลือหลังคลอด และแม้แต่สถานฝากเลี้ยงลูกเมื่อตอนต้องกลับไปทำงาน ก็ควรเตรียมหาเอาไว้ตั้งแต่ช่วงนี้ เพราะเมื่อลูกคลอดออกมาแล้วคุณแม่จะยุ่งมาก จนไม่มีเวลา

ปรึกษาสูติแพทย์ ถึงสถานที่ ที่จะคลอด วิธีการคลอด ฝึกหัดหายใจ จังหวะการเบ่ง เอาไว้ ถ้าคุณต้องการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ที่สำคัญ อย่าลืมเตรียมเต้านม เพื่อให้นมลูก

การออกกำลังกายด้วยการเดิน จะทำให้คุณคลอดง่ายขึ้น เพราะกล้ามเนื้อได้ออกกำลัง ทำให้มีแรงเบ่งคลอดค่ะ

ในทารกอายุ 8 เดือน จะเห็นได้ว่า มีผมขึ้นแล้ว ปอดของเด็กในช่วงนี้ จะเจริญเต็มที่

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 29-32

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 29-32


เมื่อเข้าเดือนที่ 7 นับเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

คุณแม่จะอุ้ยอ้ายมากขึ้น เดินแบบเป็ด อึดอัด ถ่ายไม่สะดวก มีริดสีดวงทวารเกิดขึ้น และยังรู้สึกเจ็บท้องเป็นบางครั้ง เป็นการเจ็บเตือน ที่เรียกทางภาษาแพทย์ว่า Braxton-Hicks contraction บางคนมีอาการคัดจมูก ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน ที่หลั่งในกระบวนการตั้งครรภ์ค่ะ ไม่ได้เกิดจากเป็นหวัดแต่อย่างใด

เมื่อจวนครบกำหนดคลอด หรือไตรมาสสุดท้ายนี้ คุณแม่อาจจะเกิดอารมณ์วิตกกังวลไปต่างๆนาๆ ว่าการคลอดจะเจ็บไหม การเป็นแม่นี้จะเป็นอย่างไร ลูกที่ออกมาจะครบ 32 หรือไม่ ให้สงสัยหวาดหวั่นไปต่างๆ ซึ่งคุณแม่ควรจะพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือสามี ถึงเรื่องกังวลใจของคุณ สามีซึ่งจะเป็นคุณพ่อในอนาคตอันใกล้นี้ ควรพูดให้กำลังใจ ช่วยดูแลคุณแม่ และช่วยกันศึกษาหาความรู้ ให้ลูกเกิดมาปลอดภัย และแข็งแรง

ทารกในครรภ์ จะตัวใหญ่ ดิ้น แตะ ยืดตัว จนบางครั้งเห็นเป็นก้อนนูนแหลม เคลื่อนไหวที่หน้าท้องแม่ ลูกจะดูดนิ้ว ลืมตา หลับตา บางครั้งอาจจะนั่งไขว่ห้าง ดูดนิ้วด้วย กระดูกของลูกจะแข็งแกร่งขึ้น ผิวหนังสีชมพู แต่ยังเหี่ยวย่น เพราะว่ามีไขมันใต้ผิวหนังน้อย

หนูน้อย 7 เดือน จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 1140-1360 กรัม และจะยาวประมาณ 37.5 ซ.ม.

เข้าไตรมาสที่ 3

เดือนที่ 7 นี้ ถือว่าเป็นการเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 3 ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็สดชื่นดี แต่พอหลังอาหารกลางวันก็เหนื่อยหมดแรง อยากนอน สำหรับคุณแม่ทำงานออฟฟิศ ก็ลำบากหน่อย หาที่เอนหลังไม่ค่อยได้ เหนื่อยนักจะลาพักก็กลัวจะเสียงาน ว้าวุ่นพอสมควร

ช่วงนี้ข้อเท้าจะบวมใหญ่ขึ้น ขาจะล้า อย่าเพิ่งเบื่อตัวเองนะคะ คุณแม่ที่นั่งโต๊ะทำงาน ก็หาม้านั่งเตี้ยๆ มาวางเอาไว้ใต้โต๊ะ วางเท้าบนม้านั่ง ยกเท้าให้สูงเอาไว้ อาการบวมที่ข้อเท้าจะทุเลาลงค่ะ ถ้าอยู่บ้านก็นั่งเก้าอี้โยก โยกช้าๆ เป็นการออกกำลังกายข้อเท้า และขาได้ดีพอสมควร

ถ้าคุณแม่ต้องนั่งรถ หรือเดินทางไกลๆ นานๆ ควรหยุดพัก เข้าห้องน้ำ ยืดแข้งยืดขา เป็นระยะๆ ถ้าทำได้นะคะ

ทารกในครรภ์ในวัย 7 เดือน จะมีอวัยวะครบทุกส่วน นอนขดอยู่ในมดลูกของแม่

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 25-28

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 25-28


เมื่อตั้งครรภ์ครบ 6 เดือน คุณแม่จะรู้สึกว่า ลูกดิ้นแถวสะดือ หรือไม่ก็ต่ำแถวกระเพาะปัสสาวะ และอาจรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ แถวหน้าท้องด้านล่าง ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะกล้ามเนื้อมดลูกของคุณแม่ถูกยืด หัวลูกจะลอยสูงเหนืออุ้งเชิงกราน คุณแม่อาจจะอยากถ่ายปัสสาวะบ่อย เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะถูกมดลูกกด อาการจะเป็นในช่วงแรก แล้วจะค่อยๆทุเลาลงไปตามลำดับ

คุณแม่จะมีน้ำหนักขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านม หน้าท้อง และต้นขาจะถูกยืดมาก ระวังอย่าเกานะคะ ควรทาโลชั่น หรือครีมเอาไว้ เพื่อช่วยให้ผิวหนังกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังคลอด การดูแลเต้านมก็ให้ใส่ nursing bra เอาไว้ อย่าใช้สบู่ฟอก หรือทาครีมที่หัวนม เพราะอาจทำให้หัวนมแตกได้

ทารกอายุในครรภ์ 6 เดือน จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีน้ำหนักตัวประมาณ 450-680 กรัม และลำตัวยาวประมาณ 27-35 ซ.ม. ผิวหนังจะละเอียด มีขนอ่อนขึ้น เรียกว่า lanugo hair และมีสารไขมันเคลือบที่ผิว เรียกว่า vernix อยู่ทั่วตัวและศีรษะ ลูกน้อยของคุณลืมตา และหลับตาได้ หูพัฒนาเต็มที่ จนสามารถได้ยินเสียงต่างๆ แม้ว่าจะอยู่ในท้องแม่ ลายนิ้วมือและเท้าจะปรากฎชัดเจนแล้วในระยะนี้

ในช่วงเดือนที่ 6 นี้ คุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูกมากๆ เปิดเพลงที่แม่ชอบ เพื่อลูกจะได้ฟังไปด้วย

คุณแม่ชอบฝัน

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน มักชอบฝันเรื่องต่างๆ ฝันถึงเรื่องลูกว่าเป็นเพศอะไร ฝันว่าได้ไปทำอะไรๆมา หลงลืม ความฝันอาจถูกแปลได้ต่างๆนาๆ ตามความเชื่อ ถ้าคนรอบข้าง ผู้ใหญ่ หรือหมอดู ทำนายฝันให้คุณ ก็ฟังเอาไว้สนุกๆนะคะ อย่าไปเป็นจริงเป็นจังมากนัก ความฝันก็คือความฝัน

ขนอ่อน หรือที่เรียกว่า lanugo hair เป็นขนที่ละเอียด ขึ้นตามตัวเด็ก และสารเคลือบที่ผิว ที่เรียกว่า vernix

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 21-24

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 21-24


ช่วงนี้มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นมา สามารถคลำได้ระดับสะดือ หรือต่ำกว่าระดับสะดือเล็กน้อย ผิวหนังหน้าท้องของคุณแม่จะถูกยืดมาก ลำไส้ใหญ่ถูกเบียดจากมดลูกที่ใหญ่ขึ้น คุณแม่บางคนอาจมีปัญหาการขับถ่ายอุจจาระ มีอาการท้องผูก เมื่อไปตรวจครรภ์ คุณหมอสามารถได้ยินเสียง หัวใจของลูกน้อยของคุณเต้น โดยการใช้หูฟัง ฟังทางหน้าท้องได้ ระหว่างการตั้งครรภ์ ตั้งแต่ 18-20 สัปดาห์

ลูกน้อยระยะนี้ จะดิ้น แตะ หันตัวจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง เขามีน้ำหนักตัวประมาณ 300-450 กรัม ยาวประมาณ 20-30 ซ.ม. มีเล็บมือ เล็บเท้า เขานอนและดิ้นเป็นเวลา เผลอๆหนูน้อยก็จะดูดนิ้วมือเล่น อวัยวะต่างๆเติบโตอย่างรวดเร็ว และพัฒนาด้านโครงสร้าง และการทำหน้าที่ได้มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลง ของร่างกายแม่ คุณจะเห็นได้ว่า หญิงที่ตั้งครรภ์จะดูออกว่าท้อง เมื่ออายุครรภ์เข้า 4 เดือน หรืออาจจะน้อย กว่านั้น ถ้าเป็นท้องที่สอง ขนาดของท้องที่โตขึ้น จะสท้อนให้เห็น ถึงขนาดของเด็กในท้อง แพทย์จะตรวจดูขนาดของท้องที่โตขึ้น เพื่อดูการเจริญเติบโตของเด็ก มดลูกก็จะขยายเต็มที่ แต่เมื่อคลอดแล้ว ก็จะหดกลับไปสู่ขนาดปกติ

ปัญหา เล็กๆน้อยๆในช่วงตั้งครรภ์

ความไม่สบายตัว อึดอัด เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำใจ ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดกับทุกคน แล้วเขาก็ผ่านไปได้ไม่ยาก

การเปลี่ยนแปลงที่อื่นๆ นอกจากท้องจะเพิ่มขนาดขึ้นทุกวัน ได้แก่

ตกขาว

ตกขาวจะมีมากขึ้นตลอดช่วงตั้งครรภ์ ควรเลือดชุดชั้นในที่เป็นผ้าฝ้าย จะได้ซึมซับได้ดี ควรรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และขาหนีบ ให้สะอาดและซับให้แห้งเสมอ ถ้าทิ้งไว้ อาจมีอาการคัน ถ้าคันมากควรให้สูติแพทย์ตรวจ ส่วนเรื่องการสวนล้างช่องคลอด ไม่แนะนำให้ทำนะคะ เพราะถ้าทำไม่สะอาด อาจมีการติดเชื้อได้

หลอดเลือดโป่ง หรือเส้นเลือดขอด (Varicose vein) จะปรากฎที่ขา โดยมากที่น่อง เส้นเลือดขอดเป็นผลมาจาก เลือดบริเวณขา และปลายเท้าไหลกับเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ และไหลเข้าสู่หัวใจไม่สะดวก หรืออีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากพันธุกรรม หรือคุณแม่มีน้ำหนักขึ้นมากขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถลดการเกิดเส้นเลือดขอดได้ โดยการเปลี่ยนท่านั่ง ถ้าต้องนั่งนานๆ ควรมีม้านั่งเตี้ยๆรองขาทั้งสองข้าง พยายามไม่นั่งไขว่ห้าง ถ้าต้องยืนนานๆ ควรขยับข้อเท้าไปมาก และเปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ เกร็งกล้ามเนื้อขา เพื่อให้กล้ามเนื้อบีบเลือดดำให้ไหลกลับ เข้าสู่หัวใจ พยายามไม่ลงน้ำหนักที่ขาอย่างน้อย 15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง

เจ็บแสบที่ยอดอก (Heart Burn)

เกิดจากเมื่อตั้งท้อง มดลูกมีขนาดโตขึ้น กระเพาะอาหารที่อยู่ด้านบน จะถูกมดลูกดัน ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ เข้าไปในหลอดอาหาร เกิดการระคายเคืองหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ เหมือนโรคกระเพาะ แต่มาเกิดที่ยอดอกแทน การแก้ไข โดยรับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยๆ งดอาหารที่มีไขมัน พวกของทอดและอาหารรสจัด อาจจะดื่มนมพร่องมันเนย ซึ่งจะช่วยลดอาการได้บ้าง ถ้ายังมีอาการอยู่ ควรรับประทานยาลดกรด ก่อนนอน ซึ่งยานี้ควรได้รับการสั่งจากสูติแพทย์ ไม่ควรหาซื้อกินเองตามร้ายขายยานะคะ

ท้องผูก

อาการท้องผูกเกิดจาก ฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหว บีบตัวน้อยลง คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีกากสูง เช่น ผัก ข้าวซ้อมมือ ผลไม้ เม็ดแมงลัก และลูกพรุน ที่สำคัญควรออกกำลังกาย อาจจะออกด้วยการเดินก็จะดีมาก

ริดสิดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร คือ หลอดเลือดที่โป่งเหมือนเส้นเลือดขอด แต่เกิดบริเวณทวารหนัก ซึ่งจะเป็นมากขึ้น เมื่อท้องผูก ต้องเบ่งอุจจาระนาน ถ้าเจ็บมากควรนั่งแช่น้ำอุ่น หรือ นั่งบนหมอนนิ่มๆ และถ้าทนเจ็บไม่ไหว ก็อาจปรึกษากับสูติแพทย์เพื่อรับยาเหน็บมาเหน็บ

ปวดหลัง

เมื่อท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณมักจะต้องแอ่นหลัง ทำให้ปวดกล้ามเนื้อหลัง พยายามเดินตัวตรง ศีรษะตรง และหดท้องเข้ามา ควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย ถ้าคุณต้องยกของหนัก หรืออุ้มลูกคนก่อน ควรย่อเข่าลง อย่าก้มลงไปหยิบ หรืออุ้ม จะทำให้ปวดหลังมากขึ้น

ตะคริว

เมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่มักเป็นตะคริวตอนกลางคืน เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง ถ้าคุณแม่ดื่มนม หรือรับประทานโยเกิร์ต ตามที่แนะนำข้างต้น แล้วอาการตะคริวก็จะเป็นน้อยลง หรือไม่เป็นเลย

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20

เป็นกึ่งชีวิตในครรภ์ของทารก หรือ ครึ่งทางของการตั้งครรภ์

เมื่อตั้งท้องได้ 4 เดือน ท้องคุณแม่จะใหญ่ขึ้นเห็นได้ชัด มดลูกจะโตขึ้นมาอยู่กึ่งกลาง ระหว่างสะดือ และหัวหน่าว มดลูกจะมีขนาดเท่าผลส้มโอขนาดเล็ก เต้านมก็เริ่มฝึกทำงาน โดยหลั่งหัวน้ำนม (Colostrum) จากหัวนมติดเสื้อให้เห็นบ้างแล้ว บริเวณรอบหัวนม หรือลานหัวนม (areola) จะขยายใหญ่ขึ้น มีสีเข้มขึ้น และมีตุ่มเล็กๆที่ลานหัวนม ซึ่งเป็นต่อมใต้ผิวหนังที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นด้วย คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ ไม่ได้เป็นโรคอะไร

ช่วงนี้ คุณจะรู้สึกว่าลูกดิ้น ท้องโป่งตรงโน้น โป่งตรงนี้ คุณพ่อที่รักลูกอาจได้ชื่นชม ความแข็งแรง และความกระปรี่กระเปร่า ของชีวิตลูกน้อยในท้อง ด้วยการสัมผัสในช่วงนี้ คุณแม่ควรชี้ชวน ให้คุณพ่อได้มีประสบการณ์ คุณพ่อจะได้รู้จักกับลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้อง

การดิ้นของลูกนั้น คุณแม่ที่รูปร่างบาง จะรู้สึกถึงการดิ้นของลูก ได้ชัดเจน และเร็วกว่า คุณแม่ที่อ้วน เวลาไปตรวจครรภ์ คุณหมอจะถามถึง เรื่องการดิ้นของลูกเสมอ คุณแม่จะต้องคอยสังเกตการดิ้นของลูก เอาไว้ให้ดีด้วย เพราะคุณหมอจะนำไปใช้เป็นเครื่องแสดงความแข็งแรง หรือปัญหาของลูกในท้อง

ลูกน้อยในขณะนี้ มีน้ำหนักตัวประมาณ 150 กรัม และยาวประมาณ 15 ซ.ม. หัวใจเต้นแรง เป็นจังหวะ เขาเคลื่อนไหว แตะ นอนหลับ และตื่น สลับกันไป กลืนและถ่ายปัสสาวะ รู้ไหมคะ ลูกน้อยของคุณขณะนี้มีขนตาแล้ว และที่ศีรษะก็มีผมขึ้นบางๆ ผิวหนังใส สีชมพู ที่ลิ้นมีตุ่มรับรส และมีสายเสียงที่คอหอยค่ะ

ฉันรู้สึกสวยขึ้นค่ะ
เมื่อเข้าช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง หญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อย่างเห็นได้ชัด บางคนจะรู้สึกว่าตัวเองสวยขึ้น บางคนดูตัวเองแล้วรู้สึกว่าสวยน้อยลง ถ้าคุณรู้สึกสวยขึ้น สบายใจ และยินดีด้วยค่ะ แต่ถ้าคุณรู้สึกสวยน้อยลงแล้วละก็ ลองอ่านต่อไปซิคะ จะได้เป็นกำลังใจ

การตั้งครรภ์ มีสิ่งที่บอกให้รู้ได้บนใบหน้า ของผู้ที่ตั้งครรภ์ด้วยค่ะ หน้าจะเกิดปื้นดำแถว แก้ม หน้าผาก และสันจมูก จะเกิดเมื่อท้องครบ 4 เดือน ขึ้นไป เรียกกันว่า “หน้ากากของคนท้อง” แล้วคุณยังจะพบว่า มีหลอดเลือดขยายที่ผิวหนัง เห็นเป็นเส้นใยสีเขียวคล้ำ คล้ายใยแมงมุม ที่บริเวณใบหน้า คอ แขนและหน้าอก สิ่งเหล่านี้จะหายไปหลังคลอดค่ะ ไม่ต้องกังวล สบายใจได้ค่ะ ว่าหลังคลอดคนก็จะสวยเหมือนเดิม

คนท้องไม่ควรตากแดด ถ้าจะถูกแดดควรทาครีมกันแสงแดด ที่มีค่า SPE อย่างน้อย 15

สิว
ในช่วงท้อง คนที่เป็นสิวจะมีหน้าเกลี้ยงขึ้นค่ะ แต่คนที่หน้าเกลี้ยงมาก่อนอาจจะมีสิวขึ้น การดูแลให้ฟอกสบู่อ่อนๆ ใช้ครีมทาผิวที่เก็บความชื้น แต่ชนิดที่ไม่เป็นน้ำมันนะคะ ทาเป็นประจำ ถ้าผิวมันก็ให้ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า เอาไขมันออก และอย่าทาครีมที่ผิวหนัง

ผม
ตอนตั้งท้องพบว่า คุณแม่บางคนผมแห้ง บางคนผมบางลง เป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะเป็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆระหว่างการตั้งครรภ์ และผมจะกลับมาดกดำเหมือนเดิม เมื่อคลอดลูกไปแล้วประมาณ 4-6 เดือน

แขนของลูกน้อย

แขนจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ภายในเดือนแรกหลัง การปฏิสนธิ จะมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นมาข้างลำตัว 2 สัปดาห์ต่อมา มือก็จะเริ่มพัฒนา ในตอนแรกนิ้วทั้งห้า จะติดกัน และเท่าก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง อีกประมาณ 1 เดือนต่อมา นิ้วจะแยกให้ออกจากกันอย่างชัดเจน และเริ่มมีข้อศอก

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 13-16

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 13-16


อาการแพ้ท้องจะเริ่มทุเลาลง และมักหายไปเมื่อท้องได้ครบ 3 เดือน มดลูกขณะนี้มีขนาดเท่ากับ ผลส้มขนาดใหญ่ แต่อาจจะยังอยู่ในอุ้งเชิงกรานของแม่ คุณจะสังเกตว่า รอบเอวของคุณใหญ่ขึ้น หรือถ้าดูในกระจกจะพบว่าเองไม่คอดเหมือนแต่ก่อน หรือไม่มีเอว เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

คุณแม่ควรถือโอกาส หาซื้อเสื้อคลุมท้องที่หลวมๆ มาใส่ได้แล้ว และควรจะหาซื้อเสื้อยกทรง ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกชนิดที่สามารถเปิดด้านหน้า (well filled maternity bra หรือ nursing bra)ให้ลูกดูดนมได้ โดยไม่ต้องถอดเสื้อยกทรง คุณแม่จะได้ใช้ใส่ต่อไปจนถึงระยะให้นมลูกด้วย จะได้ใช้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากเต้านมขยายใหญ่ขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น คุณแม่ควรใส่เสื้อยกทรงเพื่อพยุงเต้านมเอาไว้ เต้านมจะได้ไม่หย่อยยานในภายหลัง

เมื่อไปฝากท้อง คุณหมอก็จะตรวจเต้านม และหัวนม เพื่อเตรียมตัวให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เอง ถ้าหัวนมบอดก็จะได้ให้คำแนะนะการแก้ไข แม่ที่มีหัวนมปกติ ให้เตรียมหัวนมให้ลูกดูด โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ถูที่หัวนมเบาๆ จะได้มีผิวหนังที่แข็งแรง เมื่อลูกดูดหัวนมจะได้ไม่เจ็บ หลังอาบน้ำแล้วควรใช้โลชั่น ทาเต้านม ผิวหนังจะได้ไม่ยืด เกิดเป็นรอยแตก ที่อาจจะเกิดจากการขยายของเต้านม

เมื่อใกล้ครบ 3 เดือน ลูกน้อยของคุณจะมีรูปร่าง และอวัยวะพัฒนาขึ้นมาเกือบสมบูรณ์แล้ว ทารกจะเริ่มเคลื่อนไหว โดยแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้น เพราะลูกจะแตะเท้าจนแม่รู้สึกได้ กำหมัดได้ หันหัวไปมา ตาเคลื่อนไหว มองไปมาได้ ทำหน้าผากย่น มีตุ่มฟันประมาณ 20 ตุ่มเกิดขึ้นใต้เหงือก เพื่อจะพัฒนาเป็นฟันน้ำนมต่อไป ริมฝีปาก และอวัยวะเพศเริ่มพัฒนา

ไตทั้ง 2 ข้าง พัฒนามากพอ จนลูกน้อยของคุณเริ่มถ่ายปัสสาวะแล้ว ไม่ต้องกังวลค่ะ ปัสสาวะที่ลูกน้อยถ่ายออกมานี้ ลูกก็จะกลืนเข้าทางเดินอาหาร และถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ส่งผ่านสายสะดือ ไปยังแม่ เพื่อให้ไตของแม่ขับของเสีย ต่อไป

ลูกน้อยจะนอนสบาย อยู่ในน้ำคร่ำ ซึ่งเป็นน้ำหล่อเลี้ยงภายนอก รวมกับปัสสาวะของลูกนั่นเอง ขณะนี้ ลูกน้อยจะมีน้ำหนักประมาณ 30 กรัม ยาวประมาณ 10 ซ.ม.

เราสามคน อยู่ด้วยกัน

การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคน เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ เป็นเรื่องของ “คนสามคน”

ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณจะพบว่า อารมณ์เปลี่ยนแปลง และเกิดอารมณ์ได้หลากหลาย แปรเปลี่ยน จากดีใจที่มีลูก สลับกับความกลัวในการตั้งครรภ์ การคลอด กังวลใจว่าจะทำหน้าที่แม่ได้อย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไร

เรื่องอารมณ์เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับคนท้อง การตั้งครรภ์ การคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติ คนเราได้ผ่านประสบการณ์ อย่างที่คุณจะผ่านมาร่วมหลายพันปี เขาก็ผ่านมาได้ ดังนั้นคุณควรอยู่กับมันอย่างมีความสุขนะคะ ความวิตกกังวล ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มาตั้งใจปฏิบัติตนให้ถูกต้องดีกว่า ค้นหาความรู้เพิ่มเติม เตรียมสถานที่เพื่อลูกรัก ศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆกัน แต่จะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กๆน้อยๆ ซึ่งคุณแม่ต้องศึกษาเปรียบเทียบดู หาวิธีการที่เหมาะสมกับตนเอง แต่อย่าลืมว่า เมื่อนำไปใช้จริงๆ คุณจะต้องเลือกที่เหมาะสมกับทั้งคุณและลูกของคุณ เพราะแม่ลูกแต่ละคู่จะไม่เหมือนกัน การตั้งครรภ์ครั้งที่สอง ก็ไม่เหมือนครั้งแรกค่ะ

ผู้ที่กำลังจะเป็นพ่อเขาจะรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกคล้ายคนกำลังจะเป็นแม่ คือ ผันผวน ผู้เป็นพ่อรู้สึกภูมิใจ ที่เขาได้ให้กำเนิดลูก แต่เขาจะรู้สึกกังวลใจว่า เขาจะเป็นพ่อที่ดีได้เพียงไร แล้วค่ะใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีก ลูกจะสมบูรณ์ไหม ลูกที่เกิดมาจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย ถ้าเป็นชายก็จะเล่นกีฬาอย่างที่พ่อถนัด ถ้าเป็นลูกสาวล่ะ! จะเลี้ยงอย่างไรดี นอกจากนั้นเขาก็เป็นห่วงภรรยาที่เขารัก จะต้องลำบากเจ็บปวดในการคลอด แล้วยังเรื่องเพศสัมพันธุ์ในช่วงที่คุณผู้หญิงตั้งครรภ์นี้ จะเหมือนเดิมหรือไม่ และเรื่องอื่นๆอีกจิปาถะ วิถีชีวิตของคนสองคน กำลังจะเปลี่ยนไป ผู้ที่จะเป็นพ่อควรไปกับภรรยา เวลาไปตรวจครรภ์ เพื่อพูดคุยเรื่องสุขภาพของภรรยา และลูก เรื่องความกังวล และคำถามที่คุณมีอยู่ในใจ ช่วยกันถาม ช่วยกันจดจำ นำมาปฏิบัติ เพื่อลูกน้อยของคุณทั้งสองคน

การถามคำถามกับแพทย์โดยตรง จะทำให้ผู้เป็นพ่อ ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ และได้ข้อมูลที่อาจจะละเอียดอ่อน เช่น เรื่องเพศสัมพันธุ์ กับภรรยาที่มีรูปร่าง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในช่วงที่ภรรยาตั้งครรภ์ โดยทั่วไป ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องแท้งบุตรง่ายมาก่อน หรือเลือดออกทางช่องคลอด การมีเพศสัมพันธุ์ โดยเลือกท่าที่ไม่ทับหน้าท้อง และไม่กระทำรุนแรง โลดโผน ก็ไม่มีข้อห้ามอะไร ยกเว้นแต่ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์

การเจริญเติบโตของ หู

หูชั้นในของลูกน้อย จะเริ่มพัฒนาตอนอายุ 2 เดือน เมื่ออายุประมาณ 10 สัปดาห์ (รูปซ้าย) จะเริ่มเห็นหูส่วนนอก หูชั้นนอกจะ
เริ่มพัฒนา เมื่ออายุ 4 เดือน (รูปกลาง) และพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ ในอีก 1 เดือน ต่อมา
การร้องเพลง ให้ลูกฟัง ก็เริ่มได้ตั้งแต่ตอนนี้ค่ะ แต่ไม่มีผลการวิจัย ที่แน่นอนว่าจะมีผลต่อ พัฒนาการของลูกหลังคลอดหรือไม่

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 9-12

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 9-12

ท้องจะยังไม่โตให้เห็น ขนาดของมดลูกระยะนี้มีขนาดเท่าลูกเทนนิส นิ่ม มีเมือกมาปิดบังแถวปากมดลูก เพื่อป้องกันลูกน้อยเอาไว้ ไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปโดยง่าย เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น คลำได้เป็นก้อนใหญ่ เรียกว่า เต้านมคัด

คุณจะรู้สึกเหนื่อย และต้องการพัก คุณพ่อควรช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระการงาน ให้คุณแม่คนใหม่ได้พักบ้าง
ลูกน้อยในท้องแม่ เริ่มก่อรูปร่าง ด้านบนเป็นศีรษะ และใบหน้า มีข้อศอก เข่า นิ้วมือ และนิ้วเท้า ให้เห็นได้แล้ว อวัยวะต่างๆพัฒนาขึ้น แต่ยังไม่สมบูรณ์ ระยะนี้จะมีน้ำหนักไม่ถึง 30 กรัม และยาวประมาณ 3-7 ซ.ม.

ลูกและแม่สื่อสารติดต่อกันทางรก โดยมีสายสะดือเป็นท่อต่อจากตัวลูก ไปยังรกที่ติดอยู่กับผนังมดลูกของแม่ ลูกน้อยจะได้รับอาหาร และออกซิเจนผ่านทางรก เข้าไปทางสายสะดือ ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ลูกน้อยจึงเติบโตขึ้นทุกวันคืน

ในเดือนที่ 2 นี้ คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง ยังรับประทานอาหารไม่ได้ ต้องพยายามรับประทานอาหาร ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ อาจจะรับประทานวันละ 6 มื้อ งดการสูบบุหรี่ และดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด และไม่ควรซื้อยามากินเอง ยาบางชนิดอาจหยุดยังการพัฒนา อวัยวะของลูก เช่น ยาทาลิโดไมด์ (Talidomite) ทำให้มีความพิการของแขนขา เป็นต้น

กินดี อยู่ดี
คนท้อง ต้องรับประทานอาหาร ที่เป็นประโยชน์ ต่อตัวคุณเอง และลูกน้อย โดยปริมาณต้องเพิ่มขึ้น ลูกต้องการอาหารไปสร้างเนื้อเยื่อ เซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะ อาหารที่มีโปรตีนสูง คือ เนื้อ นม ไข่ เต้าหู้ เนื้อปลา ไก่ เนย ปลากระป๋องที่ไม่มีกระดูก และผักใบเขียวต่างๆ

แคลเซียม
ต้นตอของแคลเซียมที่ดี คือ นมวัว หรือ โยเกิร์ต การดื่มนมเพื่อให้ได้แคลเซียมนั้น มีความสำคัญมากสำหรับคนท้อง ถึงขนาดที่ในรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา มีคูปอง ให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไปแลกได้ฟรี โดยได้นมสด 2 ถ้วย และโยเกิร์ต 2 ถ้วย ต่อวัน การที่ให้กินโยเกิร์ต ก็เพื่อให้ได้จุลินทรีย์สุภาพ แม่จะมีจุลินทรีย์ชนิดที่ดีๆ ในตัว เมื่อลูกคลอดผ่านช่องคลอดออกมา ก็จะได้จุลินทรีย์ที่ดีตั้งแต่เกิด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน จุลินทรีย์สุขภาพค่ะ)

วิตามิน
วิตามิน มีอยู่ในผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว สตอเบอรี่ เป็นต้น ส่วนวิตามินอื่นๆ คุณหมอจะจัดมาให้คุณแม่รับประทาน เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ ซึ่งจะมีวิตามินรวม แคลเซียม ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิค คุณแม่ไม่ควรหาวิตามินมารับประทานเอง นอกเหนือจากที่แพทย์สั่งนะคะ เพราะวิตามินบางชนิด ถ้ามากเกินไปอาจเกิดอันตรายต่อลูกได้

สำหรับคุณแม่ ที่รับประทานอาหารพวกเนื้อสัตว์ มากๆไม่ได้ ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม แนะนำให้ใช้รายการอาหารแลกเปลี่ยน คือ รับประทานอาหารอย่างอื่นเพื่อให้ได้รับ ปริมาณโปรตีนเพียงพอ รายการอาหารแลกเปลี่ยนมีดังนี้

-นมถั่วเหลือง 1 ถ้วย
-ไข่ 1 ฟอง
-ปลาทูตัวใหญ่ครึ่งซีก หรือตัวเล็ก 1 ตัว
-เต้าหู้แผ่น หรือ แบบหลอด 1 แผ่น หรือ หลอด
-ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง 2 ช้อนโต๊ะ
-ถั่วลิสง 30 เม็ด

ให้รับประทานให้ได้ทั้ง 2 ข้อ ต่อ 1 วัน ก็จะได้รับโปรตีนเพียงพอ ต่อความต้องการใน 1 วัน ค่ะ

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 1-8

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 1-8


ช่วง 8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จะเริ่มมีอาการผิดปกติที่แสดงออกถึงการตั้งครรภ์ ซึ่งบางทีคุณแม่อาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่า ลูกน้อยถือกำเนิดในครรภ์แล้ว

ซึ่งอาการต่างๆ มักจะเริ่มเมื่อ 1-3 สัปดาห์แรก ซึ่งเป็นช่วงตกไข่และมีการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น อาจมีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าตกใจ โดยในสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนที่เคยมาปกติก็ไม่มา ทำให้คุณแม่บางคนสังเกตได้ว่าตั้งครรภ์ในช่วงนี้ โดยอาจใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ ซึ่งหากมั่นใจแล้วว่าตั้งครรภ์แน่นอน ก็ควรเริ่มกินโฟลิคให้ได้วันละ 4,000 มิลลิกรัม โดยมากแพทย์จะสั่งจ่ายให้ หรืออาจจะเลือกกินอาหารที่มีโฟลิคมาก เช่น บร็อคโคลี ผักปวยเล้ง ถั่วต่างๆ ขนมปังโฮลวีต เสริมด้วย

เมื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คุณแม่จะเริ่มมีอาการแพ้ท้อง คือ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน จนบางคนไม่สามารถกินอะไรได้เลย ควรแก้ปัญหาด้วยการกินอาหารทีละน้อย แต่กินบ่อยครั้ง เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้องมาก แพทย์อาจจะสั่งยาแก้แพ้ให้

จนเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 7-8 เป็นช่วงที่คุณแม่อาจสังเกตว่ามีอาการตกขาวมาก จึงควรดูแลอนามัยช่องคลอดให้ดี สังเกตว่ามีตกขาวมากผิดปกติแค่ไหน ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อด้วย ก็ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะอาจลุกลามไปถึงโพรงมดลูก ทำให้มีอาการอักเสบ ส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนที่ฝังตัวในผนังมดลูก และมีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนช่วง 3 เดือนแรกด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อแน่ใจแล้วว่าตั้งครรภ์ ช่วงเริ่มต้น 8 สัปดาห์แรก คุณแม่ควรไปตรวจเช็คสุขภาพ เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ ไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกเลือด ต้องไปพบแพทย์ทันที

การเจ็บท้องและการคลอด

การเจ็บท้องและการคลอด


การเจ็บครรภ์และการคลอด จะแบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะที่หนึ่ง

จะเป็นช่วงที่คุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอและถี่ขึ้น จะพบท้องแข็งเกร็งเป็นก้อนนูนขึ้นมา เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเป็นระยะๆ ระยะนี้จะกินเวลานาน 8-10 ชั่วโมงในท้องแรก และ 6-8 ชั่งโมงในท้องหลัง การผ่านช่วงเวลานี้จะสำเร็จได้ด้วยดี หากมีการอบรมเรื่องการคลอดมาก่อน ร่วมกับการพยายามผ่อนคลาย สงบใจ และปล่อยตัวตามสบาย

เมื่อ คุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด มีมูกเลือดหรือน้ำเดิน ซึ่งเป็นอาการนำมาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงห้องคลอด เจ้าหน้าที่จะถามรายละเอียดของการเจ็บครรภ์ว่าเริ่มต้นเมื่อใด ถี่บ่อยแค่ไหน มีมูกเลือดจากช่องคลอดหรือน้ำเดินหรือไม่ จากนั้นจะมีแพทย์ถามประวัติซ้ำพร้อมตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ อุณหภูมิ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจหน้าท้องและตรวจภายในว่าปากมดลูกเปิดมากแค่ไหนแล้ว จากนั้นจะตรวจปัสสาวะเพื่อดูน้ำตาลและโปรตีน เพื่อค้นหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หากพบว่าปากมดลูกเปิดไม่มาก จะทำการสวนอุจจาระ แล้วย้ายเข้ารอคลอดในห้องรอคลอด

ห้อง รอคลอด จะมีพยาบาลและแพทย์ มาตรวจการหดรัดตัวของมดลูก และตรวจภายในเป็นระยะ เพื่อดูความก้าวหน้าของการคลอด การคลอดจะเข้าสู่ระยะที่สอง เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ หรือปกติประมาณ 10 เซนติเมตร ในระยะนี้คุณแม่มักจะได้รับคำแนะนำให้งดน้ำงดอาหาร และได้รับน้ำเกลือเพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการดมยาสลบในการผ่าคลอด และภาวะฉุกเฉินในการสตั้งครรภ์ต่างๆ สำหรับอาการเจ็บครรภ์ในระยะนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระงับความรู้สึกวิธีต่างๆ หรือใช้ยาแก้ปวดตามความเหมาะสม

ระยะที่สอง

เป็น ระยะที่ปากมดลูกเปิดเต็มที่และจะมีการคลอดของทารกจนเสร็จสิ้น ในระยะนี้คุณแม่จะได้รับการย้ายเข้าสู้ห้องคลอด และนอนอยู่ในท่าเตรียมคลอด ซึ่งจะอยู่ในท่านอนหงาย ศีรษะยกสูง หรือขึ้นขาหยั่ง จากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการคลอดทารกคือ แรงเบ่งของคุณแม่ การเรียนรู้และได้รับการอบรมเรื่องการเบ่งคลอด จะช่วยให้คุณแม่ออกแรงเบ่งตลอดได้ถูกวิธี โดยเมื่อมีการเจ็บครรภ์คลอด มดลูกเริ่มหดรัดตัว คุณแม่ควรหายใจเข้าลึก กลั้น และเบ่งยาว เมื่อหมดแรงเบ่งสูดหายใจเข้าลึก กลั่น และเบ่งยาวซ้ำ ในการหดรัดตัวของมดลูก 1 ครั้งควรเบ่งยาวได้ 2-3 ครั้ง ขณะที่คุณแม่เบ่ง พยาบาลจะช่วยให้กำลังใจ ให้จังหวะ และเชียร์เบ่ง การเบ่งคลอดที่ถูกต้องจะทำให้ทารกเคลื่อนตัวลงมาอย่างเหมาะสม เมื่อทารกเคลื่อนตัวลงมาที่ปากช่องคลอด แพทย์จะช่วยทำคลอดโดยฉีดยาชาระงับความรู้สึกบริเวณฝีเย็บ และอาจพิจารณาตัดฝีเย็บ เพื่อช่วยเหลือกลไกการคลอด หลังจากนั้น แพทย์จะทำคลอดทารก

เมื่อ ทารกคลอด แพทย์จะทำการดูดน้ำคร่ำในปาก และจมูกของทารกโดยใช้ลูกยางแดง เพื่อเป็นการกระตุ้นทารกและช่วยให้ทารกเริ่มหายใจ จากนั้น จะเช็ดตัวทารกให้แห้ง ห่มผ้าให้อบอุ่น และอาจพิจารณานำทารกมาวางไว้บนหน้าอกคุณแม่ เพื่อกระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก และให้ทารกดูดนมเพื่อกระตุ้นกลไกการสร้างและหลั่งน้ำนม ขณะเดียวกัน แพทย์ก็จะพิจารณาทำคลอดรกซึ่งจะเป็นการคลอดในระยะที่สาม ระยะที่สองนี้โดยปกติในท้องแรกจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ส่วนในท้องหลังจะใช้เวลา ? -1 ชั่วโมง

ระยะที่สาม

เป็น ระยะที่จะเกิดการคลอดของรก หลังทารกคลอดปกติรกจะเริ่มลอกตัว เมื่อรกลอกตัวแล้วแพทย์จะพิจารณาทำคลอดรก โดยอาจจะทำการกดบริเวณหน้าท้องหรือท้องน้อยของคุณแม่ เพื่อดันไล่รกลงมาที่ช่องคลอด และช่วยทำคลอดรก หลังคลอดรก แพทย์จะทำการตรวจสอบหาบาดแผลในช่องทางคลอด และพิจารณาเย็บซ่อมแซมโดยใช้ยาระงับความรู้สึก โดยมากระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที

หลัง จากระยะนี้แล้ว คุณแม่จะพักอยู่ในห้องคลอดต่อไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะได้รับการย้ายเข้าสู่หอผู้ป่วยหลังคลอด ซึ่งในระยะนี้คุณแม่มักจะหลับ เนื่องจากการเหนื่อยและอ่อนเพลียจากการคลอด การพักผ่อนในโรงพยาบาลมักใช้เวลาเพียง 1 วันหลังคลอดในกรณีที่คลอดปกติทางช่องคลอด จากนั้น แพทย์มักอนุญาตให้คุณแม่และทารกกลับไปพักผ่อนต่อที่บ้านได้



ที่มา
http://www.being-mom.com

การเตรียมพร้อมก่อนคลอด

การเตรียมพร้อมก่อนคลอด


เมื่อ คุณแม่ตั้งครรภ์ราว 8 เดือน ควรตรวจดูว่าได้เตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดทารกน้อยแล้วหรือยัง คุณจะพบกับเหตุการณ์อะไรบ้างเมื่อเข้าห้องคลอด และควรเตรียมของใช้อะไรที่จำเป็นสำหรับการนอนโรงพยาบาล และของใช้สำหรับการดูแลทารกและคุณแม่หลังคลอด

กระเป๋าเตรียมคลอด

ควรจัดเตรียมพร้อม เพื่อสามารถหยิบฉวยได้ทันที เมื่อต้องการอย่างเร่งด่วน สิ่งของที่ควรเตรียมมีดังนี้

-ชุดที่จะใส่หลังคลอดกลับบ้าน 1 ชุด
-ผ้าเช็ดตัวสีเข้ม และผ้าขนหนูเช็ดหน้า 2 ผืน
-สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน
-ผ้าอนามัยแบบห่วง
-หนังสืออ่านเล่น, นิตยสาร, วิทยุเล็กๆ
-เบอร์โทรศัพท์ของญาติพี่น้อง และเพื่อน
-ของใช้สำหรับทารก ผ้าอ้อม 2 ผืน เข็มกลัดซ่อนปลาย (หรืออาจใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป) เสื้อชุดหมีหรือเสื่อชุดนอน ผ้าขนหนูผืนใหญ่
-นอกจากนี้อาจเตรียมยกทรง สำหรับให้นมทารก 2-3 ตัว

การเจ็บครรภ์และการคลอด
ในที่สุด การเจ็บครรภ์ และการคลอดก็มาถึง คุณแม่อาจจะรู้สึกหวาดกลัว ตื่นเต้น เพราะจะเป็นช่วงที่มี การเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งหลังจากนั้นจะได้พบกับ ทารกตัวน้อย การผจญกับ การเจ็บครรภ์จะผ่านไปได้ ถ้าคุณแม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน และเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในระยะต่างๆ ของการคลอด การให้กำเนิดลูกน้อย เป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ยิ่งคุณแม่สงบใจ และผ่อนคลายได้มากเท่าไร ก็จะสามารถซึมซับความประทับใจ และผ่านประสบการณ์ ครั้งนี้ได้อย่างน่าจดจำ

การคลอดทางหน้าท้อง
การคลอดทางหน้าท้องหรือผ่าตัดคลอด ทางการแพทย์เรียก ซีซาเรียน เซ็คชั่น (cesarean section) จะเป็นวิธีคลอดที่ใช้สำหรับการตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดปัญหาไม่สามารถคลอดปกติทางหน้าท้องได้ เนื่องจากการคลอดทางหน้าท้องจะต้องมีการให้ยาระงับความรู้สึกมากกว่า และเสียเลือดจากการผ่าตัดมากกว่าการคลอดปกติ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดทางหน้าท้อง จึงมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดปกติ คุณแม่อาจจะรู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถคลอดทารกทางช่องคลอดเองได้ และอาจรู้สึกกลัวการผ่าตัด แต่ความรู้สึกนี้จะน้อยลงหากคุณแม่เข้าใจเหตุผลของการผ่าตัด ทราบถึงขั้นตอนและการปฏิบัติตัวในการผ่าตัดคลอด ก็จะลดความวิตกกังวลลงได้

ในตอนของการผ่าตัดเตรียมคลอด เริ่มด้วยการโกนขนบริเวณอวัยวะเพศ ให้น้ำเกลือที่แขนและใส่สายสวนปัสสาวะ ย้ายเข้าห้องผ่าตัด เตรียมยาระงับความรู้สึกอาจจะใช้วิธีใส่ท่อช่วยหายใจและใช้ดมยาสลบ หรือใช้ยาชาฉีดเข้าโพรงน้ำไขสันหลังหรือเหนือโพรงน้ำไขสันหลัง ซึ่งในกรณีหลังคุณแม่จะสามารถรู้สึกตัวขณะที่ทำการผ่าตัดคลอดทารก และอาจขอดูทารกหลังคลอดทันทีได้

การเลือกวิธีระงับความรู้สึกจะได้รับการพิจารณาโดยวิสัญญีแพทย์ โดยร่วมกับการตัดสินใจของคุณแม่ด้วย หลังได้รับยาระงับความรู้สึก แพทย์จะทำการผ่าตัดคลอดโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ ? -1 ชั่วโมง แผลผ่าตัดปกติจะมี 2 ชนิดคือ แผลตามยาวจากใต้สะดือถึงบริเวณเหนือหัวหน่าว กับแผลตามขวางหรือแผลบิกินี ซึ่งจะอยู่เหนือแนวขนที่อวัยวะเพศเล็กน้อย สำหรับไหมที่เย็บแผลอาจเป็นไหมที่ไม่ละลายซึ่งจำเป็นต้องตัดไหมประมาณ 5-7 วันหลังคลอด และไหมที่ละลายซึ่งไม่ต้องตัดไหมในกรณีที่ไม่มีปมไหม

การเกิดแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ ลักษณะของแผลผ่าตัด แรงตึงของแผล และลักษณะผิวหนังของคุณแม่แต่ละคน ดังนั้น คุณแม่ควรใส่ใจ ในเรื่องความปลอดภัย และระวังดูแลบาดแผลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากกว่าการวิตกเรื่องแผลเป็น หลังผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว จะสังเกตอาการต่อในห้องพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงย้ายคุณแม่ไปสู่หอผู้ป่วยหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด ปกติแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านใน 5-7 วันหลังคลอด

บทความโดย น.พ. ภาวิน พัวพรพงษ์

ครรภ์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

ครรภ์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะดำเนินไปอย่างปกติและราบรื่น แต่ก็มีบางภาวะที่แพทย์คิดว่า อาจจะมีโอกาสเกิดปัญหายุ่งยากซับซ้อนขึ้นได้ จึงต้องมีการติดตามดูแลการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหาเหล่านั้นก็ได้แก่

- โลหิตจาง
ผู้หญิงส่วนมากมักมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อยก่อนตั้งครรภ์ เพระร่างกายขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เพื่อพร้อมรับมือกับความต้องการธาตุเหล็กที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งการเสียเลือดระหว่างคลอด การป้องกันโลหิตจางทำให้ได้โดยการกินอาหารหลากชนิดให้ครบหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เนื้อแดงไม่ติดมัน ปลาทูน่า ผักโขม ผักปวยเล้ง ตับ เป็นต้น ถ้าแพทย์ตรวจพบว่ามีอาการโลหิตจาง อาจจะจัดธาตุเหล็กเสริมให้ โดยควรกินหลังอาหารมื้อหนัก เพราะเหล็กจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และอาจทำให้คลื่นไส้หรืออาเจียนได้

- เบาหวาน
หากแม่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว ต้องควบคุมอย่างระมัดระวัง โดยการเช็คน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติสม่ำเสมอ โดยแพทย์จะให้อินซูลิน โดยปรับขนาดให้เหมาะสม และคุณแม่ก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินร่วมด้วย และต้องไปตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติ ซึ่งบางรายก็พบภาวะเบาหวานอย่างอ่อนๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะหายไปเองหลังจากคลอดไม่นาน

- ปากมดลูกปิดไม่สนิท
ในการตั้งครรภ์ปกติ ปากมดลูกจะปิดสนิทจนถึงเวลาคลอด แต่หากคุณแม่มีอาการแท้งซ้ำหลังช่วง 3 เดือนแรก อาจเกิดจากสาเหตุของมดลูกไม่แข็งแรงและปากมดลูกปิดไม่สนิท แพทย์มักแนะนำให้มีการผ่าตัดเล็ก เพื่อเย็บรูดปากมดลูกให้ปิดสนิทตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และเอาไหมเย็บออกเมื่อเจ็บท้องคลอด

- ครรภ์เป็นพิษ
เป็นอาการที่พบบ่อยในการตั้งครรภ์ช่วงท้าย มักมีอาการความดันโลกหิตสูงเกิน 140/90 น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ข้อเท้า เท้า หรือมือบวม ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ถ้ามีอาการเหล่านี้ แพทย์ต้องดูแลเป็นพิเศษ และถ้าความดันโลหิตสูงควบคุมไม่ได้ อาจจะเกิดอันตรายมาก ทำให้ชักหรือหมดสติได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนมากๆ อาจมีการให้ยาลดความดัน งดอาหารที่มีรสเค็มจัด ถ้าอาการรุนแรงอาจจะต้องรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และแพทย์อาจจะกระตุ้นให้เกิดการคลอดขึ้น

- ทารกเล็กกว่าอายุครรภ์
ทารกบางคนเติบโตไม่ปกติในครรภ์ และจะตัวเล็กเมื่อคลอด เรียกว่า "ทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์" ภาวะนี้เกิดจากแม่ที่สูบบุหรี่ กินอาหารที่มีคุณค่าต่ำ รกไม่สมบูรณ์ หรือมีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ซึ่งถ้าตรวจพบว่าทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ แพทย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์ ดูว่าเลือดไปเลี้ยงที่รกเพียงพอหรือไม่ และถ้ามีอาการหยุดการเจริญเติบโต หรือมีภาวะที่น่าเป้นห่วง แพทย์อาจเร่งห้คลลอดเร็วขึ้น

- ฝาแฝด
การตั้งครรภ์แฝดอาจทำให้แม่เกิดภาวะโลหิตจาง ครรภ์เป็นพิษ หรือทารกนอนในท่าที่ผิดปกติ จึงควรไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอถ้ามีลูกแฝด การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะทำให้ร่างกายเหนื่อยกว่าปกติ จึงต้องดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น ระวังเรือ่งการทรงตัว และพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

- ตกเลือด
ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ว่าจะตั้งครรภ์ในระยะกี่สัปดาห์ ต้องรีบไปพบเพทย์ทันที และนอนพักที่เตียง ถ้ามีอาการตกเลือกในช่วงก่อน 28 สัปดาห์ อาจะเป็นอาการนำของการแท้ง ถ้าหลังจากนี้อาจเป็นเพราะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือรกเกาะต่ำได้ ถ้ารกมีปัญกา แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที

- การแท้งลูก
คือการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงก่อน 28 สัปดาห์ พบได้ 1 ใน 5 ของการตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่จะเกิดในช่วง 12 สัปดาห์แรก ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติของทารกเอง อาการแรกคือ มีการตกเลือด จึงควรรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังอาจมีภาวะอาจแท้ง ซึ่งมีอาการเลือดออกเล็กน้อย ไม่เจ็บปวด มักจะตั้งครรภ์ต่อไปได้ ถ้าทำตามคำแนะนำของแพทย์ และเลือดหยุดไปภายใน 2-3 วัน แต่การแท้งจริงจะมีการตกเลือก และรู้สึกปวด ทารกมักจะไม่มีชีวิตแล้ว จึงควรไปพบแพทย์โดยด่วน

ที่มา
http://www.being-mom.com

พาคุณแม่ไปฝากครรภ์

พาคุณแม่ไปฝากครรภ์

เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่า คุณกำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ โดยไม่ควรเกิน 3 เดือนนับจากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าครรภ์ปกติและลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้กับคุณแม่

ชั่งน้ำหนัก
เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่ อย่ากังวลหากน้ำหนักจะลดลงบ้างใน 3 เดือนแรก ซึ่งมักมาจากอาการแพ้ท้อง และหากน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้
วัดส่วนสูง
การฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการวัดส่วนสูง เพื่อเป็นตัวบอกคร่าวๆ ถึงลักษณะของเชิงกราน ถ้าเล็กอาจทำให้คลอดยากได้
วัดความดันโลหิต
ความดันโลหิตของคุณแม่อาจลดต่ำลงบ้างในระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากมีภาวะความดันโลหิตสูง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเครียด กังวล
ตรวจเลือด
ครั้งแรกจะมีการตรวจเลือดเพื่อหากรุ๊ปเลือดและ Rh กรุ๊ป ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะตรวจซ้ำอีกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 32 สัปดาห์ ตรวจภูมิต้านทานหัดเยอรมัน ตรวจว่าไม่มีโณคทางเพศสัมพันธ์ และดูลักษณะเม็ดเลือดผิดปกติบางชนิด
ตรวจปัสสาวะ
เพื่อตรวจน้ำตาล หาภาวะเบาหวาน ตรวจว่ามีโปรตีนในปัสสาวะหรือไม่ เพราะถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบโปรตีนในช่วงหลังๆ ของการตั้งครรภ์ อาจพบว่าเกิดจากครรภ์เป็นพิษได้
ตรวจภายใน
ในครั้งแรกเพื่อให้แน่ใจถึงระยะเวลาการตั้งครรภ์ และตรวจปากมดลูกว่าปิดสนิทดี และอาจตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่
ซักประวัติเกี่ยวกับการขาดประจำเดือน
อาการแพ้ท้อง เด็กดิ้น ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดครั้งก่อนๆ ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัว การแพ้ยาต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดูแลระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด

การตรวจครรภ์อย่างละเอียด และคาดคะเนกำหนดคลอด ให้คำแนะนำ หรือตอบปัญหาต่างๆ ที่คุณแม่เจอในระหว่างตั้งครรภ์ และอาจสั่งยาบำรุง หรือยาอื่นๆ ที่จำเป็น

สำหรับระยะเวลาที่คุณแม่ควรกำหนดในการตรวจตลอดการตั้งครรภ์ คือ ตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกจนถึง 7 เดือน ควรไปตรวจเดือนละครั้ง ระหว่าง 7-8 เดือนควรไปตรวจทุก 2 สัปดาห์ และเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ควรไปตรวจทุกสัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการครรภ์ผิดปกติ ก็ควรไปพบหมอให้บ่อยกว่าที่กำหนด


ที่มา
http://www.being-mom.com

แพ้ท้องทำอย่างไร

แพ้ท้องทำอย่างไร



อาการแพ้ท้อง
มักเป็นกันมากในหญิงมีครรภ์ที่เป็นครรภ์แรก ซึ่งมักจะเป็นในช่วง ๓ เดือนแรก ด้วยความเป็นกังวลที่ทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย แปรปรวนและหงุดหงิดค่อนข้างง่าย หากผู้ใดที่อยู่ใกล้ไม่มีความเข้าใจมักเกิดความรำคาญหรือว่ากล่าวอันเป็นเหตุให้คุณแม่มือใหม่เกิดอาการเครียดขึ้นมาได้

อาการต่างๆ ที่เป็นกันมากมักมีดังนี้ คลื่นไส้อาเจียนตอนเช้าๆ หรือตอนกลางวัน อ่อนเพลียหรือเบื่ออาหาร ร่างกายซูบซีดอิดโรย ตัวดำ หรือเหลืองซีด น้ำหนักตัวลด อาการนี้สามีอาจมีอาการร่วมด้วย ที่เราเรียกว่า แพ้ท้องแทนเมีย นั่นเอง ซึ่งถ้าปล่อยให้อาการเหล่านี้เป็นมากเป็นบ่อย อาจส่งผลกระทบถึงทารกที่กำลังจะคลอดออกมาตัวอาจเล็กลง และเป็นโรคขาดสารอาหารได้ หรืออาจจะคลอดออกมาก่อนกำหนด อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาเจียนคลื่นไส้มากคือ ร่างกายแม่รับทานอาหารน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายรับสารอาหารได้ไม่เพียงพอ ปฏิกิริยาต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเกิดขึ้นได้

คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับสตรีมีครรภ์ดังนี้
๑. พยายามอย่าให้ท้องว่าง โดยทานอาหารอยู่เสมอแต่ทานทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ หรือมีลูกอมเปรี้ยวหวานไว้ติดตัวเสมอ
๒. ตอนเช้าควรดื่มน้ำนมอุ่นๆ หรือน้ำสุกอุ่นๆ เสมอ
๓. ให้ระมัดระวังควบคุมอารมณ์อย่าให้ฟุ้งซ่าน จะเรียกว่า "เอาธรรมะเข้าข่ม" ก็ได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า ในท้องของเรายังมีอีกชีวิตหนึ่งสามารถรับรู้ทุกสิ่งอย่างที่แม่ของเขาได้รับเสมอ
๔. ละลายยาหอมสำหรับสตรีมีครรภ์ให้กินเพื่อแก้อาเจียน หรือกินวิตามินบำรุงจำพวกวิตามินรวม วิตามินบี ๑๒ และบี ๑ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์นะครับอันนี้
๕. ยาสมุนไพรบำรุงครรภ์ นอกจากยาหอมแล้ว ถ้าอาเจียน ให้ใช้ลูกยอเผาไฟให้สุก (แต่อย่าให้เป็นถ่าน) เอาแช่น้ำให้น้ำออกสีเหลืองๆ เอาเป็นน้ำกระสายละลายยาหอมได้ หรือใช้ดอกบัวหลวงผสมน้ำมะพร้าวอ่อนต้มเพื่อบำรุงครรภ์ได้ หรืออาจจะกินแต่น้ำมะพร้าวอ่อนก็ได้เช่นกัน

คุณแม่มากกว่าครึ่งจะมีอาการแพ้ท้อง บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย คนที่แพ้น้อยๆ อาจมีแค่เหม็นอาหารนิดหน่อยวิงเวียนคลื่นไส้เล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับอาเจียน ส่วนคนที่เป็นมากบางทีแทบต้องนอนกอดชักโครก โงหัวขึ้นมาทีไรต้องอาเจียนทุกทีบางคนก็เกิดอาการเหม็นน้ำลายตัวเอง กลืนน้ำลายไม่ได้เลย ไปไหนก็ต้องถือถุง ต้องบ้วนน้ำลายอยู่ตลอดเวลา น้ำลายของตัวเองแท้ๆ แต่ทำไมดันกลืนไม่ลง

อาการแพ้ท้องไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์นะครับ ช่วงแรกหลอกให้ดีใจไปก่อน จะมาเริ่มแพ้เมื่อประจำเดือนขาดหายประมาณ ๒ สัปดาห์ หรือถ้านับแบบหมอซึ่งเริ่มเมื่อประจำเดือนมาวันแรก ก็จะเริ่มแพ้เมื่ออายุครรภ์ ๖ สัปดาห์ แล้วแพ้หนักขึ้นเรื่อยๆ ไปหนักสุดในช่วงสัปดาห์ ๙ หลังจากนั้นจะเริ่มดีวันดีคืนจนหายแพ้ตอนอายุครรภ์ ๑๔ สัปดาห์ แต่ก็มีคุณแม่บางคนนะครับที่แพ้ท้องนิดๆ หน่อยๆ ไปจนคลอด

การดูแลตัวกรณีที่อาการไม่มาก
- กินอาหารว่างที่มีโปรตีนสูง
- งดอาหารที่มีไขมันหรือใยอาหารสูง กินอาหารที่มีแป้งสูง
- ให้กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ
- ให้กินอาหารบนเตียงตอนตื่นนอนเนื่องจากการเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- เลือกกินอาหารที่มีรสดี
- อย่าให้ท้องว่างเพราะท้องว่างจะทำให้เกิดคลื่นไส้อาเจียน
- หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุนๆ
- งดดื่มน้ำผลไม้ กาแฟ แอลกอฮอล์ระหว่างกินนอาหาร
- ดื่มน้ำขิงอาจจะบรรเทาอาการ อันนี้มีผลงานการวิจัยของฝรั่งเค้าด้วยนะครับ
- ถ้ามีอาการมากน้ำหนักตัวลดมาก แพทย์จะให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ให้น้ำเกลือเพื่อแก้คลื่นไส้อาเจียน

ข้อมูลทั้งหมดที่ผม เล่า รวบรวม เรียบเรียงมาให้ได้อ่านกัน น่าจะมีประโยชน์ มากกว่าในการใช้สังเกต ตัวเอง หรือคนรอบข้างที่คุณรัก นะครับ ดีกว่าจะไป สังเกต คนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเรา

ให้มองการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องของธรรมชาติ และเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เป็นมงคลกว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ผู้อื่นในทางเสียหายนะครับ

ที่มา : หมอชาวบ้าน