วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"คลอดก่อนกำหนด" เรื่องปกติที่น่าห่วง

"รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ"

"คลอดก่อนกำหนด" เรื่องปกติที่น่าห่วง

"การลืมตาดูโลกของลูก" เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยเจ้าตัวน้อยคลอดออกมา ซึ่งแน่นอนแล้วว่าจะต้องรู้วันที่กำหนดคลอดอย่างแน่นอน เพราะแพทย์จะมีการกำหนดไว้แล้วเมื่ออายุครรภ์ครบสมบูรณ์ อาจจะมีการคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ต้องคลอดเร็วขึ้น อาจทำให้พ่อแม่หลายคนต้องกังวลใจไม่น้อย เพราะลูกยังเติบโตได้ไม่เต็มที่และยังไม่พร้อมจะออกมาต่อสู้กับโลกภายนอกได้

"รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ" หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดว่า เป็นเด็กที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่เด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีน้ำหนักน้อยกว่า 2500 กรัม จึงมีลักษณะตัวเล็ก, ร้องเบา, ผิวบางเรียบ, มีขนและไขมันใต้ผิวหนังน้อย อีกทั้งเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะเคลื่อนไหวน้อย และมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้า (reflex) รอบข้างช้ากว่าเด็กที่คลอดครบตามกำหนด

สำหรับอาการที่จะเกิดตามมาหลังการคลอดก่อนกำหนดที่พ่อแม่หลายคนกังวลใจ คุณหมอท่านนี้บอกว่า เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีความสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ซึ่งเกิดจากสาเหตุการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้หากคลอดก่อนครบกำหนดไม่นานอาจไม่มีผลกระทบร้ายแรงมากนัก แต่ถ้าคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลานานมากๆ โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กคลอดก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก

"เด็กที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 34 สัปดาห์มีความเสี่ยงในเรื่องของปอดไม่แข็งแรง ทำให้การหายใจแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่สมบูรณ์ เกิดภาวะที่เรียกว่า respiratory distress syndrome ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ อาจมีความผิดปกติของหัวใจ นอกจากนั้นการทำงานของสมองก็ยังไม่พร้อม ทำให้การสั่งการให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ทางเดินอาหาร การขับของเสียของไต เป็นต้น และที่น่าเป็นห่วงคือ ทารกที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีพออาจติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรง และอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการทางสมองและสติปัญหา รวมถึงอาจมีปัญหาด้านการมองเห็นได้อีกด้วย" รศ.นพ.สมชายอธิบายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น


ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกันไป ควรหันมาใส่ใจเรื่องการดูแลเจ้าตัวน้อยดีกว่า แพทย์สูติศาสตร์รายนี้แนะนำว่า การดูแลเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องมีความระมัดระวังและพิถีพิถันอย่างมาก เพราะเด็กต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องอยู่ในภาวะสะอาดปราศจากเชื้อและอบอุ่นตลอดเวลาที่เด็กยังรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือในห้อง ไอ.ซี.ยู. ดังนั้นพ่อและแม่ควรมาเยี่ยมดูทารกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเด็กเริ่มรับอาหารได้ (อาจเป็นทางสายยางหรือการดูดนม) แม่อาจต้องปั๊มนมมาให้ลูกรับประทานด้วย เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก

อย่างไรก็ตาม คุณหมอยังฝากคำแนะนำทิ้งท้ายว่า เมื่อรับเด็กกลับมาดูแลต่อที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในเรื่องของการดูแลลูกให้เหมือนกับตอนที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความสะอาด เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กที่คลอดตามปกติ ส่วนการให้นมควรให้ในปริมาณที่เหมาะสมอย่ามากจนเกินไป และที่สำคัญเด็กอาจนอนหลับนานกว่าเด็กทั่วไป หากหลับนานเกินมื้ออาหารควรปลุกขึ้นมาให้นมบ้าง ขณะเลี้ยงดูควรมีปฏิสัมพันธ์และฝึกฝนพัฒนาการให้กับลูก เพื่อให้สามารถพัฒนาทันเด็กที่คลอดปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรให้ยาหรือวิตามินตามแพทย์สั่ง รวมถึงการพาไปฉีดวัคซีนตามที่แพทย์กำหนด หากเด็กมีอาการผิดปกติหรือไม่แน่ใจควรพาไปพบกุมารแพทย์ หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ครั้งใหม่อีกควรรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ถัดไป

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000100925

"ภาวะซีด" ของแถมที่มากับการตั้งครรภ์

"ภาวะซีด" ของแถมที่มากับการตั้งครรภ์

นอกจากความกังวลก่อนตั้งครรภ์แล้ว เชื่อว่าระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดคุณแม่หลายคนคงจะมีเรื่องให้คิดอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูก การเลี้ยงดู จนลืมสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรืออาการผิดปกติของตัวเอง อย่าง "ภาวะซีด" ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งต่างก็สงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าตนไม่ได้ป่วยเป็นโรคโลหิตจางหรือมาจากพันธุกรรมแต่อย่างใด จึงทำให้คุณแม่บางคนเกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับเธอและลูกได้หรือไม่

"รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ" หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการสร้างเม็ดเลือดและพลาสมาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้การเพิ่มของเม็ดเลือดอาจจะมีน้อยกว่าคนปกติ อีกทั้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีภาวะซีดลงเล็กน้อยอยู่แล้ว นอกจากนั้นเมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของแม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเลือดแดงในการส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงลูก ส่วนลูกก็ต้องสร้างเม็ดเลือดแดงของตัวเองขึ้นมาเหมือนกัน ทำให้มีการใช้ธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้นจากการดึงมาจากร่างกายของแม่

"คุณแม่วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีด เพราะร่างกายมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการยังไม่เต็มที่ จึงต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่มากกว่าวัยอื่นๆ และหากมีการตั้งครรภ์ก็ย่อมมีความต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงยิ่งขึ้นไป เพราะถ้าหากคุณแม่ที่อายุยังน้อยรับประทานธาตุเหล็กไม่เพียงพอร่างกายก็จะดึงธาตุเหล็กที่สะสมไว้มาใช้ หากยังไม่เพียงพออีกก็จะเกิดภาวะซีดขึ้น โดยภาวะซีดระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดส่วนใหญ่เกิดจากเหตุนี้ แต่บางคนอาจมีภาวะซีดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซีดจากการขาดแร่ธาตุและวิตามินชนิดอื่นๆ หรือซีดจากโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ซึ่งต้องค้นหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อสงสัยว่าจะเกิดภาวะซีด"

อย่างไรก็ดี สูติแพทย์รายนี้ยังบอกอีกว่า หากภาวะซีดไม่รุนแรงมากก็คงไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรมากมาย แต่ถ้าตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดเมื่อไปฝากครรภ์ โดยมีอาการที่รุนแรงอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ มีอาการหน้ามืดเวลาลุกนั่งหรือยืนบ่อยๆ รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง หากเป็นในระยะเวลาที่ยาวนาน อาจมีอาการใจสั่นเพราะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และพบว่ามีความดันโลหิตค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ คุณหมอฝากแนะนำทิ้งท้ายว่า คุณแม่ที่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในอาการของภาวะซีด ในระยะเริ่มต้นควรใส่ใจเกี่ยวกับอาหารการกิน เลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงตั้งแต่ที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เช่น อาหารประเภทตับและเลือดของสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง กะปิ และอาหารจำพวกพวกพืชผัก ได้แก่ มะเขือพวง ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู ดอกแค ใบตำลึง พริกแห้ง และธัญพืชต่างๆ ขณะที่ถึงเวลาไปฝากครรภ์แพทย์อาจจะมีการให้ยาวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็กมารับประทานเสริม และอาจตรวจเลือดติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ดังนั้นผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนอาการภาวะซีดที่เกิดจากสาเหตุอื่นก็จะต้องรักษาตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000104275

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สอนเด็กให้รู้จัก "เสียสละ" กิจกรรมควรฝึกของเด็กไทยยุคใหม่

สอนเด็กให้รู้จัก "เสียสละ" กิจกรรมควรฝึกของเด็กไทยยุคใหม่


หากพ่อแม่บางท่านไม่ทันสังเกต สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปภายใต้การนำของแนวคิดวัตถุนิยมได้ทำให้เด็ก ๆ ส่วนหนึ่งของประเทศไทยเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเห็นตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน ของครอบครัว และของโลกไปเสียแล้ว สิ่งแวดล้อมในยุคนี้จะสอนให้เด็กคุ้นเคยกับการตอบสนองชนิดด่วนจี๋ อยากได้อะไรแทบไม่เคยถูกขัดใจ อีกทั้งเขายังมีพี่ป้าน้าอารายล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการอื่น ๆ อีกด้วย หากปล่อยไว้นานวันเข้า จึงมีแนวโน้มว่า เด็กเหล่านี้จะเหินห่างจากคำว่าเสียสละ อดทน หรือรู้จักรอคอยเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการไปโดยปริยาย รวมถึงไม่เข้าใจในความเจ็บปวด หิวโหย เศร้าโศกเสียใจของเพื่อนร่วมโลกได้อีกด้วย

การสอนให้ลูกเห็นค่าของการ "เสียสละ" จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน แต่การเสียสละที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ ไม่ใช่การซื้อขนมแพง ๆ หรือนำดินสอไปแจกเพื่อน ๆ เพื่อให้เพื่อนรัก ไม่ใช่การเสียสละทำรายงานกลุ่มเองคนเดียว โดยที่เพื่อนไม่ต้องช่วยทำ - ไม่ต้องช่วยออกเงิน หากเป็นการเสียสละที่ทำให้เด็กได้เห็นถึงคุณค่าของตนเอง ได้ค้นพบตัวเองว่า ด้วยมือเล็ก ๆ ของเด็กคนหนึ่งสามารถทำอะไรเพื่อคนอื่นได้มากมาย

ในฐานะพ่อแม่ หากจะเริ่มต้นสอนให้ลูกรู้จักเสียสละ อาจเริ่มได้จาก
1. ชวนลูกคุยเกี่ยวกับการบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือคนอื่น การพูดคุยช่วยให้เด็กเห็นภาพของผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากได้ง่ายมากขึ้น
2. การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
3. ถามความรู้สึกของลูกหลังจากที่เขาได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ

ยกตัวอย่างกิจกรรมง่าย ๆ ที่เด็กตัวน้อยจะสามารถทำได้ ได้แก่
- บริจาคเสื้อผ้า ของเล่นที่ยังดีแต่ไม่เล่นแล้วให้เด็กคนอื่น ๆ ที่ขาดแคลน
- ให้อาหารสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ (กรณีนี้ควรระวัง หากสัตว์ไม่เชื่องพอ อาจทำร้ายเด็กได้)
- สอนให้มีน้ำใจต่อเพื่อนบ้าน หากข้างบ้านมีคุณตาคุณยายอายุมากอยู่ตามลำพัง การช่วยเหลือ หรือแสดงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่เด็กจะสามารถทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี เช่น ทำขนมกับคุณแม่แล้วนำไปแบ่งปัน
- พ่อแม่อาจให้ลูกเก็บออมเงินค่าขนมวันละบาทใส่กระปุกสำหรับบริจาคช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยเฉพาะ

ประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ของการทำสิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น

1. ได้ช่วยเหลือสังคม
2. จะทำให้เด็กได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองสนใจ เช่น เด็กบางคนชอบสุนัข การพาเด็กไปเลี้ยงอาหารสุนัขป่วย พิการ หรือรับเลี้ยงสุนัขไม่มีเจ้าของก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กคนดังกล่าวได้ค้นพบทางที่เขาชอบเมื่อโตขึ้นได้
3. ทำให้เด็กเห็นถึงคุณค่าในตัวเอง เป็นที่ทราบกันดีว่าวัยเด็กเป็นวัยที่เปี่ยมไปด้วยพลัง แต่ทว่า กิจวัตรประจำวันของเด็กสมัยนี้บางคนเต็มไปด้วยกิจกรรมเสริมและการเรียนพิเศษ พลังที่มีเปี่ยมล้นจึงมักถูกเก็บกักเอาไว้ ซึ่งคงไม่ดีแน่ การได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของตนเอง และได้เห็นว่า การลงมือทำสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อคนอื่นนั้นช่วยให้ชีวิตไม่น่าเบื่อ
4. ทำให้เด็กมีทัศนคติและมุมมองที่ดีต่อชีวิต

คงต้องบอกว่า "ไม่ผิด" ที่พ่อแม่จะให้ความรักความอบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่เพื่อให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่มีความเชื่อมั่น พร้อมที่จะเผชิญกับโลก แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่ทุกท่านก็ล้วนอยากให้ลูกของตนเองมีจิตใจอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น พร้อม ๆ กับหวังว่าโลกในวันข้างหน้าจะเต็มไปด้วยคนจิตใจดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อลูกของท่านด้วยเช่นกัน ดังนั้น การสอนให้เด็ก ๆ รู้จักเสียสละ จึงไม่ใช่เรื่องที่ล้าหลัง หรือน่าเบื่อหน่าย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสังคมที่พ่อแม่อยากได้ มิใช่หรือ


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000102530

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ควันบุหรี่ทำลายสารพันธุกรรมทารกในครรภ์

ควันบุหรี่ทำลายสารพันธุกรรมทารกในครรภ์



การได้รับควันบุหรี่มือสองของหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวจากการตรวจเลือด จากสายสะดือของทารกแรกคลอด

นพ.ธัน ยชัย สุระ หัวหน้าหน่วยเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยรายงานการวิจัยของสตีเฟน กร๊านท์ จากสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยพิสเบริก ตีพิมพ์ในวารสารดิโอเพน พีเดียตริก เมดิซิน ฉบับล่าสุด ที่พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองของหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวจากการตรวจเลือด จากสายสะดือของทารกแรกคลอด ขบวนการเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับเม็ดเลือดของทารกทั้งจากมารดาที่เป็นผู้สูบ บุหรี่และมารดาที่หยุดสูบบุหรี่แต่ยังคงได้รับควันบุหรี่มือสองขณะตั้งครรภ์ การกลายพันธ์ของยีนที่เกิดขึ้นอาจมีผลต่อความเจ็บป่วยในอนาคต สามารถนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปเป็นยีนที่เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกและมะเร็งหลาย ชนิดซึ่งมีสถิติเกิดมากขึ้นในเด็กที่มารดาสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือ สองขณะตั้งครรภ์ ผู้วิจัยเสนอว่า เมื่อเกิดการตั้งครรภ์แล้ว มารดาต้องหยุดสูบบุหรี่ และต้องหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสองด้วย เพื่อป้องกันอันตรายของควันบุหรี่ที่ทำให้เกิดความเสียหายและนำไปสู่การกลาย พันธ์ต่อยีนของทารกในครรภ์

ศ.นพ.ประกิต มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผย ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่า มีหญิงไทยที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ 17,059 คน และการสำรวจการสูบบุหรี่ในระดับโลกในประเทศไทย พ.ศ.2552 พบว่าร้อยละ 40 ของผู้ใหญ่ไทยได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ในขณะที่มีหญิงไทยตั้งครรภ์ปีละ 7 แสนราย จึงเป็นไปได้ว่ามีหญิงไทยตั้งครรภ์สองแสนกว่ารายที่จะได้รับควันบุหรี่มือ สองในบ้านและที่อื่น ๆ ซึ่งทำให้ทารกจำนวนนับแสนรายเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของยีน อันเป็นผลจากการได้รับควันบุหรี่ขณะอยู่ในครรภ์ ทุกฝ่ายในสังคมจึงต้องร่วมกันปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการได้รับควันบุหรี่ ทั้งที่สูบเองและการได้รับควันที่ผู้อื่นสูบ จึงขอเสนอให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในทุกที่ที่มีหญิงมี ครรภ์อยู่ด้วย โดยเฉพาะการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน


-----------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก
ไอเอ็นเอ็น
วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รวมฮิต 5 วิธีตรวจหาความผิดปกติของลูกในครรภ์

รวมฮิต 5 วิธีตรวจหาความผิดปกติของลูกในครรภ์


รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้หญิงที่ตั้งใจ และพร้อมจะมีลูก เมื่อทราบว่าตัวเองกำลังจะเป็นแม่คน ถือเป็นข่าวดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ในบางครั้งความสุขที่ได้มาอาจไม่สมหวังเสมอไป เพราะในบางคน มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ เช่น พิการแต่กำเนิด ปากแหว่ง เพดานโหว่ ลิ้นหัวใจพิการ ทารกหัวบาตร (ศีรษะบวมน้ำ) รวมทั้งโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งพบได้ร้อยละ 2-3 ในหญิงตั้งครรภ์ โดยพบว่าประมาณ 1 ใน 4 เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม ดังนั้น การตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในเรื่องนี้ รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ข้อมูลว่า มนุษย์จะมีโครโมโซม 23 คู่ (46 แท่ง) โครโมโซมจะเป็นตัวกำหนดลักษณะต่างๆ ของทารก เช่น รูปร่าง หน้าตา สติปัญญา เพศ เป็นต้น ส่วนในกรณีที่โครโมโซมผิดปกติ เช่น มีการขาดหายไป หรือเพิ่มขึ้นของโครโมโซม อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติทางร่างกาย หรือสติปัญญาได้ ทางที่ดี เพื่อการป้องกัน การตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ ปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี ดังนี้

การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound)

เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง ปัจจุบันมีก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จาก 2 มิติ พัฒนาสู่ 3 และ 4 มิติ ทำให้ความละเอียดในการตรวจวินิจฉัยได้ดี และชัดเจนขึ้น โดยไม่ได้ดูแค่เพศและการเจริญเติบโตของทารกเท่านั้น แต่ยังวินิจฉัยภาวะต่างๆ เพื่อให้การรักษาขณะทารกอยู่ในครรภ์และเตรียมการรักษาหลังคลอด อย่างไรก็ดี ควรได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณีที่พบความผิดปกติของทารก

การตรวจสารชีวเคมีในเลือดมารดาขณะตั้งครรภ์ (Maternal serum screening test)

ปัญหาที่สำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักหวั่นวิตกเสมอมาก็คือ ทารกกลุ่มอาการดาวน์ ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกมีความผิดปกติทางร่างกาย หรือสติปัญญา โดยเด็กมีโอกาสเสี่ยงเมื่อสตรีตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป แต่จากสถิติพบว่าทารกกลุ่มอาการดาวน์พบมากในสตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง การตรวจสารชีวเคมีในเลือดมารดา ดังนั้นวิธีนี้จึงมีประโยชน์มากในกรณีที่มารดาไม่ต้องการเสี่ยงต่อการแท้งลูก

ปัจจุบันการคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ ทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์ โดยใช้การตรวจสารเคมีในเลือดมารดาขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการตรวจพบความผิดปกติ (Detection rate) สูงถึงร้อยละ 94-96 โดยทำการตรวจในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ นอกจากใช้ตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดทารกกลุ่มอาการดาวน์ หรือ Trisomy 21 แล้ว ยังสามารถตรวจหาความเสี่ยงทารกกลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ดหรือ Trisomy 18 และกลุ่มอาการผิดปกติในระบบประสาท ศีรษะและไขสันหลังของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย โดยหากพบความเสี่ยงสูงจะแนะนำทำการตรวจหาโครโมโซมต่อไป



ตรวจด้วยการเจาะถุงน้ำคร่ำ



การเจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis)

เป็นวิธีที่นิยม และใช้มากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากทำง่าย เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อมารดาและทารกในครรภ์น้อย ซึ่งเป็นวิธีเพื่อตรวจหาโครโมโซมเป็นกระบวนการนำนํ้าครํ่าที่อยู่รอบตัวของทารกในโพรงมดลูกออกมา เพื่อทำการตรวจหาโครโมโซมของทารก

เริ่มจากการตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสม จากนั้นใช้เข็มขนาดเล็กแทงผ่านผิวหนังบริเวณหน้าท้องและมดลูกเข้าไปในถุงนํ้าครํ่า แล้วใช้กระบอกฉีดยาดูดเอานํ้าครํ่าออกมาประมาณ 15-20 ซีซี ซึ่งเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณนํ้าครํ่าที่มีอยู่ในครรภ์ขณะนั้น (ประมาณ 180- 200 ซีซี) อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการเจาะน้ำคร่ำคือ 15-20 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ การแท้งบุตร พบได้ร้อยละ 0.5-1 ของการเจาะนํ้าครํ่า ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ พบได้น้อย เช่น เลือดออก การติดเชื้อ ถุงนํ้าครํ่ารั่ว เป็นต้น

การตัดชิ้นเนื้อจากรก (Chorionic villi sampling)

เป็นวิธีการตัด หรือดูดเนื้อรกบางส่วน เนื่องจากทารก และรกเจริญพัฒนามาจากเซลล์เนื้อเยื่อเดียวกันจึงมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกัน ทำให้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของทารกได้ โดยทำในระยะที่รกเริ่มเกาะแน่นพอที่จะไม่เกิดการแท้ง อายุครรภ์ที่เหมาะสมคือ 10-13 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกับการเจาะน้ำคร่ำ โดยพบได้ร้อยละ 0.5

การเจาะเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์ (Cordocentesis)

เป็นการใช้เข็มเจาะเลือดทารกในครรภ์บริเวณสายสะดือผ่านทางหน้าท้องมารดาโดยอาศัยการตรวจอัลตราซาวด์ชี้นำปลายเข็มแล้วส่งตัวอย่างเลือดไปห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางโครโมโซมโดยเฉพาะกลุ่มอาการดาวน์ การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อแต่กำเนิด ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เลือดออก พบได้ร้อยละ 50 ทารกเสียชีวิตพบได้ร้อยละ 1.4

อย่างไรก็ตาม ผลโครโมโซมของทารกปกติ ไม่ได้ยืนยันว่าทารกจะปกติ สมบูรณ์แข็งแรง เพราะความผิดปกติบางอย่างของทารกไม่ได้เกิดจากโครโมโซมผิดปกติเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย โดยแพทย์จะให้คำแนะนำถึงผลการตรวจ และความผิดปกติของทารกที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

10 ทิปง่าย ๆ สร้างพ่อแม่ลูกให้ "รักกัน"

10 ทิปง่าย ๆ สร้างพ่อแม่ลูกให้ "รักกัน"

ความรักเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างพ่อแม่ลูก แถมยังช่วยทำให้เกิดทัศนคติในแง่บวกขึ้นในครอบครัว และยังทำให้พ่อแม่ลูก "ต่อกันติด" ไม่ว่าพวกเขาจะแยกย้ายกันไปอยู่ ณ ที่แห่งใด ซึ่งวิธีที่จะทำให้เกิดสายสัมพันธ์แห่งความรักขึ้นในครอบครัวนั้น อาจทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

1. บอกรักกันบ่อย ๆ

บอกลูกทุกวันว่ารัก ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไร ไม่ว่าวันนั้นคุณกับลูกจะมีเรื่องไม่ลงรอยกันหรือไม่ ยิ่งวันนั้นมีเรื่องบาดหมางใจกัน คำว่ารักจากปากพ่อแม่ก็ยิ่งสำคัญกับใจดวงน้อย ๆ ของลูก เพราะมันจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงให้กับลูกนั่นเอง

2. บอกเขาในสิ่งที่คุณเชื่อและศรัทธา

พร้อมกับบอกเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร ที่สำคัญควรเปิดโอกาสให้ลูกถามกลับด้วย และอธิบายให้ลูกฟังพร้อม ๆ กับสอนให้เขาเข้าใจ

3. สร้างโค้ดเนมลับ ๆ ระหว่างพ่อแม่ลูก

อาจเป็นชื่อเรียกพิเศษที่คุณใช้เรียกลูกน้อยด้วยความรัก และเป็นชื่อที่รู้กันแค่ในครอบครัว ซึ่งชื่อนี้ควรเป็นคำที่มีความหมายในแง่บวก หรือตลก ๆ ไม่ควรเป็นชื่อที่ทำให้เด็กรู้สึกอายเมื่อถูกเรียก

4. เพิ่มกิจกรรมก่อนนอนให้เป็นเวลาพิเศษ

การเล่านิทานสนุก ๆ หรือการนั่งคุยกันในเรื่องราวดี ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความสุขในหัวใจเด็กตัวน้อย ๆ ได้เป็นอย่างดี หรือแม้ว่าลูกจะโตแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน

5. ให้ลูกได้ช่วยเหลือพ่อแม่

พ่อแม่บางคนอาจลืมไปว่า การให้ลูกได้ช่วยเหลืองานบ้านบ้างก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้น โดยพ่อแม่อาจเลือกงานที่เหมาะสมกับช่วงอายุของลูก และถามความเห็นของเขาบ้างเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เขารู้สึกว่าความเห็นของเขามีค่าต่อพ่อแม่นะ

6. เล่นกับลูก

การเล่นนั้นจะมีของเล่น หรือไม่มีของเล่นก็ได้ แค่ได้ร้องเพลงด้วยกัน เล่นตุ๊กตา เล่นบอล หรืออะไรก็ตามที่สนุกและสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกได้เห็นด้านตลก ๆ ของพ่อแม่บ้าง

7. ทานข้าวร่วมกัน

กิจกรรมนี้ควรอย่างยิ่งที่จะปิดทีวี อย่าให้ข่าวสารจากทีวีมามีอิทธิพลเหนือโต๊ะอาหาร เพื่อให้พ่อแม่ลูกได้มีโอกาสไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกันอย่างแท้จริง และถ้าทำได้ ก็จะทำให้ช่วงเวลาทานข้าวของครอบครัวเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาดี ๆ ที่เด็กน้อยจดจำไปอีกนาน

8. หาโอกาสทำกิจกรรมพิเศษกับลูก

เป็นกิจกรรมที่ทำแค่สองคนจริง ๆ อาจจะแค่แม่กับลูก หรือพ่อกับลูก เช่น ดูหนังดี ๆ ด้วยกัน ออกไปเล่นด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน สำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคนอาจหาโอกาสนี้ได้ยากหน่อย แต่การมีช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกันสองคนนี้จะช่วยให้ลูกจดจำความสัมพันธ์ของเขากับพ่อแม่ที่เป็นแบบ "เฉพาะ" ได้ดียิ่งขึ้น

9. เคารพในการตัดสินใจของลูก

หากลูกเลือกเสื้อผ้าไม่เข้าชุดกันเสียเลย หรือแต่งห้องได้เลอะเทอะน่าเวียนหัว พ่อแม่ก็อาจต้องยอมรับการตัดสินใจของลูก (บ้าง) เด็กบางคนพยายามจะแสดงออกถึงความต้องการของตนเองตั้งแต่ยังเล็ก จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะช่วยสนับสนุนเขา หรือช่วยให้เขาแสดงออกในทางที่เหมาะสม

10. ยกให้ลูกเป็นคนสำคัญของชีวิต

ขอแค่ทำให้ลูกรู้ว่าเขาสำคัญต่อชีวิตพ่อแม่แค่ไหน เด็กก็จะพร้อมกลายเป็นเด็กดีขึ้นมาทันใด เพราะอย่าลืมว่า เด็ก ๆ นั้นโตเร็วมาก การทำให้ทุกวันเป็นวันที่พิเศษสำหรับเขาในช่วงที่เขายังอยู่กับพ่อแม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าการจ้องจับผิดลูก หรือทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เขา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กน้อยที่ไม่ได้รับการสนใจจากพ่อแม่เท่าที่ควรจะรู้สึกกดดัน ไม่มีความสุขเท่าที่ควร

ผู้เขียนเคยได้รับเมลฟอร์เวิร์ดมาฉบับหนึ่ง ที่บอกว่า "เราควรรักกันให้มาก ๆ เพราะวันเวลาในโลกนี้ไม่นานเลย ตายจากกันเมื่อไร คราวนี้ต่อให้บอกคำว่ารักออกไปก็ไปไม่ถึง หรือถึง อีกฝ่ายก็ตอบกลับมาไม่ได้" วันเวลาในครอบครัวก็เช่นกันค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้เรามารักกันให้มาก ๆ สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ๆ ให้กับครอบครัวดีกว่าค่ะ


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

เตือนพ่อแม่ระวังภัย Top 5 ทำร้ายสมองลูก!

เตือนพ่อแม่ระวังภัย Top 5 ทำร้ายสมองลูก!

ได้ชื่อว่า "เด็ก" ถือเป็นมนุษย์ตัวเล็กที่อยู่ไม่นิ่ง ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะปีนป่าย วิ่ง หรือกระโดด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธรรมชาติของเด็กทั้งสิ้น แต่การเล่นของเด็กนั้น นอกจากจะให้ความสนุก ผ่อนคลาย และส่งเสริมพัฒนาการในหลายๆ ด้านแล้ว ยังก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายอีกด้วย เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ตลอดจนการประสานงานของเด็กยังไม่สมบูรณ์

ดังนั้น การเลี้ยงลูกให้ปลอดภัย เป็นสิ่งที่จำเป็น และทำได้ไม่ยาก วันนี้ทีมงาน Life and Family มีคำแนะนำดีๆ จาก "รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์" หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาฝากเป็นแนวทางเพื่อรับมือกับภัยใกล้ตัวลูกกัน

1. ระวัง! การเขย่าตัวเด็ก

การจับลูกทารกมาเขย่าอย่างแรง โดยเฉพาะพ่อแม่ หรือผู้ดูแลที่มีอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิดกับการร้องไห้ของลูก และต้องเขย่าเพื่อให้เด็กเงียบ การกระทำโดยรู้ไม่เท่าทันนี้ หารู้ไม่ว่า อาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมอง และประสาทตาของเด็ก ทำให้เด็กพิการทางสมอง ตาบอด หรือ เสียชีวิตได้ ดังนั้น ห้ามจับทารกเขย่า! เป็นอันขาด

2. ระวัง! จมน้ำ

การจมน้ำเป็นอุบัติเหตุอันตรายที่ทำให้เด็กพิการ หรือเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และมักเกิดขึ้นกับเด็กที่เริ่มเคลื่อนตัวได้ ซึ่งมักเกิดเหตุในแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือสระว่ายน้ำที่เด็กๆ ไปเล่น อย่างไรก็ดี การจมน้ำของเด็กยังเกิดขึ้นขณะที่ลูกอยู่ในความดูแลของพ่อแม่เองที่เผอเรอ หรือเผลอหลับไปเพียงครู่เดียว ทั้งในอ่างอาบน้ำ กะละมัง ถังน้ำ หรือแหล่งน้ำที่อยู่ติดกับบ้าน

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรแยกเด็กออกจากแหล่งน้ำ และเตรียมพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้ลูก และเมื่อลูกอายุ 2 ขวบขึ้นไป ควรเริ่มให้ลูกหัดว่ายน้ำ และสอนทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ที่สำคัญ พ่อแม่ หรือผู้ดูแลยังคงต้องดูแลใกล้ชิดไม่คลาดสายตาเวลาเมื่อเด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะในบ้าน หรือนอกบ้าน

3. ระวัง! สิ่งอุดตันทางเดินหายใจ

เด็กทารกอายุ 3-6 เดือนขึ้นไป จะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้วยการเอาทุกสิ่งที่สนใจเข้าปาก ส่วนเด็กวัยเตาะแตะที่ฟันเริ่มขึ้น และเคลื่อนไหวอยู่ไม่นิ่ง มักจะถือของไว้ในมือ พร้อมกับกินไปพลาง ซุกซนไปพลาง ซึ่งอาจทำให้อาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมสำลักอุดตันทางเดินหายใจ ส่งผลให้สมองพิการ หรือเสียชีวิตได้เพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น ดังนั้นอย่าให้เด็กอยู่กับสิ่งของชิ้นเล็กเพียงลำพัง เช่น ของใช้ ของเล่น หรือของกินบางอย่าง อาทิ ผลไม้ที่เป็นลูกๆ อย่าง ลำไย น้อยหน่า ลิ้นจี่ เป็นต้น

4. ระวัง! ลูกพลัดตกจากที่สูง

เด็กทารกแม้ยังเดินไม่ได้ แต่ก็สามารถพลิกหงาย และถีบตัวเองขึ้นได้ การวางลูกน้อยวัยแรกเกิดไว้บนเตียง โซฟา โต๊ะ หรือแม้เพียงชั่วขณะเพื่อไปทำธุระ อาจเป็นเหตุให้ลูกพลัดตกได้ ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวบนที่สูง หากไม่มีที่กั้น อย่างน้อยมือหนึ่งของคุณแม่ต้องวางอยู่บนตัวเด็กเสมอ

ส่วนเด็กวัยเตาะแตะ มักได้รับบาดเจ็บในบ้านจากการพลัดตกหกล้ม และตกจากที่สูง เช่น บันได ฉะนั้นการจัดบ้านให้ปลอดภัยจึงสำคัญมาก บันไดควรติดตั้งประตูกั้นตั้งแต่ลูกเริ่มคลานได้แล้ว และต้องทำทั้ง 2 บาน คือ กั้นทางขึ้น และทางลง นอกจากนั้นต้องมีกลอนล็อคไว้เสมอ และล็อคทุกครั้งหลังจากที่เปิดเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญต้องทำให้เปิดเข้าหาตัวได้เท่านั้น เพื่อกันไม่ให้เด็กผลัก หรือไถลตกลงไป

5. ระวัง! เฟอร์นิเจอร์...อันตราย

เมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะ จะเป็นเด็กช่างสำรวจ และชอบปีนป่ายซุกซน จุดต่างๆ ในบ้าน หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ที่เคยดูปกติดี ก็อาจกลายเป็นจุดอันตรายสำหรับลูกได้ ดังนั้น การจัดบ้าน ควรเลือกโต๊ะที่เป็นรูปทรงกลม หรือรูปไข่ ไม่มีกระจก เพื่อจะได้ไม่มีขอบหรือมุมแหลมคมที่ลูกอาจเดินหรือวิ่งเข้ามาชน ควรซื้ออุปกรณ์กันกระแทกมุมขอบโต๊ะใส่ทั้ง 4 มุม ตู้เก็บของ หรือชั้นวางของทั้งที่มีหรือไม่มีลิ้นชักต้องแข็งแรง วางบนพื้นราบ มีอุปกรณ์ยึดติดกับกำแพงที่มั่นคง ไม่ล้มง่ายเมื่อเด็กเข็น ดัน โหน หรือปีนป่าย เพราะไม่เช่นนั้น เด็กอาจถูกเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นล้มทับจนเป็นอันตรายต่อศีรษะและสมองได้ ดังนั้นพ่อแม่ หรือผู้ดูแลต้องให้เด็กวัยดังกล่าวอยู่ในสายตา และอยู่ในระยะที่จะเข้าถึงตัวลูกอย่างทันท่วงทีได้ตลอดเวลาด้วย

เห็นได้ว่า "อุบัติเหตุ" กับ "เด็ก" เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ดังนั้นการรู้เท่าทัน และจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกบ้านควรทำ เพราะการเลี้ยงลูกให้ปลอดภัย ความรักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

สอนลูกเข้าถึง "ศีล 5" อย่างไรให้ได้ผล


สอนลูกเข้าถึง "ศีล 5" อย่างไรให้ได้ผล


หากพูดถึงศีล 5 ถือเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เพราะเป็นตัวช่วยให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านการท่องจำในเรื่องนี้กันมาบ้างแล้วตอนสมัยเรียนชั้นประถม เพราะได้ถูกบรรจุไว้ในรายวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับ

แต่ในหลัก 5 ข้อที่ควรงดเว้นนี้ เท่าที่ผ่านมา การจะสอนเด็กให้มีศีล 5 นั้น ส่วนมากจะสอนให้เด็กรู้แค่ว่า ถ้าทำแบบนั้นแล้วจะผิดศีลข้อไหน โดยไม่มีวิธีอื่นที่แยบยล เด็กจึงไม่สามารถเข้าถึงศีล 5 ได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเด็กเล็ก ในวันนี้ ทีมงาน Life and Family มีหลักการสอนลูกให้เข้าถึงศีล 5 ได้อย่างแยบยลจาก "เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักเขียนนิทานขวัญใจเด็กๆ มาฝากกัน

ในเรื่องนี้ เรืองศักดิ์ หรือน้าตุ๊บปอง กล่าวภายหลังงานเปิดตัวหนังสือชุด นิทานศีลห้าคำกลอน เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า การนำศีล 5 มาสอนเด็กให้แยบยลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเข้าใจ ย่อมสามารถทำได้ไม่ยาก

เริ่มต้นจาก ศีลข้อที่ 1 เว้นจากการฆ่าสัตว์ พ่อแม่ต้องสอน และเป็นแบบอย่างให้ลูกรู้จักการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบ เย็น และเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ต้องรัก และเลี้ยงดูสัตว์ ขณะเดียวกัน ต้องระมัดระวัง และไม่เข้าใกล้สัตว์ที่มีพิษด้วย

ศีลข้อที่ 2 เว้นจากการลักทรัพย์ เด็กต้องเรียนรู้ว่า จิตที่คิดจะให้นั้นเบา จิตที่คิดจะเอานั้นหนัก จึงต้องรู้จักแบ่งปัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่นำของของผู้อื่นมาเป็นของตน ตรงนี้พ่อแม่ต้องบอกให้เด็กเข้าใจว่า ถ้าต้องการสิ่งใดที่ไม่ใช่ของตน ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อนเสมอ

ศีลข้อที่ 3 เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นเรื่องยาก และละเอียดอ่อนมากที่จะสอนเด็ก ดังนั้น ศีลข้อนี้สำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างรักใคร่ปรองดองกัน ไม่แย่งชิงของรักของใคร ไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น ไม่รังแกเพื่อน และไม่ทำให้เพื่อนต้องอับอาย

"ศีลข้อนี้ พ่อแม่ต้องรู้จักประยุกต์ ถ้าจะสอนลูกไม่ให้แย่งของรักของคนอื่น พ่อแม่ต้องทำดีกับลูก หรือคู่ชีวิตก่อน เพื่อให้ลูกสัมผัสถึงความรักว่า พ่อรักแม่ เพราะแม่ทำดีกับพ่อ หรือแม่รักพ่อเพราะพ่อทำดีกับแม่ ฉะนั้น ความรักต่างเพศ มีความรักที่ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ยังมีความเกื้อกูลที่กว้างออกไปกว่าความรักเชิงชู้สาว พ่อแม่ต้องตีความให้ลูกเห็น และเข้าใจว่า ชีวิตของคนเรา ความรักเป็นเรื่องสวยงาม ชีวิตรอดเพราะความรัก แล้วเขาจะรู้จักรัก และไม่ไปเบียดเบียนความรัก ความสัมพันธ์ของคนอื่น"

ศีลข้อที่ 4 เว้นจากการพูดเท็จ ในข้อนี้ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ความจริงคือหนทางที่จะนำชีวิตสู่คุณธรรม จึงต้องรู้ถึงผลดีของการพูดความจริง ไม่โกหกโป้ปดมดเท็จ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ น้ำเสียงรื่นหู ไพเราะ ใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น เริ่มจากพูดดี พูดเพราะกับลูก ไม่พูดให้ร้าย ส่อเสียด หรือนินทาคนอื่น ซึ่งพ่อแม่หลายคนมักชอบลักลั่น บอกไม่ให้ลูกโกหก แต่ตัวเองกลับบอกลูกว่า "ลูกจ๋า ถ้าป้าที่ชื่อ...โทรมาบอกว่าแม่ไม่อยู่นะจ้ะ เพราะเขาจะโทรมาทวงเงินแม่"

"ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนพูดจริง หรือพูดไม่ให้คนอื่นเสียหาย พ่อแม่ต้องเป็นคนแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นพ่อแม่ที่พูด และชอบดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ลูกก็จะพูดดูหมิ่นดูแคลนคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพ่อแม่ต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต เพราะการอยู่กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก การดำเนินชีวิตต้องละเอียดมาก"


และ ข้อสุดท้าย คือ ศีลข้อที่ 5 เว้นจากการดื่มของมึนเมา ในข้อนี้ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า โลกภายนอกมีสิ่งที่จะมอมให้เมา แต่โลกในใจต้องตื่น และเบิกบาน แล้วเลือกสรรแต่สิ่งที่ดี เช่น ไม่ดื่มน้ำอัดลม และน้ำสีที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เลือกดื่มแต่น้ำสะอาด ดื่มนม หรือดื่มน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กแยกแยะสิ่งดี และสิ่งไม่ดีเป็นแล้ว เด็กจะรู้จักคิด และเลือกสรรน้ำที่เป็นประโยชน์ เมื่อโตขึ้น เด็กก็จะรู้ว่า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแต่จะทำลายชีวิต

อย่างไรก็ดี นักเล่า และนักเขียนนิทานขวัญใจเด็กๆ รายนี้ ฝากไปถึงพ่อแม่ทุกบ้านว่า การจะเลี้ยงลูกให้รอดท่ามกลางสังคมที่ซับซ้อน พ่อแม่ต้องมีศีล มีธรรม เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก ทั้งในเรื่องการพูด ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยเริ่มได้จากคนใกล้ตัวก่อน นั่นก็คือ คู่ชีวิต จากนั้นจึงตามมาด้วยลูก ดังนั้นเมื่อลูกเห็นว่า พ่อแม่คิดดี พูดดี ปฏิบัติตัวดี พอถึงวัยที่จะต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก ลูกก็จะคิดดี พูดดี และปฏิบัติดีกับคนอื่นเช่นกัน

"สังคมไทยเราบิดเบี้ยวมาก เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีศีล มีธรรม ธรรมะคือธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติดี คิดดี พูดดี เริ่มง่ายๆ จากคนใกล้ตัว เพราะคนเราส่วนใหญ่มักคิดไปว่า เราจะพูดดีกับคนอื่นอย่างไรเพื่อให้เขารักเรา หรือทำดีกับคนอื่นอย่างไรให้เขารักเรา แต่หลงลืมไปสนิทว่า การเริ่มต้นที่จะให้คนอื่นรักเรา ต้องรู้จักรักตัวเองให้เป็นเสียก่อน เริ่มจากการพูดดีๆ กับคนใกล้ตัว เพราะคนเหล่านี้คือคนที่รักเราจริงๆ" เรืองศักดิ์ฝากถึงพ่อแม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "งานเลี้ยงลูก" ถือเป็นงานละเอียด ที่พ่อแม่ต้องระวังทั้งในเรื่องของพฤติกรรม คำพูด และการแสดงออก โดยเฉพาะลูกเล็ก พ่อแม่เปรียบเสมือนกระจกบานใหญ่ของลูก จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าจะให้ลูกเป็นคนอย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวแบบของพ่อแม่ว่าจะทำตัวอย่างแบบไหนให้ลูกเห็น


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วิจัยพบ...เด็กเกเร-เด็กถูกแกล้ง เกิดจากต้นตอเดียวกัน

วิจัยพบ...เด็กเกเร-เด็กถูกแกล้ง เกิดจากต้นตอเดียวกัน

วิจัยพบ "เด็กเกเร - เด็กอ่อนแอ" เกิดจากปัญหาเดียวกัน นั่นคือมีทัศนคติในแง่ลบต่อตัวเอง - ขาดทักษะในการแก้ปัญหา รวมถึงถูกเพื่อน ๆ ปฏิเสธไม่คบหาสมาคม ส่งผลให้พัฒนาเป็นพฤติกรรมดังกล่าว นักวิจัยเผยอีกด้วยว่า เด็กชายมีโอกาสเป็นอันธพาลได้มากกว่าเด็กหญิง

เคลย์ตัน อาร์ คุก นักวิจัยชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยหลุยส์เซียน่า ผู้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวเปิดเผยว่า "โดยปกติแล้ว การที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็นนักเลงหัวไม้ได้เป็นเพราะเด็กคนนั้นมีปัญหาด้านพฤติกรรม และมีปัญหาด้านการเรียนด้วย เด็ก ๆ กลุ่มนี้มักมีทัศนคติที่เป็นลบต่อคนอื่น และต่อตัวเอง ต้นกำเนิดของปัญหามาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้คุณภาพของพ่อแม่ บรรยากาศภายในบ้านมีแต่ความขัดแย้งกัน หรือไม่เด็กก็ได้รับอิทธิพลจากเพื่อน หรือสิ่งแวดล้อม"

ทั้งนี้ หากปล่อยให้เด็กเล็ก และกลุ่มวัยทีนขาดทักษะในการแก้ปัญหา ก็จะทำให้เขาเสี่ยงต่อการกลายเป็นอันธพาลในโรงเรียน หรือไม่ก็ตกเป็นเหยื่ออันธพาลเสียเอง มิเช่นนั้นก็เป็นทั้งสองอย่าง

อย่างไรก็ดี ถ้าพบว่าเด็กคนนั้นเรียนหนังสือไม่ค่อยเก่งด้วยแล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเด็กเกเรสูงมากขึ้น

โดยปกติแล้ว ทั้งเด็กเกเร และเหยื่อมักจะมีทัศนคติแง่ลบเกี่ยวกับตนเอง และมีปัญหาด้านการเข้าสังคม ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา ทำผลงานได้ไม่ดีนักที่โรงเรียน และมักไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ หรือได้รับแรงบันดาลใจที่ไม่เหมาะสมจากเพื่อนที่เขาเข้ากลุ่มด้วย

"เราหวังว่า งานวิจัยนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเงื่อนไขของการเกิดปัญหาเด็กกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน และหวังว่าอาจช่วยให้เราสามารถหาแนวทางป้องกัน และหลีกเลี่ยงวงจรเหล่านี้ได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว พ่อแม่ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ส่วนทางโรงเรียนก็ควรช่วยฝึกให้เด็กมีทักษะในการแก้ไขปัญหา" เคลย์ตันกล่าว

เรียบเรียงจากเฮลท์เดย์นิวส์

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"เกม-ทีวี" ไม่ดีต่อเด็กจริง วิจัยพบเล่นเกิน 2 ชม./วันเสี่ยงสมาธิสั้น

มีการกล่าวถึงการดูทีวีว่ามีผลต่อสมาธิเด็ก ทำให้สมาธิสั้น แต่ยังไม่มีข้อสรุปสักทีจนกระทั่งวันนี้มีวิจัยออกมาแล้ว อ่านดูครับ

"เกม-ทีวี" ไม่ดีต่อเด็กจริง วิจัยพบเล่นเกิน 2 ชม./วันเสี่ยงสมาธิสั้น

แม้จะมีงานวิจัยออกมามากมายว่าไม่ควรให้เด็ก ๆ ใช้เวลากับเครื่องเล่นเกมไฮเทค หรือโทรทัศน์มากเกินไป แต่เชื่อว่ามีหลายครอบครัวที่ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดกับบุตรหลานของตนเอง ยังคงปล่อยปละละเลยให้ลูกจดจ่ออยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยม ล่าสุด งานวิจัยจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า ในกรณีที่พ่อแม่ปล่อยให้เด็กใช้เวลากับวิดีโอเกมแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน ก็มีผลให้เด็กคนนั้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD เป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเด็กปกติเลยทีเดียว

หากจะกล่าวถึงตัวการก็คงหนีไม่พ้นความตื่นเต้นเร้าใจที่เด็ก ๆ ได้รับจากเกมหรือรายการทีวี ซึ่งทำให้สมองของเด็กคุ้นชินกับการแสดงผลในลักษณะดังกล่าว เมื่อมาพบกับการเรียนการสอนในห้องเรียนซึ่งมีบรรยากาศแตกต่างอย่างสิ้นเชิงก็เลยทำให้เด็กไม่มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนไปโดยปริยาย

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาเด็ก 1,323 รายที่มีอายุระหว่าง 7 - 10 ขวบ และได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและคุณครูของเด็ก ๆ เหล่านั้นให้สามารถบันทึกพฤติกรรมของเด็กเกี่ยวกับการเล่นวิดีโอเกมและการดูทีวีนาน 13 เดือน โดยทางคุณครูของเด็ก ๆ ได้ช่วยบันทึกพฤติกรรมที่มีปัญหาเอาไว้ให้ด้วย

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ทั้งทีวีและวิดีโอเกมต่างมีผลเสียต่อเด็กทั้งสิ้น โดยพฤติกรรมที่มีปัญหานั้นจะเริ่มแสดงผลภายใน 1 ปี (เฉพาะเด็กที่รับชมรายการโทรทัศน์ หรือเล่นเกมนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน) โดยพบว่าเด็กไม่มีสมาธิในห้องเรียน ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นเกมอย่างเห็นได้ชัด

"ถ้าสมองเด็กถูกฝึกให้คุ้นเคยกับแสงวูบวาบ การตัดต่อภาพที่ฉับไว มุมกล้องที่น่าตื่นตาตื่นใจเหมือนที่พบได้จากวิดีโอเกมแล้วล่ะก็ คงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้เด็กคนนั้นสามารถจดจ่ออยู่กับการเรียนในห้องได้ อีกทั้งก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะคุณครูแต่ละท่านไม่มีงบประมาณนับล้านเหรียญเพื่อพัฒนาสื่อการสอนให้ตื่นเต้นเร้าใจได้เท่ากับอุตสาหกรรมเกมอย่างแน่นอน" ศาสตราจารย์ดักลาส เจนไทล์ นักจิตวิทยาผู้ทำการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้กล่าวปิดท้าย

พ่อแม่ท่านใดเป็นห่วงบุตรหลาน หรือมีบุตรหลานติดเกมควรหาโอกาสพาลูกไปทำกิจกรรมสนุก ๆ สร้างสรรค์นอกบ้านบ้างนะคะ

เรียบเรียงจากเดลิเมล

หมายเหตุ

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit / Hyperactivity Disorders ; ADHD) คือ ความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่แสดงออกซ้ำ ๆ จนเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก ประกอบด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุ หรือระดับพัฒนาการในเรื่องของการขาดสมาธิ ความหุนหันพลันแล่น ยั้งตัวเองไม่ค่อยได้ หรือความซุกซนไม่ยอมอยู่นิ่ง (อ้างอิงจาก adhdthai.com)


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เตือนแม่หลังคลอดเลี่ยงความสมบูรณ์แบบ ก่อนโรคซึมเศร้าถามหา

http://pics.manager.co.th/Images/553000010004801.JPEG


เตือนพ่อแม่มือใหม่เลี่ยง "ความสมบูรณ์แบบ" หลังพบว่าการนิยมความสมบูรณ์แบบนั้นอาจส่งผลให้ผู้เป็นแม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสูง

น่าลำบากใจไม่น้อยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ เมื่อมีสื่อต่าง ๆ นำเสนอเกี่ยวกับการเป็นพ่อแม่ที่ดีพร้อมสำหรับลูกน้อยผุดขึ้นมากมาย จนดูเหมือนว่าการเลี้ยงลูกในยุคนี้ช่างสะดวกสบาย แต่แท้ที่จริงแล้ว การมองหาความสมบูรณ์แบบในการเลี้ยงดูลูกนั้นกลับส่งผลร้ายต่อตัวพ่อแม่เสียเอง

การศึกษาครั้งนี้ได้เจาะลึกถึงค่านิยมการเป็นคนสมบูรณ์แบบว่ามีผลกระทบต่อผู้หญิงหลังจากให้กำเนิดลูกน้อยทางด้านจิตใจสูง โดยได้ทำการศึกษากับคุณแม่มือใหม่ชาวแคนาดาจำนวน 100 คนผ่านแบบสอบถามเพื่อประเมินถึงระดับ และชนิดของความเป็นคนสมบูรณ์แบบ กับความรู้สึกซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับพวกเธอหลังคลอด ซึ่งทีมวิจัยพบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างการเป็นคนสมบูรณ์แบบกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดสูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มักแสดงให้ทุกคนเห็นว่าพวกเธอไม่มีปัญหาอะไร และสามารถเลี้ยงลูกได้สบายมาก

"สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีคุณแม่มือใหม่ที่พยายามแสดงออกว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้าม ภายในจิตใจของพวกเธอเต็มไปด้วยความรู้สึกเลวร้าย แต่พยายามปกปิดมันเอาไว้ภายใต้รอยยิ้ม เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าชีวิตของพวกเธอนั้นดีพร้อม" กอร์ดอน เฟลตต์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยยอร์ก แคนาดา ผู้ทำการวิจัยในประเด็นดังกล่าวเปิดเผย

ผลการวิจัยนี้เป็นเรื่องน่าวิตกกังวลไม่น้อย เนื่องจากความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดกับคุณแม่ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบกลุ่มนี้กำลังทำให้เพื่อน สามี หรือครอบครัวไม่สามารถช่วยเหลือเธอได้อย่างทันท่วงที

"การที่พวกเธอแสดงออกว่าไม่เป็นไร และพยายามปกปิดไม่บอกคนอื่นถึงความรู้สึกของตัวเอง ทำให้คนภายนอกไม่สามารถช่วยเหลือพวกเธอได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในเคสที่แย่ที่สุดก็คือ การที่คนในครอบครัวของเธอมาบอกว่า เรานึกว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่กว่าจะรู้ก็คือ เธอคนนั้นไม่อยู่กับเราเสียแล้ว" กอร์ดอนกล่าว

"ชีวิตครอบครัวหลังคลอดบุตรเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอีกมาก เพราะในฐานะมือใหม่ ว่าที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องสะสมประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก อีกทั้งไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ ให้หยิบใช้ได้ตลอดเวลา ดังนั้นคุณไม่สามารถจะทำทุกอย่างให้เพอร์เฟ็คได้หรอก คุณไม่ต้องหวังว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ หรือพยายามจะทำตัวให้เป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุดในโลก สิ่งที่คุณต้องการคือประสบการณ์ ทำสิ่งที่คุณทำได้ให้ดีที่สุดก็พอแล้ว"

สำหรับผู้หญิงที่พยายามปกปิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด และทำประหนึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดี หนึ่งในอาการที่คนรอบข้างพอจะสังเกตได้ก็คือ พวกเธอมักจะแสดงออกว่า การเป็นแม่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากลำบากสักเท่าไร แนวทางช่วยเหลือคุณแม่กลุ่มนี้คือให้พวกเธอได้พูด ได้ระบายออกมาบ้างนั่นเอง

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จำฝังใจจนเป็นผู้ใหญ่ ไมใช่ ‘ลูกคนโปรด’

จำฝังใจจนเป็นผู้ใหญ่ ไมใช่ ‘ลูกคนโปรด’

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่ผู้ที่เป็นพ่อแม่จะมองข้าม เพราะการที่ลูกได้ยินว่า ตนเองไม่ใช่ลูกรัก ไม่ใช่ลูกที่พ่อแม่ชอบ ไม่ใช่คนที่พ่อแม่โปรดปรานและอื่นๆ สิ่งที่ลูกได้ยินนั้น มันจะจดจำฝังใจลูกไปจนกว่าลูกกับพ่อแม่จะปรับความเข้าใจกัน หรืออาจจะตลอดชีวิตก็ได้

เด็กเล็กที่ขี้โมโห และวัยรุ่นที่ไม่ถูกกับพี่น้อง เป็นพฤติกรรมปกติเพื่อเรียกร้องความสนใจจากแม่

แต่เมื่อเด็กเหล่านั้นโตเป็นผู้ใหญ่ และความสงสัยว่าตัวเองเป็นลูกคนโปรดของแม่หรือเปล่าย้อนกลับมาอีกครั้ง นั่นอาจหมายถึงการต้องเข้ารับการบำบัด

งานวิจัยของศาสตราจารย์คาร์ล พิลเลเมอร์ สาขาพัฒนามนุษย์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในนิวยอร์ก ที่ศึกษาจากความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกที่โตแล้ว 275 ครอบครัวในแถบบอสตัน พบความเชื่อมโยงระหว่างการที่พ่อแม่รักลูกคนใดคนหนึ่งมากกว่าลูกคนอื่นๆ กับสัญญาณของอาการซึมเศร้า

“การที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนต่างกันอาจมีผลอย่างมากต่อภาวะที่เป็นสุขทางจิตใจ แม้เมื่อลูกเข้าสู่วัยกลางคนแล้วก็ตาม” ศาสตราจารย์พิลเลเมอร์อธิบาย

ถึงแม้เคยมีการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับปัญหาด้านพฤติกรรมในหมู่เด็กวัยเรียนจากการที่พ่อแม่มีลูกคนโปรด แต่พิลเลเมอร์บอกว่าการตรวจสอบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังพ้นวัยเรียนแล้ว ยังค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่

หลังจากที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนแล้ว เมื่อแม่ถูกถามว่ามีความผูกพันทางอารมณ์ที่แนบแน่นกว่าหรือมีปัญหากับลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ ปรากฏว่าแม่กว่า 2 ใน 3 ที่ถูกสัมภาษณ์แสดงให้เห็นว่ายังมีลูกคนใดคนหนึ่งที่โปรดปรานเป็นพิเศษอยู่

ขณะเดียวกัน ลูกที่อยู่ในวัยกลางคนแล้ว 90% ก็บอกว่าแม่ของตนมีลูกคนโปรดที่อยากให้เป็นผู้คอยดูแลยามแก่เฒ่า

คำตอบที่ได้จากการศึกษาคราวนี้ ยังเป็นการหักล้างความคิดที่ว่า ลูกที่ไม่ได้เป็นคนโปรดของพ่อแม่เท่านั้นที่มีความเชื่อมโยงกับอาการซึมเศร้าอย่างชัดเจน เนื่องจากพิลเลเมอร์และจิลล์ ซุตเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิวในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำรายงาน พบว่า ‘ลูกรัก’ มีปัญหาซึมเศร้าด้วยเช่นกัน

บ่อยครั้งที่ลูกคนโปรดต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิด และรู้สึกว่าตนมีหน้าที่ที่ต้องดูแลเมื่อพ่อแม่แก่ชรา

นอกจากนี้ ลูกคนโปรดยังรู้สึกไม่ค่อยลงรอยกับพี่น้องคนอื่น

พิลเลเมอร์เสริมว่า การเปิดประเด็นเรื่องที่พ่อแม่มากมายมีลูกคนโปรดเป็นขั้นตอนแรกในการจัดการกับความรู้สึกเลวร้ายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดังกล่าวของพ่อแม่ อย่างไรก็ดี อาจเป็นเรื่องยากที่พี่น้องภายในครอบครัวจะยอมรับว่าการที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันเป็นเรื่องปกติในระดับหนึ่ง

“นั่นไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่รักลูกเป็นบางคน ทว่าลูกแต่ละคนมีความแตกต่างกัน พ่อแม่จึงปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน” พิลเลเมอร์ทิ้งท้าย




ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จริงหรือที่แม่เป็น 'เหงือกอักเสบ' ลูกจะคลอดก่อนกำหนด!

จริงหรือที่แม่เป็น 'เหงือกอักเสบ' ลูกจะคลอดก่อนกำหนด!


ขอบคุณภาพจาก forparentsbyparents.com


เมื่อพูดถึงโรคเหงือกอักเสบ เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ง่าย และรุนแรงกว่า เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนซึ่งมีผลต่อเหงือก และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบต่อสุขภาพช่องปากอย่างเดียว ยังมีงานวิจัยออกมาว่า โรคเหงือกอักเสบมีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด และภาวะทารกมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานที่เกิดจากการติดเชื้อในช่องปากด้วย

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ "ผศ.ทญ.พิณทิพา บุณยะรัตเวช" ทันตแพทย์เฉพาะทาง สาขาปริทันตวิทยา อธิบายให้ทีมงาน Life and Family ฟังว่า การคลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์นั้น เป็นปัญหาสำคัญที่อาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ โดยทั้งนี้ มีความพยายามในการหาสาเหตุ และวิธีป้องกัน แต่ยังไม่สามารถลดการเกิดปัญหาดังกล่าวได้มากนัก

จนเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้มีการเสนอว่า เชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจจะมีการกระจายสู่ร่างกาย และมีผลทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติได้ ซึ่งโรคปริทันต์อักเสบ (โรคเหงือกอักเสบที่ลุกลามจนถึงขั้นมีการทำลายกระดูกที่รองรับฟัน สมัยก่อนเรียก รำมะนาด) เป็นโรคที่มีสาเหตุหลักจากคราบจุลินทรีย์ ร่องเหงือกที่ลึกจากการเป็นโรคจึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคปริมาณมาก ทำให้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำในหลายกลุ่มประชากรพยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์อักเสบ กับการเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ในการตั้งครรภ์ดังกล่าว แต่ผลที่ได้ยังมีการขัดแย้งกันอยู่

"ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ค่ะ ว่าโรคเหงือกอักเสบจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จำเป็นต้องรอดูข้อมูลงานวิจัยที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ต่อไป" ทันตแพทย์เฉพาะทาง สาขาปริทันตวิทยากล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.ทญ.พิณทิพา บอกว่า การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่จะละเลยไม่ได้ในแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นควรจำกัดคราบจุลินทรีย์โดยการแปรงฟัน และใช้อุปกรณ์เสริมช่วย เช่น ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ซึ่งคราบจุลินทรีย์ที่ว่านี้ ไม่ใช่เศษอาหาร แต่เป็นเชื้อโรคที่ปกติจะลอยอยู่ในน้ำลายแล้วค่อยๆ มาสะสมอยู่บนผิวฟัน

"การแปรงฟัน จะช่วยจำกัดคราบนี้ออกไป แต่หากแปรงฟันไม่สะอาด โดยเฉพาะตามคอฟันใกล้ขอบเหงือก หรือซอกฟัน คราบนี้จะเริ่มมีแร่ธาตุมาเกาะ และกลายเป็นหินน้ำลาย (แต่ก่อนเรียกหินปูน) ในที่สุด ที่สำคัญควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ขูดหินน้ำลาย หรือรักษาโรคเหงือกก่อน เพราะถ้าเหงือกเริ่มอักเสบอยู่บ้างแล้วจะใช้วิธีแปรงฟันให้สะอาดเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ"

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ช่วงเวลาที่จะทำฟันได้ แนะนำว่า ควรจะเป็นไตรมาสที่ 2 (ประมาณสัปดาห์ที่ 13-21 ของการตั้งครรภ์) แต่ถึงกระนั้นควรรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งจะปลอดภัยกว่าปล่อยไว้จนเกิดปัญหาตามมาภายหลัง

"ปัญหาในช่องปากหลักๆ แล้ว คือโรคฟันผุ และโรคเหงือก ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้สามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยการแปรงฟันให้สะอาด และใช้อุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม เช่น ไหมขัดฟัน จากนั้นลดปริมาณอาหารกลุ่มแป้ง และน้ำตาล และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก รวมทั้งขูดหินน้ำลาย (หินปูน) เป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคเหงือกอักเสบจนลุกลามไปถึงโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มักจะไม่พบอาการในเบื้องต้น กว่าจะเริ่มมีอาการมักจะลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษายุ่งยาก เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายสูง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอาจจะเก็บฟันไว้ไม่ได้" ทันตแพทย์เฉพาะทาง สาขาปริทันตวิทยาทิ้งท้าย


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์