วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ภูมิแพ้ (อาหาร) ในเด็ก พ่อแม่เอาชนะได้


รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี


หากพูดถึงโรคในเด็กที่ทำให้พ่อแม่หลายๆ คนกังวลใจ "ภูมิแพ้" ถือเป็นโรคหนึ่งที่อยู่ในข่ายความกังวลนี้ ซึ่งนอกจากภูมิแพ้ทางเดินหายใจที่เป็นกันมากแล้ว ภูมิแพ้อาหารนับเป็นภูมิแพ้ที่น่าห่วงชนิดหนึ่งที่พบได้ในเด็กเล็ก โดยมีข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า การแพ้อาหารในทารกมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น 5 เท่าในทารกทั่วโลก โดยมีการแพ้นมวัวมากที่สุดในอาหารภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

โดยตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วงนี้ รศ.นพ.ปีเตอร์ เคนเนธ สมิธ กุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยบอนด์ และมหาวิทยาลัยกริฟฟิน ประเทศออสเตรเลีย เผยให้ฟังในงานเสวนาลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้ จัดโดยหน่วยธุรกิจโภชนาการ บริษัทเนสท์เล่ ว่า ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป คนเราเจอกับจุลินทรีย์น้อยลง โดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่พิถีพิถันในเรื่องความสะอาด หรือการกินให้ลูกมากจนเกินไป จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติการณ์ภูมิแพ้ขึ้น โดยเฉพาะภูมิแพ้อาหาร

ดังนั้นการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อการเจริญเติบโตของทารกเป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่าย และละลายได้ดี สังเกตได้ว่า เคซีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในนมวัวจะไม่ละลายน้ำ และเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการแพ้อาหารในทารก คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมมารดา หรือนมที่ประกอบด้วยโปรตีนเวย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผ่านการย่อยด้วยเอ็นไซม์ และความร้อน

"น้ำนมมารดาเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของนมมารดา ประกอบด้วยโปรตีนเวย์ที่ละลายน้ำ ทั้งยังมีจุลินทรีย์สุขภาพที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกอีกด้วย ในกรณีที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาได้อย่างต่อเนื่อง ควรให้นมสูตรพิเศษไฮโปอัลเลอเจนิก (H.A.) ที่มีผลการวิจัยรับรองแทน โดยนมผงสูตรดังกล่าวนี้ ได้จากย่อยของโปรตีนจากนมโดยใช้ความร้อน เอ็นไซม์ และหรือความดัน" กุมารแพทย์รายนี้กล่าว

ป้องกันภูมิแพ้ให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์

ในหัวข้อนี้ รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังงานเสวนาว่า การป้องกันภูมิแพ้ให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ โดยเลือกทานอาหารสด เพราะมีแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้ดี

นอกจากนี้ ควรจะรับประทานปลา เพราะปลามีดีเอชเอ ซึ่งเป็นไขมันที่ช่วยลดการอักเสบ และช่วยบำรุงลูก ทั้งยังลดอาการภูมิแพ้ต่างๆ จากแม่สู่ลูก หากคุณแม่ตั้งครรภ์ เริ่มรับประทานโอเมก้า 3 ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ลดความเสี่ยงของทารกจากภูมิแพ้ได้ โดยปริมาณดีเอชเอที่แม่รับประทานจะมีความสัมพันธ์กับน้ำนมของคุณแม่ ถ้ากินดีเอชเอในปริมาณมาก ลูกที่กินนมแม่ก็จะได้ดีเอชเอที่มากขึ้นเช่นกัน

"คุณแม่ควรกินอาหารให้สมดุล ไม่ควรโหมกินอะไรมากมาย ซึ่งเห็นตัวอย่างง่ายๆ คือ โดยปกติคุณแม่บางท่านไม่ค่อยกินนม กินไข่เท่าไร แต่พอรู้ว่าตัวเองท้อง ก็บำรุงเพิ่มมากขึ้น เช่น กินนมวันละ 3 แก้ว กินไข่วันละ 2 ฟอง ซึ่งหมอมีคนไข้บางคนที่กินนมวันละลิตร สองลิตร ดังนั้นทำให้ภูมิของแม่ไม่คุ้นเคย กระตุ้นให้เด็กที่อยู่ในท้องเกิดการแพ้ได้มาก"


ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญคือ วิตามินดี คุณหมอเผยว่า คุณแม่ควรได้รับวิตามินตัวนี้ในปริมาณที่พอดี เนื่องจากวิตามินดี มีความเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ ช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้ดี แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่กลัวแสงแดด อยากมีผิวสวยจึงหันมาทาครีมกันแดดกันอยู่บ่อยครั้ง จึงได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ

ด้านโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทารกเมื่อคลอดออกมานั้น รศ.พญ.พรรณทิพา เห็นตรงกันกับนพ.สมิธที่บอกว่า นมแม่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือน จะช่วยป้องกันภูมิแพ้ในเด็กได้ดีมาก แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่อง ควรเลือกนมสูตรพิเศษที่ถูกการย่อยให้โปรตีนเล็กลง

"สมัยนี้ทำไมภูมิแพ้ถึงได้เพิ่มขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์ของคนได้เปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้เราเจอจุลินทรีย์น้อยลง ฉะนั้นเด็กควรได้รับจุลินทรีย์สุขภาพเสริมเข้าไป เช่น อาจจะกินนมที่เสริมจุลินทรีย์สุขภาพ หรือพยายามอย่าให้เด็กกินยาแก้อักเสบบ่อยๆ ถ้าไม่จำเป็น เพราะเป็นตัวทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้" รศ.พญ.พรรณทิพากล่าว



ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


อย่างไรก็ดี รูปแบบการการคลอดมีผลต่อการเกิดภูมิแพ้ในเด็กได้เช่นกัน ซึ่งคุณหมอท่านนี้บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้คุณแม่คลอดทางช่องคลอดปกติ เพราะเด็กจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพจากคุณแม่ ขณะที่การคลอดทางหน้าท้อง เด็กจะไม่ได้จุลินทรีย์สุขภาพ (โพรไบโอติค) ที่จะเข้าไปอยู่ในลำไส้เด็ก ลูกมีโอกาสเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ได้ง่าย

เห็นได้จากประเทศนอร์เวย์ มีการศึกษาในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 2.5 ปี ที่มีปัญหาแพ้นมวัว 2,600 คน พบว่า เด็กที่ได้รับการผ่าตัดคลอดมีอัตราการเป็นโรคแพ้นมวัวมากกว่าเด็กที่คลอดทาง ช่องคลอดถึง 3.3 เท่า และถ้าตัวคุณแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย อัตราการแพ้นมวัวของลูกก็จะมากขึ้นเป็น 9.7 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น ภูมิแพ้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ คุณหมอบอกว่า พ่อแม่ควรสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้อยให้ดี ถ้ามีอาการแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งควรหยุดให้ลูกกิน และคิดดูว่าเจ้าตัวน้อยน่าจะแพ้อะไร เมื่อรู้ว่าลูกแพ้อาหารชนิดใดแล้ว นอกจากต้องระวังไม่ให้กินอาหารชนิดนั้น หรืออาหารที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เช่น แพ้ไข่ อาหารหรือขนมอื่นที่ผสมไข่ก็ควรงดด้วย

"ถ้ายังมีอาการผิดปกติ พ่อแม่ต้องถ้าลูกไปตรวจให้ทราบแน่ชัดว่า ลูกแพ้อะไร ไม่ใช่ไปคิดเองว่าลูกแพ้อะไร เช่น บางคนคิดว่าลูกแพ้อาหาร 3 อย่าง จึงไม่ให้ลูกกินอะไรเลย ทำให้เด็กขาดสารอาหารได้ ดังนั้นเมื่อตรวจแล้วพบว่าลูกแพ้นม ก็งดแต่นม" คุณหมอให้แนวทาง

สำหรับวิธีการตรวจหาว่าเจ้าตัวน้อยแพ้อาหารหรือไม่นั้น ต้องพาลูกไปทดสอบการแพ้ ซึ่งมีอยู่ 2 วิธีคือ การทดสอบปฏิกิริยากับผิวหนังว่าร่างกายมีปฏิกิริยาแพ้โปรตีนในนม ในไข่ หรืออื่นๆ หรือไม่ แค่ไหน หรือการเอาเลือดไปตรวจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้มีหลักฐานทางการแพทย์ด้านการป้องกันภูมิแพ้ ระบุว่าการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังในเด็กมีความสัมพันธ์กับการแพ้อาหาร โดยในปี 2542 พบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ ที่เกิดผื่นแพ้ผิวหนังจะแพ้อาหารถึงร้อยละ 17 ดังนั้นหากลูกมีการแพ้ที่ผิวหนัง เช่น ผดผื่น รศ.พญ.พรรณทิพา ฝากเตือนว่า พ่อแม่ไม่ควรใช้น้ำมันที่ทำจากธัญพืชต่างๆ นำไปทาผิวลูก เพราะอาจมีโปรตีนปนเปื้อนเข้าสู่ผิวหนังลูกได้ ซึ่งมีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า พ่อแม่ที่นำเอาน้ำมันถั่วลิสงมาทางให้ลูก จะทำให้เด็กแพ้ถั่วลิสงมากขึ้น เป็นต้น

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์