วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

10 เคล็ดลับอาบน้ำปลอดภัย

10 เคล็ดลับอาบน้ำปลอดภัย



อาบน้ำถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสำหรับคุณกับลูกน้อยทีเดียว แต่ควรต้องระวังในเรื่องความปลอดภัยด้วยนะคะ

1. อย่าทิ้งลูกน้อยไว้ตามลำพังแม้วินาทีเดียว เพราะนั่นอาจหมายถึงชีวิต ควรเตรียมอุปกรณ์อาบน้ำทุกอย่างให้พร้อม สามารถหยิบจับได้ทันที ถ้ามีเสียงโทรศัพท์หรือคนมากดกริ่งหน้าบ้าน ให้อุ้มเบบี้ออกมาวางบนตัก ห่อหุ้มด้วย ผ้าขนหนู แล้วอุ้มเขาไปด้วยกันกับคุณค่ะ

2. ควรตรวจสอบห้องน้ำให้มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นเกิน เวลาอาบจะได้สบายตัว

3. อย่างวางลูกลงในอ่างน้ำขณะที่น้ำในฝักบัวยังไหลอยู่ เพราะอุณหภูมิของน้ำอาจเปลี่ยน ลูกอาจจะตกใจได้ค่ะ

4. ตรวจสอบความปลอดภัยของอ่างน้ำเสมอ ต้องไม่ลื่น ควรมีแผ่นยางรองอาบน้ำ ส่วนเก้าอี้ที่คุณนั่งกับพื้นห้องน้ำต้องไม่ลื่น เพราะถ้าอาบไปแล้วเก้าอี้เกิดลื่น คุณอาจจะล้ม และลูกอาจได้รับอันตรายได้

5. น้ำควรมีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

6. ใส่น้ำในอ่างให้สูงเพียง 2-3 นิ้วก็พอ สำหรับทารกวัย 6 เดือนขึ้นไป ระดับน้ำไม่ควรสูงกว่าเอว

7. สำหรับลูกน้อยที่เริ่มนั่งได้แล้ว ควรสอนให้นั่งในอ่างน้ำ และอาจจะหาของเล่นชิ้นเล็กที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความเพลิดเพลินในการอาบน้ำมากขึ้น

8. ไม่ควรให้ลูกนั่งแช่ในอ่างน้ำที่มีสบู่หรือแชมพูนานเกินไป เพราะผิวของลูกยังบอบบาง อาจเกิดการระคายเคืองเป็นผื่นได้ และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วย

9. อย่าอาบใกล้ก๊อกน้ำ เพราะลูกอาจจะไปโดนก๊อกน้ำ เกิดการบาดเจ็บได้

10. เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเป่าผม เป็นต้น ออกไปห่าง ๆ เลยนะคะ แล้วเวลาอาบน้ำก็จะเป็นเวลาแห่งความสุขของแม่ลูกเสมอค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารรักลูก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 338 มีนาคม 2554

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ความลับจากเสียงอ้อแอ้

โดยเด็กทารกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน จะสื่อสารด้วยภาษาสากลหลักๆ ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันทั้งหมด 4 คำ ได้แก่

1.เฮะ
ถือเป็นเสียงที่เด็กร้องบ่อยที่สุดเพื่อบอกคุณแม่ว่าลูกกำลังรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งเกิดจากความเปียกชื้น ร้อน เหนียวตัว เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อนชื้น อบอ้าว ทำให้ผิวทารกเปียกชื้นได้ง่ายเกิดความระคายเคืองแก่ผิว โดยคุณแม่สามารถดูแลด้วยการอาบน้ำและทาแป้งเด็กโรยตัว เพื่อป้องกันการเปียกชื้นและยังป้องกันไม่ให้เกิดผดผื่น

2.เอะ
บอกถึงอาการที่ลูกน้อยมีลมในท้อง คุณแม่ควรดูแลด้วยการอุ้มลูกขึ้นมาประคองศีรษะลูกให้พาดบ่า หันหน้าเข้าหาคุณแม่แล้วตบหลังลูกเบาๆ หรืออาจจะอุ้มลูกให้ลุกขึ้นมาในท่านั่ง โน้มตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อยและตบหลังลูกเบาๆ

3.อาว
หมายความว่าหนูกำลังง่วงนอนและอยากจะพักผ่อนแล้ว

4.อีนเนะ
เสียงร้องนี้หมายความว่าลูกกำลังกระหายน้ำหรือหิวนม อยากให้คุณแม่ป้อนนม ป้อนน้ำ ให้รู้สึกอิ่ม

ผดผื่น ของทารก

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตและสงสัยบ้างไหมว่า แม่คุณจะดูแลความสะอาดร่างกายของเจ้าตัวน้อยอย่างดี แต่ทำไมผดผื่นจึงมักเกิดขึ้นบนร่างกายของเจ้าตัวน้อยส่วนใหญ่ได้ง่ายนัก บางคนติติงตัวเองว่าดูแลดวงใจน้อยๆ ไม่ถูกวิธีหรือเปล่า หรือเพราะเสื้อผ้า สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ จึงทำให้ร่างกายของเจ้าตัวน้อยมีผดผื่นขึ้นตามใบหน้าและลำตัวอย่างนี้ ? ไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

1. ผิวหนังของเจ้าตัวน้อยก่อนขวบปียังบอบบาง โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนังแท้และหนังกำพร้าของทารกแรกเกิดยังไม่ยืดหยุ่น แข็งแรง หากผิวหนังถูกสะกิดเพียงนิด มันก็จะพองเกิดผื่น หรือผิวหนังอักเสบ ทั้งนี้เพราะเซลล์ผิวหนังแยกตัวได้ง่าย

2. การทำงานของต่อมเหงื่อกับต่อมไขมัน ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดผื่นที่ต่างกันดังนี้

2.1 ผดผื่นทีเกิดจากต่อมเหงื่อ เนื่องจากเนื้อที่ผิวกายของเจ้าตัวน้อยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ จึงต้องขับเหงื่อออกมากกว่าผู้ใหญ่เพื่อระบายความร้อน โดยหลอดเลือดในร่างกายจะขยายตัว เพื่อขับความร้อนออกมาทางเหงื่อ นี่คือสาเหตุที่เจ้าตัวน้อยปกติมักตัวรุมตลอดเวลา คือ ตัวร้อนกว่าหลังมือของผู้ใหญ่เล็กน้อย โดยมีอุณหภูมิของร่างกายอยู่ระหว่าง 37-37.5 องศาเซลเซียส รวมกับการสังเกตดูว่าเจ้าตัวน้อยยังดูดนมหม่ำอาหารได้ดี ยังยิ้มและหัวเราะได้แสดงว่าไม่ได้เป็นไข้หรือเจ็บป่วย

และเพราะต่อมเหงื่อของเจ้าตัวน้อยยังทำงานได้ไม่ดี จึงเกิดการอุดตัน กลายเป็นผดผื่นได้ง่าย ซึ่งได้แก่ ผดใส ผดแดง และผดลึก ที่มักเกิดในฤดูร้อน ผดแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับความลึกของการอุดตันของต่อมเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง ถ้าอุดตันที่ผิวหนังตื้น ก็จะเห็นเป็นผดใส ถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับกลางก็จะเห็นเป็นผดแดง และถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับล่าง ก็จะเป็นผดสีขุ่น ยกเว้นเจ้าตัวน้อยที่ป่วยด้วยโรคผิวหนังบางอย่าง เช่น ต่อมเหงื่อฝ่อ หรือที่รู้จักกันในลักษณ์ของสังข์ทอง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม ร่างกายจะมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง โดยหาสาเหตุของการติดเชื้อไม่พบ ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถระบายความร้อนได้ การให้ยาพาราเซตามอลสำหรับเด็กก่อนปรึกษาแพทย์ในกรณีนี้ หรือไม่ว่ากรณีใดจึงอันตรายหากให้กินเกินขนาด เพราะมันจะสะสมที่ตับ จนตับเสื่อมหน้าที่ได้

ผื่นจากต่อมเหงื่อป้องกันได้ โดยอย่าให้เจ้าตัวน้อยร้อนมากเกินไป ห้องนอนควรมีอากาศถ่ายเท ระบายความร้อนได้ดี ในช่วงฤดูร้อนอาจให้นอนในห้องที่เปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าไม่ควรเป็นผ้าหนาตามอย่างต่างประเทศ หรือห่อตัวให้จนแน่น เพราะกลัวว่าเจ้าตัวน้อยจะโดนแดดโดนลมจนไม่สบาย การทำอย่างนั้นยิ่งทำให้ต่อมเหงื่อของเจ้าตัวน้อยทำงานหนัก และไม่สามารถระบายเหงื่อออกได้ รูขุมขนก็จะอุดตันเป็นผื่นขึ้น จนผิวอักเสบพุพองเป็นหนองได้

การเช็ดตัวหรืออาบน้ำให้เจ้าตัวน้อยบ่อยขึ้นในฤดูร้อนช่วยระบายความร้อนไม่ให้เกิดความหมักหมม การทาคาลาไมน์จะช่วยลดอาการคัน เพราะมีส่วนผสมที่เป็นน้ำ เมื่อน้ำระเหย ก็จะดูดความร้อนที่ผิวของเจ้าตัวน้อยออกไป เจ้าตัวน้อยจะสบายขึ้น ผดผื่นก็จะหายไป หรือเมื่อเจ้าตัวน้อยโตขึ้น พื้นที่ระบายความร้อนของร่างกายก็จะเพิ่มขึ้น ผดผื่นก็จะไม่มารังควานแบบนี้อีก

2.2 ผื่นที่เกิดจากต่อมไขมัน มักเกิดขึ้นเป็นปกติกับเจ้าตัวน้อยก่อนขวบปีพอสมควร โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยแรกเกิดถึง 3 เดือน รูเปิดของต่อมไขมันยังทำงานได้ไม่ดี แต่ต้องทำงานมากกว่าปกติ เพราะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนจากคุณแม่ ที่ได้รับมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ยังหลงเหลืออยู่ ทำให้ผิวหนังเกิดการอุดตันและอักเสบได้ง่าย

บริเวณใบหน้า แก้ม ตามซอกข้อพับ ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ หน้าอก และแผ่นหลังช่วงบน โดยเฉพาที่ ศีรษะ บริเวณคิ้ว ใบหู หลังหู จะมีต่อมไขมันมากกว่าส่วนอื่น ทำให้เห็นคราบไขมันเหลืองหนา แห้งเป็นเกร็ดติดอยู่ และจะผลิตออกมาเรื่อยๆ ของเก่าแห้งไป ของใหม่มาอีก แต่จะไม่ค่อยมีอาการคัน เจ้าตัวน้อยจึงไม่หงุดหงิดงอแง

ผื่นที่เกิดจากต่อมไขมันป้องกันไม่ได้ เพราะเป็นฮอร์โมนที่เจ้าตัวน้อยได้รับจากคุณแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ดังกล่าว จึงต้องรอเวลาที่ฤทธิ์ของฮอร์โมนในตัวของเขาหมดไป มันก็จะหายไปเอง ระยะเวลาแล้วแต่จะได้รับฮอร์โมนมามากหรือน้อย แต่สามารถดูแลให้จางหรือเบาบางได้ด้วยการใช้น้ำมัน เช่น น้ำมันมะกอก เบบี้ออยล์ ฯลฯ นวดทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ให้สะเก็ดมันนุ่ม แล้วค่อยเช็ดหรือสระออก สะเก็ดก็จะหลุดออก แต่ถ้าปล่อยให้สะเก็ดแห้งแข็งอยู่อย่างนั้น อาจไปขูดหนังศีรษะให้เป็นแผลติดเชื้อได้

ส่วนผื่นแดงบริเวณที่ไม่มีเส้นผมหรือขน เช่น แก้ม หลังหู ซอกคอ ขาหนีบ ฯลฯ ควรใช้ยาแก้อักเสบ 0.02% T.A. หรือครีมธรรมดาจำพวก Brand Cream ทาบางๆ เพื่อไม่ให้ผิวหนังเป็นขุยลอก หรือควรปรึกษาแพทย์ การทาคาลาไมน์ในกรณีนี้ช่วยได้ในช่วงแรก แต่ถ้าเนื้อแป้งในคาลาไมน์อาจเกาะติดรูต่อมไขมัน อาจทำให้อาการแย่ลงในภายหลัง


ผื่นจากปัญหาอย่างอื่น

นอกจากเจ้าตัวน้อยอาจเกิดผื่นได้จากต่อมเหงื่อและต่อมไขมันแล้ว บางคนยังอาจเกิดผดผื่นจากปัญหาต่อไปนี้ ผื่นจากภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งเป็นพันธุกรรมความไวของเซลล์จากครอบครัวที่เป็นภูมิแพ้ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เช่น คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นหวัดเรื้อรังเมื่อเจอขี้ฝุ่น จะตาแดง น้ำตาไหล ฯลฯ หากเจ้าตัวน้อยได้รับพันธุกรรมผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมา ผิวหนังก็จะไวและแพ้ได้ง่ายแม้แต่เหงื่อของตัวเอง จึงทำให้เกิดผื่นขึ้นมา โดยจะพบกรณีนี้ประมาณ 14-15%

ถ้าเจ้าตัวน้อยมีเหงื่อออก น้ำลายไหล มีน้ำย่อยจากน้ำลาย การแหวะนมมาเปื้อนผ้าปูเตียง หรือผ้าปูเตียงมีผงซักฟอกหรือสารเคมีตกค้าง ฯลฯ เมื่อเด็กนอนคว่ำหรือนอนตะแคง แก้มจะแนบกับที่นอนและหมอน จึงมักเป็นผื่นที่แก้มจากการระคายเคืองของน้ำลายที่ไหลเปื้อน

ผิวภูมิแพ้จากกรรมพันธุ์โดยทั่วไปจะผิวแห้ง เพราะขาดเซลล์ไขมันเคลือบผิวหนังบางตัว ถ้าคุณแม่อาบน้ำฟอกสบู่ให้เจ้าตัวน้อยกลุ่มนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบอาบน้ำร้อนๆ ให้ลูก ยิ่งละลายไขมันบนผิวหนังที่มีอยู่น้อยให้ออกไปอีก การทาคาลาไมน์ให้เจ้าตัวน้อยกลุ่มนี้ จึงยิ่งทำให้ผิวแห้ง ผิวยิ่งแห้ง ยิ่งคัน ยิ่งเกาผื่นยิ่งเห่อ เจ้าตัวน้อยมักงอแงจากอาการคัน บางคนยังเกาไม่ได้ก็จะถูผิวหนังกับที่นอนจนเลือดออก ผื่นผิวภูมิแพ้อาจเริ่มมีอาการอายุราว 2-3 เดือน ใกล้เคียงกับอายุของเจ้าตัวน้อยที่เป็นผื่นจากต่อมไขมัน ซึ่งจะไม่มีอาการคันร่วมด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันผื่นภูมิแพ้ให้หายขาด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องวิตก เพราะผื่นภูมิแพ้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอาการจะดีขึ้นเมื่อเจ้าตัวน้อยโตพอที่จะระวังตัวเองได้ การแพ้ก็จะน้อยลง

ผื่นแพ้ผ้าอ้อม คุณพ่อคุณแม่ที่เลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้เจ้าตัวน้อยจะรู้สึกสบาย แต่บางครั้งอาจสบายจนขาดความระวังว่า เขาปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาหรือยัง ผู้ปกครองบางคนปล่อยให้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปผืนเดียวเปียกซ้ำ 4-5 ครั้ง ก็ไม่เปลี่ยนให้ใหม่ เพราะราคาของผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่รู้สึกว่าต้องใช้ให้คุ้ม แต่การปล่อยให้ผิวหนังของเจ้าตัวน้อยที่บอบบางเปียกชื้น หรือหมักหมมเพียงนิด ก็จะทำให้เขาเป็นผื่นผ้าอ้อม เริ่มจากบริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะปลายอวัยวะเพศชายและลูกอัณฑะ ถ้าเกิดความระคายเคืองก็จะอักเสบได้ง่าย ต่างกับเจ้าตัวน้อยที่ใช้ผ้าอ้อมผ้า จะมีอุบัติการณ์เกิดผื่นผ้าอ้อมน้อยกว่า เพราะมักได้รับการเปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดก้น ทำความสะอาดเร็วกว่า ไม่เช่นนั้นจะเปียกคนอุ้มด้วย

หากปล่อยให้ผิวของเจ้าตัวน้อยหมกหมมนานๆ จะเกิดเชื้อรา Candida แทรกซ้อนตำแหน่งเดียวกับที่เป็นผื่นผ้าอ้อม กระจายลามแดงเป็นเม็ดเล็กๆ อาจลามขึ้นตามลำตัวด้วย หรืออาจเกิดเชื้อแบคทีเรีย ที่มากับการถ่ายอุจจาระ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังพุพองได้

การทาแป้งเด็กช่วยลดการเสียดสีของผิวหนังกับผ้าอ้อมได้ แต่ควรลูบให้แป้งลื่นติดผิวหนัง เพราะถ้าปล่อยให้กองอยู่บนผิว แล้วเปียกชื้นจากน้ำปัสสาวะหรือจากเหงื่อที่ขาหนีบ ซึ่งจะไม่ถูกระบายออกเมื่อใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แป้งก็จะกลายเป็นก้อน เวลาเจ้าตัวน้อยขยับขา ก้อนแป้งก็จะสีกับขาหนีบ ทำให้เกิดผื่นแดงจากการเสียดสีจนอักเสบ หรือผิวหนังอาจมีรอยแยกแตก เชื้อราก็จะเข้าผสมโรงทันที

ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป นอกจากจะต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมแล้ว ควรเลือกซื้อชนิดที่ซึมซับความเปียกชื้นได้เร็ว อุ้มน้ำได้ดี เพื่อไม่ให้ความเปียกชื้นสัมผัสกับก้นของเจ้าตัวน้อย


ผื่นผิวหนังบริเวณอื่น

นอกจากจะพบผื่นได้ที่บริเวณใบหน้า ซอกข้อพับของร่างกาย บริเวณอวัยวะเพศและก้นของเจ้าตัวน้อย จากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน จากภูมิแพ้ และการหมักหมมแล้ว ผื่นยังสามารถเกิดขึ้นที่ร่างกายส่วนอื่นได้ เช่น แขนด้านนอกของเจ้าตัวน้อย โดยมีสาเหตุจาก...

1. เกิดจากการถูกยุงหรือแมลงกัดต่อย เด็กเล็กอาจแพ้มากจนเป็นตุ่มแดงใหญ่ มีหัวแข็งๆ กลางตุ่มแดง

2. การที่เจ้าตัวน้อยนอนตะแคงทับแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือสลับทั้งสองข้าง แต่นอนทับอยู่กับที่นอนเป็นเวลานานๆ เหงื่อที่แขนระบายออกได้ไม่ดีจนอับเหงื่อและระคายเคือง เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อเฉพาะที่ กลายเป็นผื่นแพ้สัมผัส ที่มีลักษณะคล้ายผดแดงเล็กกระจาย

3. มือสกปรกของผู้อื่นมาจับเจ้าตัวน้อยเกิดการแพ้สัมผัสที่ผิวหนังได้เช่นกัน ถ้าผิวของเจ้าตัวน้อยมีรอยถลอก เชื้อโรคจากมือสกปรกก็จะเข้าสู่ผิวหนัง ปกติผิวหนังของเราจะมีเชื้อ Normal Flora จำพวก Staphylococcus อาศัยอยู่ โดยไม่ทำอันตรายกับร่างกาย เชื้ออื่นที่เป็นอันตรายจึงเข้ามาอาศัยบนผิวหนังของเราได้น้อยลง แต่ถ้าเมื่อไรผิวหนังเกิดรอยแยกจากการเกาหรือถู เชื้อโรคทั้งที่อันตรายและที่อาศัยอยู่บนผิวหนังก็จะเข้าทำอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยแรกคลอดจะยังไม่มีเชื้อใดๆ อาศัยอยู่บนร่างกาย จนกว่าจะผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงทำให้ร่างกายของวัยนี้มีภูมิต้านทานเชื้อโรคต่ำกว่าช่วงวัยอื่นมาก


เลือกของใช้สำหรับเด็กให้ไกลจากผดผื่น

การใช้สบู่สำหรับเด็ก ควรมีฤทธิ์เป็นกลาง หรือกรดอ่อนๆ จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ควรผสมน้ำหอม ถ้าจะใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้กับเจ้าตัวน้อยที่มีผิวติดเชื้อบ่อยๆ มากกว่าเจ้าตัวน้อยผิวปกติ โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยแรกเกิดถึง 6 เดือน เพราะยาที่ผสมในสบู่ยาบางตัว จะซึมผ่านผิว อาจส่งผลต่อสมอง ถ้าใช้เป็นประจำ ระยะเวลานาน จะทำให้เกิดถุงน้ำในเนื้อสมอง กลายเป็นช่องว่างของเนื้อสมองในอนาคต แต่ถ้าใช้กับผิวของผู้ใหญ่ ซึ่งมีผิวหนังแข็งแรงและสมองก็เติบโตเต็มที่แล้ว จะไม่มีปัญหา ยกเว้นบางคนที่แพ้ตัวยาในสบู่ ผิวจะเป็นผื่นไม่หาย เนื่องจากไม่รู้ว่าตัวเองแพ้ ผงซักฟอกสำหรับเด็กควรเลือกที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง เพื่อให้สามารถล้างออกได้หมด เพราะถ้าเหลือตกค้างในผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้า เจ้าตัวน้อยมีโอกาสแพ้ได้ง่าย ยิ่งเจ้าตัวน้อยที่เป็นภูมิแพ้ต้องระวังมากๆ

อย่าใช้เสื้อผ้าหนาเลียนแบบต่างประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ถ้าใส่เสื้อหนาจะทำให้เกิดการอับเหงื่อ จนกลายเป็นผด เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียต่างๆ เข้าแทรก หรือพวกที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังก็จะระคายเคืองง่าย ถูกเสื้อผ้าหนาเสียดสีก็อาจทำให้ขึ้นผื่นได้ รวมถึงเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ก็จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยห่างไกลจากผื่นแพ้ผ้าอ้อมได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญด่านแรกสุด ในการดูแลเจ้าตัวน้อยคือ การรักษาผิวหนังของเขาให้สะอาด ควรตัดเล็บทั้งของผู้ปกครองและเจ้าตัวน้อยให้สั้น ตะไบอย่าให้เล็บคม ป้องกันรอยขูดขีด เกาเพื่อไม่ให้เป็นทางเข้าของเชื้อโรค ก็จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยห่างไกลจากผดผื่นและการเจ็บป่วยเบื้องต้นค่ะ

ที่มา
http://tukta76.blogspot.com/2009/04/blog-post_19.html

วัคซีนป้องกัน IPD(Invasive Pneumococcal Vaccine)การติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดลุกลาม

วัคซีนป้องกัน IPD(Invasive Pneumococcal Vaccine)การติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดลุกลาม


เชื้อนิวโมคอคคัสคืออะไร

เชื้อนิวโมคอคคัส ชื่อเต็มคือ สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี่ เชื้อโรคชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในเด็ก มักพบการติดเชื้อนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและพบการติดเชื้อรุนแรงในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี

การติดเชื้อนี้แสดงอาการของโรคได้ 3 แบบคือ

1.การติดเชื้อแบบรุนแรง ลุกลาม แพร่กระจาย(IPD)ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง

2.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ปอดอักเสบและการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างตั้งแต่กล่องเสียงลงไป

3.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ คออักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ

เชื้อชนิดนี้พบเป็นพาหะอยู่ที่โพรงจมูกและคอในเด็ก ทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่ชุมชนได้ เชื้อชนิดนี้นอกจากก่อโรคในเด็กแล้วยังทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี

โรคIPD รักษาได้หรือไม่

การติดเชื้อ นิวโมคอคคัส สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงเช่นคออักเสบ หูน้ำหนวกหรือไซนัสอักเสบสามารถให้ในรูปแบบยารับประทานได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อแบบลุกลาม(IPD)ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในและให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดพร้อมกับการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเช่นเรื่องการหายใจ ยากันชักเป็นต้น

การติดเชื้อแบบลุกลามจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้เด็กชัก เกิดความพิการของสมอง ปัญญาอ่อนได้ ถึงแม้ว่าโรคIPDจะรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่ปัจจุบันพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสบางสายพันธุ์มีการดื้อยา(การดื้อยาหมายถึงเชื้อโรคมีการปรับตัวเองทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลกลับไม่ได้ผลต้องใช้ยาปฏิชีวนะขั้นสูงขึ้น) ทำให้การรักษาลำบากมากขึ้นและหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้



เด็กกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้

เด็กที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้แก่

-เด็กที่มีสุขภาพดีอายุน้อยกว่า 2 ปี

-เด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคตับเรื้อรัง

-เด็กไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี

-เด็กที่อยู่สถานเลี้ยงเด็กกลางวัน

-เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

-เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว

วัคซีนป้องกันIPD คืออะไร

เนื่องจากในประเทศไทย วัคซีนชนิดนี้ยังค่อนข้างใหม่อยู่ จึงยังไม่ได้ มีการศึกษาการตอบสนองของวัคซีนนี้ในเด็กไทย เช่นในประเทศอเมริกา มีการใช้วัคซีนนี้ตั้งแต่ปีค.ศ.1998 โดยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันIPD ตอนอายุ2 ,4, 6 และ12-15 เดือน มีการเก็บข้อมูลผลของการให้วัคซีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998-2003

พบว่าอัตราการติดเชื้อแบบลุกลามลดลงเรื่อยๆ อัตราการเกิดปอดอักเสบและหูชั้นกลางอักเสบก็ลดลงด้วย นอกจากนั้นยังพบว่าการเป็นพาหะก็ลดลงด้วย การแพร่เชื้อในชุมชนลดลง ผู้ฬหญ่กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี มีอัตราการติดเชื้อลดลงด้วย

สรุปผลของวัคซีนคือ

1.ลดการเกิดIPD ในเด็กเล็ก

2.ลดการเกิดIPDในผู้สูงอายุ

3.ลดเชื้อในโพรงจมูกและลำคอของเด็กทำให้ลดการแพร่เชื้อสู่ชุมชน

วัคซีนป้องกันIPDป้องกันโรคได้ดีแค่ไหน

วัคซีนนี้ครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้ 7 สายพันธุ์ คือ 4,6B,9V,14,18C,19Fและ23F พบว่าครอบคลุมสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคในเด็กไทยได้ประมาณ 70%(จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างเชื้อจาก4 โรงพยาบาล) วัคซีนนี้แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 2,4,6และ 12-15 เดือน(4 ครั้ง ตามการฉีดของต่างประเทศ)

สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงเช่นเด็กที่ไม่มีม้ามแนะนำให้ฉีดตามด้วยวัคซีน PS23หลังอายุ 2 ปีด้วย

ผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบคือ อาจมีบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้

ในอนาคตอาจมีวัคซีนที่สามารถตรอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคได้มากขึ้นซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย

ความจำเป็นของวัคซีนป้องกันIPD ในเด็กไทย

ในเด็กไทยอุบัติการณ์ของการเกิดIPD มีน้อยกว่าในต่างประเทศ ยังไม่มีการศึกษาการตอบสนองของวัคซีนนี้ในเด็กไทย ทำให้ยังไม่ทราบว่าเด็กไทยควรได้รับการฉีดกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม คำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กคีอ ให้ฉีดวัคซีนชนิดPCV 7 ตามคำแนะนำของต่างประเทศคือ อายุ2,4,6และ12-15 เดือน(4ครั้ง) ส่วนเด็กที่มีความเสี่ยงต่อIPD มากเช่นไม่มีม้าม หลังฉีดวัคซีนแล้วยังจำด)นต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกันเหมือนเดิม เพราะวัคซีนยังไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อนี้ ปัญหาใหญ่ของวัคซีนคงเป็นเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง วัคซีน PCV7 ราคาเข็มละประมาณ 4,200 บาทจะฉีดกี่ครั้งให้ดูตามอายุที่เริ่มฉีดตามตารางด้านล่าง

ความจำเป็นที่บุตรหลานสมควรจะได้รับวัคซีนหรือไม่ คงอยู่ในดุลยพินิจของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง แพทย์เป็นฝ่ายให้ข้อมูลของโรคและวัคซีน บทความนี้ได้รวบรวมความรู้ของโรคนี้มาพอสมควร คุณพ่อคุณแม่สามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากกุมารแพทย์ที่ดูแลบุตรหลาน

วัคซีนป้องกันไอ พี ดี
ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสตารางการฉีดคือ
ฉีดตรั้งที่ เมื่ออายุ

1 2 เดือน

2 4 เดือน

3 6 เดือน

4(กระตุ้น) 12-15 เดือน



สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป



ตารางการฉีดวัคซีน

อายุที่เริ่มฉีด จำนวนครั้ง ระยะห่าง

7-11เดือน 3 ครั้งที่1,2ห่างกัน1-2เดือน ครั้งที่ 3ห่างกัน2เดือน

12-23เดีอน 2 ครั้งที่1,2ห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน

24 เดือน-9 ปี 1 ฉีดครั้งเดียว

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด(Neonatal Jaundice)
โดย สุชีวา วิชัยกุล


Neonatal Jaundice เป็นภาวะตัวเหลืองที่พบได้ในทารกแรกเกิดถึงร้อยละ 25-50 แบ่งได้เป็น2 ประเภทคือ

1.Physiological Jaundice เป็นภาวะตัวเหลืองที่พบวันที่ 2-3 หลังคลอดและลดลงภายในวันที่ 5-7 ซึ่งในเด็กคลอดครบกำหนดจะมีค่า bilirubinสูงสุดไม่เกิน 12 mg/dl ในทารกคลอดก่อนกำหนดมีค่า bilirubin ไม่เกิน 15 mg/dl

2.Pathological Juandice เป็นภาวะตัวเหลืองที่พบได้เร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งอาจพบว่าค่า bilirubin อาจสูงถึง 20 mg/dl และทำให้ทารกถึงตายได้

สาเหตุ

- Enterohepatic circulation และตับที่ยังไม่เจริญเต็มที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กปกติตัวเหลือง

- Hemolytic disease of the newborn ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กที่มีเลือดหมู่ A หรือ B และมารดามีเลือดหมู่ O, หรือเด็กมีเลือด Rh บวกและมารดามีเลือด Rh ลบ

- Direct Coomb’s test ให้ผลบวกและ reticulocyte หรือ nucleated red blood cell ขึ้นสูงในเลือด เป็นลักษณะที่พบใน Isoimmune hemolytic disease ในทารกแรกเกิด

- ภาวะเอ็นไซม์ G6PD พร่องในทารกแรกเกิด พบได้ถึงร้อยละ 8.4 (ปี2541) และพบในชาย:หญิง 7:1 สามารถทำให้เกิดอาการตัวเหลืองอย่างรุนแรงโดยไม่มีประวัติการใช้ยาในมารดาและเด็ก

- Obstructive jaundice มีอาการตัวเหลืองในสัปดาห์ที่ 2 ร่วมกับการมีอุจจาระสีซีด direct bilirubin สูงกว่า 1 มก./ดล. และตับโตหรือคลำก้อนได้ที่ชายโครงขวา

คำย่อ

HDN = Hemolytic disease of the newborn
G6PD def. = Glucose-6 Phosphate dehydrogenase deficiency
FFP = Fresh frozen plasma


ข้อคิดเห็นทั่วไป

อาการตัวเหลืองพบได้บ่อยในทารกแรกเกิดและมีความสำคัญรองลงมาจากปัญหาทางระบบหายใจประมาณร้อยละ 25-50 ของทารกแรกเกิดจะมีอาการตัวเหลืองให้เห็นในระยะ 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด เด็กเกิดครบกำหนดปกติจะมีระดับ bilirubin สูงสุดเมื่ออายุประมาณ 3-4 วัน และระดับสูงสุดมักไม่เกิน 12 มก./ดล. ส่วนในเด็กเกิดก่อนกำหนดปกติจะมีระดับสูงสุดไม่เกิน 15 มก./ดล. ประมาณวันที่ 4-5

Bilirubin Metabolism

การสร้าง conjugate bilirubin ที่ตับและการขับ bilirubin ออกทางลำไส้ในทารกแรกเกิดที่ช้ากว่าปกติเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดภาวะตัวเหลืองได้ง่ายดังนี้คือ

Bilirubin เกิดจากการสลายตัวของ heme ซึ่งประมาณร้อยละ 75 ได้จากเม็ดเลือดแดงที่แตกเมื่อแก่ตัวลง อีกร้อยละ 25 เป็น heme ที่ได้จากการทำลายของสารเคมีอื่นๆ เช่น myoglobin เอ็นไซม์ในเซลล์ต่างๆ และเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่ถูกทำลายเป็น RE system ก่อนที่จะเข้ากระแสเลือด หรือที่เรียกว่า early labelled bilirubin, bilirubin ที่เกิดขึ้นเป็น unconjugated form ซึ่งละลายได้ดีในไขมัน อาจจะย้อมเนื้อสมองทำให้เกิด kernicterus แต่ในภาวะปกติมันจะจับตัวอยู่กับ albumin อยู่ในกระแสเลือดและไม่เป็นพิษต่อเซลล์สมอง เมื่อไปถึงเซลล์ตับจะแยกตัวออกจาก albumin แล้วเข้าไปในเซลล์ตับจับกับ Y และ Z proteins (Ligandin) ต่อมาจึงถูกเปลี่ยนเป็น conjugated form โดยรวมตัวกับ glucuronic acid อาศํย UDP-glucuronyl transferase แล้วเปลี่ยนให้เป็น urobilinogen และ stercobilinogen ขับออกทางอุจจาระ บางส่วนถูกเปลี่ยนกลับไปเป็น unconjugated bilirubin ใหมเข้าสู่กระแสเลือดย้อนเข้าเซลล์ตับอีกครั้งหนึ่ง เรียก enterohepatic circulation ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเหลืองมากขึ้นในเด็กที่ถ่ายขี้เทาช้า เริ่มกินนมช้า หรือลำไส้อุดตัน ขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ bilirubin สร้างขึ้นจะผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของมารดาและถูกทำลายโดยตับของมารดา

ภาวะตัวเหลืองในสรีรภาพ (Physioligic Jaundice)

คือภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดปกติ เชื่อว่าเกิดจากสาเหตุ 3 อย่างดังนี้ คือ

1. ทารกแรกเกิดสร้าง bilirubin มากกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโตถึง 2 เท่า เนื่องจากอายุเม็ดเลือดแดงของทารกสั้นกว่าผู้ใหญ่(90 วันแทนที่จะเป็น 120 วัน อย่างผู้ใหญ่) และถ้า ductus venosus ยังเปิดอยู่เลือดจาก portal vein จะลัดเข้า inferior venacava ทำให้เลือดไปเลี้ยงตับลดลง บิลิรูบินจึงถูก conjugate น้อยลงด้วย

2. ตับยังไม่เจริญเต็มที่ในทารกแรกเกิด เนื่องจากมี Y และ Z protein และเอนไซม์ UDP-glucuronyl transferase น้อย

3. Enterohepatic circulation ของ bilirubin มีส่วนช่วยให้เด็กตัวเหลืองมากขึ้น

ภาวะตัวเหลืองจากพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice)

คือภาวะตัวเหลืองมากผิดปกติในทารกแรกเกิดมีสาเหตุดังนี้

1. การสร้าง bilirubin มากผิดปกติ ได้แก่

· Hemolytic disease of the newborn เช่น Rh, ABO หรือ minor blood group incompatibility

· รูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติแต่กำเนิด เช่น hereditary spherocytosis หรือ elliptocytosis

· ภาวะเลือดข้น (polycythemia)

· เอ็นไซม์ในเม็ดเลือดแดงพร่อง เช่น พร่อง G6PD หรือ pyruvate hinase

มีเลือดคั่ง เช่น cephalhematoma, skin ecchymoses หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร(GI hemorrhage)

· ผลจากการใช้ oxytocin ช่วยเร่งการคลอดในมารดาทำให้เม็ดเลือดแดงของเด็กแตกง่ายขึ้น ฯลฯ

2. ตับ conjugate บิลิรูบินไม่ได้ดี เช่น

· Crigler-Najjar aundrome (ขาดเอ็นไซม์ UDP-glucuronyl transferase)

· Galactosemia

· Hypothyroidsm

· ได้รับยาหรือฮอร์โมนบางอย่างที่ขัดขวาง conjugation ฯลฯ

3. การขับถ่าย bilirubin ไม่เป็นไปตามปกติได้แก่

· ท่อน้ำดีอุดตันภายในหรือภายนอกตับ เช่น biliary atresia หรือตับอักเสบ

· ลำไส้อุดตันเช่น Pyloric stenosis duodenal atresia

4. ภาวะที่มีการสร้าง bilirubin มากและขับออกได้น้อย ได้แก่

· ภาวะติดเชื้อ

· โรคติดเชื้อในครรภ์ (intrauterine infection)

· Idiopathic respiratory distress syndrom





สิ่งตรวจพบทางคลินิก
ประวัติ

ประวัติการตั้งครรภ์และตัวเหลืองในบุตรคนก่อน ๆ ช่วยบ่งถึงสาเหตุจากเลือดมารดาและบุตรไม่เข้ากัน (hemolytic disease of the newborn) โรคทางกรรมพันธุ์ที่มีความผิดปกติของเอ็นไซม์ หรือรูปร่างของเม็ดเลือดแดงหรือโรคติดเชื้อในครรภ์

ประวัติการใช้ยาบางอย่างในมารดาขณะใกล้คลอดเช่น ยาพวก Sulfonamide ซึ่งสามารถขัดขวาง conjugation ของ bilirubin ในเด็กทำให้เด็กตัวเหลืองได้

อาการและอาการแสดง

1. อาการตัวเหลือง มักเห็นที่บริเวณใบหน้า ถ้ากดลูบบริเวณดั้งจมูกจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น ทารกเกิดก่อนกำหนดมีผิวบางทำใหดูเหลืองมากกว่าเด็กโตที่มีระดับบิลิรูบินเท่ากัน อาจมีอาการอื่น ๆ ที่ตรวจพบเป็นอาการของโรคที่เป็นสาเหตุให้ตัวเหลือง

2. อาการซีดหรือบวม พบในรายที่มีการทำลายของเม็ดเลือดแดงอย่างมาก มักเป็นอาการที่พบได้เฉพาะในรายที่เป็น hydrops fetalis จาก Rh incompatibility หรือซิฟิลิสแต่กำเนิด ซึ่งมักเป็นเด็กตายคลอด ฯลฯ

3. ตับหรือม้ามโต ใน hemolytic disease of the newborn หรือโรคติดเชื้อในครรภ์ คลำตับและม้ามได้เนื่องจากมีการสร้างเม็ดเลือดแดงอย่างมาก เพื่อชดเชยส่วนที่ถูกทำลายไป ยกเว้นพวก ABO incompatibility มักจะคลำม้ามไม่ได้ อาจคลำตับได้ขนาดปกติ เด็กที่เป็น Galactosemia มักจะมีตับโตมาก

4. ซึม ถ้าระดับ bilirubin สูงมาก ๆ มักจะทำให้เด็กซึม เด็กที่มีการติดเชื้อหรือพวก galactosemia ก็อาจซึมได้

5. จ้ำเลือดตามตัว อาจพบ patichii หรือ purpuric spots ตามผิวหนังในเด็กที่ตัวเหลืองจากโรคติดเชื้อในครรภ์



ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เด็กทุกรายที่มีอาการตัวเหลืองควรตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้

1. ระดับ bilirubin ในเลือด การหาค่า total bilirubin จากเลือดจำนวนน้อยที่เจาะจากส้นเท้าทำง่ายและได้ผลเร็ว ใช้ประมาณค่า unconjugated หรือ indirect bilirubinได้ดี ในบางกรณีที่สงสัยว่าเป็น obstructive jaundice ควรตรวจค่า direct bilirubin ด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจระดับ Unbound bilirubin ในเลือด

2. ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC),recticul-ocyte และ blood smear เพื่อดูรูปร่างเม็ดเลือดแดงอาจพบ microspherocyte ใน ABO incompatibility

3. ตรวจหมู่เลือดและ Rh ของทั้งแม่และลูกถ้าแม่มีเลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวกและตัวเหลืองลูกก็น่าเป็น Rh incompatibility ถ้าแม่มีเลือดกลุ่ม O ลูกเป็น A หรือ B และตัวเหลืองลูกก็อาจเป็น AO หรือ BO incompatibility

4. Direct Coomb’s test ถ้าให้ผลบวกในเลือดลูกก็น่าจะเป็น HDN ประมาณร้อยละ 25-50 ของ ABO incompatibility อาจให้ผลลบได้

5. ควรทำ G6PD screening test ในเด็กตังเหลืองที่หาสาเหตุไม่ได้ ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD มักพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย ชาวเอเชีย หรือผู้อยู่ในแถบเมดิเตอเรเนียน

6. การตรวจพิเศษเฉพาะโรค ตามแต่สิ่งตรวจพบทางคลินิกที่ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นโรคนั้น ๆ

เช่น ตรวจ Rubella titer, VDRL หรือ serum T4 ฯลฯ



การวินิจฉัยแยกโรค

นอกจากผลการตรวจพบทางคลินิกดังกล่าวมาแล้ว การเฝ้าดูอาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิดช่วยวินิจฉัยแยกสาเหตุของภาวะตัวเหลืองนั้น ๆ ได้ เช่น ถ้าเริ่มเหลืองหลังภายใน 24 ชั่วโมงแรกมักเกิดจาก HDN ถ้าเหลืองหลังอายุ 2 สัปดาห์มักเป็นท่อน้ำดีอุดตันแต่กำเนิด ซึ่งเด็กมักถ่ายอุจจาระสีซีด

เด็กที่เหลืองจากการรับประทานนมแม่ (Breast milk jaundice) พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 10 ของเด็กที่ได้รับนมแม่ มักจะเหลืองตอนปลายสัปดาห์แรกหลังคลอด ถ้าหยุดให้นมแม่ชั่วคราวประมาณ 36-48 ชั่วโมง ระดับ bilirubin จะลดลงทันที เมื่อกลับให้นมแม่ใหม่ระดับ bilirubin ก็จะกลับสูงขึ้นแต่มักไม่สูงกว่าเดิม

หลักเกณฑ์ที่ใช้แยก pathological jaundice จาก physiologic jaundice โดยเด็กที่เหลืองจากพยาธิสภาพจะมีลักษณะดังนี้

1. ระดับ bilirubin ในเลือดจากสายสะดือสูงเกิน 3 มก./ดล.

2. สังเกตเห็นเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

3. Bilirubin ในเลือดสูงขึ้นเกิน 5 มก./ดล./24 ชั่วโมง

4. ค่า indirect bilirubin เกิน 15 มก./มล.ในเด็กเกิดก่อนกำหนดหรือเกิน 12 มก./ดล.ในเด็กเกิดครบกำหนด

5. ค่า direct bilirubin เกิน 1 มก./ดล.

6. ตัวเหลืองนานเกิน 1 สัปดาห์ในเด็กเกิดครบกำหนด หรือเกิน 2 สัปดาห์ในเด็กเกิดก่อนกำหนด

7. มีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ดูดนมไม่ดี ตับและม้ามโต กระวนกระวาย และ acidosis



Kernicterus
พิษของ bilirubin ต่อเนื้อสมอง (Kernicterus หรือ bilirubin encephalopathy) ในรายที่ตัวเหลืองมากอาจมี unconjugated bilirubin มากเกินปริมาณที่ albumin จะจับด้วย ทำให้ bilirubin นี้อยู่อย่างอิสระในกระแสเลือด ผ่านเข้าสมอง เข้าไปย้อมเนื้อสมองทำให้เซลล์สมองส่วนนั้นๆ เสียไปอย่างถาวร มักจะเป็นที่บริเวณก้านสมอง cerebellum, basal ganglion และ hippocampus เกิดอาการผิดปกติทางสมอง
อาการที่เกิดขึ้นมักจะเห็นได้ในวันที่ 3-4 ได้แก่ ซึม ไม่ดูดนม อาเจียน ร้องเสียงแหลม ไม่มีแรง ไม่มี Moro reflex มักจะมีอาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หลังแอ่น และชัก เด็กบางรายอาจไม่แสดงอาการเหล่านี้ในระยะหลังคลอด แต่เมื่อโตขึ้นอาจมีความผิดปกติทางสมองและจิตใจหรือพัฒนาการช้า หรือหูหนวก
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิด Kerniterus ได้แก่
1. ระดับ bilirbin จากรายงานต่าง ๆ พบว่า Kernicterus มักเกิดขึ้นเมื่อระดับ bilirubin ในเลือดสูงประมาณ 20-25 มก./ดล.ขึ้นไป ระยะหลังก็มีรายงานพบเด็กเกิดก่อนกำหนดเกิด Kernicterus เมื่อมีระดับ bilirubin เพียง 10-15 มก./ดล. หรือต่ำกว่านี้ ดังนั้นจึงใช้ค่า bilirubin อย่างคาดคะเนอันตรายของการเกิด Kernicterus ไม่ได้

2. การรวม bilirubin กับ albumin ในภาวะปกติ albumin 1 โมเลกุลจะจับกับ bilirubin 1 โมเลกุลอย่างเหนียวแน่น ดังนั้น albumin 1 กรัม สามารถจับ bilirubin ได้ประมาณ 8.5 มก./ดล.แต่ทารกแรกเกิดปกติ albumin ในเลือดสามารถจับกับ bilirubin ได้เพียงร้อยละ 50-90 และถ้าเด็กป่วยหรือเกิดก่อนกำหนดจะยิ่งจับ bilirubin ได้น้อยกว่านี้

นอกจากนี้ยังมีสารบางอย่างแย่ง bilirubin จับกับ albumin ได้แก่

1. Endogenous anions เช่น hematin, bile acids, free fatty acids

2. Exogenous anions เช่น Salicylate Sulfonamine, Novobiocin, Cephalothinc, Sodium benzoate, Caffeine, Furosemide, Digoxin, Chlorothiazide, Hydrocortisol, ฯลฯ

ปัจจุบันมีการตรวจทางห้องปกิบัติการหลายวิธีที่สามารถวัดความอิ่มตัวของ albumin ในการจับกับ bilirubin ทำให้รู้ปริมาณ bilirubin ที่ไม่ได้จับกับ albumin ในเลือด(unbound bilirubin) ซึ่งช่วยในการพิจารณาทำการถ่ายเปลี่ยนเลือดและยังช่วยทำนายโรคได้ วิธีการตรวจเหล่านี้ยังไม่แพร่หลาย ทำได้เฉพาะในสถาบันใหญ่ๆ บางแห่ง และยังอยู่ในระหว่างวิจัยมี 4 วิธีคือ

1. Salicylate saturation index

2. Sephadex adsorbent gel method

3. Hydroxy benzene-azo-benzoic acid (HABA) test

4. Peroxidase test

อย่างไรก็ตามยังไม่มีวิธีใดได้ผลแม่นยำเต็มที่ สิ่งตรวจพบทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างอื่นที่ทำได้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผุ้ป่วย

3. Blood brain barrier สมัยก่อนเชื่อว่าทำนบกั้นเลือดและสมอง (blood brain barrier) ในทารกแรกเกิดยังทำงานไม่ดีพอโดยเฉพาะ จึงยอมให้บิลิรูบินผ่านเข้าสมอง แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องนี้น้อยลงเนื่องจากพบว่า kernicterus สามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์ทดลองที่โตเต็มที่ และในเด็กชายอายุ 16 ปี ผุ้หนึ่งที่ป่วยเป็น Crigler-Najjar syndrome

4. เซลล์สมอง ปัจจุบันเรายังมีความรู้น้อยเกี่ยวกับความไวต่อ bilirubin ของเซลล์สมอง เชื่อกันว่าภาวะขากอ็อกซิเจน หรือ acidosis อาจช่วยทำให้ bilirubin ผ่านเข้าเซลล์ได้ง่ายขึ้น

การรักษา
จุดประสงค์ของการรักษาเด็กที่ตัวเหลือง คือ พยายามรักษาให้ระดับ bilirubin ในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัว เช่น ต่ำกว่า 10 มก./ดล.ในเด็กที่มีน้ำหนักตัว 1,000 กรัม ต่ำกว่า 15 มก./ดล. สำหรับเด็กหนัก 1,500 และต่ำกว่า 20 มก./ดล ในเด็กหนัก 2,000 กรัมขึ้นไปหรือเด็กครบกำหนด

การรักษามี 3 วิธีคือ

1. ถ่ายเปลี่ยนเลือด (exchange transfusion) เป็นวิธีที่จะสามารถช่วยลดระดับของbilirubin ได้เร็วที่สุด และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยส่วนใหญ่เกิดจากการให้ calsium gluconate ในอัตรที่เร็วเกินไปทำให้หัวใจเต้นช้า และหยุดเต้นชั่วคราว



ข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนถ่ายเลือด
-ซีดมาก ตรวจ Coomb’s test ให้ผลบวก Hct< 35% ซึ่งเด็กจะต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด กรุ๊ป O Rh negative โดยใช้ PRC ก่อน จำนวน 25-40 มล./กก. ในเวลาประมาณ 30 นาที แล้วจึงเปลี่ยนเป็นใช้ Fresh Whole Blood เมื่อ Hct ถึง 40%

-ระดับ Bilirubin สูง ใน 24 ชั่วโมงแรก โดยทารกที่คลอดครบกำหนดสูงเกิน 14 มก./ดล. และเกิน 10 มก./ดล. ในทารกคลอดก่อนกำหนด ถ้าอายุเกิน 24 ชม.ใช้เกณฑ์ มากกว่า 20 มก./ดล.ในทารกคลอดครบกำหนด และเกิน 18 มก./ดล.ในทารกคลอดก่อนกำหนด และในรายที่มี hemolysis คือมี Bilirubin สูงเกินร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัวเป็นกรัมในทารกเกิดก่อนกำหนด

- อาจทำในกรณีที่ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวมาแล้วได้ในกรณีที่ทารกมีภาวะตัวเหลืองร่วมกับมีภาวะHypothermia(อุณหภูมิต่ำกว่า35องศาเซลเซียส),Hypoglycemia, acidosis(pHต่ำกว่าหรือเท่ากับ7.5)anoxia หรือ Hypoalbuminemia(ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 กรัม/100 มล.)

เลือดที่ใช้มี 3 ชนิด

Acid Citrate Dextrose(ACD)

Citrate Phosphate Dextrose(CPD)

Heparinized blood

ควรใช้เลือดที่อายุไม่เกิน 5 วัน ยกเว้น Heparinized blood ที่ต้องใช้ไม่เกิน 24 ชม.หลังจากเจาะจากผู้บริจาค จะใช้เลือดประมาณ 2 เท่าของเลือดในร่างกายคือประมาณ 160-170 มล. ซึ่งจะช่วยลด bilirubin ได้ถึง 50%ทันทีที่เปลี่ยนถ่ายเลือดเสร็จ ชนิดของเลือดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่นถ้าเกิดจาก Rh Incompatibility ต้องใช้เลือด Rh –ve กรุ๊ปเดียวกับเด็ก หรือใช้เลือดกรุ๊ป O ในกรณีที่พบ ABO Incompatibility ร่วมด้วย ซึ่งจะใช้เลือดที่มี Rh เดียวกันกับของเด็ก







ภาวะแทรกซ้อนจากการเปลี่ยนถ่ายเลือด
-Vascular embolism,thrombosis

-Cardiac arrhythmia,volumn overload,arrest

-Electrolyte imbalance

-Clotting time(i.e. Overheparinization,thrombocytopenia)

-Infection

-Hypothermia

-Hypoglycemia



2. ใช้แสงบำบัด (phototherapy)โดยอาศัยหลักการใช้แสงที่มีคลื่นแสง 420-460 นาโนเมตรเปลี่ยน bilirubin ที่ไม่ละลายน้ำให้เป็น bilirubin ที่ละลายน้ำได้ เราเรียกวิธีนี้ว่า Isomerization ส่องห่างจากตัวเด็กประมาณ 45 เซนติเมตร

ข้อบ่งชี้
-สภาพทั่วไปของเด็ก ถ้าเด็กป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักต่ำกว่า 2500 กรัม ควรส่องไฟ ใน สามวันแรก หรือเมื่อมี bilirubin มากกว่า 10 มก./ดล. เด็กน้ำกนักมากกว่า 2500 กรัม ใช้เกณฑ์ bilirubin สูงกว่า 12-14 มก.ดล.

-ระดับ bilirubin

-อัตราการเพิ่มของ bilirubin ถ้าเพิ่มเร็วกว่า 5 มก./ดล./วัน แต่ระดับไม่สูงเกินที่ตั้งไว้

แนวทางการส่องไฟเด็ก
-ตรวจดูสาเหตุที่เกิดก่อน

-วัดพลังงานคลื่นแสง ดูการทำงานของหลอดไฟทั้ง 10หลอด

-ปิดตาเด็ก ป้องกันทำลายรากเส้นประสาทตา ถอดเสื้อ-ผ้าอ้อมของเด็ก

-Vital signs สังเกตุอาการขาดน้ำ อาการไข้ ลักษณะสีอุจาระ ปัสสาวะ

-ปิดไฟระยะสั้นๆ เช่นเวลาเลี้ยงนม หรือพ่อแม่มาเยี่ยม

-เปลี่ยนท่านอนของเด็กให้สัมผัสกับไฟอย่างทั่วถึง

-ชั่งน้ำหนักทุกวัน

-วัดระดับ บิลิรูบินในเลือดทุก 12-24 ชม.

-ระวังภาวะแทรกซ้อนจาการส่องไฟ เช่น ออกผื่นซึ่งไม่จำเป็นต้องหยุดการส่องไฟ

ถ่ายเหลวบ่อย,dehydrate และมีไข้ได้,ท้องอืด,Bronze Baby,Platelet turnover มากขึ้น

3. ใช้ยา Phenobabital เพื่อเข้าไปเร่งให้ตับสร้างเอนไซม์ Glucoronyl transferase และสร้าง Y protein มากขึ้น และต้องใช้เวลานานถึง 4-5 วันหลังให้ยา



การพยากรณ์โรค ขึ้นอยู่กับระดับ bilirubin ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างทันทีทันใด ถ้าเกิดจาก 3-4 วันหลังคลอด เด็กจัหายไปเองได้ถ้ามีการนำเด็กไปตากแดดในตอนเช้าเพื่อใช้แสงธรรมชาติช่วยเด็ก



การพยาบาลและป้องกัน

การพยาบาลผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายเลือด

· เจาะเลือดผู้ป่วยประมาณ 5-10 ml ใส่ขวดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็งตัว เพื่อช่วยในการหาหมู่เลือด และทดสอบเลือดของผู้บริจาค

· ส่งเลือดพร้อมกับใบขอเลือดไปยังธนาคารเลือด

· ตรวจชื่อ นามสกุล กรุ๊ปเลือดให้ตรงกับผู้ป่วย

· บอกญาติผู้ป่วยให้ทราบ

· Check เข็มว่าอยู่ในเส้นดีหรือไม่



การพยาบาลขณะเปลี่ยนถ่ายเลือด

· ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด วัดชีพจร อัตราการหายใจ อุณหภูมิ และความดันโลหิต ทุก15-30 นาที

· สังเกตุอาการผิดปกติ เช่น หนาวสั่น แน่นหน้าอก มึนศีรษะ มีผื่นตามตัวคัน อาการกระตุกรอบๆปาก รีเฟลกซ์ไว อาการแสดงของภาวะ Hypercalaemia เป็นต้น

· ควรหมุนถุงเลือดเบาๆ เพื่อให้เลือดแดงและพลาสมาเข้ากันได้ดี

· ห้ามให้ยาหรือสารอื่นใดรวมปนไปกับเลือด

· หลังจากให้เลือดควรสังเกตุอาการผิดปกติต่ออีก 6-12 ชั่วโมง

· เขียนรายงาน บันทึกจำนวนเลือดเข้า ออก และอาการแสดงของทารกหลังจากเสร็จสิ้นการให้เลือด

ข้อควรระวัง การเก็บเลือดให้ใช้ภายใน 30 นาทีหลังจากได้เลือดมาจากธนาคารเลือด หรือเก็บไว้ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เมื่อจะใช้นำเอาออกมาไว้นอกตู้เย็นประมาณ 15 นาที



การพยาบาลและป้องกันทารกที่มีภาวะตัวเหลืองโดยทั่วไป

-ให้คำแนะนำแก่หญิงที่มี Rh –ve ให้หลีกเลี่ยงชายที่มี Rh +ve

-หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แย่งจับกับ bilirubin มากกว่า albumin

-ป้องกันไม่ให้เกิดบอบช้ำจาการคลอด

-ให้นมเด็กเร็วที่สุด เพื่อลด enterohepatic circulation

-ใช้สารพวก Tin-Mersoporphyrin ซึ่งช่วยในการระงับเอนไซม์ heme oxygenase ทำให้การสร้าง bilirubin น้อยลง

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

สัญญาณหยุดหายใจ! ภาวะนอนกรนในเด็ก

สัญญาณหยุดหายใจ! ภาวะนอนกรนในเด็ก


ต่อมทอนซิล 2 ข้าง


ผศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา:บทความ
นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ : เรียบเรียง

จากผลการวิจัย พบว่า เด็กไทยนอนกรนเป็นประจำร้อยละ 10 และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร้อยละ 1 ของประชากรซึ่งจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กก่อนวัยเรียน และในช่วงประถมศึกษา

นอนกรนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น และที่สำคัญคือ เป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งมีสาเหตุที่พบบ่อยและสำคัญที่สุด คือ การมีต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ ภาวะอ้วน นอกจากนี้ อาจมาจากโครงหน้าผิดปกติ คางสั้น คางเล็ก หน้าแคบ ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม โรคทางสมอง และกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ


ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ด้านหลังของโพรงจมูก


หากเด็กมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้พัฒนาการด้านร่างกาย และสติปัญญาผิดปกติตามมา วิธีการสังเกตว่า เด็กจะมีภาวะนี้หรือไม่ สามารถดูได้จากอาการต่างๆ ได้แก่ นอนกรนดังเป็นประจำ นอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก ต้องหายใจทางปากบ่อยๆ ปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมก้าวร้าวซุกซนกว่าปกติ หรือเติบโตช้า และมีผลการเรียนแย่ลง นอกจากนี้ ถ้ารุนแรงมากอาจมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจโตร่วมด้วยได้ เป็นต้น

เมื่อมาพบแพทย์ เด็กที่นอนกรนจะได้รับซักประวัติ ตรวจร่างกายตั้งแต่บริเวณศีรษะ ใบหน้า หู คอ จมูก ช่องปาก ตรวจปอด และหัวใจ อาจมีการเอกซเรย์บริเวณศีรษะด้านข้าง เพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจ และหากทำได้เด็กที่นอนกรนควรรับการทดสอบการนอนหลับ(sleep test) เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งสามารถทำในโรงพยาบาลหรือที่บ้านตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและช่วยเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับแนวทางการรักษาภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก เริ่มต้นที่การปรับสุขอนามัยการนอน นอนพักผ่อนให้พอเพียง เข้านอน และตื่นอย่างตรงเวลา สม่ำเสมอ ในรายที่อ้วนต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร งดรับประทานขนมจุกจิก หรืองดน้ำหวาน และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการรักษาด้วยยาที่ใช้บ่อย ได้แก่ การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยารักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือยาแก้อักเสบเพื่อรักษาต่อมทอนซิลติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่อง CPAP และรวมถึงการใช้เครื่องขยายขากรรไกร ซึ่งเป็นทางเลือกอื่นๆ อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล และอะดีนอยด์ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก แต่จะรักษาวิธีใดขึ้นอยู่กับแต่ละรายไป


การติดเครื่องตรวจการนอนหลับ (sleep test ในเด็ก)



การนอนกรนนั้น เป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ซึ่งมีอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถรักษาได้ผลดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา

ดังนั้น หากบุตรหลานของท่าน นอนกรนเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000048195&Page=3

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ควบคุมโรคหืดในเด็กทำได้ไม่ยาก

ควบคุมโรคหืดในเด็กทำได้ไม่ยาก



หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อโรค หอบหืด และคิดว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่ในทางการแพทย์จะเรียกสั้น ๆ ว่า โรคหืด ซึ่งแสดงถึงอาการ หายใจลำบาก โดยตัดคำว่า หอบ เพื่อไม่เกิดการสับสนกับโรคอื่น ๆ ที่มีอาการหอบแต่ไม่ได้เป็นหืดค่ะ สำหรับเด็กอ่อนที่อายุ 7-8 เดือนขึ้นไปเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยน เด็กจะหายใจลำบากมีเสียงครืดคราดในอก หายใจเป็นเสียงสูงคล้ายเสียงนกหวีด และเนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถบอกถึงอาการเหล่านี้ได้ ดังนั้นคุณแม่ต้องสังเกตและทำความรู้จักกับโรคหืดในเด็กดังต่อไปนี้ค่ะ


สาเหตุของโรคหืดในเด็กเล็ก

1. โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากหลอดลมของเด็กมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกมากกว่าปกติหรือผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดการหดแคบลงของหลอดลม หรือมีเสมหะออกมามากเกินไปร่วมกัน เป็นผลให้การหายใจของเด็กลำบากยิ่งขึ้นโดยมีปัจจัยดังนี้

2. กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่หรือญาติเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้หรือโรคหืด ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้หรือโรคหืดสูงด้วยเช่นกัน

3. สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่นจากที่นอน พรมเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ แมลงสาบ ควันรถ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ เป็นต้น

4. การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุสำคัญและพบได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะเด็กอ่อน และอาจเกิดไวรัสลงปอดจึงทำให้เด็กที่มีกรรมพันธุ์อยู่แล้วมีโอกาสเป็นโรคหืดตามมา หลังการป้อนนมหรืออาหาร

5. สำหรับเด็กเล็กที่เป็นโรคหืด อาจเกิดการอักเสบของผนังทางเดินหายใจ ซึ่งระบบของร่างกายจะทำการรักษาตัวเองทำให้เนื้อเยื่อไม่เหมือนเดิมกลายเป็นพังผืด ทำให้หลอดลมมีความยืดหยุ่นไม่เหมือนหลอดลมปกติ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร จึงต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกดังนี้

อาการของโรคหืดในเด็กเล็ก

- มีอาการไอบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจมีไข้หรือน้ำมูกร่วมด้วย

- หายใจแรงและเร็ว ได้ยินเสียงวี๊ดโดยเฉพาะในช่วงของการหายใจออก หน้าอกบุ๋ม มีเสียงครืดครามในอก

- ระยะเวลาในการเป็นหวัดและไอจะนานกว่าเด็กปกติ

- ไอมากตอนกลางคืน และเช้ามืด

- ไม่ค่อยดูดนม ร้องเสียงเบา ผิวหนังมีสีซีดหรือเล็บสีคล้ำ

การป้องกันโรคหืดในเด็ก

- ควบคุมแหล่งกระตุ้นสารต้นกำเนิดของสารก่อภูมิแพ้ออกจากเด็ก เช่น ตัวไรฝุ่น โดยคลุมหมอน, ที่นอนให้มิดชิดด้วยวัสดุที่ป้องกันไรฝุ่นเล็ดลอดออกมา และซักเครื่องนอนด้วยน้ำอุ่น (มากกว่า 50 องศาเซลเซียส) อบให้แห้งทุก 1-2 สัปดาห์

- งดใช้พรมปูพื้นและเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนปุกปุย

- หลีกเลี่ยงแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้ เช่น งดเลี้ยงสัตว์ปีก สัตว์ขน รวมทั้งของใช้ที่ทำจากขนสัตว์

- ระมัดระวังเรื่องมลพิษในอากาศ โดยไม่อนุญาตให้ใครมาสูบบุหรี่บริเวณรอบ ๆ บ้านที่เด็กอยู่

- เด็กบางคนจะมีอาการอึดอัดเมื่ออากาศขึ้นหรือเย็นลง ดังนั้นควรรักษาอุณหภูมิไม่ให้เย็นจนเกินไปและลดความชื้นของห้องให้ต่ำกว่าร้อยละ 50

- ดูแลเรื่องความสะอาดในบ้านให้ปราศจากแมลงสาบ โดยกำจัดเศษอาหารให้หมดและปิดถังขยะให้มิดชิดการรักษาโรคหืดในเด็กดังนี้

- การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดทั้งในรูปแบบของยาพ่น ยากิน ยาฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งคุณหมอจะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค

- พบคุณหมอและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

- เมื่อลูกหายใจมีเสียงครืดคราดในอก ให้อุ้มลูกซะหน่อยอาการหอบก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และเมื่อลูกมีเสมหะมาก ๆ ต้องช่วยให้ลูกคายออกมาให้ได้ โดยช่วยลูกนอนคว่ำหน้า นวดหลังโดยกดแล้วไถเป็นแนวยาว และกดนวดหัวไหล่ จากนั้นใช้มือลูบเบา ๆ ตั้งแต่กลางหลังมาถึงส่วนบนโดยเน้นนวดจุดปอดที่อยู่ระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง จะช่วยไล่เสมหะให้ลูกได้ค่ะ


ที่มา
http://women.kapook.com/view25271.html

คุณพ่อสองภาษาแนะ สอน Eng ให้ลูกอย่ามองข้าม "โฟนิกส์"

ถึงวันนี้ คงไม่ยากแล้วหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษา เพราะในหลายปีที่ผ่านมา มีหลายภาคส่วนที่ออกมาให้ความรู้ และเทคนิคในการสอนภาษาที่สองให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็กกันมากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือ "เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้" ของคุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ เจ้าของเว็บไซต์ www.2pasa.com อันโด่งดัง ซึ่งปัจจุบันมีคุณพ่อคุณแม่สมัครสมาชิกนับหมื่นราย

อย่างไรก็ดี เมื่อตัดสินใจเดินหน้าแล้ว ก็ใช่ว่าเส้นทางนี้จะง่ายดายประหนึ่งโรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะหากคุณพ่อคุณแม่ผู้เตรียมจะสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกน้อยเคยถูกระบบการศึกษาไทยสอนให้มองภาษาอังกฤษในแบบที่ผิดจากความเป็นจริง

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง อีกทั้งยังได้สัมผัส และให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา คุณพงษ์ระพีให้ความเห็นว่า "คนไทยเรียนหลักไวยากรณ์อังกฤษเป็นเล่ม ๆ แต่ผมอยากให้ลองนึกถึงภาพคนไทยเวลาคุยกัน เราพูดโดยไม่ต้องใช้หลักไวยากรณ์ใด ๆ เลย เพราะเราพูดจากความรู้สึก นั่นจึงเป็นที่มาว่า เราควรสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกโดยเริ่มต้นจากความรู้สึกเช่นเดียวกัน"

ทั้งนี้ คุณบิ๊กได้ให้ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับการฝึกพูดจากความรู้สึก โดยเริ่มจากการให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการตีความสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่ต้องการจะสื่อสาร ไม่มีการแปล เช่น ยกถ้วยกาแฟขึ้น พร้อมออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ให้เด็กได้ยิน จากนั้นเด็กจะพยายามเลียนแบบด้วยการเปล่งเสียงออกมา และพ่อแม่คอยช่วยด้วยการพยุงการพูดให้เขา ถ้าลูกพูดผิด พ่อแม่ต้องคอยแก้ไขให้ ไม่นานเด็กจะเริ่มจำคำศัพท์นั้น ๆ ได้ และพ่อแม่ควรเพิ่มความถี่ในการใช้คำศัพท์นั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในที่สุด วันหนึ่งเด็กจะสามารถใช้งานคำศัพท์ หรือประโยคนั้น ๆ ได้จากความรู้สึกที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง

สำหรับการเริ่มต้นควรเริ่มจากประโยคใกล้ตัว คำศัพท์ง่าย ๆ ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และควรฝึกการออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักโฟนิกส์ด้วย เพื่อให้ลูกจดจำสิ่งที่ถูกต้องนั่นเอง

เผชิญหน้า"กับดัก"ในภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงการเรียนภาษา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในภาษาที่เรียนกันทั่วไปอย่างภาษาอังกฤษนั้น มีกับดักแฝงอยู่มากมาย และหลายคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อาจตกหลุมพรางนี้ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์การศึกษาภาษาอังกฤษ แล้วนำมาสอนลูก คุณบิ๊กเผยว่า ภาษาอังกฤษยังมีหลุมพรางมากมายที่สามารถต้อนให้เราตกลงไปได้ง่าย ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของเทคนิค "ให้การพูดค้ำการอ่าน" ที่คุณพ่อท่านนี้ออกแบบขึ้น

"คำว่า sugar คนไทยอาจอ่านว่า ชูการ์ แต่เมื่อไปเทียบกับการออกเสียงตามหลักโฟนิกส์ของภาษาอังกฤษจริง ๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น หลาย ๆ ครั้งที่เราคิดว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่คงเส้นคงวา เขียนมาอย่างไรก็ออกเสียงอย่างนั้น ถ้าเห็นตัว s ก็ต้องเป็น ส.เสือ แต่จริง ๆ แล้วมันคือภาพลวงตา และทำให้หลายคนออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษผิดไปจากที่ควรจะเป็น" คุณบิ๊กกล่าว

"ภาษาไทยเราเองก็มีกับดักที่ว่านี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า บัณฑิต คงไม่มีใครอ่านเป็น "บัน-ทิด" ทั้ง ๆ ที่ตัว ฑ.นางมณโฑ ต้องออกเสียงเป็น ท.ทหาร แต่เราก็อ่านว่า “บัน-ดิด” กันทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะเราถูกสอนโดยให้ความรู้สึกในการพูดค้ำการอ่าน ขยายความก็คือ เราได้ยินคำว่า บัน-ดิด มานานจนอยู่ในความรู้สึกแล้ว ไม่ว่าอย่างไร เราก็ไม่เคยพูดผิด เพราะความรู้สึกในการพูดมันค้ำอยู่ หรือใครพูดผิด พูดแตกต่างออกไป เราก็จะทราบทันที"

"ดังนั้น การสอนภาษาอังกฤษให้ลูก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรมีการตรวจสอบการออกเสียงคำศัพท์อยู่เสมอ ยิ่งปัจจุบันโลกอินเทอร์เน็ตก้าวไกล เราสามารถเช็คการออกเสียงได้ง่าย ๆ ได้จากเว็บไซต์ที่ให้บริการ เช่น www.thefreedictionary.com หรือ google.com/translate ก็ได้ครับ" คุณบิ๊กกล่าวพร้อมยกตัวอย่างเว็บ

ก่อนจากกัน สิ่งที่คุณพ่อสองภาษาแห่งหมู่บ้านสองภาษาได้ฝากถึงครอบครัวที่สนใจในการสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกด้วยตนเองด้วยว่า “ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก และโฟนิกส์ก็ไม่ใช่เรื่องพิสดารเกินกว่าที่พ่อแม่จะทำความเข้าใจ ที่สำคัญ การฝึก “ออกเสียงให้ชัดเจน” เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่พ่อแม่ควรใส่ใจมากกว่าปริมาณคำศัพท์ที่พูดออกมาได้ ร่วมกับการเน้นให้เด็ก “พูดจากความรู้สึก” มากกว่าการท่องจำ ผมเชื่อว่า การเดินทางสายนี้อาจต้องเจอกับอุปสรรคที่เปรียบเหมือนด่านทดสอบจิตใจกันบ้าง แต่ถ้าผ่านไปได้ มันจะกลายเป็นน้ำเลี้ยงชโลมจิตใจอย่างดีให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านครับ”

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000045284

ชี้เด็กไกลพ่อห่างแม่..ชีวิตแย่ การศึกษาด้อย!

ปรากฎการณ์เกี่ยวกับเด็กระยะหลังมานี้ มีหลาย ๆ เรื่องที่น่าเป็นห่วง อย่างเรื่องหนึ่งที่มีงานวิจัยล่าสุดออกมาเปิดเผยว่า เด็กมีโอกาสอยู่ในครัวเรือนที่มีครบทั้งพ่อและแม่น้อยลง โดยเด็กในครัวเรือนยากจนมีโอกาสอยู่กับพ่อแม่ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่เด็กในครัวเรือนไม่ยากจนมีโอกาสอยู่กับพ่อ-แม่ คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์

คำถาม คือ ปรากฎการณ์นี้จะมีผลเพียงใดต่อ "โอกาส" และ "คุณภาพ" การศึกษาของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่

วันนี้ ทีมงาน Life & Family มีผลวิเคราะห์จากงานวิจัยชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนไทยในรอบ 20 ปี จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาสรุปให้เห็นภาพกันว่า เมื่อเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กบ้าง

โดยผลวิเคราะห์จากการศึกษาวิจัยข้างต้นนั้น ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลสำรวจให้ฟังว่า ถ้าเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ โอกาสของลูกชายเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโอกาสผู้หญิงเรียนต่อมัธยมปลายลดลง 0.2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีแรงจูงใจและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้อยกว่าเด็กกลุ่มที่มีครอบครัวพร้อมหน้า

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ชิ้น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่จะเสียเปรียบด้านการเงิน และการศึกษามากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อ หรือแม่คนเดียว

ส่วนเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากมีทั้งพ่อ และแม่ย้ายถิ่น มีงานวิจัยพบว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ และการศึกษา อีกทั้งยังเพิ่มภาระให้แก่เครือญาติ หรือปู่ย่าตายายในการเป็นผู้ดูแลอีกด้วย

ในกรณีที่พ่อแม่ย้ายถิ่นบ่อย ๆ นั้น มีรายงานสุขภาพคนไทยปี 2553 จากงานศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพในประเด็นผลกระทบของการอพยพแรงงานย้ายถิ่นต่อพัฒนาการของเด็ก โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กที่พ่อแม่มีการย้ายถิ่นบ่อย ๆ พัฒนาการด้านสติปัญญาจะล่าช้ากว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ย้ายถิ่น

นอกจากพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูจนส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมของผู้ดูแลเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปู่ย่าตายายเป็นหลัก โดยพ่อแม่ที่ย้ายถิ่นไปทำงานมักส่งเงินไม่สม่ำเสมอ หรือได้รับเพียงจำนวนน้อย ในขณะที่ปู่ย่าตายายไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เด็ก ๆ ไม่ได้รับการดูแลทั้งทางด้านโภชนาการ และการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามวัยได้ดีเท่าที่ควร

ฉะนั้น เมื่อเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ภาระส่วนหนึ่งจึงตกไปอยู่กับปู่ย่าตายายมากขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นเด็กกับผู้สูงอายุพบว่า เด็กอาจได้รับการตามใจมากเกินไป ทำให้เด็กก้าวร้าวเอาแต่ใจตัวเองได้สูง

ขณะเดียวกัน ปู่ย่าตายายส่วนมากไม่แน่ใจว่าคุณครูที่โรงเรียนคาดหวังให้พวกเขาสนับสนุนการเรียนของเด็กในชั้นเรียนอย่างไร จึงเป็นไปได้ว่าผู้สูงอายุที่มีการศึกษาน้อยจะประสบความยากลำบากในการสอนการบ้าน หรือบทเรียนทางวิชาการแก่เด็ก ซึ่งอาจนำไปสู่ประสิทธิภาพทางการเรียนของเด็กที่ลดลงได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ส่งแรงสะเทือนต่อชีวิตครอบครัว และสังคม ทำให้เด็กมีโอกาสอยู่กับพ่อแม่น้อยลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.นิพนธ์ เสนอแนวทางที่ได้จากผลงานวิจัยว่า รัฐบาลควรมีนโยบายด้านสังคมที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายการศึกษา คุณภาพสำคัญกว่าการขยายโอกาสทางการศึกษา ภาครัฐควรจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กยากจนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ หรือพ่อแม่มีการศึกษาน้อยว่าควรเป็นอย่างไร นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทช่วยดูแลเด็กยากจน เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เช่น บทบาทของอบต และชุมชน

ส่วนเด็กที่อยู่กับผู้สูงอายุ ควรสนับสนุนดูแลผู้สูงอายุยากจน และครัวเรือนที่มีทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่มีเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุ มีฐานะยากจน และควรให้โอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ ตลอดจนเตรียมทรัพยากรด้านดูแล และค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ รวมทั้งนโยบายด้านสุขภาพจิต

ด้านเศรษฐกิจ ควรมีนโยบายกระจายรายได้ โดยปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน หุ้น มรดก และขยายฐานภาษีเงินได้ สร้างระบบคุ้มครองทางสังคม ดูแลหนี้ในระบบเป็นหลัก เพราะขณะนี้มีการกู้หนี้ในระบบมากเกินไป รวมทั้งต้องควบคุมราคาสินค้าในภาพรวมให้ได้

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสอยู่กับพ่อ-แม่มากขึ้นในอนาคต ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการมีบุตรที่ไม่เป็นภาระหนักเกินไปสำหรับพ่อแม่ เพื่อลดสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และควรมีการลดหย่อนภาษีรายได้สำหรับผู้มีบุตรในอัตราก้าวหน้า และคุณแม่ที่ต้องทำงาน รวมทั้งสวัสดิการช่วยเหลือการมีบุตร

นับเป็นนัยเชิงนโยบายที่หากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความจริงจัง และตั้งใจในการนำไปถกคิด และปรับใช้อย่างเหมาะสม เชื่อว่าจะเป็นนโยบายทางสังคมที่จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร เข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราได้ทางกล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้ อย่างน้อย ๆ จะได้ช่วยกันเสนอแนวทางที่ควรจะเป็นเพื่อสร้างครัวเรือน และสังคมที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

8 ข้อควรรู้เรื่อง “ครรภ์เป็นพิษ”

8 ข้อควรรู้เรื่อง “ครรภ์เป็นพิษ”

เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ทุกท่านย่อมต้องมีความกังวลสารพัด ลูกจะแข็งแรงไหม จะฉลาดหรือไม่ เป็นเด็กดีหรือเปล่า ต้องกินอาหารอะไรดี จะคลอดเองได้ไหม จะเกิดรกเกาะต่ำหรือเปล่าและยังมีโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ให้ต้องกังวล อีกมากมาย วันนี้เรามาทำความรู้จักกับภาวะที่เรียกว่า“ครรภ์เป็นพิษ” ให้มากขึ้น แค่ฟังชื่อก็น่ากลัวแล้วจริงไหมคะ

1. รู้จัก “ครรภ์เป็นพิษ”
ครรภ์เป็นพิษหรือToxemia เป็นคำเรียกกลุ่มของอาการซึ่งประกอบด้วยภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Pregnancy Induced Hypertension) และการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยประมาณ ร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ และเป็นสาเหตุการตายของมารดาเป็นอันดับ 2 รองจากการตกเลือดหลังคลอด

2. ครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น จากการศึกษาวิจัยพบว่ากลไกในการสร้างสารเคมีที่มีชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน มีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูงผิดปกติ สารพรอสตาแกลนดินบางตัวทำให้หลอดเลือดขยายตัว บางตัวทำให้หลอดเลือดบีบตัว คุณแม่ที่เกิดครรภ์เป็นพิษจะสร้างพรอสตาแกนดินที่ทำให้เส้นเลือดบีบตัว มากกว่า ทำให้แรงดันในหลอดเลือดที่มีความตีบตัวสูงขึ้นมากและเส้นเลือดดังกล่าวยัง ปล่อยน้ำที่อยู่ในหลอดเลือดให้รั่วซึมออกนอกเส้นเลือดได้ง่ายอีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การสร้างฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ที่มากกว่าปกติและปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาและวิจัยเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับ สาเหตุของโรคนี้ค่ะ

3. กลุ่มเสี่ยงคุณแม่ครรภ์เป็นพิษ
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าคุณแม่ท่านใดที่เสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า ภาวะนี้มักพบในคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 20 ปี มักพบในการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีประวัติภาวะนี้ในครอบครัว เช่น มารดา พี่สาว และน้องสาว การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือมีโรคเบาหวานร่วมด้วย คุณแม่ที่เข้าข่ายนี้จึงควรรีบฝากครรภ์และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

4. อาการผิดปกติครรภ์เป็นพิษ
1.คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าปกติ โดยทั่วไปคุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ที่เป็นโรคนี้อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม โดยที่ไม่ได้รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่น้ำหนักขึ้นเกิดจากการบวมน้ำ
2. คุณแม่มีอาการบวม โดยให้สังเกตบริเวณหน้าแข้งจะพบว่าเมื่อกดแล้วจะมีรอยบุ๋ม เปลือกตาบวม แหวนที่ใส่คับแน่นขึ้นมาก
3.คุณแม่บางรายจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น
4.หากมีเลือดออกที่ตับ หรือตับเสื่อมสภาพจะทำให้มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครงทาง
ด้านขวา หรือบริเวณลิ้นปี่ คุณแม่บางท่านหายใจลำบากเนื่องจากมีน้ำในปอด บางรายมีอาการตาพร่าลายเนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง
5.ลูกดิ้นน้อยลงและท้องไม่ค่อยโตขึ้นตามอายุครรภ์ ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง
6. ถ้ามีอาการผิดปกติข้างต้น ให้คุณแม่รีบพบแพทย์ทันที

5. กระทบอย่างไรต่อคุณแม่
เมื่อหลอดเลือดตีบ แคบ และรั่วง่าย อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ไตทำงานลดลงทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียออกจากร่างการลดลง เกิดการคั่งของของเสีย ปัสสาวะออกน้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาไตจะวายได้ ตับจะขาดเลือดไปเลี้ยง อาจพบมีเลือดออกในเยื่อหุ้มตับ มีน้ำคั่งในถุงลมปอด ทำให้หายในลำบาก มีน้ำคั่งใต้ผิวหนังทำให้เกิดอาการบวมที่ปลายมือ ปลายเท้า หน้า และเปลือกตา ในรายที่เป็นมากอาจเกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมองและอาจเสียชีวิตได้ค่ะ

6. ผลกระทบกับลูกในครรภ์
เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณมดลูกลดลง ทำให้เกิดภาวะทารกเติบโตช้าในครรภ์ได้ ในรายที่เป็นรุนแรงทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้

7. ครรภ์เป็นพิษรักษาได้อย่างไร
การรักษาโรคนี้ดีที่สุดคือ ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงหรือการยุติการตั้งครรภ์นั่นเอง เพราะอาการต่างๆ เกิดจากการตั้งครรภ์ทั้งสิ้น ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ครบกำหนด หรือใกล้ครบกำหนดแล้ว คุณหมอจะตัดสินใจให้คุณแม่คลอดให้เร็วที่สุด ซึ่งหากคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดแล้วจะพิจารณาให้คลอดทางช่องคลอดก่อน แต่ถ้าหากลูกตัวใหญ่มาก หรือคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บท้องเลย คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดคลอด

แต่หากโรคนี้เกิดในขณะที่อายุครรภ์ยังน้อยหรือยังไม่ครบกำหนด การรักษาโดยการให้คลอดเลยอาจมีปัญหากับลูกได้เนื่องจากลูกยังตัวเล็กมากมี น้ำหนักน้อย การทำงานของปอดยังไม่ดีพอ ซึ่งเสี่ยงมากที่ลูกอาจเสียชีวิตได้ การรักษาสำหรับคุณแม่กลุ่มนี้จึงต้องการการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด ซึ่งคุณหมอจะพยายามประคับประคองให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยการให้ยาป้องกันการชัก ให้ยาลดความดันโลหิต ให้ยากระตุ้นการทำงานของปอดลูก โดยหวังให้การทำงานของปอดลูกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกเว้นว่าไม่สามารถประคับประคองให้ตั้งท้องต่อไปได้ เช่น มีความรุนแรงของโรคมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ และจะส่งผลร้ายทั้งคุณแม่และลูก คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดคลอดทันที

8. คุณแม่ครรภ์เป็นพิษควรดูแลตัวเองอย่างไร
1.คุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ต้องได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ และอย่าลืมรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
2.หากมีน้ำหนักตัวมากควรพยายามลดความอ้วนด้วยการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
3.เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้วควรรีบฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด ควรแจ้งประวัติส่วนตัวอย่างละเอียดให้แพทย์ทราบเพื่อการวางแผนการดูแลที่ถูก ต้อง
4.ลดอาหารเค็ม การใช้ยาขับปัสสาวะ การรับประทานแมกนีเซียม สังกะสี น้ำมันตับปลา และแคลเซียมเสริม ปัจจุบันยังไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนในการป้องกันภาวะนี้ค่ะ

ท้ายสุดนี้ขอให้คุณแม่ตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย มีจิตใจให้เข้มแข็งพร้อมรับมือกับทุกอย่างค่ะ


ที่มา
http://www.vcharkarn.com/varticle/40874

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

บ่มเพาะเด็กไทยจากวิกฤตแผ่นดินไหวญี่ปุ่น



อาจจะผ่านมาหลายสัปดาห์แล้วกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่เชื่อว่าทุกครอบครัวไทยที่ได้รับชมวิกฤตครั้งนี้ผ่านทางหน้าจอทีวีคงสัมผัสได้ถึงความมีระเบียบวินัย และความเสียสละที่คนในชาติ ๆ หนึ่งพร้อมที่จะทำเพื่อประเทศของตนเอง ซึ่งในวันนี้ เราก็มีจิตแพทย์จากโรงพยาบาลมนารมย์ที่มาชี้ให้เห็นถึงคุณค่าจากวิกฤตของชาวญี่ปุ่น และแนะว่าสิ่งใดควรนำมาใช้บ่มเพาะเด็กไทยให้พร้อมรับมือกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

พญ.จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ จิตแพทย์ และประธานกรรมการ โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิธีการรับมือภัยพิบัติของชาวญี่ปุ่นว่า ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม สึนามิ ที่ไม่มีใครทราบล่วงหน้า การได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวที่ดีของชาวญี่ปุ่นจะช่วยให้เราสามารถรับมือเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเรียบร้อย ไม่โกลาหล

"จากการศึกษาวิธีรับมือกับวิกฤตของชาวญี่ปุ่นทั้งในระดับประเทศและระดับพลเมือง จะพบว่าในระดับประเทศ ความเป็นชาตินิยมนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดความสามัคคี ซึ่งในช่วงแย่ที่สุด จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นมีความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความรักชาติของเขา"

“มีเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่น หลังจากเกิดเรื่องกัมมันตภาพรังสีรั่ว ก็ถามว่าทำไมไม่บินมาไทย เขาตอบว่าประเทศเขาเป็นแบบนี้แล้วจะให้ทิ้งมาได้อย่างไร จะเห็นว่าเขามีความรักชาติและมีความสามัคคีสูงมาก ซึ่งเขาจะมาเมืองไทยหรือหนีออกนอกประเทศก็ได้ แต่เขาไม่มา เขายินดีที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และยินดีเสียสละเพื่อชาติ ดังตัวอย่างที่พนักงาน 50 คน ที่ยอมรับความตายเฝ้าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อความปลอดภัยของประเทศ เห็นแล้วซาบซึ้งใจมาก หรือคนแก่ที่ติดอยู่หลายชั่วโมง พอช่วยเหลือออกมาได้ สิ่งแรกที่เขาถามว่า อนาคตพวกเราจะเป็นไง เขาไม่ถามถึงตัวเขาเอง เขาถามว่าอนาคตจะเป็นไง เราน่าจะโฟกัสเรื่องนี้บ้างว่าในฐานะประเทศ เวลาเกิดวิกฤตขึ้นเมื่อใดทุกคนสามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคร่วมกันได้”

พญ.จันทิมากล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะพลเมือง การรับมือวิกฤตของชาวญี่ปุ่นสะท้อนคุณค่าที่ได้ถูกหล่อหลอมและบ่มเพาะมาตั้งแต่เยาว์ ซึ่งเราควรนำเอาตัวอย่างที่ดีเหล่านี้ นำมาสอนเด็กของเรา เช่น

1. การมีสปิริต พลังใจ กำลังใจของคนญี่ปุ่น ที่ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน เขาก็จะไม่ท้อถอย

2. ความมีวินัยของคนญี่ปุ่นที่แม้จะหิวจะเหนื่อย แต่เขาก็จะยืนเข้าแถว ไม่ทะเลาะ ไม่แย่ง ไม่เอาเปรียบกัน เชื่อว่าหากเขาไม่มีวินัยคงจะเสียหายหนักกว่านี้ แต่นี่ไม่มีใครผลักใคร เพื่อแย่งชิงเอาอาหาร น้ำ หรือข้าวของ

3. การที่เขามีความหวัง เขาไม่สิ้นหวัง ซึ่งคนญี่ปุ่นจะมองไปข้างหน้า ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

4. ความอดทน ไม่ย่อท้อ ต่ออุปสรรค แม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะใหญ่แค่ไหน แต่เขาก็จะไม่ยอมแพ้ มองย้อนกลับไปพวกรุ่น 70-80 คือผ่านสงครามโลกมา โดนซ้ำแล้วซ้ำอีก สิ่งที่เขามีคือความกล้าหาญ เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ไม่ย่อท้อ ทำให้เขารอดพ้นมาได้”

5. ความเข้มแข็ง แต่ไม่ได้สำคัญตนผิด ซึ่งในยามวิกฤต นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แสดงออกถึงความเข้มแข็งแบบเหมาะสม โดยหลังจากประเมินความสามารถของตนเอง ก็กล้าออกมาบอกขอความช่วยเหลือทันทีเลย จะเห็นว่าเขาเข้มแข็งจริง แต่ไม่ใช่ว่าเขาแน่นะ ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นเขาพร้อมที่สุด ไม่มีใครรับมือได้เพราะเขาซ้อมมาตั้งแต่เด็ก พอเขาออกโทรทัศน์เขาขอความช่วยเหลือทันที

6. การมีคุณธรรมและมีความละอายต่อบาป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นถึงความมีน้ำใจ เมตตา ไมตรีจิตต่อกัน เอื้ออาทรกัน ห่วงใยกัน ไม่ฉวยโอกาส มีความเกรงกลัวและละอายต่อบาป หรือที่เรียกว่ามี หิริโอตัปปะ คือถึงมีโอกาสแต่ก็ไม่ฉกฉวย ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม เขาก็ไม่ทำ ถ้าไม่ใช่ของตัวเองเขาไม่เอา เป็นคุณธรรมที่สูงและน่าประทับใจมาก

"จะเห็นว่าธรรมชาติ ไม่ได้สงบอย่างที่หวัง ถ้าจะให้ประเทศชาติของเรารอดพ้นไปด้วยดี ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันสร้างคุณสมบัติที่ดีทั้งในส่วนของบุคคลและชาติด้วย โดยเฉพาะการสร้างเยาวชนของไทย เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอ แต่เกิดจากการอบรมบ่มสอน และจำเป็นต้องรีบทำ เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ถาโถมเข้าสู่สังคม ค่านิยมที่เอาแต่ความสวยงาม มุ่งเน้นวัตถุ และความอยู่รอดของตนเองเป็นหลัก จะทำให้การดำเนินชีวิตของเยาวชนไทยของเรายากขึ้น"



สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือเริ่มจากภายในบ้าน



ในการสร้างเยาวชนไทยให้มีคุณสมบัติที่ดีและสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้นั้น จิตแพทย์ระบุว่า การสร้างเยาวชนเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเริ่มต้นกันตั้งแต่ระดับพ่อแม่ ระดับครอบครัว ระดับโรงเรียน ระดับครู ระดับที่ทำงาน บริษัทไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ก็ต้องทำ สถาบันศาสนา สถาบันชาติ โดยอาจจะเริ่มจากการดูตัวเองก่อน แล้วก็มาดูคนรอบตัวของตัวเอง แล้วมาดูสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันทั้งนั้น คนละไม้คนละมือ

ทั้งนี้แนวทางในการสร้างเยาวชนให้มีความพร้อมเหมือนญี่ปุ่นสำหรับพ่อแม่ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนั้นพญ.จันทิมาให้คำแนะนำประเด็นที่พ่อแม่ควรจะต้องให้ความสำคัญคือ

1. สอนให้ลูกอยู่ในความเป็นจริง พ่อแม่ต้องให้ลูกรู้จักว่าชีวิตคืออะไร อย่าให้ลูกอยู่ในโลกของจินตนาการ ความเพ้อฝัน โดยที่ไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ไหน อย่าปลูกฝังค่านิยมว่าจะต้องเป็นคนเด่นที่สุด เก่งที่สุด แต่ควรสร้างให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง และมีความมั่นใจในตัวเองว่าเขาสามารถที่จะแก้ไขปัญหารับมือกับปัญหา มีความสุข พอใจตัวเอง รู้ว่าตัวเองคือใคร รู้จักคนอื่น และรู้จักที่จะช่วยคนอื่นได้ เข้ากับคนอื่นได้เมื่อมีโอกาส

2. พ่อแม่จำเป็นต้องสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ฝึกให้มีความรับผิดชอบ โดยให้เด็กรู้จักทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองให้มากที่สุดตามวัยและวุฒิภาวะ และยินดีรับผลของการกระทำนั้นหากทำไม่เสร็จ ไม่ใช่พ่อแม่ทำแทนหรือออกรับแทน ซึ่งการปลูกฝังเรื่องนี้สำคัญ หากเกิดเหตุอะไรขึ้นเขาจะสามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่โทษคนอื่น และมีความเข้มแข็งผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้

3. พ่อแม่ควรฝึกเด็กให้รู้จักเสียสละ มีวินัย รู้จักความอดทนการรอคอย สมัยก่อนพ่อแม่จะบอกว่า ต้องผู้ใหญ่ก่อน แล้วเด็ก แต่เดี๋ยวนี้เป็นเด็กก่อน ทำให้เด็ก ๆ ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองตัวเองเป็นแกนกลางของโลก ต้องได้ทุกอย่าง ไม่รู้จักความเสียสละ ดังนั้นพ่อแม่อาจเริ่มจากสอนให้รู้จักการเสียสละ เช่น การกระทำตนเป็นตัวอย่างโดยการบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

4. การสอนให้เด็กมีความเข้มแข็ง สามารถรับปัญหาได้ แก้ไขปัญหาได้ โดยให้ลูกได้สัมผัสประสบการณ์ ทั้งดีและไม่ดี สมหวังและผิดหวัง เมื่อผิดหวังแล้วก็สามารถลุกขึ้นสู้ แก้ปัญหาด้วยตนเองได้สำเร็จ จะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานทางจิตใจ

5. การสอนให้ลูกรู้ว่ามีความไม่แน่นอนอยู่ในโลกนี้ มีสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ เราไม่สามารถกำหนดให้ได้ทุกสิ่งอย่างใจหวัง ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ เขาก็จะสามารถรับได้

6. นอกจากการเรียนแล้วควรสอนให้เด็กได้สนใจเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพื่อจะได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การเสียสละ ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้อภัยให้กำลังใจกัน

อย่างไรก็ตาม พญ.จันทิมาย้ำว่า การปลูกฝัง ค่านิยมที่ดีให้เกิดขึ้นในเด็กนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่หัวใจแห่งความสำเร็จอยู่ที่พ่อแม่ก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก และพ่อแม่จะต้องเชื่อว่าไม่มีอะไรสายเกินไป ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต พัฒนาการของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด อย่ามองว่าพอเป็นผู้ใหญ่แล้วจะสิ้นสุด เพราะเราจะเห็นว่าพัฒนาการมีตั้งแต่เด็กเล็ก พอโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็พัฒนาไปอีก รวมถึงพัฒนาบุคลิกภาพด้วย พอเรียนต่อก็พัฒนาบุคลิกภาพอีก การพัฒนาเป็นไปได้ตลอดชีวิต ขอให้เชื่อว่าการปลูกฝังเรื่องนี้ทำได้ และช่วยกันลงมือทำ เราก็จะสามารถรับมือวิกฤตได้เรียบร้อยเฉกเช่นชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เราได้ประจักษ์และเห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000042344

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

เทคนิค 5 เตรียม ก่อนพาลูกเข้า "ร.ร.อินเตอร์"

เทคนิค 5 เตรียม ก่อนพาลูกเข้า "ร.ร.อินเตอร์"



นพ.จอม ชุมช่วย


เมื่อพูดถึงโรงเรียนนานาชาติ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในชื่อ "โรงเรียนอินเตอร์" นับเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่พ่อแม่ยุคใหม่อยากให้ลูกคุ้นชิน และใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะภาษาเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านมีโรงเรียนอยู่ในใจกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมักกังวล และเป็นห่วงนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับตัว และการใช้ชีวิตในโรงเรียนของลูก

วันนี้ทีมงาน Life & Family มีแนวทางดี ๆ จากงานเสวนา "ทำอย่างไรให้ลูกใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เมื่อเรียนในโรงเรียนนานาชาติ" ที่โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์สมาฝากกัน โดย นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทยเด็ก และวัยรุ่นได้ให้เทคนิคเตรียมความพร้อมลูกไว้ 5 เรื่องหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. เตรียมภาษา

หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดคิด และตัดสินใจอย่างดีแล้วว่า จะพาลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติแน่นอน จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นท่านนี้ บอกว่า ภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก การพูดคุย หรือสื่อสารกับลูกเป็นประโยคภาษาอังกฤษจะทำให้ลูกค่อย ๆ คุ้นชิน และปรับตัวได้ง่ายขึ้นเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงเรียนนานาชาติ อย่างไรก็ตามการสร้างความคุ้นชินด้านภาษานั้นไม่จำเป็นต้องพูดคุยอย่างเดียว แต่สามารถนำสิ่งใกล้ตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน หรือดนตรี นำมาอ่านกับลูกบ่อย ๆ แล้วลูกจะค่อย ๆ คุ้นชินกับภาษาได้ดีขึ้น

"พ่อแม่ท่านใดพูดไม่ได้ ไม่ต้องกังวล แต่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า เราพร้อมจะพูด ใช้ประโยคง่าย ๆ กับลูก แต่ควรเลี่ยงอังกฤษคำ ไทยคำ เพราะจะทำให้เด็กไม่เข้าใจประโยคในการสื่อสาร ซึ่งมีบางบ้านเขาจะแบ่งกันไปเลยว่า ใครพูดภาษาอังกฤษ ใครพูดภาษาไทย เพื่อให้ลูกชินกับภาษาอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ภาษาไทยได้ดีด้วย" จิตแพทยเด็ก และวัยรุ่นให้แนวทาง

2. เตรียมการเล่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเล่นเป็นของคู่กันกับเด็ก ซึ่งนอกจากจะให้ความสุขแล้ว ยังเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคิด การตัดสินใจ รวมไปถึงการแก้ปัญหา เพราะการเล่นทำให้ระบบประสาทของสมองเชื่อมโยงได้อย่างสมบูรณ์ เด็กจะมีความสุขและพร้อมที่จะเรียนรู้ ที่สำคัญยังพบด้วยว่า เด็กที่มีโอกาสในการเล่นมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ขาดโอกาสในการเล่น

ฉะนั้น คุณพ่อแม่ควรให้ลูกเล่นอย่างอิสระ และเล่นอย่างสร้างสรรค์ นั่นหมายความว่าต้องมีของเล่นที่ฝึกทักษะด้านการคิด การแก้ปัญหา เช่น ตัวต่อรูปแบบต่าง ๆ หรืออื่น ๆ ซึ่งหากเด็กทำไม่ได้ ควรเข้าไปช่วยบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นการเตรียมการเล่นเป็นเรื่องสำคัญเพื่อต่อยอดความพร้อมในการเรียนรู้ของเด็กเมื่อต้องเข้าโรงเรียน

3. เตรียมอารมณ์ที่มั่นคง

อารมณ์ที่มั่นคงของลูกจะเป็นตัวช่วยให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งพ่อแม่สร้างได้จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกับลูก ทั้งการเล่น การกอด และการให้กำลังใจ รวมถึงการเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของลูก เช่น ลูกมีความกลัว หรือกังวลในบางอย่าง พ่อแม่ต้องรู้จักพูดคุย และตอบสนองทางอารมณ์ของลูกอย่างเหมาะสม ไม่ควรตอกย้ำความรู้สึกกลัวให้ลูก อาทิ กลัวแล้วพากันวิ่งหนี หรือกลัวในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง นั่นจะทำให้อารมณ์ของเด็กหวั่นไหว และระแวงอยู่ตลอดเวลา



4. เตรียมความเป็นตัวของตัวเอง

ความเป็นตัวของตัวเอง จำเป็นอย่างมากหากคิดจะพาลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ เพราะระบบโรงเรียนจะเน้นให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งคิด และตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เตรียมความพร้อมในจุดนี้ เมื่อเด็กเข้าไปเรียนจะเกิดความรู้สึกด้อย และมีปัญหาในด้านการเรียน และการเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ ตามมา

"พ่อแม่ส่วนใหญ่มีลูกแล้วประสบความสำเร็จกับโรงเรียนนานาชาติ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ลูกเกิดปัญหาในสังคมแบบนี้ ส่วนหนึ่งคือ พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบทะนุถนอม และให้การช่วยเหลือมากเกินไป ไม่ให้อิสระลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเองเลย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้อิสระลูกได้คิด และทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น กินข้าวเอง ใส่เสื้อผ้า รวมทั้งรองเท้าเอง เด็กจะอยู่ในสังคมโรงเรียนอย่างมีความสุข" จิตแพทยเด็ก และวัยรุ่นฝากถึงพ่อแม่

5. เตรียมความสามารถทางสังคม

เมื่อเด็กเติบโต และพร้อมที่จะเข้าโรงเรียน สังคมเพื่อนเป็นสังคมที่เด็กจะหลีกหนีไม่พ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูก ๆ ไปเรียนรู้ที่จะเล่นกับคนอื่น ๆ ด้วย เช่น เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกันบ้าง นั่นจะทำให้มีโอกาสพัฒนาภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ช่วยให้เด็กเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนได้เป็นอย่างดี

นอกจาก 5 เรื่องหลัก ๆ ข้างต้นที่คุณหมอฝากไว้เป็นแนวทางให้กับพ่อแม่แล้ว นพ.จอม ยังฝากไปถึงผู้ปกครองที่มีลูกเรียนในโรงเรียนนานาชาติด้วยว่า ควรสนับสนุนลูกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเรื่องของภาษา การบ้าน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญควรสื่อสารกับครูที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งกิจกรรม พฤติกรรม ตลอดจนการเรียนของลูก

"ถ้าลูกเข้ามาเรียนโรงเรียนนานาชาติแล้วเรียนไม่ได้ ผมแนะนำว่าควรเข้าไปคุยครูว่า เพราะอะไรลูกถึงเรียนไม่ได้ มีปัญหาในเรื่องไหน อย่างน้อย ๆ ผมเชื่อว่าครูน่าจะบอกได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่แน่ใจ ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดเดาเอาเอง" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นฝาก

อ่านแล้วลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ หากท่านใดมีลูกเรียนในโรงเรียนนานาชาติ แล้วอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเรียนการสอน กิจกรรมต่าง ๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันได้ อย่างน้อย ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้พ่อแม่ท่านอื่น ๆ ที่มีแนวคิดอยากให้ลูกเข้าเรียนในระบบดังกล่าวมีข้อมูลในการตัดสินใจได้มากขึ้น


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000040530