วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เตือนพ่อแม่รู้เท่าทันภัยร้ายจากภาชนะ "พลาสติก"

เตือนพ่อแม่รู้เท่าทันภัยร้ายจากภาชนะ "พลาสติก"

คงต้องยอมรับว่า สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัวเด็กในยุดสมัยใหม่นี้ มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก ยิ่งมีข่าวออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ขวดนมเด็กที่ขายตามท้องตลาดร้อยละ 80 ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนตซึ่งมีผลต่อฮอร์โมนเพศและการเจริญเติบโตบกพร่องในเด็ก ยิ่งทำให้พ่อแม่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป

พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ รองผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสารอันตรายมากมายหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก และสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สารปนเปื้อนบางชนิดที่สะสมอยู่ในร่างกายของเด็ก อาจใช้เวลานานหลายปีก่อนจะปรากฏอาการเด่นชัด ซึ่งเมื่อปรากฏอาการหรือตรวจพบในภายหลังจะไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้เป็นปกติได้

โดยเฉพาะอันตรายจากการเลือกใช้ภาชนะพลาสติกที่หากเลือกใช้ไม่ถูกต้อง และรู้ไม่เท่าทัน อาจส่งผลต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว เห็นได้จากกรณีข่าวขวดนมเด็กในท้องตลาดร้อยละ 80 พบสาร Bisphenol A (BPA) ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาระบบประสาทและเป็นตัวกวนฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนเพศในร่างกายของเด็ก เกิดความสับสน ส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางเพศ และลดความสามารถในการสืบพันธุ์ในอนาคต

ดังนั้น พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม และเลขาฯ โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ขวดนมพลาสติกสำหรับทารก และเด็กเล็กที่ผลิตจากพลาสติก Polypropylene หรือ PP แทนการใช้ขวดนมพลาสติกที่ผลิตจาก Polycarbonate ซึ่งมีสาร BPA โดยหลักการเลือกขวดนมที่ดี และปลอดภัยนั้น ควรเลือกขวดนมที่เขียนว่า BPA Free หรือ PP หรือสังเกตก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์ มีเลข 5 ตรงกลางและมีรูปลูกศรล้อมรอบ แต่หากเป็นขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต บริเวณก้นขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางและมีลูกศรล้อมรอบ


นอกจากนี้ การเลือกใช้ขวดนมที่ดี ควรเลือกแบบเรียบ ๆ บริเวณฝาครอบฝาเกลียว และเกลียวของปากขวดนมจะต้องไม่มีความคม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกรักได้ และควรตรวจจสภาพขวดนมเสมอว่า อยู่ในสภาพดี และไม่มีรอยปริแตก

"ปัจจุบันมีประเทศแคนาดา สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ ได้ประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายขวดนมที่มีสาร BPA ไปแล้ว แต่ตามท้องตลาดในประเทศไทย ยังมีการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจาก polycarbonate ซึ่งมีสาร BPA อยู่เป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้จะมีพ่อแม่และผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลาสติกที่ไม่เป็นอันตรายมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดกลับยังผลิตจากพลาสติกที่เป็นอันตรายอยู่ ผู้บริโภคจึงไม่มีทางเลือกมากนัก" แพทย์หญิงรัชดาเผย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมการผลิตและการใช้ขวดนมพลลาสติกสำหรับทารก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งจะทราบผลในเร็ววันนี้

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110110

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เสื้อผ้าให้ลูกอย่างไรห่างไกล "ผื่นภูมิแพ้"

เสื้อผ้าให้ลูกอย่างไรห่างไกล "ผื่นภูมิแพ้"


ปัจจุบันเสื้อผ้าของเด็กมีให้เลือกหลายแบบ แต่คุณแม่ยุคใหม่ก็ใช่ว่าจะเลือกเพราะความสวยเก๋อย่างเดียวเท่านั้น ต้องพิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้าเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อยด้วย เพราะหากเลือกไม่ดีอาจทำให้ลูกเสี่ยงต่อการเกิดผื่นภูมิแพ้ได้

โดย นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง ประจำศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลวิภาวดี แนะนำผ่านทีมงาน Life & Family ว่า สิ่งสำคัญใกล้ตัวที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดผื่นภูมิแพ้แก่ลูกรักนั่นคือ การเลือกเสื้อผ้าให้ลูก เนื่องจากเสื้อผ้าที่ลูกใส่อาจทำให้ผิวหนังลูกระคายเคือง เกิดการอับชื้น จนทำให้เกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการอักเสบและคันได้

"ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังอักเสบแบบเรื่อรังที่มีสถิติพบบ่อยมากที่สุดในเด็ก ประมาณ 1 ใน 3 ของลูกรักที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้นี้ จะมีอาการของโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำงานในอนาคต เด็กที่อยู่ในช่วงวัย 5 ขวบ มีความเสี่ยงที่จะป่วยและมีอาการผื่นภูมิแพ้ได้ถึง 80-90 % เพราะชั้นผิวหนังของลูกรักที่มีความบอบบาง และละเอียดอ่อนมากกว่าผู้ใหญ่ทำให้ผิวเปิดรับต่อสิ่งเร้าทั้งรังสียูวี สารเคมีและสารก่ออาการแพ้ต่างๆ ได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 3 เท่า จึงเกิดอาการระคายเคืองและแพ้ง่ายโดยเฉพาะโรคผื่นแพ้ผิวหนัง" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังเผย

สำหรับโรคผื่นแพ้ผิวหนังดังกล่าวนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังท่านนี้บอกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลือกซื้อผ้าไม่ถูกวิธี ดังนั้นจึงมีแนวทางดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ในการเลือกซื้อเสื้อผ้าให้ลูกดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ควรเลือกเสื้อผ้าจากผ้าที่ทำมาจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าออร์แกนิก คอตตอน 100% เนื่องจากเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงทนทานและเหนียวนุ่ม การเกาะของไรฝุ่น มีโพรงอากาศมากทำให้ระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้เกิดการแพ้ จึงปลอดภัยสูงสุดต่อสุขภาพลูกรัก

2. พิจารณาเสื้อผ้าที่มีการตัดเย็บละเอียดเรียบร้อย

3. ไม่มีตะเข็บ หรือขอบที่อาจเสียดสีผิวบอบบางของลูกให้เกิดการระคายเคือง

4. เสื้อผ้าไม่มีด้ายหลุดลุ่ยที่อาจเกี่ยวพันอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของลูกน้อย

"ผิวเด็กค่อนข้างบอบบางกว่าผู้ใหญ่ จึงต้องเลือกเสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี เมื่อเด็กสวมใส่เสื้อผ้าแล้วไม่ร้อนจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเป็นโรคผิวหนัง และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ง่าย" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง

คุณหมอคนเดียวกันนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความใส่ใจในการเลือกซื้อเสื้อผ้าให้ลูกแล้ว การหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณไรฝุ่นจะช่วยให้ลูกรักเสี่ยงต่อการเกิดผื่นภูมิแพ้น้อยลง โดยหันมาใช้วัสดุคลุมเครื่องนอน ซักปลอกหมอน และผ้าปูที่นอนทุก 1-2 สัปดาห์ ด้วยน้ำร้อน 55-60 องศาเซลเซียส ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นภูมิแพ้ได้แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยอย่าง อาหาร สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว แมลง ขนสัตว์ และเชื้อโรคต่าง ๆ ล้วนส่งผลให้ผิวของลูกเกิดผื่นแพ้ได้เช่นกัน เช่น เป็นผดผื่นแดง เกิดเป็นขุยผิวแห้ง มีตุ่มแดงและตุ่มน้ำใส หรืออาจจะมีน้ำเหลืองร่วมด้วย พบได้บริเวณแก้ม ข้อศอก แขน และข้อพับ สำหรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ลักษณะอาการจะปรากฏชัด แต่ถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อย พบได้ตามบริเวณใบหู ซอกคอ ข้อพับแขน และขา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการติดเชื้อทางระบบผิวหนังได้

"คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นสังเกตอาการแพ้ผิวของลูกน้อย และควรรีบไปรักษาตามอาการ โดยวิธีการรักษาส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการแล้วก็ลดตัวกระตุ้นทั้งหมด ถ้าเกิดเป็นน้ำหนอง ควรไปพบแพทย์ดีกว่า เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก ต้องใช้อย่าฆ่าเชื้อ และยาลดอาการคันร่วมกัน" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังเผย พร้อมทั้งฝากให้ทุกครอบครัวไม่ควรมองข้ามสุขภาพผิวของลูกน้อย

ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ลูกรักตั้งแต่วัยแรกเกิด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ควรใส่ใจ โดยการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจากธรรมชาติให้ลูก เพื่อให้ลูกตัวน้อยปราศจากโรคภัย เป็นเด็กที่มีสุขภาพดี และมีรอยยิ้มที่แสนน่ารักสดใส สมเป็นที่สุดในดวงใจของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000103530

เด็ก "เบี่ยงเบนทางเพศ" เสี่ยงสูง สูบบุหรี่-กินเหล้า-เมาแล้วขับ

เด็ก "เบี่ยงเบนทางเพศ" เสี่ยงสูง สูบบุหรี่-กินเหล้า-เมาแล้วขับ

เอเจนซี – รายงานฉบับใหม่ระบุนักเรียนมัธยมปลายที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และเสือไบ มีแนวโน้มมากกว่าเพื่อนๆ ที่มีวิถีทางเพศปกติที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และพกปืน

การศึกษาที่จัดทำโดยศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ ที่สำรวจความคิดเห็นจากนักเรียนมัธยมปลาย 156,000 คนและเผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (6) นับเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมที่สุดที่รัฐบาลกลางเคยจัดทำขึ้น

ฮาวเวลล์ เวชส์เลอร์ ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพวัยรุ่นและโรงเรียนของซีดีซี กล่าวว่ารายงานฉบับนี้ควรเป็นสัญญาณเตือนสำหรับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ในการปรับปรุงการให้การสนับสนุนเยาวชน

นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่จัดทำขึ้นระหว่างปี 2001-2009 ในคอนเน็กติกัต เดลาแวร์ เมน แมสซาชูเสตส์ โรดไอส์แลนด์ เวอร์มอนต์ และวิสคอนซิน รวมทั้งในบอสตัน ชิคาโก มิลวอล์กกี้ นิวยอร์กซิตี้ ซานดิเอโก และซานฟรานซิสโก

ต่อข้อถามว่าเคยเมาแล้วขับภายใน 30 วันที่ผ่านมาหรือไม่ นักเรียนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน 15.4% ตอบว่าเคย เทียบกับ 7.8% ของนักเรียนที่มีวิถีทางเพศปกติที่ให้คำตอบแบบเดียวกัน

สำหรับคำถามเกี่ยวกับปืน นักเรียนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน 12% บอกว่าเคยพกปืนอย่างน้อย 1 วันในช่วงเดือนก่อนหน้า หรือเกือบ 4 เท่าของนักเรียนอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังพบความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องการสูบบุหรี่ กล่าวคือนักเรียนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน 27.8% เคยสูบบุหรี่เกิน 10 มวนต่อวันในช่วงเดือนก่อนหน้า เทียบกับ 9.1% ของนักเรียนที่ชอบเพศตรงข้าม

นักเรียนที่มีรสนิยมทางเพศเบี่ยงเบนยังมีแนวโน้มมากกว่าที่จะพยายามฆ่าตัวตาย (เกือบ 30% เทียบกับ 11.7%)

ลอรา แมคกินนิส โฆษกของเทรเวอร์ โปรเจ็กต์ องค์กรที่จัดหาโปรแกรมให้คำปรึกษาเหตุวิกฤตและการป้องกันการฆ่าตัวตายของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า รายงานฉบับนี้ตอกย้ำว่า วัยรุ่นที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และชอบทั้งชายและหญิง มักถูกผลักดันให้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงเนื่องจากถูกปฏิเสธจากครอบครัวและกลุ่มสนับสนุนอื่นๆ
แมคกินนิสสำทับว่า ข้อมูลใหม่ควรกระตุ้นให้ผู้วางนโยบายรับรู้ และนำไปสู่การฝึกอบรมเพิ่มเติมให้แก่บุคลากรในโรงเรียน
เวชส์เลอร์เสริมว่า ความพยายามในการส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของวัยรุ่นควรคำนึงถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดอื่นๆ ที่วัยรุ่นเหล่านี้เผชิญเนื่องจากวิถีทางเพศของตนเอง เช่น การถูกประณาม ถูกเลือกปฏิบัติ และการตกเป็นเหยื่อ


ที่มา
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9540000103986