วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

กูรูด้านการเงินแนะเทคนิคพิชิตค่าใช้จ่ายลูกในยุค 2011

กูรูด้านการเงินแนะเทคนิคพิชิตค่าใช้จ่ายลูกในยุค 2011

กล่าวได้ว่า การมีลูกเกิดมาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน นอกจากความน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว สิ่งที่โตมาพร้อมกับลูกก็คือ ค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่หลาย ๆ ท่านพร่ำบ่นกันมากในยุคข้าวยากหมากแพง ไม่ว่าจะค่ากิน ค่าเทอม และอื่น ๆ ที่ยังไม่ทราบล่วงหน้าอีก หากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีแล้ว อาจทำให้โอกาสทางการศึกษาของลูกสะดุด และหยุดชะงักลงได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนี้สูงขึ้นอีกด้วย

ในเรื่องนี้ สุวภา เจริญยิ่ง ผู้ทำงานในแวดวงการเงินมากว่า 25 ปี ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้เขียนหนังสือ "มีลูกกี่คนก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น" บอกว่า การวางแผนเพื่ออนาคตลูกเป็นเรื่องจำเป็น ต้องทำควบคู่กับการออม และการวางแผนทางการเงินที่ดีในครอบครัวด้วย แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องแผนการออม คุณพ่อคุณแม่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนว่า ลูกจะเรียนอะไร เรียนที่ไหน และค่าใช้จ่ายที่ต้องตระเตรียมประมาณเท่าไร

"การเลือกโรงเรียนให้ลูกก็สำคัญ ถ้าอยากให้ลูกเรียนต่อปริญญาเมืองนอก การเอาแรงมาส่งลูกเรียนอินเตอร์ฯ ที่ค่าเทอมสูง ๆ ในวันนี้ คุณอาจไม่มีแรงเก็บเงินส่งลูกเรียนเมืองนอกได้ ดังนั้นเลือกโรงเรียนรัฐดี ๆ ให้ลูกไม่ดีกว่าเหรอ เพื่อให้เขาเรียนรู้สังคม และช่วยให้คุณไม่เหนื่อยในการหาเงิน แถมยังมีเวลาเก็บเงินอีกด้วย" คุณสุวภาเสนอ

สำหรับวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูก คุณสุวภาให้สูตรง่าย ๆ คือ นำค่าใช้จ่ายการเรียนต่อปี+ค่าใช้จ่ายส่วนตัวนักเรียน x จำนวนปีที่ใช้เรียน = ค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยสูตรดังกล่าวนี้ สามารถนำไปใช้คำนวณค่าเล่าเรียนของลูกได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอกเลย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น และวางแผนทางการเงินเพื่อการศึกษาของลูกหนึ่งคนให้ชัดเจนขึ้น

เมื่อทราบถึงตัวเลขคร่าว ๆ แล้ว ทีนี้มาเริ่มต้นวางแผนการออมอย่างง่ายด้วยการคำนวณว่า ต้องใช้จำนวนเท่าไร และระยะเวลาในการเก็บออม หรือระยะเวลาที่ต้องใช้เงินเป็นเมื่อไร เพื่อจะได้จัดการวางแผนการเงินได้ถูกว่าจะเลือกลงทุนแบบไหน แต่ทั้งนี้การออม และการลงทุนควรมีความหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและต่อยอดการออมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีการออมเดือนละ 10,000 บาท และนำไปลงทุนในอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเทียบกับจำนวนปี คุณจะเห็นความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นและความสม่ำเสมอในการออม คือ แม้จะออมเงินเดือนละ 10,000 บาท แต่ถ้าทำผลตอบแทนได้ในระดับ 15 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 3 ปี จะมีเงินเก็บสูงถึงเกือบ 449,830 บาท และถ้ายังออมได้สม่ำเสมอในระยะเวลา 15 ปี คุณจะมีเงินเก็บถึง 6,163,660 บาทเลยทีเดียว

"การออมต้องดูถึงความเหมาะสม และเสี่ยงที่เงินต้นจะหายไปไหม ถ้าเงินต้นหาย และรับไม่ได้ก็อย่าไปเลือกทางนั้น หรือถ้าใครไม่รู้จะเริ่มต้นเก็บออมอย่างไร ง่าย ๆ คือ เดินไปเปิดบัญชีเงินฝาก ทั้งนี้อาจเลือกเปิดบัญชีเงินฝากประจำพิเศษที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินฝากดอกเบี้ย แต่จะต้องฝากสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 24 เดือนสูงสุดไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท กัดฟันไหวก็เอาเลย" คุณสุวภาให้แนวทาง

อย่างไรก็ดี หลาย ๆ ธนาคารในปัจจุบันอาจมีการเสนอการฝากเงินในรูปตั๋วแลกเงิน หรือตั๋ว D/E (Deal of Exchange) ซึ่งมีระยะเวลาเท่ากัน แต่ตั๋ว D/E จะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า นั่นเป็นเพราะตั๋วดังกล่าว ไม่ได้รับการค้ำประกันเช่นเดียวกับเงินฝากประจำ

นอกจากการเปิดบัญชีแล้ว ยังมีการออมอีกหลายรูปแบบให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ได้เลือกใช้บริการ เช่น

แผนการออมในรูปแบบของการประกัน

ส่วนใหญ่จะเป็นการออมแบบประกันชีวิต ถ้าเกิดระหว่างที่พ่อแม่ส่งเบี้ยไปแล้วไม่ได้เป็นอะไรก็ไปรับเงินก้อนคืนตามระยะเวลาที่กำหนดได้ แต่ถ้ากรณีที่พ่อแม่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน บาดเจ็บ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในระหว่างทางที่ส่งเบี้ยประกัน ลูกก็จะมีเงินส่วนหนึ่งกลับมา ดังนั้นสบายใจได้เลยว่า การศึกษาของลูกจะไม่สะดุดอย่างแน่นอน ดังนั้นถ้าเป็นคนไม่มีวินัยในการเก็บเงิน การทำประกันชีวิตจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการออมที่ง่ายมาก

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน

แนวทางนี้อาจต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่พอสมควร แต่ผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยที่ได้จะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ปกติจะได้รับดอกเบี้ยประมาณปีละ 2 งวด และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนก็จะได้รับเงินต้นคืน แต่อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง หากผู้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้เกิดการเบี้ยวหนี้เสียก่อน ดังนั้นถ้ามีเงินเย็นก็เลือกพันธบัตรระยะยาวได้ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย หากมีการขายพันธบัตรออกก่อนครบกำหนด

การลงทุนผ่านกองทุนรวม

หากสนใจจะลงทุนด้วยตัวเอง แต่ขาดความชำนาญ อาจเลือกวิธีการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีทั้งกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เช่น หากคุณสองคนเป็นผู้มีรายได้อยู่ในระดับที่ฐานภาษีร้อยละ 37 (รายได้สุทธิที่เกินกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไป) แล้วลงทุนในกองทุนทั้งสองนี้คนละ 1 ล้านบาท คือเต็มวงเงิน รัฐจะคืนเงินให้คนละ 370,000 บาท รวมกัน 2 คนคิดเป็นปีละ 740,000 บาท

แต่จุดด้อยของการลงทุนประเภทนี้ ไม่สามารถกำหนดผลตอบแทนที่แน่นอนตายตัวได้ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดในขณะนั้นด้วย แต่การลงทุนทางเลือกนี้ถือเป็นวิธีที่จะทำให้เงินพอกพูนขึ้น

ท้ายนี้ คุณสุวภา ฝากแง่คิดไปถึงพ่อแม่ยุคใหม่ว่า การมีลูกไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้รวยขึ้นหรือจนลง แต่การเลี้ยงลูกให้ดีต่างหากที่จะทำให้เรารวยขึ้นหรือจนลง ดังนั้นการวางแผนการเงินในครอบครัว และแผนการเงินเพื่ออนาคตลูกเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ การเลี้ยงลูกให้รู้จักใช้เงินอย่างชาญฉลาดโดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบนั่นเอง

หากทุกครอบครัวมีแผนการเงินที่ดี พร้อมทั้งสอนลูกให้รู้ค่าของเงิน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนจนทำให้การเงินในครอบครัวสั่นคลอนก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ฝึกลูกวัย 5 เดือนให้นอนเองใจร้ายเกินไปหรือไม่

ฝึกลูกวัย 5 เดือนให้นอนเองใจร้ายเกินไปหรือไม่

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน พอลูกเริ่มโตขึ้นก็อยากฝึกให้ลูกนอนด้วยตัวเอง เพื่อจะได้มีวินัยในการนอนตั้งแต่เล็ก ๆ แต่สำหรับเด็กบางคนมีอาการต่อต้านไม่ยอมนอน พร้อมกับบีบน้ำตาเรียกร้องความสงสารให้คุณพ่อคุณแม่ใจอ่อนทุกครั้งไป ปัญหานี้ คุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กจากโรงพยาบาลเวชธานี จะมีคำตอบ และคำแนะนำดี ๆ อย่างไร ไปติดตามกันเลยครับ

คำถาม : ตอนนี้น้องได้ 5 เดือนแล้วค่ะ อยากฝึกลูกให้นอนเอง ไม่รู้ว่าใจร้ายเกินไปไหม แต่เห็นลูกร้องไห้ทีไร ใจอ่อนทุกที ขอคำแนะนำคุณหมอหน่อยค่ะ อ้อ อีกอย่าง การปล่อยให้ลูกร้องไห้นาน ๆ บ่อย ๆ มีผลต่อสมองและพัฒนาการเด็กจริงหรือเปล่าค่ะ/ แม่อดทน

คุณหมอสินดี : เด็กวัย 5 เดือน อาจจะยากสักหน่อยที่จะให้เค้าหลับไปได้เองในขณะที่ยังตื่นอยู่ เพราะพัฒนาการของเด็กวัยนี้กำลังเปลี่ยนชัดเจน จากเดิมที่กินกับนอนเท่านั้น เค้าก็เริ่มเขยิบตัวได้ไกลขึ้น คว้าของได้แม่นขึ้น เริ่มจำคนคุ้นเคยได้ กลัวคนแปลกหน้า ดังนั้น การเข้านอนของเขาก็เหมือนการที่ต้องหลับไปแล้วไม่ได้เล่นอีก และไม่ได้เห็นคนคุ้นเคย ซึ่งทำให้เด็กกลัวและยิ่งหงุดหงิดไม่อยากนอน ถึงจะง่วงมากแล้วก็ตาม ไม่แปลกใจใช่ไหมค่ะว่าทำไมเขาถึงต้องร้องไห้เวลานอนทุกครั้ง

หมอแนะนำว่า เมื่อเขาง่วงแต่ไม่ยอมนอน คุณแม่อาจต้องอุ้ม หรือกล่อมเบา ๆ ประกอบกับสร้างบรรยากาศการนอน คือ สิ่งแวดล้อมให้เงียบ ๆ ไม่มีแสงจ้าเกินไปค่ะ เมื่อแน่ใจว่าเขาหลับสนิทจึงวางลงได้ แต่ถ้าไม่ได้งอแงมากก็อาจจะไม่ต้องอุ้มแต่นอนเล่นกับลูก ตบก้น เพื่อให้เขาหลับได้เองบนที่นอนค่ะ

หมอเชื่อแน่ว่าคุณแม่หลายท่านคงเคยเจอปัญหาเวลาลูกง่วงแต่ไม่ยอมนอนกันมาบ้าง แต่คุณแม่อดทนลองถามเทคนิคจากเพื่อน ๆ ดูก็ได้ค่ะ อาจจะมีวิธีที่ใช้ได้ผลกับลูกเราก็ได้

ส่วนการปล่อยให้ร้องนานแล้วจะมีผลต่อจิตใจหรือไม่นั้น ขึ้นกับสาเหตุค่ะ โดยทั่วไปไม่มีผลต่อพัฒนาการด้านสมองหรอกค่ะ แต่อาจมีผลด้านอารมณ์ ในกรณีที่ การร้องของเขาคือ ง่วง หิว เหนื่อย หรือไม่สบายตัว แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง เด็กเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่ได้รับการตอบสนอง จะช่วยตนเองก็ไม่ได้ ทำให้โตไป เด็กอาจจะหงุดหงิดง่ายและควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ แต่ถ้าการร้องนั้นเราคิดว่าเกิดจากการเรียกร้องความสนใจหรืออยากได้ในสิ่งที่เราไม่อนุญาตให้เล่น อย่างนั้นเราปล่อยให้ร้อง หรือ เพิกเฉยได้ค่ะ หรืออาจใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เขาไปสนใจอย่างอื่น เป็นต้น


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกชอบเจาะชอบสัก

ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกชอบเจาะชอบสัก

ปัจจุบันแฟชั่นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมักจะเป็นการเจาะหู การย้อมสีผม การโกนศีรษะ หรือแม้กระทั่งการสักร่างกาย คุณแม่คงเคยพาลูกสาวไปเจาะหูตอนลูกเรียนสมัยชั้นประถม แต่คุณแม่คงจะกลุ้มใจไม่น้อยหากลูกสาวต้องการเจาะหูมากกว่า 1รู และต้องการเจาะที่ลิ้น ที่สะดือ หรือที่จมูกเพิ่มขึ้น และอาจจะตกใจมากยิ่งขึ้นหากลูกชายต้องการทำเหมือนกัน

สำหรับวัยรุ่นแล้วทรงผมและเสื้อผ้ามีความสำคัญเทียบเท่ากับอาหารและน้ำ การเจาะอวัยวะของร่างกาย การแต่งตัว ทรงผมและการสักล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่วัยรุ่นแสดงออกเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ตอนสมัยคุณพ่อคุณแม่เองเป็นวัยรุ่นคงเคยคิดทำอะไรที่อยากให้ทุกคนยอมรับเหมือนกัน วัยรุ่นต้องการการเป็นที่ยอมรับและต้องการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการแสดงออกทางแฟชั่น

เพราะช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการแสวงหาและชอบการแสดงออกที่แปลกๆไม่เหมือนใคร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเจาะส่วนต่างๆของร่างกาย การสัก การโกนผม การใส่กางเกงขาดมีรู ล้วนแล้วแต่เป็นการเปิดหน้าต่างบานเล็กๆของการเรียนรู้ การแสดงออกถึงความเป็นตัวตน เพื่อจะผ่านเข้าไปสู่วัยผู้ใหญ่นั่นเอง

คุณพ่อคุณแม่อาจจะพอรับได้หากลูกขอย้อมผมสีแปลก ๆ โกนผม หรือใส่กางเกงแบบเก๋ๆบ้าง แต่หากเป็นการเจาะหู สะดือ ลิ้น หัวนม จมูก การสักลายแบบต่างๆ คงจะหายใจไม่ทั่วท้องแน่ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้คือ

1. สังเกตกลุ่มเพื่อนของลูก หากเห็นว่ามีรอยสัก หรือ การเจาะต่างๆ ถามลูกว่าลูกรู้สึกอย่างไร หากลูกไม่เห็นด้วยก็ดีไป

2. ให้ความรู้ความเข้าใจกับลูกในกรณีที่ลูกเห็นด้วยกับการสักและการเจาะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนี้

- บอกลูกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแฟชั่น ของยุคสมัยหนึ่งและหากหมดยุคและล้าสมัยแล้ว ยากแก่การแก้ไขให้เหมือนเดิมได้

- การทำรอยสักต่าง ๆ มีราคาแพงและการสักทำให้เจ็บปวด

- หากต้องการลบรอยสัก สามารถทำได้ก็จริง แต่ยากต่อการทำให้ผิวหนังมีสภาพเหมือนเดิม และรอยแผลเป็นนั้นจะคงอยู่ตลอดไป อีกทั้งยังแพง เจ็บปวด และเสียเวลาในการทำหลายต่อหลายครั้ง

เชื้อโรคที่ผ่านจากการใช้เข็มที่ไม่สะอาด มีดังนี้

โรคเลือดอาจไหลไม่หยุด บาดทะยัก เป็นฝี เป็นหนอง การติดเชื้อจากไวรัสตับอักเสบ B และ C เชื้อไวรัส HIV กรมความคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเชื้อไวรัส HIV สามารถมีชีวิตอยู่ได้ 12 นาที ส่วนไวรัส B และ C สามารถอยู่ได้ถึง 10 วันซึ่งอันตรายกว่า

ทั้งนี้ ทันตแพทย์กล่าวว่าการเจาะลิ้น และปาก ทำให้มีกลิ่นปาก ระบบการหายใจไม่สะดวก มีการติดเชื้อในช่องปากได้ง่าย ส่วนการเจาะสะดือ ถือว่าเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน เพราะอยู่ใกล้กับมดลูกมาก

- การเจาะและสักอาจทำให้ติดเชื้อสู่ผิวหนัง ที่อาจทำให้เป็นแผลเรื้อรัง และเป็นอันตรายที่รุนแรงได้

- คุณพ่อคุณแม่สามารถหาภาพประกอบให้ลูกเห็นชัดเจน

3. ฝึกให้ลูกคิด ถามลูกว่าวันหนึ่งเมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่และต้องสมัครงาน คนที่สัมภาษณ์จะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นรอยสักและการเจาะส่วนต่างๆของร่างกายนี้

4. หากลูกขอสัก หรือเจาะส่วนต่างๆของร่างกาย แนะนำให้ลูกไปคุยกับคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ในเรื่องอันตรายที่จะเกิดขึ้น ยาที่ใช้ ความสะอาดของเข็ม เป็นต้น

5. เด็กที่ต้องการมีรอยสักหลายจุด และเจาะส่วนต่างๆของร่างกายหลายที่ มักมีปัญหาภายในที่ซับซ้อนมากกว่าการเห็นภายนอก ดังนั้นควรค้นหาปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

6. การให้ความรู้ และความเข้าใจกับลูกวัยรุ่นถึงความปลอดภัยและอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกนั้นได้ผลมากกว่าการสั่งห้ามไม่ให้ทำ

กว่าจะเลี้ยงลูกแต่ละคนให้ถึงฝั่ง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเหนื่อยกับการเผชิญประสบการณ์แปลกๆมากมาย คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะตัดสินลูก และว่ากล่าวตักเตือนลูกถึงสิ่งต่างๆที่ลูกแสดงออกภายนอกเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่าช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ อดทน และเอาใจใส่ เพื่อที่ลูกจะผ่านเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ




ที่มา
ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกชอบเจาะชอบสัก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

คุณเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูก ๆ ไม่อยากคุยด้วยหรือเปล่า

คุณเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูก ๆ ไม่อยากคุยด้วยหรือเปล่า

เมื่อพูดถึงการสื่อสารในครอบครัว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่หากสื่อสารไม่ดี อาจสร้างปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะการคุยกับลูกวัยรุ่นที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือมีปัญหาการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดเป็นช่องว่าง และอคติจนทำให้พ่อแม่ และลูกไปกันไม่ค่อยได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงตามมา เช่น เด็กหนีออกจากบ้าน หรือน้อยใจคิดสั้นทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

วันนี้เพื่อเป็นการเตือนตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ ทีมงาน Life & Family มีข้อมูลดี ๆ จากองค์กรแพธ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ถึงการใช้คำพูดของพ่อแม่ที่อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีจนทำให้ลูก ๆ ทั้งหลายไม่อยากคุยด้วยมานำเสนอกัน ว่าแต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันครับ

พ่อแม่ที่ใช้ประโยคคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูก "ตำหนิ"

การใช้ถ้อยคำรุนแรง แสดงท่าที น้ำเสียง อารมณ์ ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกว่าถูกกล่าวหาไปแล้ว โดยไม่ได้ต้องการคำอธิบาย เช่น

- ใช้คำพูดจับผิด ใช้คำพูดดักคอ ใช้ประโยคคำสั่ง เช่น "บอกมานะว่า..." หรือ "อย่าให้รู้เชียวนะ"

- ใช้การถามนำ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายอธิบาย เช่น ประโยคที่ลงท้ายว่า "..ใช่หรือเปล่า"

- ท่าที กิริยาอาการแสดงออกชัดเจนว่า "ไม่ยอมรับฟัง"

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้ลูก ๆ ไม่ค่อยอยากคุย และไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง เช่น

- ไม่มีการใช้คำพูดที่แสดงถึงความห่วงใย เช่น "แม่เสียใจที่เห็นลูกใช้เงินเปลือง ลูกรู้ไหมว่าเงินทองเป็นของหายาก แม่เหนื่อยมากกว่าที่จะหามาให้ลูกใช้ได้" หรือ "พ่อไม่สบายใจเลยที่ลูกใช้เงินแบบนี้ มีปัญหาอะไรบอกได้ไหม" แต่มักจะใช้คำพูดที่ห่วงแต่ดุ เช่น "กล้าดียังไงเอาเงินที่พ่อแม่หาให้ไปเลี้ยงไปเที่ยวกับแฟนทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญญาหาเงินเอง"

ดังนั้นควรเริ่มด้วยประโยคที่ทำให้ลูกรู้ว่าคุณเป็นห่วงจริง ๆ เช่น ถ้าลูกกลับบ้านดึก ประโยคแบบนี้ที่ลูกอยากได้ยินจากคนเป็นพ่อแม่

"เป็นอย่างไร เหนื่อยไหม วันนี้กลับดึกจังนะลูก" หรือ "การบ้านเยอะเหรอ ถึงได้กลับมาช้า เป็นห่วงแทบแย่"

ถ้าลูกเก็บตัวเงียบขรึมผิดปกติ ประโยคแบบนี้ที่ลูกอยากฟังจากปากพ่อกับแม่

"ดูท่าทางเหนื่อย ๆ นะ เรียนหนักไหม การบ้านเยอะหรือเปล่า" หรือ "กินข้าวน้อยจัง ไม่สบายหรือเปล่า" หรือ "อยู่แต่ในห้องทั้งวัน เมื่อคืนนอนดึกเหรอ"

ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อต้องการคุยกับลูก อยากรู้สาเหตุว่าทำไมลูกกลับบ้านดึก หายไปทั้งวัน หรือเอาแต่เก็บตัวเงียบ คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย

- อย่าคิดเอาเองว่า ลูกจะต้องไปทำอะไรไม่ดี

- อย่าดักคอลูกด้วยการพูดจาถากถางประชดประชัน

- อย่าตั้งคำถามว่า "ทำไม" ตลอดเวลา

- ไม่มีการใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้โอกาสอีกฝ่ายได้ตอบแบบอธิบาย หรือเปลี่ยนจากประโยคบอกเล่า เป็นคำถาม เพื่อเปิดให้มีการพูดคุยกัน เช่น "ไหนลองบอกเหตุผลให้ฟังหน่อยว่าทำแบบนั้นเพราะอะไร" หรือ "พ่ออยากรู้ว่าอะไรทำให้แกคิดแบบนั้น" แต่ส่วนใหญ่มักจะพูดกับลูกว่า"...เออ ถ้าเกิดปัญหาขึ้น ก็อย่ามาให้พ่อ/แม่แก้ให้แล้วกัน..."

- ไม่มีการใช้คำพูดที่บอกความต้องการชัดเจนว่าผู้พูดต้องการเห็นพฤติกรรมอะไร เช่น "ถ้าจะกลับบ้านดึก ต้องโทรบอกก่อนล่วงหน้า แม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง" หรือ "ลองบอกสิว่าอยากให้พ่อแม่ทำยังไงกับเรื่องที่ลูกไม่โทรมาบอกล่วงหน้าว่าจะกลับบ้านดึก" แต่ที่พบส่วนใหญ่มักใช้คำพูดที่ว่า "....ทำไมเพิ่งกลับ ไปไหนมาไหน ทำไมไม่เคยบอกกล่าวกันเลย..."

- ไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจนเมื่อไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอีกฝ่าย เช่น "พ่อไม่สบายใจที่เห็นลูกแต่งตัวแบบนี้ ลูกกำลังจะไปไหนเล่าให้พ่อฟังก่อน" แต่ส่วนมากมักใช้คำพูดที่ว่า "...จะบ้าหรือเปล่า เป็นผู้หญิงใส่กระโปรงสั้นจู๋แบบนี้ แล้วจะออกไปข้างนอกได้ยังไง..."

- ไม่ค่อยมีการขอความเห็นจากอีกฝ่ายว่าต้องการเห็นทางออกอย่างไรบ้าง เช่น "ถ้าจะทำให้ลูกกล้าบอกพ่อตรงๆ ว่าไปทำอะไรมาลูกอยากให้พ่อทำตัวยังไง" แต่ส่วนมากจะขึ้นเสียงด้วยประโยคที่ว่า "...อย่าให้รู้เชียวว่าโกหก..."

นอกจากนี้ การไม่ฟังลูกพูดเลย ก็อาจทำให้ลูกไม่ค่อยอยากคุยกับคุณก็เป็นได้ เนื่องจากเด็ก ๆ มักบ่นว่า พ่อแม่ไม่เคยฟังว่าเขามีปัญหาอะไร ชอบบ่น ด่าแต่เรื่องซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่กลับว่าลูกว่า "พูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง" ดังนั้นการที่ลูกไม่ฟัง ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้พูดหรือสั่งสอนด้วยการให้ความรู้ หรือบอกเล่าเรื่องราว แต่เป็นการ "ใช้อารมณ์ลงกับลูก"

ในเรื่องเดียวกันนี้ ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสังคม พร้อมคณะ ได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นว่า เขาอยากฟังอะไรจากพ่อแม่บ้าง โดย 100 คำพูดดี ๆ ที่พ่อแม่ควรพูด 3 อันดับแรกสูงสุดที่เด็ก ๆ อยากได้ยิน คือ

1. พูดด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ อ่อนหวานน่าฟัง

2. พูดให้กำลังใจ ไม่เป็นไรทำใหม่ได้

3. ให้คำปรึกษาหารือ เช่น ปรึกษาพ่อแม่ได้นะลูก ทำดีแล้วลูก ดีมากจ้ะ เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.สมพงษ์ให้แนวทางเพิ่มเติมว่า คนเป็นพ่อแม่ไม่ควรใช้คำว่า "ห้าม" กับลูกวัยรุ่นมากเกินไป เพราะผลการศึกษาพบเด็กสารภาพว่า ถ้าการขออนุญาตกระทำสิ่งใดแล้ว พ่อแม่ห้าม เขาจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะอยากท้าทาย และอยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น พ่อแม่ยุคนี้ต้องฟังลูกให้มาก บ่นให้น้อยลง อยู่กับเขาอย่างใจเย็น พูดคุยด้วยการดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการเตือนตัวเองว่า คำพูดรุนแรงที่อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับลูก 3 อันดับแรกคือ พูดคำหยาบ คำไม่สุภาพ ตามมาด้วย การด่าทอ พูดเสียงดังโหวกเหวก พูดจาแดกดัน ไม่ยอมรับฟังเหตุผล

เมื่อรู้แบบนี้ ถึงแม้ว่าลูกจะโต และดื้อขนาดไหน ก็ไม่ยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะพิชิตใจได้


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000120115

สำรวจพบ การมีลูกทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น

สำรวจพบ การมีลูกทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า การมีลูก และความต้องการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด คือสิ่งที่ดึงให้มนุษย์เราหันกลับมาหาคนรอบตัวอย่าง "พ่อแม่, ญาติพี่น้อง, เพื่อนฝูง และเพื่อนบ้าน" ได้อีกครั้ง

แม้จะเป็นการสำรวจของอังกฤษแต่ก็ถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์เราไม่สามารถจะอยู่ได้เพียงลำพังจริง ๆ แม้จะอยากเป็นพ่อแม่ที่เก่งสุดยอดเพียงใดก็ตาม

โพลล์สำรวจความเห็นของเวิร์กกิ้งมัมจำนวน 2,000 คนในครั้งนี้ของ Tesco Baby ระบุว่า มีแม่ ๆ ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับว่า แม้จะมีการบริหารจัดการที่ดีเพียงใด ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเธอจะเลี้ยงลูกแต่เพียงลำพัง

"ยาย" หรือก็คือแม่ของแม่ คือคนที่สำคัญที่สุด มีแม่ ๆ ถึง 2 ใน 3 บอกว่า พวกเธอจะคิดถึงแม่ก่อนเป็นอันดับแรก เวลามีเหตุฉุกเฉิน และแม่คือคนที่พวกเธอไว้วางใจที่สุดเวลาช่วยเลี้ยงลูกให้ ตามมาด้วยเพื่อนสนิท เพื่อนบ้าน หรือแม่ของเด็กคนอื่น ๆ ที่รู้จักกัน และมีเพียง 1 ใน 10 ที่ฝากให้แม่สามีช่วยเลี้ยง

นอกจากนี้ แม่ที่ตอบแบบถามถึง 67 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า พวกเธอคงต้องลาออกจากงานแน่ ๆ หากไม่ได้คนกลุ่มนี้ช่วยเอาไว้ นั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แม่ ๆ เข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน และมีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่มีใจอาสา เป็นฝ่ายช่วยเลี้ยงลูกให้เพื่อน - เพื่อนบ้านเป็นการตอบแทนเวลาที่พวกเขาไม่ว่าง หรือติดธุระด้วย

"การมีลูกทำให้หลายคนกลับมาใกล้ชิดกับครอบครัวเดิมอีกครั้ง รวมถึงเพื่อนบ้าน เพื่อนสนิท เพราะพวกเขาต้องการความช่วยเหลือในระหว่างตั้งครรภ์ และช่วงเลี้ยงดูบุตร"

อย่างไรก็ดี ความเครียดของคนเป็นแม่ใน พ.ศ.นี้ก็ยังมีอยู่ โดยเรื่องที่เครียดมากที่สุดก็คือ การอยากเป็นทั้งแม่ที่ดี และการเป็นพนักงานออฟฟิศที่ดีในเวลาเดียวกัน ส่วนเรื่องรองลงมาคือการทำให้บ้านสะอาดเอี่ยม

เรียบเรียงจากเดลิเมล

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000119630

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

18 เทคนิค ปราบ "เด็กดื้อ" อย่างได้ผล

แนะ 18 เทคนิค ปราบ "เด็กดื้อ" อย่างได้ผล

ว่ากันว่าเด็กในช่วง 2-12 ปี จะซนและดื้อมากที่สุด พ่อแม่พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมทำตาม ยิ่งถ้าบอกว่า "อย่า" เด็กก็จะยิ่งอยากทำสิ่งนั้นมากขึ้น ยิ่งบังคับมากเท่าใด เด็กก็จะต่อต้าน และอยากเอาชนะมากเท่านั้น

ในเรื่องนี้ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลว่า การที่เด็กดื้อ หรือซนเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่นที่ตัวของเด็กเอง เพราะเด็กที่เกิดมาแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ต่างมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย คือว่าตามลักษณะธรรมชาติของเด็กบางคนอาจจะมีจังหวะจะโคนของตัวเอง พื้นฐานโดยทั่วไปก็จะแตกต่างกัน แต่เด็กที่ดื้อจะมีลักษณะที่เลี้ยงยากสักหน่อย มักมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น ไวต่อสิ่งเร้า มีการกินการนอนที่ไม่เป็นเวลา ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็จะมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของตัวเองอยู่

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "เด็กดื้อ" จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า เป็นเรื่องของวัย เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วง 1-3 ปี เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อเขาสามารถก้าวเดินได้ เป็นธรรมดาที่จะต้องอยากทำนู้นทำนี่ สำรวจไปทั่ว เพราะเขายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าสิ่งแวดล้อมที่เขาเห็นอยู่นั้นคืออะไร และเด็กๆในวัยนี้มักจะคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าหากว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจัดการไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลทำให้เด็กดื้อต่อเนื่องยาวนานถึงระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาได้

ทั้งนี้ ผศ.นพ.ปราโมทย์ ให้ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการช่วยแปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและช่วยทำให้เด็กเชื่อฟังมากขึ้นด้วยวิธีการ "ทำดีมีรางวัล" โดยการตั้งกฎและให้คะแนนกับเด็กเพื่อนำไปสู่การให้รางวัล ซึ่งมี 18 วิธี ดังนี้

1. แนะนำโปรแกรมในแง่บวก เช่น ควรบอกเด็กว่า อยากช่วยให้เขาทำงานได้ทัน ไม่ต้องถูกว่าหรือบ่น เป็นต้น

2. ทำรายการสิ่งที่เขาต้องปฏิบัติ ไม่ให้ยาวเกินไป ไม่จุกจิกเกินไป

3. ทำรายการรางวัลให้เยอะเข้าไว้ (มากกว่า 15 รางวัล) เช่น ดูหนัง เล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ ให้เขามีโอกาสได้รางวัลทันทีจากสิ่งในชีวิตประจำวัน และควรรวมการเพิ่มค่าขนมให้เด็กไว้ในรางวัลเสมอ

4. ให้เด็กมีสิทธิได้รับเกือบทุกวัน อย่างน้อย 1 ใน 3 ของรางวัลที่ตั้ง

5. ใช้เหรียญรางวัลหรือนับคะแนนดี หากเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ไม่ควรใช้วิธีสะสมนี้ เด็กอายุ 4-7 ปี ให้สะสมเหรียญแทนคะแนน ส่วนเด็กอายุ 7 ปี ขึ้นไป ให้เก็บสะสมแต้มลงสมุดเหมือนเงินฝากดีกว่า

6. ให้เหรียญหรือแต้มเท่าไหร่ดี สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี ควรให้ 1-5 เหรียญต่อรายการพฤติกรรม ส่วนสำหรับเด็กอายุ 7-10 ปี ใช้ 5-25 เหรียญหรือคะแนนต่อรายการ และสำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ให้ 10 - 200 เหรียญ แต่อย่าจริงจังกับจำนวนเหรียญแต่ละครั้งเกินไป

7. รายการที่เป็นกิจวัตร ควรได้ทำทุกวัน รายการประจำวันควรได้รางวัล 2 ใน 3 ของรางวัลทั้งวัน ส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 อาจมาจากรายการพิเศษ เช่น หากคะแนนเต็ม 30 คะแนนต่อวัน ควรได้ 20 คะแนนจากงานประจำ และสามารถแลกรางวัลในชีวิตประจำวันได้ เช่น ได้ดูโทรทัศน์เพิ่ม ส่วนอีก 10 คะแนนที่เหลือ ค่อยมาช่วยคำนวณว่ากว่าจะได้รางวัลใหญ่จะใช้เวลาเท่าใด

8. ให้โบนัส ถ้าตั้งใจดี ใส่ลงในข้อสุดท้ายของรายการตัวโตๆ ว่า "ตั้งใจและพยายาม" และ "โบนัส" ของเด็กว่า ไม่ใช่แค่ทำเสร็จให้ได้รางวัล แต่ถ้าพยายามและตั้งใจด้วย ผลงานดี ไม่บ่น ก็มีรางวัลพิเศษให้ด้วยการเพิ่มเหรียญตามแต่ที่พ่อแม่เห็นสมควร ช่วยให้ทั้งพ่อแม่และเด็กเห็นความสำคัญกับความพยายามและความตั้งใจ นอกไปจากความสำเร็จ

9. เด็กมีโอกาสแลกรางวัลประจำ จะทำให้เด็กอยากได้ อยากทำ

10. ให้เหรียญต่อเมื่อไม่ต้องเตือนซ้ำซาก พูดครั้งแรกก็ทำ แต่ถ้าต้องเตือนซ้ำก็อดได้ ถ้าเขาไม่ทำเลย เขาไม่มีโอกาสได้รางวัลในสัปดาห์แรก แต่ถ้าเฉยในสัปดาห์ที่ 2 เขาจะถูกปรับ

11. ให้เหรียญเมื่อทำดีได้ไม่อั้น เมื่อไรที่เด็กทำดี แม้จะไม่มีปรากฏในรายการ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอาสาทำเอง พ่อแม่ควรฉวยโอกาสทำเป็นเรื่องใหญ่ ให้รางวัลทันที

12. พยายามงดการปรับในช่วงสัปดาห์แรกๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อพ่อแม่เห็นว่าการให้รางวัลล่อใจเด็กมากเกินไปแล้วเด็กไม่ทำตาม จึงแก้ปัญหาด้วยการขู่หรือปรับเด็ก ซึ่งไม่ควรทำเพราะเด็กจะรู้สึกว่าโปรแกรมนี้เป็นการลงโทษมากกว่า

13. เมื่อต้องปรับให้ใช้กฎ 2:1 หลังจากสัปดาห์แรกไปแล้ว พ่อแม่จะเริ่มปรับหากเด็กไม่ทำตามที่บอก ซึ่งควรเริ่มดังนี้ เมื่อหลังจากพ่อแม่พูดแล้ว 10 วินาที หากเด็กยังไม่มีท่าทีขยับจะทำ ก็จะถูกเตือนว่าจะอดได้เหรียญ และหากต้องสั่งครั้งที่สอง จะถูกปรับเหรียญจากบัญชีสะสมของเขา และหากต้องสั่งครั้งที่สามก็ควรแยกเด็กออกไปอยู่ในมุมสงบ ไม่มีสิ่งกระตุ้น (time-out) เมื่อเริ่มลงโทษปรับ พ่อแม่ควรใช้กฎ 2:1 คือ เหรียญรางวัลที่เด็กจะได้จากการทำดีควรเป็น 2 เท่า ของที่ถูกปรับไปใน 24 ชั่วโมง ถัดมา ทั้งนี้เพื่อคงแรงจูงใจกับเด็ก ให้เด็กเห็นว่าเราอยากให้เขาทำดี มากกว่าการลงโทษเมื่อผิด

14. พ่อแม่ควรระวังการเข้าสู่วังวนของการลงโทษ ซึ่งมักต่อเนื่องจากเมื่อพ่อแม่เริ่มลงโทษปรับ เด็กจะโกรธต่อต้าน พ่อแม่ควรลงโทษปรับเพียง 2 ครั้ง ถ้ามีกิริยาไม่ดี ก็เพิกเฉย แล้วส่งเด็กไป time-out แทน

15. พ่อแม่ควรมีจำนวนเหรียญรางวัลต่ำสุดในแต่ละวัน เนื่องจากพ่อแม่บางคน "หวง" รางวัลเกินไป และยังกระตุ้นให้พ่อแม่คอยมองหาพฤติกรรมดีๆ ของเด็กอยู่เรื่อยๆ ด้วย

16. ถ้าไม่ได้หรือไม่มีสิทธิ์ได้ คือ เมื่อเด็กได้เหรียญสะสมไม่ถึงขั้นที่จะได้ของหรืออภิสิทธิ์บางอย่าง ก็ไม่ควรให้ แม้จะอาละวาดเพียงใด หรือต่อรองเพียงใด พยายามรักษาระบบไว้

17. ปรับปรุงรายการรางวัลทุก 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะถ้าเห็นว่ารางวัลบางอย่างไม่ได้รับความสนใจจากเด็กเลย ควรหาสิ่งใหม่ที่จูงใจกว่ามาใส่แทน

18. เก็บสะสมคะแนนเพื่อออกจากระบบโปรแกรมนี้ พ่อแม่ควรใช้ระบบสะสมรางวัลอย่างเคร่งครัดอยู่ 6-8 สัปดาห์ ถ้าทำได้ดีจริง เด็กจะเริ่มเคยชินกับการปฏิบัติตัวเหล่านี้ เราอาจเริ่มถอนรายการพฤติกรรมบางอย่างออก โดยชมเขาว่าที่ผ่านมาเขาทำดีมาก แต่เรายังจะสังเกตเขาอยู่ห่างๆ และเพื่อดึงแรงจูงใจของเด็กไว้ ภายในหนึ่งปี พ่อแม่ควรปรับปรุงโปรแกรมทั้งรายการพฤติกรรม และรางวัลหลายๆ ครั้ง

ทั้งหมดเป็นเคล็ดลับการช่วยให้ระบบทำดีมีรางวัล ได้ผลยิ่งขึ้น ซึ่งก็คงเหมือนการปรุงอาหาร แต่ละบ้านคงมีวิธีปรุงให้รสชาติถูกปากสมาชิกครอบครัวต่างๆ กันไป ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยเด็กได้จริง เชื่อว่าจากเด็กที่ซุกซนไม่เชื่อฟังจะกลายเป็นเด็กน่ารักยอมเชื่อฟังและอยู่ในกฎกติกาขึ้นอีกเป็นกอง


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000117644

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

สอนลูกให้เป็นคนมีคุณค่า..ด้วยความดี

สอนลูกให้เป็นคนมีคุณค่า..ด้วยความดี

เมื่อพูดถึงความเป็นคนที่มีคุณค่า คงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันถึงคุณสมบัติและความหมายที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจบอกว่าคนที่มีคุณค่านั้นคือคนที่เก่ง คนที่มีความสามารถ บางคนอาจจะบอกว่าคนที่มีคุณค่าหมายถึงคนดีที่มีคุณธรรมประจำใจ จริง ๆ แล้วสังคมไทยหาคนเก่งและมีความสามารถได้ไม่ยาก แต่เดี๋ยวนี้เราแทบจะหาคนดีที่มีคุณธรรมนั้นได้ยากยิ่งเหลือเกิน เพราะใครๆต่างก็เห็นแก่ตนเองและทำทุกอย่างเพื่อตนเองมากกว่าจะประกอบคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ส่วนรวมและประเทศชาติ

การที่พ่อแม่จะอบรมเลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนจิตใจดี มีความประพฤติดีนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาและความอดทน โดยการเลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนดีนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องแม่ด้วยซ้ำไป เพราะเด็กสามารถได้ยินเสียงตั้งแต่อายุ 5 เดือนที่ยังอยู่ในท้องของแม่ ดังนั้นพ่อแม่ควรพูดแต่สิ่งดี ๆ และเรื่องดี ๆให้ลูกฟังตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง เพื่อเป็นการปลูกฝังให้ลูกได้ซึมซับคุณธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของจิตใจ

ทีนี้เรามาดูกันว่าคุณธรรมหรือความดีอะไรบ้างที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้กับลูก

1. สอนให้เป็นคนมีความเมตตากรุณา หมายถึง การสอนให้ลูกรู้จักการให้และการช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเสียสละ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความดีในเรื่องนี้เป็นความดีขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกมีความเมตตากรุณาอย่างง่ายๆ เช่น การให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจคนที่ด้อยโอกาส ให้เขาได้ช่วยเหลือผู้อื่น สอนให้ลูกรู้จักดูแลสัตว์และต้นไม้ รักษาสภาพแวดล้อม อีกทั้งสอนไม่ให้ลูกแกล้งผู้อื่นหรือรังแกสัตว์

2. สอนให้เป็นคนมีความซื่อสัตย์ หมายถึง การประพฤติที่ตรงไปตรงมา ไม่ทุจริต ไม่หลอกลวง ไม่มีต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง ความดีในเรื่องนี้เป็นคุณความดีที่หาได้ยากมากในสังคมไทย แต่เป็นความประพฤติที่สำคัญมากไม่ว่าจะเป็นในสังคมหรือในองค์กรใดก็ตาม ถ้าปราศจากความซื่อสัตย์แล้ว สังคมหรือองค์กรนั้นๆก็จะประสบความวุ่นวายและล่มสลายในที่สุด วิธีการที่พ่อแม่สอนให้ลูกมีความซื่อสัตย์ที่ได้ผลนั้นก็คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ โดยการแสดงความซื่อสัตย์ให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง ทั้งในเรื่องของคำพูด คือไม่พูดจาโกหกปลิ้นปล้อนให้ลูกได้ยิน เมื่อสัญญาหรือรับปากว่าจะทำสิ่งใดก็ทำตามนั้น อีกทั้งพ่อแม่ควรมีความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน รวมทั้งพ่อแม่ควรเป็นคนมีความซื่อสัตย์ในเรื่องทรัพย์ สินเงินทองโดยไม่ประพฤติผิดในการคดโกงยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่น หรืออยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน

3. สอนให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึง การประพฤติที่สุภาพเรียบร้อย ให้เกียรติผู้อื่นทั้งในเรื่องของคำพูดและการกระทำที่อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หยาบกระด้าง เพราะคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไปอยู่ในสังคมใดก็มักจะเป็นที่รักและเอ็นดู ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้ลูกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน โดยการฝึกให้ลูกพูดจาสุภาพเรียบร้อยตั้งแต่เด็ก สอนให้ลูกทำความเคารพผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กๆจนติดเป็นนิสัย เช่นการไหว้ การกราบ การเดินก้มตัวเวลาเดินผ่านผู้ใหญ่

4. สอนให้เป็นคนมีความกตัญญู หมายถึง การรู้คุณค่าของความดีและรู้จักตอบแทนความดีของผู้มีพระคุณ ซึ่งได้แก่ พ่อแม่ คุณครู ญาติผู้ใหญ่ คำโบราณสอนไว้ว่าคนที่กตัญญูตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้ลูกเป็นคนที่รู้จักตอบแทนและสำนึกถึงคุณงามความดีของผู้อื่น โดยการที่พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ควรดูแลปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ อีกทั้งพาลูกไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่เมื่อมีโอกาสเสมอ ช่วยเหลือในการงานของท่านเท่าที่พอทำได้

5. สอนให้มีความเพียรพยายามมานะอดทน หมายถึง ความบากบั่น ความกล้าหาญ การมุ่งมั่นไปข้างหน้า การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาใดๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเป็นคนที่มีความเพียรพยายามมานะอดทนต่อความยากลำบาก เพราะคนที่มีความมานะอดทนจะไม่ท้อถอยแม้มีปัญหามากมายเข้ามาในชีวิต อีกทั้งรู้จักต่อสู้กับความพ่ายแพ้ในทุกรูปแบบของชีวิตด้วยความถูกต้องชอบธรรมโดยไม่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งคนประเภทนี้แหละที่เป็นที่ต้องการของสังคมไทยยุคปัจจุบัน

การที่พ่อแม่สอนให้ลูกเป็นคนเพียรพยายามนั้น ต้องสอนตั้งแต่เล็กๆโดยการเริ่มต้นให้ลูกรู้จักการช่วยเหลือตัวเองในเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำแต่งตัว การรับประทานอาหาร การทำการบ้าน โดยที่พ่อแม่ควรให้ลูกทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง อย่าโอ๋ลูกจนเกินไป เพื่อที่ลูกจะไม่กลายเป็นลูกแหง่หรือเด็กขี้แยไร้เหตุผลไปจนโต

ผู้เขียนเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นทั้งคนดีและเก่ง แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าลูกเป็นคนเก่ง มีความสามารถ แต่เป็นคนไร้ซึ่งความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญูและความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะคุณค่าของความเป็นคนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ความดีนั่นเอง

ที่มา
สอนลูกให้เป็นคนมีคุณค่า..ด้วยความดี/ดร.แพง ชินพงศ์

ชี้ "คุณแม่บ้าน" มีส่วนเอี่ยว ต้นเหตุภาวะทุพโภชนาการในเด็ก!

ชี้ "คุณแม่บ้าน" มีส่วนเอี่ยว ต้นเหตุภาวะทุพโภชนาการในเด็ก!

เมื่อพูดถึง ปัญหาทุพโภชนาการ หรือการขาดสารอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งในเด็กนั้น เป็นปัญหาที่มีการพูดถึงกันบ่อยในหลาย ๆ เวที โดยเด็กที่ขาดสารอาหารในปัจุบันไม่ใช่เกิดแต่เด็กยากจนเท่านั้น เด็กที่มีฐานะดีก็มีปัญหานี้เช่นกัน และหนึ่งในต้นเหตุสำคัญก็คือคุณแม่บ้านนั่นเอง

ในเรื่องนี้ ดร.อาณดี นิติธรรมยง รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและกิจกรรมพิเศษ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจสถิติพบว่า เด็กก่อนวัยเรียน 1 ใน 5 คน มีปัญหาโภชนาการ ขณะที่เด็กวัยเรียนมีปัญหานี้ประมาณ 1 ใน 10 คน ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก หากปล่อยทิ้งไว้ โอกาสที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพย่อมเกิดได้สูง

สำหรับต้นเหตุของภาวะทุพโภชนาการในเด็กนั้น นักวิชาการรายนี้ ชี้ว่า คุณแม่บ้านมีส่วนเอี่ยวอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นคนกำหนด และจัดหาอาหารของครอบครัว โดยส่วนมากยังขาดความรู้ว่าโภชนาการที่เหมาะกับแต่ละวัยเป็นอย่างไร ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

"คุณแม่หลายคนยุ่งจนไม่มีเวลาเอาใจใส่ควบคุมการรับประทานอาหาร ปล่อยให้ลูกเลือกกินตามใจปาก หรือใช้วิธีซื้ออาหารสำเร็จรูป ทำให้ควบคุมเรื่องสารอาหารที่จำเป็นไม่ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องพัฒนาการและพฤติกรรมของคนในครอบครัวต้องเริ่มจากที่แม่บ้านเป็นสำคัญ" ดร.อาณดีกล่าว

แต่กระนั้น ด้วยยุคสมัยที่เร่งรีบจนทำให้คุณแม่ทั้งหลายแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารให้ลูก ดร.อาณดี แนะว่า หนึ่งในอาหารที่มีประโยชน์ ราคาไม่แพง ที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานได้ทุกวัน โดยที่แม่บ้านไม่ต้องเหนื่อย ได้แก่ นม ซึ่งนอกจากจะมีสารอาหาร และแร่ธาตุที่จำเป็นแล้ว ยังรับประทานได้ทันที มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และรสชาติ ไม่ว่าจะเป็น นมสดรสต่าง ๆ นมเปรี้ยวชนิดพร้อมดื่ม รวมไปถึงโยเกิร์ตชนิดถ้วย ซึ่งมีทั้งแบบธรรมดา และแบบที่มีประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น ช่วยในการขับถ่าย เป็นต้น โดยโยเกิร์ตนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะให้แคลเซียม โปรตีน และวิตามินบีแล้ว คนที่แพ้นมก็รับประทานได้ เพราะน้ำตาลแลคโตสที่ทำให้แพ้นั้นถูกย่อยไปแล้ว และยังมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีนในนมอีกด้วย

"ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ควรดื่มหรือรับประทานผลิตภัณฑ์นมให้ได้ทุกวันวันละ 1-2 แก้ว จะเป็นนมสด หรือโยเกิร์ตก็ได้ จึงจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการอย่างครบครัน และควรออกกำลังกายไปพร้อมกัน เพื่อให้ร่างกายนำแคลเซียมในนมไปเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเริ่มได้ตั้งแต่ในวัยเด็กจะยิ่งดี เพราะร่างกายเราจะสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้จนถึงอายุ 30 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นแคลเซียมจะช่วยชดเชยส่วนที่สึกหรอ การสร้างนิสัยการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง และการออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่ยังอายุน้อย จะเป็นการปลูกฝังรากฐานของการใช้ชีวิตที่ถูกต้องให้กับเด็กต่อไป" ดร.อาณดีเผย

ดังนั้น การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม โดยการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยพัฒนาการด้านต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานได้เต็มที่และมีสุขภาพดีด้วย เห็นได้จากรายงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายทำให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมองดี และร่างกายสามารถผลิตสารกระตุ้นสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ฉับไว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"เรารับประทานอาหารเข้าไปเท่าไรก็ควรใช้พลังงานให้สมดุล ไม่เช่นนั้นพลังงานจะสะสมมากเกินไปจนเกิดโรคอ้วน ซึ่งโรคอ้วนไม่ได้แปลว่าได้รับสารอาหารครบเสมอไป คนที่เป็นโรคอ้วนอาจขาดสารอาหารบางอย่างได้ด้วยเหมือนกันถ้าพฤติกรรมการรับประทานไม่ถูกต้อง" ดร.อาณดีกล่าวสรุป


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000116433

ฝึก "จิตสาธารณะ" ลูกผ่านสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วม

ฝึก "จิตสาธารณะ" ลูกผ่านสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วม



ช่วงนี้ฝนตกน้ำท่วมแทบทุกวัน คำถามหนึ่งที่เด็ก ๆ ชอบถามก็คือ "ทำไมฝนตกแล้วรถต้องติดด้วยครับ/ค่ะ" พ่อแม่ต้องอธิบายกันยกใหญ่ เพราะถนนลื่นบ้าง โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ฯลฯ แต่ไม่วายที่เด็ก ๆ ต้องตั้งคำถามต่อว่า "แต่เวลาฝนไม่ตกรถก็ติดเหมือนกันนี่ครับ/ค่ะ"

คำถามของเด็กไม่มีวันหมดหรอกค่ะ ผู้ใหญ่ต้องคอยรับมือกับสารพัดคำถามที่มีมาได้ทุกวัน โดยเฉพาะเด็กวัยอยากรู้อยากเห็นอยากลอง เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในการพยายามตอบคำถามของเด็กให้คลายสงสัยให้ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว แต่พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายรุกในการตั้งคำถาม หรือกระตุ้นให้เด็กฝึกคิด และถือโอกาสสอดแทรกและปลูกฝังเรื่องดี ๆ ผ่านสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย

ดังเช่น สถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในขณะนี้ หยิบมาเป็นบทเรียนฝึกทักษะการคิดกับลูกได้ค่ะ

ประการแรก ชวนลูกคุยเรื่องฝนตกแล้วทำไมน้ำจึงท่วม และทำให้เกิดอะไรตามมาบ้าง โดยคุณเป็นผู้กระตุ้นให้ลูกคิดตามเพื่อให้ลูกได้เห็นภาพ

ประการที่สอง ควรตั้งคำถามลูกว่า รู้สึกอย่างไรจากภาพข่าวความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านสื่อทุกแขนงที่นำเสนอภาพความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้ให้เขารู้จักอารมณ์ของตนเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

ประการที่สาม ฝึกจินตนาการด้วยการสร้างสถานการณ์จำลองว่าถ้าเขาต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้บ้างจะทำอย่างไร อาจสร้างสถานการณ์ว่าถ้าน้ำท่วมที่บ้าน สิ่งของจำเป็นที่เราต้องดูแลรักษาควรต้องเก็บไว้ที่ไหน แล้วทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย เช่น เคลื่อนย้ายสิ่งของที่อยู่ต่ำขึ้นไปไว้ที่สูงหรือชั้นสองของบ้าน และสิ่งของที่อยู่นอกบ้านให้เก็บเข้ามาไว้ในบ้าน หรือผูกมัดไว้ให้ยึดติดแน่นอยู่กับที่

ที่สำคัญต้องถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด อย่าจับเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก หรือแช่เท้าในน้ำเด็ดขาด รวมถึงเตรียมอาหารแห้งที่ไม่เน่าเสีย เป็นอาหารที่พร้อมรับประทานได้ทันที เช่น นม น้ำผลไม้ อาหารกระป๋อง ฯลฯ หรือถ้าต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมนอกบ้าน เช่น อยู่ในรถ อย่าขับรถในพื้นที่น้ำท่วมสูง เพราะจะไม่สามารถควบคุมรถได้ และน้ำอาจเข้ารถ

ประการที่สี่ สอนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่มากับฝนตกน้ำท่วม รวมถึงวิธีดูแลป้องกัน และแก้ไขอย่างไร เพื่อให้เขาได้รู้เท่าทันเมื่อต้องประสบเหตุลุยน้ำท่วม และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขัง แต่ถ้าต้องเดินลุยน้ำก็ต้องรีบทำความสะอาดเท้าทันที

ประการที่ห้า ถ้าตัวเองไม่ได้ประสบความเดือดร้อนโดยตรง คุณก็สามารถฝึกเรื่องจิตอาสาให้ลูกได้ว่า เราจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้บ้างไหม ได้อย่างไร ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็น เป็นการฝึกให้ลูกคิดหาทางช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหม

ประการที่หก ฝึกคิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องชวนลูกปฏิบัติจริงด้วย อาจบอกลูกว่ามีช่องทางช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมากมาย มีวิธีใดบ้าง และชวนลูกลงมือทำ เช่น แบ่งปันเงินออมมาร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน หรือไปช่วยเหลือตามช่องทางที่สามารถทำได้และเหมาะสมกับวัย แล้วอย่าลืมถามว่า เด็ก ๆ รู้สึกอย่างไร เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความสุขจากการ “ให้” เป็นการปลูกฝังเรื่องความมีน้ำใจและแบ่งปันให้กับผู้อื่น

ประการที่เจ็ด หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ควรสอนให้ลูกเชื่อมโยงความคิดด้วยว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง ความเดือดร้อนและผลกระทบจากข้าวของเสียหาย ความสูญเสียที่ตามมา รวมไปถึงสภาวะจิตใจของผู้คนจะหนักหนาเพียงใด เพื่อให้เขาได้มองเห็นว่าในปัญหาหนึ่งปัญหา มันส่งผลกระทบไปสู่เรื่องอื่น ๆ ด้วย เป็นการฝึกให้เด็กมองปัญหาอย่างรอบด้าน

ประการสุดท้าย ถือโอกาสพูดคุยถึงรากฐานของปัญหา เช่น สาเหตุของการเกิดน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก เกิดจากอะไรบ้าง ต้นไม้เกี่ยวข้องไหม การรุกล้ำพื้นที่ป่าเกี่ยวข้องไหม ตั้งคำถาม และให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ว่าทุกเหตุการณ์มันมีที่มาที่ไป และคนก็เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดภัยธรรมชาติในหลายๆ เรื่อง จากนั้นก็นำไปสู่การสอนให้ลูกรักธรรมชาติ และช่วยกันปกป้องภัยธรรมชาติได้อย่างไรบ้าง

การนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว จะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้ และต่อยอดความคิดได้มากมาย ที่สำคัญพ่อแม่สามารถสอดแทรกเรื่องที่ต้องการปลูกฝังลูกในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "จิตอาสา" ที่เป็นการฝึกให้ลูกได้ซึมซับตั้งแต่เล็ก เพื่อให้เขาหรือเธอตัวน้อยได้เรียนรู้เรื่อง "ใจเขาใจเรา" ซึ่งเป็นการฝึกทักษะขั้นพื้นฐานในการนำไปสู่การคิดสิ่งดีๆ หรือมี "จิตสาธารณะ" ค่ะ


ที่มา
ฝึก "จิตสาธารณะ" ลูกผ่านสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วม/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000115794

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

พบ 5 นวัตกรรมโภชนาการ ช่วยเด็กไทยพ้นภัย ผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่

พบ 5 นวัตกรรมโภชนาการ ช่วยเด็กไทยพ้นภัย ผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่

กรมอนามัย-สสส. ค้นพบ 5 นวัตกรรมโภชนาการสมวัยช่วยเด็กไทยพ้นภัย ผอม-เตี้ย-อ้วน-โง่ หลังพบเด็กไทยในวัยเรียนเกินครึ่ง หรือ 1 ใน 5 กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ แถมกินอาหารว่างให้พลังงานเกินความจำเป็นเกือบ 3 เท่า เตรียมนำ 5 นวัตกรรมไปใช้ 300 กว่าโรงเรียน ใน 9 จังหวัดนำร่อง พร้อมชงเป็นนโยบายพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการเด็กวัยเรียนในปี 55


วันนี้ (10 ก.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ดำเนินการโดยกรมอนามัย และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมและเปิดตัวนวัตกรรมโรงเรียนโภชนาการสมวัย มีการนำเสนอนวัตกรรมโรงเรียนโภชนาการสมวัยของสถานศึกษา และพิธีมอบโล่เกียรติคุณแก่ภาคีเครือข่ายโภชนาการสมวัย และเกียรติบัตรให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในกรพัฒนานวัตกรรมโภชนาการสมวัยและโรงเรียนโภชนาการสมวัย
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นกยกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ประธานเปิดโครงการการประชุม กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยของกรมอนามัยได้ดำเนินการมาถูกทางแล้วและเป็นงานที่สำคัญ เพราะโภชนาการสมวัยนั้นจะต้องสมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาเกิดมาจะต้องมีน้ำหนักมาตรฐาน 3 กิโลกรัม และเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนต้องมีน้ำหนัก ส่วนสูงเหมาะสมตามวัย และเป้าหมายสำคัญที่สุดคือมีสุขภาพที่ดี โดยโภชนาการที่ดีสมวัยนั้นต้องเกิดการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย ดังนั้น โครงการนี้จึงมีจุดเด่นมากเพราะเป็นโครงการที่ลงสู่ชุมชน และผู้ที่รับผิดชอบหลักคือองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภายในชุมชนก็มีโรงเรียน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของชุมชนที่จะร่วมมือกันขยายผลต่อไป จุดเด่นสำคัญอีกประการคือการนำวิชาการมาใช้ในการพัฒนา เพราะทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดความคิดใหม่ น่าเชื่อถือมีหลักฐานทางวิชาการที่หนักแน่น จุดเด่นที่สามคือเนื้อหาหลักๆ ในด้านโภชนาการ ผัก ผลไม้ ลดความหวาน มัน เค็ม โรคอ้วน ทั้งหมดนี้อยากให้เรียนรู้โดยการการปฏิบัติ เพื่อให้นำไปสู่พฤติกรรมทางด้านโภชนาการและสุขภาพที่ดีและยั่งยืน และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นจะต้องนำสู่การประเมินพฤติกรรม ผลที่พึงเกิดขึ้นด้วย

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ และผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ในปีที่สามนี้จะดำเนินการใน 4 กลยุทธ์ คือ สร้างระบบเตือนภัยและการจัดการด้านอาหารและโภชนาการ การผลักดันให้เกิดแผนชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีโภชนาการสมวัย การพัฒนาสู่องค์กรที่พึงประสงค์ด้านโภชนาการ และการสื่อสารสาธารณะและการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะด้านโภชนาการสมวัย และรวมถึงการจัดเวทีถอดบทเรียนและกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนงานโภชนาการในระดับพื้นที่และระดับชาติ ที่จะส่งผลให้เด็กไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติมีโภชนาการสมวัยต่อไป

นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาและการสำรวจโรงเรียนหลายแห่ง พบ 1 ใน 5 ของเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษา กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ โดยเด็กนักเรียน ร้อยละ 60 ไม่ได้กินอาหารเช้า, ร้อยละ 68 กินผัก และ ร้อยละ 55 กินผลไม้น้อยกว่า 1 ส่วนต่อวันตามลำดับ ขณะเดียวกันเด็กนักเรียน 1 ใน 3 กินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ และกินอาหารว่างที่ให้พลังงานเกินกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบเป็นประจำ และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบเพิ่มเป็น 2 เท่า จะเห็นได้ว่า เด็กไทยวัยเรียนมีพฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการที่ไม่พึงประสงค์จำนวนสูงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยผอม เตี้ย อ้วน และไอคิวต่ำ ด้วยเหตุนี้ โครงการโภชนาการสมวัยฯ จึงได้พัฒนานวัตกรรมทางอาหารและโภชนาการขึ้นมา 5 ชิ้น เพื่อใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการในเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษาให้พึงประสงค์ เพื่อเด็กจะได้มีโภชนาการสมวัยต่อไป

นายสง่า กล่าวต่อว่า โครงการโภชนาการสมวัยฯ พัฒนารูปแบบสื่อและเครื่องมือการดำเนินงานโภชนาการในโรงเรียนนำร่อง 4 สังกัด คือ สพฐ. กทม. เทศบาล และเอกชน จำนวน 33 แห่ง ใช้เวลาในการพัฒนา 3 ปี จนเกิดนวัตกรรมโภชนาการสมวัย จำนวน 5 ชุด ดังนี้ ชุดที่ 1 ชุดเรียนรู้กลางเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยใช้เป็นคู่มือครูในการเรียนการสอนโภชนาการแบบมีส่วนร่วมจำนวน 4 เรื่อง คือ ธงโภชนาการ, ผักผลไม้, ลดหวาน มัน เค็ม และโรคอ้วน โดยบูรณาการทั้ง 4 เรื่องเข้าไว้ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ชุดที่ 2 คู่มือปฏิบัติการมาตรฐานอาหารในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ใช้เป็นแนวปฏิบัติการกำหนดและการให้บริการอาหารกลางวัน อาหารว่าง และเครื่องดื่มในโรงเรียนให้ได้มาตรฐานโภชนาการ ชุดที่ 3 โปรแกรมสำเร็จรูปอาหารกลางวันและการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตเพื่อให้โรงเรียนได้นำไปกำหนดชนิดและปริมาณอาหารที่จะนำมารปรุงประกอบอาหารกลางวันให้ได้กินครบคุณค่าทางโภชนาการตลอดจน บอกภาวะโภชนาการเด็กและแนวทางส่งเสริมป้องกันในโปรแกรมสำเร็จรูป ชุดที่ 4 คู่มือประเมินตนเองของโรงเรียนโภชนาการสมวัยใช้สำหรับโรงเรียนประเมินตนเองเพื่อหาจุดแข็ง-จุดอ่อนของโรงเรียนในการส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียน และชุดที่ 5 โปรแกรมประเมินตนเองด้านอาหารและโภชนาการนำเอาข้อมูลจากการประเมินตนเองป้อนเข้าโปรแกรมก็จะทำให้โรงเรียนได้รู้สถานการณ์โภชนาการของตนเอง

“นวัตกรรมโภชนาการสมวัยทั้ง 5 ชุด ได้นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง จนเกิดผลดีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหารและโภชนาการของเด็กวัยประถมศึกษาและมีการนำไปใช้ในการขยายสู่โรงเรียนอื่น ดังนั้นโครงการโภชนาการสมวัยจึงได้เปิดตัวนวัตกรรมโภชนาการสมวัย 5 ชุด และขยายพื้นที่การทดลองได้ในอีก 300 กว่าโรงเรียน ใน 9 จังหวัดนำร่อง โดยจะเริ่มทดลองใช้ในปีการศึกษาปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 - มีนาคม 2555 หลังจากนั้นจะนำผลการดำเนินงานมาถอดบทเรียนและสรุปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการเด็กวัยเรียนในกลางปี 2555 ต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายของชาติต่อไป” นายสง่า กล่าว


ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000115097

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

รู้เท่าทัน "โรคมือ เท้า ปาก" วายร้ายใกล้ตัวลูก!

รู้เท่าทัน "โรคมือ เท้า ปาก" วายร้ายใกล้ตัวลูก!

การระบาดครั้งล่าสุดของโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคดังกล่าวในเด็กเล็กอีกครั้ง หลังจากที่พบผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก ครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย นับเป็นอีกหนึ่งโรคในเด็กที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

โดยสาเหตุของโรคที่รุนแรง เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ อีวี 71 ซึ่งพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ทำให้สถานการณ์ของโรคดังกล่าวระบาดรุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยปกติสาเหตุของเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยในประเทศไทยคือเชื้อไวรัสค็อกซากี (Coxsackie) ชนิดเอ 16 พบในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป และอยู่ภายใต้การติดตามทางระบาดวิทยามาโดยตลอด

ความน่าเป็นห่วงนี้ นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปากเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน โดยมีการระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยไวรัสค็อกซากี เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่การระบาดของเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ครั้งนี้มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 ที่พบก่อโรคในเด็กกลุ่มอายุน้อยลง คือ อายุน้อยกว่า 2 ปี เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีไข้สูง อาเจียนมาก หายใจหอบ มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำจนช็อก ในกรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มีอาการชักเกร็ง ซึม และเสียชีวิตได้

โรคมือ เท้า ปาก มักพบการระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยโรคดังกล่าวนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ และสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ นอกจากนั้นเชื้อไวรัสก่อโรคมือเท้า ปาก สามารถแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ และติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย ตลอดจนการติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดนี้

สำหรับอาการแสดงออกของโรคมือ เท้า ปากในเด็กนั้น จะมีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขา อาการดังกล่าวมักมีเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายได้ใน 1 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

"โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง จากเชื้ออีวี 71 ที่ทำให้สมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึมอ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน" นพ.พรเทพ กล่าว

แม้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ อีกทั้งโรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษาจำเพาะ แต่สิ่งที่แพทย์ปฏิบัติ คือการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่ สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

- แยกผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น

- คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้

- ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก

- โรงเรียนควรแยกเด็กป่วยให้ลาหยุดอย่างน้อย 5 วันจนหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแก่เด็กอื่น ๆ และพิจารณาปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยเป็นโรคมากกว่า 2 คน และหากมีเด็กป่วยหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนอย่างน้อย 5 วัน พร้อมทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ ของเล่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร เป็นต้น

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กที่ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ควรแจ้งให้โรงเรียนทราบ และให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายอย่างน้อย 5 วัน โดยเด็กที่ติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เอง หากไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000112735

รับมืออย่างไร เมื่อคนในบ้านเกิดอาการสำลัก

รับมืออย่างไร เมื่อคนในบ้านเกิดอาการสำลัก!

อาการสำลักมักเกิดจากอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมลงไปกีดขวางทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ที่สำลักไม่สามารถพูด ไอ หรือหายใจได้ ซึ่งหากช่วยเหลือไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีปฏิบัติ และวิธีรับมือเมื่อคนในบ้านเกิดอาการสำลักจากศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลกรุงเทพมาฝากกันครับ

ความรุนแรง หรืออันตรายของการสำลักมีดังนี้

- ตำแหน่งที่เกิดการอุดตัน เช่น เกิดการอุดตันเหนือบริเวณสายเสียง สิ่งอุดตันก็จะหลุดได้ง่ายกว่าบริเวณที่ต่ำกว่า

- หากขนาดของสิ่งที่ไปอุดตันมีขนาดใหญ่มากก็จะสามารถหลุดออกได้ยาก

- ถ้าเป็นการอุดตันเพียงบางส่วน สิ่งที่เข้าไปอุดก็จะหลุดออกมาได้ง่ายกว่า เช่น หมากฝรั่งที่เหนียวก็จะหลุดได้ยากกว่าเมล็ดผลไม้

- ระยะเวลาที่มีการอุดตัน หากนานเกินไปก็จะเป็นอันตรายมาก เนื่องจากสิ่งอุดตันจะทำให้เยื่อบุท่อทางเดินหายใจมีอาการบวมและเกร็งตัว

อาการของคนสำลักที่สังเกตได้

- ผู้ที่สำลักมักจะใช้มือจับไปที่คอของตนเอง

- ผู้ที่สำลักหายใจไม่ออก ไอ หรือหายใจไม่ได้

- ผู้ที่สำลักไม่สามารถพูดได้

- ผู้ที่สำลักไม่สามารถไอ เพื่อให้อาหารหรือสิ่งแปลกปลอมออกมาได้

- ริมฝีปาก และหน้าเปลี่ยนสี

- ผู้ที่สำลักหมดสติ เป็นลม

การสำลักนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจและมักเป็นสาเหตุของการตายที่พบได้บ่อย ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ที่สำลักมีวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

หากผู้ที่สำลักไม่สามารถไอได้เอง หรือได้พยายามไอแล้ว และไม่ได้ผล ควรทำการตบแรง ๆ ที่บริเวณหลังของผู้สำลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไอ ควรทำซ้ำ 5 ครั้ง หากสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก วิธี Heimlich Maneuver สามารถปฏิบัติได้ในผู้ใหญ่ หรือเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ขวบขึ้นไป

1. ให้ผู้ป่วยยืนขึ้น

2. ยืนข้างหลังผู้ป่วยโดยให้ขาข้างหนึ่ง อยู่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย เพื่อพยุงผู้ป่วยในกรณีที่หมดสติ

3. ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่า กำลังจะให้ความช่วยเหลือ

4. ใช้แขนทั้ง 2 ข้าง โอบรอบเอวผู้ป่วย ควรระวังอย่าให้แขนอยู่บริเวณกระดูกซี่โครง เนื่องจากอาจมีผลทำให้ซี่โครงหักได้

5. กำมือข้างหนึ่ง โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ชิดกับตัวผู้ป่วย ในบริเวณที่เหนือสะดือขึ้นมาเล็กน้อย และอยู่ใต้ข้อต่อกระดูกแผงหน้าอก

6. ใช้มืออีกข้างจับมือข้างที่กำเอาไว้

7. ออกแรงดันมือที่กำไว้ขึ้นมาทางด้านบนอย่างรวดเร็ว และควรออกแรงให้มากพอที่จะดันสิ่งแปลกปลอมออกมา

8. ในการออกแรงดันนั้น จะช่วยทำให้กระบังลมดันให้อากาศออกมาจากปอดของผู้ป่วย ทำให้เกิดลักษณะที่คล้ายกับการไอ

9. ออกแรงพยุงผู้ป่วยไว้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจหมดสติหากไม่ได้ผล

10. ควรทำซ้ำได้ถึง 5 ครั้ง หากไม่ได้ผลต้องรีบทำการกู้ชีพทันที และควรเรียกรถพยาบาลโดยด่วน

ข้อควรระวัง

- ไม่ควรใช้วิธี Heimlich maneuver หากไม่แน่ใจว่าเป็นการสำลัก

- ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติไปแล้ว ควรเรียกรถพยาบาลโดยด่วน และเริ่มทำการกู้ชีวิต CPR เป่าปาก ปั๊มหัวใจหากมีหัวใจหยุดเต้นทันที

- ในหญิงมีครรภ์ และคนอ้วน สามารถใช้วิธี Heimlich maneuver โดยใช้กำปั้นกดหน้าทองบริเวณใต้ลิ้นปี่ พร้อมกับการตบหรือทุบหลัง แรงพอที่จะช่วยเพิ่มแรงดันในช่องอกและทางเดินหายใจ ทำให้สิ่งอุดตันนั้นถูกขับออกมาได้และควรทำซ้ำถ้าสิ่งอุดตันยังไม่หลุดออกมา


สำหรับในกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก มีข้อแนะนำง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

- วางเด็กคว่ำลงบนแขน และวางแขนนั้นลงบนหน้าตัก ให้ศีรษะของเด็กอยู่ต่ำ

- เคาะหลัง 5 ครั้งติดต่อกัน แถวกึ่งกลางระหว่างกระดูกสะบักทั้งสองข้าง

- พลิกเด็กให้หงายบนแขนอีกข้าง ซึ่งวางบนหน้าตัก ให้ศีรษะอยู่ต่ำ แล้วกดหน้าอกโดยใช้ 2 นิ้วกดบนกระดูกหน้าอกในตำแหน่งที่กว่าเส้นลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างลงมาหนึ่งความกว้างนิ้วมือ

- ทำซ้ำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนเด็กหมดสติ หากเด็กหมดสติ ให้ทำการประเมินการหายใจ การเต้นชีพจร และให้การช่วยเหลือการหายใจสลับกับการเคาะหลัง และกดหน้าอก

อาการสำลักถึงแม้บางครั้งจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้ามีอาการรุนแรง และไม่รู้วิธีรับมือ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้




ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000113218

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูสอนดนตรีแนะส่งลูกเรียน "ดนตรี" อย่างไรให้ได้ผล

ครูสอนดนตรีแนะส่งลูกเรียน "ดนตรี" อย่างไรให้ได้ผล

เป็นที่ทราบกันดีว่า "ดนตรี" มีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกทั้งทางร่างกาย สมอง และอารมณ์ ซึ่งหลาย ๆ บ้านให้ความสำคัญกันมากขึ้น แต่การส่งลูกไปเรียนดนตรีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรมีชุดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย เพื่อเด็กจะได้เรียนดนตรีอย่างมีประสิทธิภาพ

ในเรื่องนี้ งามตา นันทขว้าง หรือ ครูอิงค์ วัย 28 ปี อาจารย์ประจำฝ่ายวิทยาการ โครงการฯ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และอาจารย์พิเศษสอนวิชาดนตรีสำหรับเด็กที่สถาบันเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า กิจกรรทางดนตรี เด็ก ๆ จะได้เคลื่อนไหวทางร่างกาย นอกจากนี้ยังฝึกเขียนโน้ต เล่นเครื่องดนตรี เป็นการพัฒนาทางด้านร่างกาย ส่วนการพัฒนาสมองคือการอ่านและท่องจำโน้ต ดังนั้นเด็กจำเป็นต้องมีสมาธิก่อนเรียน และวิเคราะห์ได้ก่อนเล่น ซึ่งการเรียนด้านดนตรีสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือเพิ่งคลอด เช่น แม่เปิดเพลงให้ลูกฟัง เมื่อแม่ฟังไปด้วยก็อาจจะตบเบา ๆ เพื่อให้ลูกรู้จังหวะเพลง

แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการส่งลูกไปเรียนดนตรีโดยตรง หลาย ๆ คนเข้าใจว่า การให้ลูกเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เล็ก ๆ ย่อมดีที่สุด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะพบเห็นพ่อแม่บางคนพาลูก 2 ขวบหรือเล็กกว่านั้นมาเรียนดนตรีตามสถาบันต่าง ๆ กันแล้ว ในเรื่องนี้ ครูอิงค์มองว่า ควรให้เด็กมีความพร้อมด้านพัฒนาการต่าง ๆ ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาในการเรียนได้

"นักดนตรีเก่ง ๆ หลายคนเริ่มเรียนตั้งแต่เล็ก ๆ แต่น้อยคนทำได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูเด็กว่าพร้อมหรือไม่ เช่น สมองเขาสามารถสั่งการให้นิ้วแยกจากกันได้ หรือเขาสามารถนั่งอยู่กับที่ได้ก็หมายความว่า เด็กพร้อมที่จะเรียนเปียโน หรือถ้าเขายืนนิ่ง ๆ ได้ มีความอดทน ขยับสีไม่เพี้ยน และกดเส้นได้ถูก เขาก็เหมาะสมกับการเล่นไวโอลิน" ครูอิงค์เผย

ดังนั้นช่วงวัยของเด็กที่เหมาะสมกับการเรียนดนตรีนั้น ครูอิงค์แนะนำว่า ควรเริ่มตั้งแต่ 6 ขวบ ถ้าต่ำกว่า 5 ขวบลงมาควรเป็นกิจกรรมทางดนตรีมากกว่า เช่น การร้องเพลงให้ถูกระดับเสียง สอนการอ่านและเขียนโน้ต

"ไม่เสมอไปว่าเด็กทุกคนจะทำได้ บางทีอาจต้องมีเทคนิคการสอนที่ดึงดูดด้วย เช่น ต่อไม้ไอศกรีมเรียงเป็นตัวโน้ต และต้องดูพัฒนาการของเด็กให้เหมาะสมกับวัย อาทิ 3-5 ขวบ เขาชอบเล่น ก็หากิจกรรมให้ทำ แต่ถ้าเด็กไม่รู้ว่าเขากำลังเรียนอยู่ ต้องหาการสอนที่เหมาะสมกับวัยเขามากกว่า โดยครูอิงค์จะสอนกิจกรรทางดนตรีให้เด็ก ๆ อย่างเต็มที่ภายในเวลาปีครึ่ง ก่อนครูองค์จะสอนการเล่นเครื่องดนตรีของแท้" ครูอิงค์เล่า

ส่วนคำแนะนำถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่รู้ทิศทางว่าลูกชอบเครื่องดนตรีแบบไหน ครูอิงค์เผยสั้น ๆ ว่า คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาสัมผัสกับเครื่องดนตรีด้วยตัวเองก่อน และให้เด็กตอบว่าชอบอะไร แต่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะเห็นแค่ไม่กี่ชิ้น เช่น ไวโอลิน เปียโน กีตาร์ เป็นต้น

"ยิ่งเด็กได้เห็นเครื่องเล่นวงใหญ่ ๆ มากเท่าไร เขาจะเป็นคนบอกเราเองว่า อยากเล่นอะไร อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกต ซึ่งบางทีเขาเห็นใครเล่นอะไรก็อยากจะเล่นด้วย แต่การให้เด็กเล็ก ๆ ไปจับเปียโน ไวโอลิน ผู้ใหญ่ต้องคอยประกบ เนื่องจากเครื่องดนตรีเหล่านี้มีราคาแพง" ครูอิงค์ทิ้งท้าย


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000113818

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

6 วิธีสยบเจ้าตัวเล็กที่ชอบตี

6 วิธีสยบเจ้าตัวเล็กที่ชอบตี

คนเราทุกคนเกิดมาต้องเคยโกรธ หรือทะเลาะกับคนอื่น สำหรับเด็ก ๆแล้วการระงับความโกรธเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ด้วยความที่เป็นเด็กจึงทำให้ยากต่อการระบายความโกรธออกมาเป็นคำพูด สิ่งที่ระบายความโกรธได้ง่ายและเร็วทันใจ คือการทำร้ายด้านร่างกาย แม้ว่าจะเป็นเด็กโตก็ตาม

โดยการทำร้ายด้านร่างกาย หรือการตีกันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ เด็กจะตีคนอื่นหากเขาเคยเห็นการกระทำเหล่านี้มาก่อน หรือเห็นว่าสิ่งนั้นสามารถหยุดหรือควบคุมการกระทำที่พวกเขาไม่ชอบได้ เด็กอาจเลียนแบบจากทีวี หรือภาพยนตร์ที่ดู

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลและควบคุมรายการทีวีที่ลูกชอบดูทุกรายการ โดยให้ลูกหลีกเลี่ยงการดูหนังหรือรายการที่มีเนื้อหาชิงรักหักสวาท รุนแรง ผู้ชายตบหรือทำร้ายผู้หญิง การด่าทอโดยใช้คำพูดที่รุนแรง เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นลูกอาจเห็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม จากการทะเลาะกันภายในบ้าน ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และคิดว่าการตีหรือการทำร้ายกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ การตีเด็กที่เล็ก ๆ ถือเป็นการสร้างความสับสนและทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปฝังที่ก้านสมองของลูก และจะกลายเป็นความทรงจำที่ถาวร

วันนี้ผู้เขียนขอเสนอวิธีบางอย่างที่จะช่วยหยุดความรุนแรงในบ้านดังนี้

1. หยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเด็ก ๆ เริ่มตี ให้แยกตัวเด็กออกจากสถานการณ์นั้นทันที ให้เวลาเด็กๆที่จะคิดทบทวนต่อการกระทำของเขา เช่น หากเด็กเล่นอยู่ที่สนามกับเพื่อน ให้แยกเด็กไปอีกที่หนึ่งเพื่อที่จะสงบลง หากเป็นเด็กในวัยคลานอาจใช้วิธีอุ้มออกไปทันที คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้เด็กฟังว่าการตีกันถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จัดเวลาให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ เวลาที่เหมาสมคือ 1 นาทีต่ออายุแต่ละปี เช่น เด็ก 2 ขวบจะรอได้ 2 นาที และ 3 จะใช้เวลาในการรอคอยได้ 3 นาทีเป็นต้น

หากเป็นเด็กโตทะเลาะตีกัน ให้เข้าไปทันทีและแยกเด็กออกจากกัน ให้โอกาสเด็กแต่ละคนพูดโดยที่อีกฝ่ายฟังอย่างสงบ และฟังอีกฝ่ายพูดบ้าง สร้างทัศนคติทางบวกต่อเด็กที่ก้าวร้าวว่าเราสามารถจะใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น พูดจากันดีๆหรือเมื่อขัดใจกันและไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ควรปรึกษาให้ผู้ใหญ่ช่วยแก้ปัญหาให้

2. ให้รางวัลต่อพฤติกรรมที่เหมาะสม การชมหรือเสริมแรงถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลวิธีหนึ่ง เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่รุนแรง ให้ชมหรือเสริมแรงลูกทันที ให้ลูกรู้ว่าเราภูมิใจที่ลูกแก้ปัญหานั้นได้อย่างฉลาด อาจทำเป็นตารางความประพฤติที่เหมาะสมติดไว้ให้เห็นชัดเจน



ขอบคุณภาพประกอบจาก medicine-science.com


3. ให้เด็ก ๆ มีทางเลือกใหม่ มีทางเลือกมากมายที่สามารถทำได้ดีกว่าการทำร้ายร่างกาย อาจใช้วิธีการพูดระบายความรู้สึก หรือเดินออกจากสถานการณ์นั้นเมื่อโกรธ หากไม่ได้ผลบอกลูกว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่ทำได้ หากได้รับการสอนที่ถูกต้องเด็กเล็กๆก็สามารถเรื่องรู้การใช้คำพูดแทนการตอบโต้ความรุนแรง คุณพ่อคุณแม่อาจเล่นบทบาทสมมติต่อพฤติกรรมที่ควรกระทำเหล่านี้เป็นประจำเพื่อให้เด็กเห็นตัวอย่างที่ดีและทำตาม

4. อย่าเปรียบเทียบลูก การเปรียบเทียบลูกๆกับพี่น้องคนอื่นหรือลูกของคนอื่น ทำให้ลูกเกิดความน้อยใจ และสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ เมื่อถึงเวลาจะระเบิดขึ้นโดยการใช้ความรุนแรง ลูกแต่ละคนเป็นคนพิเศษไม่เหมือนใคร และความพิเศษนี้ทำให้เราเห็นความแตกต่างกันของแต่ละคน เรียนรู้ในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เมื่อมีความแตกต่างเกิดขึ้น

5. สงบ เด็ก ๆ เรียนรู้โดยการเลียนแบบ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลเด็กสงบ สุขุม เด็กก็จะเลียนแบบและทำตามได้ง่ายกว่า เด็กที่เคยเห็นการตอบโต้ความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง ในทำนองเดียวกันเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ให้ใช้วิธีออกจากสถานการณ์นั้นและสงบด้วย เช่นเดียวกัน

6. ขอความช่วยเหลือ หากรู้สึกว่าลูกดูเหมือนว่าจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะลูกอาจมีปมปัญหาหรือสิ่งที่ปิดบังไว้ที่ไม่กล้าบอกใคร เช่น ความกลัว ความกดดัน ความวิตกกังวล เป็นต้น

สุภาษิตที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก นั้น ไม่ใช่เรื่องเชยเกินไปสำหรับการสอนลูกในยุคปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข เติมเต็มถังอารมณ์ของลูกให้เต็มอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้ว่า เขาเป็นคนพิเศษ อิ่มใจ โดยที่ไม่ต้องไปหาความพิเศษจากที่อื่น


ที่มา
6 วิธีสยบเจ้าตัวเล็กที่ชอบตี/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000113187