วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ชาสมุนไพรเพื่อแม่หลังคลอด

ชาสมุนไพรเพื่อแม่หลังคลอด



พลังแห่งสมุนไพรบำบัด ช่วยคุณแม่ในช่วงพักฟื้นหลังคลอดในการขับของเสีย (และลม) ออกจากระบบทางเดินอาหาร และมดลูก เพื่อให้มดลูกสะอาดและหดตัวกลับสู่ความเป็นปกติ นอกจากนี้มีสมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิดที่ช่วยขับพิษให้แก่ร่างกายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ช่วยเร่งน้ำนม ช่วยให้มดลูกหดตัวเข้าอู่ และช่วยย่อยอาหาร ซึ่งเราสามารถเติมสมุนไพร และเครื่องเทศลงไปในอาหาร และเครื่องดื่ม เช่น น้ำ ชา หรือนมก็ได้

สมุนไพรช่วยพักฟื้น

สมุนไพรพื้นฐานสำหรับการฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่ในช่วงพักฟื้นหลังคลอด ได้แก่ ขิง กระเทียม เฟนเนลหรือเทียนข้าวเปลือก กระวาน ยี่หร่า เมล็ดเซเลอรี่ป่า เฟนูกรีกหรือลูกชัค พริกไทยดำ ขมิ้น ตะไคร้ โหระพา ผงผักชี อบเชย หญ้าฝรั่น พาสลีย์ ผักชี ว่านหางจระเข้ เป็นต้น เมล็ดเฟนเนลหรือเทียนข้าวเปลือก และเมล็ดเฟนูกรีกหรือลูกชัค ถือเป็นสมุนไพรหลักสำหรับการเร่ง น้ำนม แต่ความขมของเฟนูกรีกหรือลูกชัค อาจทำให้กินได้ยาก ดังนั้น จึงควรเติมเฟนูกรีกลงไปในอาหาร หรือในชาสมุนไพรจะดีกว่า

นอกจากนั้นยังมีสมุนไพรทางตะวันตกอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณในการเร่งน้ำนมได้ เช่น แดนดีไลออน (Dandelion) หรือเนส เทิลส์ (Nestles) และสมุนไพรอื่น ๆ เช่น หญ้าฝรั่น เมอรร์ พาสลีย์ และว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการขับให้ประจำ เดือนออกมาเป็นปกติ เช่น การกินน้ำพาสลีย์คั้น หรือวุ้นว่านหางจระเข้ วันละ 2 ช้อนชา จะช่วยให้มดลูกคืนความแข็งแรงได้

ส่วนสมุนไพรทางอายุรเวทอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มน้ำนมได้ อย่างเช่น รากสามสิบ (Shatavari) และ อัชวากานฮา (Ashwagandha) กับหญ้าขัดมอญ (Bala) ตลอดจนสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ชะเอมเทศ และมาร์ชเมลโลนำมาผสมกับนม ด้วยการนำ ผงสมุนไพรเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่งมาผสมกับนมที่ต้มเดือด และนำมาดื่มตอนอุ่น ๆ

รากสามสิบ และอัชวากานฮา มีสรรพคุณในการบำรุงมดลูกโดยตรง และช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกแข็งแรง อัชวากานฮามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโสม สามารถนำมากินควบคู่กับสมุนไพรบางชนิด เช่น ตังกุย และโกฐขี้แมว (Rehmannia) ได้ในช่วงพัก ฟื้นหลังคลอด

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรทางอายุรเวทอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ดีปลี (Pippali) ซึ่งมีสรรพคุณในการเยียวยาอวัยวะภายใน และทำให้มดลูกสะอาดหลังจากคลอดได้ ด้วยการนำผงดีปลี 1 ช้อนชามาผสมกับน้ำผึ้งและน้ำเปล่า ดื่มเป็นประจำทุกวัน

สมุนไพรเหล่านี้ สามารถหาได้จากร้านที่ขายยาด้านอายุรเวท ส่วนโสมกับสมุนไพรจีนอื่น ๆ ก็สามารถหาซื้อได้จากร้าน ขายยาจีนแผนโบราณ ส่วนยาแผนโบราณของไทยที่มักนิยมใช้ในช่วงพักฟื้นหลังคลอด เช่น ยาประสะไพล ยาไฟห้ากอง หรือไฟประลัยกัลป์ ซึ่งเป็นยาที่สามารถหาได้ตามร้านขายยาทั่วไปค่ะ

ชวนดื่มชาสมุนไพร

การต้มเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำสรรพคุณของสมุนไพรออกมาใช้อย่างได้ผล อย่างการทำเป็นสมุนไพรต่าง ๆ และเนื่องจากผู้หญิงในช่วงให้นมลูก ควรจะดื่มน้ำให้ได้มากกว่าปกติทั่วไป ดังนั้น การดื่มชาสมุนไพรจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการ เยียวยาฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด และช่วยให้ร่างกายเกิดความชุ่มชื้น ช่วยขับพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่นนำไปสู่การสร้างน้ำนม

- ทำชาสมุนไพรทุกวัน เพื่อความสดใหม่ และไม่นำชาสมุนไพรไปแช่ในตู้เย็น

- สมุนไพรที่นำมาชงชา ควรเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณให้ความอุ่น และช่วยย่อยอาหาร ตลอดจนหาได้ง่ายในท้องถิ่น

- หากรู้สึกว่าร้อนภายในตัว หรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น เกิดผื่น มีไข้ ท้องเสีย เกิดการอักเสบ เป็นต้น ให้จำกัดการดื่มลง หรือชงชาให้บางลงโดยใส่สมุนไพรน้อยลง เพราะฤทธิ์ของสมุนไพรอาจจะทำให้ร่างกายร้อนเกินไป

- คุณแม่ควรหมั่นสังเกตตัวเอง และใช้วิจารณญาณในการบริโภคเสมอ เพราะในบางครั้งอะไรดี ๆ ที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ชาสมุนไพรสามารถดื่มได้เป็นประจำ ก็จะช่วยคุณแม่หลังคลอดให้ได้เยียวยาร่างกายภายใน และยังช่วยเร่งให้มีน้ำนมให้แก่ลูกน้อยอีกด้วยค่ะ

สูตรชาสมุนไพรง่าย ๆ

ชาขิง

ส่วนผสม

- ขิงผง 1 ช้อนชา (ถ้าเป็นขิงหั่นแว่น ใช้ 3-4 แว่นบาง ๆ หรือขิงขูด 1 ช้อนชา)

- เมล็ดเซเลอรี่ป่า 1 ช้อนชา

- เมล็ดเฟนเนลหรือเทียนข้าวเปลือก 2 ช้อนชา

- กระวาน 2-3 กลีบ (ให้นำมาทุบ)

- เมล็ดยี่หร่า 1 ช้อนชา

- น้ำผึ้ง (เพื่อความหวานอาจจะใส่หรือไม่ก็ได้) 2 ช้อนชา

*** ส่วนผสมนี้จะได้ชา 2 ถ้วย (สามารถปรับปริมาณของแต่ละส่วนผสมได้ตามชอบ)

วิธีทำ

1. ต้มสมุนไพรทั้งหมด (ยกเว้นน้ำผึ้ง) ลงในน้ำประมาณ 4 ถ้วย โดยใช้ไฟอ่อน ๆ จนสมุนไพรออกสีและส่งกลิ่น

2. ต้มจนกระทั่งน้ำงวดลดลงเหลือราว 2 ถ้วย แล้วนำมากรอง (จะเติมน้ำผึ้งลงไปก็ได้ในช่วงนี้) และนำมาดื่มตอนอุ่น สามารถดื่มได้เรื่อย ๆ ตลอดวัน และเพิ่มปริมาณในการต้มเผื่อเก็บไว้ในกระติกก็ได้ แต่ต้องไม่เก็บไว้ข้ามคืน

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000163275

ดื้อกับแม่ก็มีข้อดี เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกวัยรุ่น

ดื้อกับแม่ก็มีข้อดี เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกวัยรุ่น



สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เหนื่อยใจกับลูกวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้ที่พบว่า ลูกมีอาการดื้อรั้น เถียงเก่ง ลองฟังทางนี้ เรามีข้อดีของพฤติกรรมดังกล่าวมาบอกกันค่ะ เพราะมีการวิจัยระบุว่า การที่ลูกวัยรุ่นมีอาการดื้อรั้น หรือสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา (แม้จะไม่ถูกหูคุณพ่อคุณแม่) อาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาเอง โดยเด็กที่มีพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมีภูมิต้านทานอบายมุข เช่น ยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์ เหนือกว่าเด็กที่เก็บกด หรือไม่เคยได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นใด ๆ

งานวิจัยนี้เป็นของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่มีอายุ 13 - 16 ปี และพ่อแม่ของพวกเขา พบว่า เด็กวัยรุ่นนั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และสามารถบอกถึงมุมมองของตนเองต่อผู้ปกครองได้ แม้จะมีการถกเถียงกันก็ตาม จะมีภูมิคุ้มกันบางอย่างเกิดขึ้น และมันช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หันหายาเสพติด หรือแอลกอฮอล์เมื่อถูกชักชวนจากเพื่อน ๆ

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบด้วยว่า การที่เด็กลุกขึ้นมาลุยเล็ก ๆ กับผู้เป็น "แม่" ยิ่งมีประโยชน์กับตัวเด็กเอง มากกว่า พ่อ พี่น้อง ญาติ ๆ หรือเพื่อน ๆ ด้วย เพราะการคุยกับแม่นั้น เด็กจะต้องหาเหตุผลต่าง ๆ มาโต้แย้งให้ตัวเองรอดพ้นจากข้อกล่าวหา หรือการถูกบ่นว่าต่าง ๆ มากกว่าสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ นั่นเอง ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือต้องเก็บกดเนื่องจากครอบครัวไม่เปิดโอกาสให้ พวกเขาจะไประบายให้เพื่อนฟังแทน นั่นทำให้เด็กรู้สึกว่าเพื่อนเป็นที่พึ่งทางใจ และทำให้เพื่อนมีอิทธิพลต่อตัวเด็กมากขึ้น ดังนั้นหากวันหนึ่งเพื่อนชักชวนให้ลองเสพยาเสพติด เด็กก็อาจคล้อยตามได้ง่าย

เรียกว่า งานนี้คงเพิ่มความเหนื่อยให้คุณแม่อีกหลายเท่าเลยทีเดียว แต่เชื่อว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่อลูก หรือทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันทางใจ คุณแม่คนไหนก็ยอมเหนื่อยค่ะ ส่วนลูกวัยรุ่นก็อย่าชะล่าใจ หรือใช้โอกาสนี้พูดจาโต้เถียงหักหาญน้ำใจพ่อแม่กันมากจนเกินไปนักนะคะ เพราะการแสดงความคิดเห็นก็มีหลายแบบให้เลือกใช้ ฝึกมาแบบใดมันก็จะติดตัวคุณลูก ๆ ไปจนโตเช่นกันค่ะ

ลองคิดหาทางโต้แย้ง - แสดงความคิดเห็นแบบที่ไม่ทำร้ายจิตใจพ่อแม่กันก็ดีค่ะ




ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

8 ข้อคิด พ่อแม่และผู้ใช้รถโปรดนึกถึงเด็ก

8 ข้อคิด พ่อแม่และผู้ใช้รถโปรดนึกถึงเด็ก/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน



ข่าวคราวเรื่องเด็กเป็นเหยื่อของผู้ขับขี่รถยนต์สร้างความสะเทือนใจทุกครา และหงุดหงิดทุกครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน ล่าสุดรถบรรทุกก็เพิ่งทับเด็กอายุ 4 ปี เสียชีวิต และก็อดคิดไม่ได้ว่าเด็กที่ต้องประสบอุบัติเหตุทั้งบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องโทษว่าเป็นความผิดของผู้ใหญ่ล้วน ๆ เลยทีเดียว ผิดทั้งผู้ขับขี่ ผิดทั้งผู้ใหญ่ที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ตามลำพัง

จริงอยู่ว่า ปัญหาเรื่องการใช้รถใช้ถนนบ้านเราเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้คนไร้ระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎจราจร และเห็นแก่ตัวกันมากขึ้นทุกขณะ แต่เมื่อผนวกความประมาทเข้าไปอีก ยิ่งกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมากขึ้น และเด็กมักตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

ฉะนั้น พ่อแม่และผู้ใช้รถทั้งหลายโปรดนึกถึงเด็กและระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะเด็กเล็กทั้งหลายที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ประการแรก ห้ามปล่อยให้ลูกเล็กคลาดสายตาเป็นอันขาด

แม้ว่าจะเป็นสถานที่คุ้นเคย เช่น บ้านของเรา บ้านของญาติ หรือสถานที่ที่ไปบ่อยๆ ก็ต้องไม่วางใจเด็ดขาด เพราะเด็กเล็กๆ ชอบวิ่งเล่น และมักจะวิ่งพรวดพราด โดยไม่ได้สนใจสิ่งที่เป็นอันตราย

ประการที่สอง ต้องย้ำเรื่องพื้นที่ต้องห้าม
ต้องบอกซ้ำๆย้ำๆ และเคร่งครัดกับลูกเสมอว่าบริเวณไหนคือบริเวณที่ไม่ปลอดภัย ไม่ควรไปวิ่งเล่น ไม่ว่าจะเป็นถนนในซอยหรือถนนใหญ่ ต้องเป็นสถานที่ต้องห้าม เพราะต้องยอมรับว่าแม้ถนนตรอกซอกซอยก็ประสบอุบัติเหตุได้เหมือนกัน

ประการที่สาม ปลูกฝังวิธีที่ถูกต้องตั้งแต่เล็ก

พ่อแม่ควรปลูกฝังเรื่องการใช้รถใช้ถนนที่ถูกวิธีเป็นอย่างไร ทำอย่างไรเราจึงปลอดภัย เวลาจะข้ามถนนนอกจากต้องข้ามสะพานลอย ทางม้าลาย หรือดูสัญญาณไฟให้เป็น ก็ต้องย้ำด้วยว่าต้องดูรถยนต์ที่วิ่งอยู่ไปมาด้วย เพราะมีผู้ใช้รถที่เคารพกฎจราจร แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ที่ขับขี่แบบมักง่าย และไม่เคารพกฎจราจรด้วย เพื่อให้ลูกเกิดการตระหนักว่าแม้เราเป็นผู้ใช้ถนนก็ต้องมองซ้ายมองขวา ซ้ำไปมาจนมั่นใจว่าปลอดภัยเสียก่อน

ประการที่สี่ ต้องกะระยะของรถให้เป็น

สอนให้ลูกดูว่ารถที่ใช้ความเร็วแต่ละคันไม่เท่ากันต้องดูว่าถ้าคนไหนใช้ความเร็วมากๆ เมื่อต้องเบรกกะทันหันก็ต้องใช้ระยะในการเบรกมากกว่า และรถที่ใช้ความเร็ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะเป็นอันตรายและรุนแรงมากกว่าด้วย

ประการที่ห้า จุดอันตรายต้องบอกให้ชัด

ทุกครั้งที่ผู้ใหญ่ใช้รถต้องคุยกับลูกไม่ให้อยู่บริเวณที่จอดรถเด็ดขาด ไม่ว่าที่บ้านหรือนอกบ้านก็ตาม เพราะบริเวณที่จอดรถเป็นจุดอันตราย เนื่องจากต้องมีรถเลี้ยวเข้าออกอยู่เสมอ เมื่อเห็นพ่อแม่กลับบ้าน ลูกอาจดีใจวิ่งไปหา แต่พ่อแม่อาจมองไม่เห็นเพราะเด็กตัวเล็ก และเด็กมักวิ่งพรวดพราดทันที มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและบ่อยด้วย และก็ต้องให้ลูกทำเป็นนิสัยไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถที่ไหนก็ตาม ห้ามออกไปยืนเด็ดขาด แล้วควรอธิบายด้วยว่าเพราะอะไร มิเช่นนั้น เขาก็อาจยังไม่ตระหนัก

ประการที่หก ถอยหลังทุกครั้งต้องหันไปดู

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีรถจำนวนมากที่มีจอไฮเทคสามารถดูท้ายรถได้ว่ามีสิ่งกีดขวางใดๆ อยู่หรือไม่ แต่ก็ไม่ควรวางใจฝากไว้กับจอดังกล่าวอย่างเดียว เพราะจอสามารถดูได้เฉพาะท้ายรถ แต่ผู้ขับรถควรดูกระจกซ้ายขวาด้านข้างรถ และหันไปดูรอบข้างให้แน่ใจเสียก่อน จากนั้นค่อยๆ ถอยรถช้าๆ อย่าใช้ความเร็วขณะถอยรถเด็ดขาด

ประการที่เจ็ด รถสูงต้องใช้ตัวช่วย

รถสูงเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคนี้ และมีแนวโน้มนิยมมากขึ้นหลังจากที่เกิดปัญหาอุทกภัย ฉะนั้น ผู้ขับขี่รถสูงๆ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นด้วย เพราะรถสูงบางคันไม่มีกระจกหรือกล้องส่องดูท้ายรถ ควรมีคนช่วยดูท้ายรถทุกครั้งที่ถอยรถ เพราะผู้ขับขี่จะไม่สามารถเห็นท้ายรถได้ ยิ่งถ้าเป็นเด็กมีโอกาสมองไม่เห็น และกลายเป็นข่าวโศกนาฏกรรมบ่อยครั้งเหลือเกิน

ประการที่แปด ฝึกให้ลูกคาดคะเนเป็น

"อาจจะ" คือการคาดคะเนล่วงหน้าว่าอาจเกิดอันตรายได้ อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ ขาดการคาดคะเนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา จึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย ยกตัวอย่าง การขับรถผ่านรถเมล์ซึ่งกำลังจอดรับผู้โดยสารอยู่ข้างหน้า ถ้าผู้ขับขี่คาดคะเนว่า "อาจจะ"มีคนกำลังจะข้ามถนนโดยที่รถเมล์บังอยู่ก็ได้ อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม เราก็ควรสอนให้ลูกคาดคะเนด้วยว่าถ้าจะข้ามถนน ก็อาจต้องคาดคะเนว่า “อาจจะ” มีรถออกมาจากซอย หรือเมื่อข้ามถนนหน้ารถเมล์ ก็ควรคิดว่า “อาจจะ” มีรถคันอื่นวิ่งแซงขึ้นมาได้ ก็จะทำให้มีสติ และไม่ประมาทมากขึ้น

ทั้งแปดข้อดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับเด็กจำนวนมาก ถ้าทั้งพ่อแม่และผู้ใช้รถต่างตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็กอย่างจริงจัง และคิดเสมอว่าโอกาสเกิดอุบติเหตุมีขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเกิดจากตัวเราเองหรือผู้อื่น เชื่อว่าไม่มีใครอยากขับรถแล้วต้องกลายเป็นฆาตกรอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมาก เพราะเด็กตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

ลองคิดว่าถ้าอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา เพราะความประมาทของผู้ขับขี่ เราจะรู้สึกอย่างไร ?

….จะเป็นการดีถ้าเราใช้สติและระมัดระวังทุกครั้งที่ขับรถ ที่สำคัญถ้าเราคิดว่าเด็กๆ คือลูกหลานของเรา ก็จะทำให้เราขับรถอย่างมีเมตตามากขึ้น…!!!


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000161132

"โรคฉี่หอม"..โรคที่อาจเกิดกับลูกคุณได้! "โรคฉี่หอม"..โรคที่อาจเกิดกับลูกคุณได้!

"โรคฉี่หอม"..โรคที่อาจเกิดกับลูกคุณได้!


ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์



หากใครได้ติดตามชมรายการตีสิบในช่วงสนทนาเมื่อวันอังคารที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา คงจำเรื่องราวของน้องนีโม่ ลูกชายของคุณแม่ปุ้กกี้-จินตนา ยศยิ่งยงกันได้ดี เพราะเด็กชายรายนี้ป่วยเป็นโรคที่เด็กน้อยคนนักจะเป็นกัน นั่นก็คือ โรคฉี่หอม หรือปัสสาวะกลิ่นน้ำเชื่อมเมเพิล (MSUD) ที่เพิ่งมารู้ว่าป่วยเป็นโรคตอนอายุ 3 เดือนกว่า ยิ่งรู้ช้า โอกาสที่สมองพิการ และเสียชีวิตย่อมมีได้สูง

ชื่อโรคดังกล่าวนั้น เชื่อว่าพ่อแม่หลาย ๆ ท่านไม่ค่อยคุ้นหู หรือบางคนแทบไม่รู้จักเลย วันนี้ทีมงาน Life & Family ขอพาท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะว่าที่คุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับโรคนี้กัน เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และสังเกตอาการของลูกน้อยได้ทันท่วงที ถึงแม้ว่าเด็กจะมีโอกาสเป็นกันน้อยมาก (1 ในหลาย ๆ แสนคน) แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอยู่ดี เพราะบางทีอาจเกิดกับลูกของคุณได้

เกี่ยวกับโรคนี้ ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ความรู้ว่า โรคปัสสาวะกลิ่นน้ำเชื่อมเมเพิล หรือ Maple Syrup Urine Disease เป็นโรคในกลุ่มพันธุกรรมเมแทบอลิก (inherited metabolic disorders) ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนบางชนิดได้ ทำให้กลิ่นของปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายกับน้ำเชื่อมเมเพิล หรือน้ำตาลไหม้

"ปกติคนเราจะมีกระบวนการแปรรูปสารเคมีในร่างกาย และต้องอาศัยตัวช่วยเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเกิดได้เร็วขึ้น ตัวช่วยเหล่านี้คือเอ็นไซม์ซึ่งสร้างมาจากสารพันธุกรรม เมื่อสารพันธุกรรมผิดปกติ เอ็นไซม์ที่ใช้ในการเร่งปฏิกิริยาการแปรรูปสารเคมีก็ผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น สารพันธุกรรมจุดหนึ่งผิดปกติ จึงสร้างเอ็นไซม์ที่ผิดปกติ ทำให้เร่งกระบวนการเปลี่ยนสารเคมี "ก" เป็น "ข" ไม่ได้ ส่งผลให้ระดับสารเคมี "ก" สะสมสูงขึ้น ผู้ป่วยจะพยายามขับสารที่คั่งนี้ออกมาทางปัสสาวะ

แต่สำหรับโรคปัสสาวะกลิ่นน้ำเชื่อมเมเพิลนั้น บังเอิญว่า สารเคมี "ก" ที่คั่ง เป็นสารที่ระเหยง่ายและมีกลิ่นแบบน้ำเชื่อมเมเพิลออกมากขึ้นด้วยไม่ว่าจะทางกลิ่นเหงื่อ หรือน้ำปัสสาวะ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อโรคปัสสาวะกลิ่นน้ำเชื่อมเมเพิลหรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่าโรคฉี่หอมนั่นเองครับ" ศ.นพ.วรศักดิ์ขยายความ

อย่างไรก็ดี โรคนี้เป็นหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ ร้อยโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรมเมแทบอลิก ซึ่งแต่ละโรคก็จะมีสารเคมีที่คั่งต่างชนิดกันไป ทำให้น้ำปัสสาวะมีกลิ่นที่แตกต่างกันออกไปด้วย นอกจากนี้ สารเคมีที่คั่งในบางโรคก็ระเหยยาก ทำให้ไม่มีกลิ่น แต่ไม่ว่าสารเคมีที่คั่งเหล่านี้จะมีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่น สารจำพวกโปรตีนที่สะสมในร่างกายอาจเป็นอันตรายต่อสมองหรืออวัยวะอื่น ๆ ของเด็ก ส่งผลให้มีปัญหาต่อการพัฒนาการ และระดับสติปัญญาได้



น้องนีโม่ ลูกชายของคุณแม่ปุ้กกี้-จินตนา ยศยิ่งยงที่ป่้วยเป็นโรคฉี่หอม หรือปัสสาวะกลิ่นน้ำเชื่อมเมเพิล (MSUD)



สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคในกลุ่มนี้ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ บอกว่า สังเกตุได้จากการที่เด็กเบื่ออาหารเอาแต่หลับ ไม่ร้องหิวนม ซึมลง ดูดนมได้ไม่ดี หายใจเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจมีอาการเกร็งและชักร่วมด้วย ที่สำคัญ ปัสสาวะรวมทั้งขี้หูจะมีกลิ่นผิดปกติ อย่างเช่นโรคฉี่หอมที่จะมีกลิ่นคล้ายน้ำเชื่อมเมเพิล หรือน้ำตาลไหม้

"ถ้าเด็กคลอดออกมาแล้วปกติ น้ำหนักดี ดูน่ารัก ร้องไห้เก่ง ดูดนมเก่ง เป็นแบบนี้อยู่ไม่กี่วัน 2 วัน แล้วเริ่มมีปัญหา นอนมาก ไม่ร้องหิวนม ไม่ยอมดูดนม เด็กจะมีอาการซึมลง ไม่ยอมดูดนม หรือมีอาการหอบหายใจเร็วร่วมด้วย ยิ่งถ้าปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติด้วยแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที ทั้งนี้การตรวจว่าปัญหาเกิดจากการมีสารเคมีคั่งหรือไม่ และเป็นสารเคมีตัวใด ต้องมีเครื่องมือพิเศษ ซึ่งทำได้ในโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น" ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์กล่าว

อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด คือ การตรวจคัดกรองเด็กทารกแรกเกิดเพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ก่อนเด็กเกิดอาการของโรค และหากเป็นโรคในกลุ่มนี้ก็จะได้รักษาอย่างทันท่วงทีก่อนจะมีผลกระทบรุนแรง แต่ในประเทศไทยสามารถตรวจคัดกรองโรค และสามารถตรวจได้เพียงไม่กี่โรคที่อยู่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรมเมแทบอลิกเท่านั้น ซึ่งโรคฉี่หอมก็ยังอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ตรวจคัดกรอง

ส่วนการตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์นั้น ในทางเทคนิคแล้ว สามารถทำได้โดยการตรวจสารพันธุกรรม แต่เป็นวิธีการที่ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง ในทางปฏิบัติจึงทำเฉพาะกับครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคในกลุ่มนี้แล้ว เป็นต้น

ถึงแม้จะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่โรคนี้สามารถรักษาให้เด็กมีพัฒนาปกติหรือใกล้เคียงปกติได้ หากตรวจพบและรักษาได้ทัน ซึ่งอาจจะต้องมีการจำกัดสารอาหารบางชนิด ประกอบกับการให้ยา เพื่อไม่ให้มีสารเคมีที่เป็นอันตรายคั่งในร่างกาย และไม่ให้มีสารโปรตีนตกค้าง ทำให้การเผาผลาญพลังงานดีขึ้น ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่จะต้องเฝ้าสังเกตเจ้าตัวน้อยว่ามีอาการผิดปกติตามที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ หากผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีครับ


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000161638

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ลูกร้องกรี๊ดดิ้นกับพื้นต้องปรับแก้พฤติกรรมของพ่อแม่..!!

ลูกร้องกรี๊ดดิ้นกับพื้นต้องปรับแก้พฤติกรรมของพ่อแม่..!!
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน



"เวลาเด็กอยากได้สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วลงไปนอนดิ้นร้องกรี๊ดกับพื้น"

เป็นเรื่องที่ดิฉันได้ยินได้ฟังจากคนเป็นพ่อแม่มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก จนกระทั่งโตและกลายเป็นแม่ของลูกแล้ว ก็ยังพบเห็นและได้ยินเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของคนเป็นพ่อแม่ทุกยุคทุกสมัย

นั่นหมายความว่า พฤติกรรมที่ว่านี้เป็นเรื่องปกติของเด็กอย่างนั้นหรือ !!

ไม่ใช่แน่ค่ะ ไม่ใช่พฤติกรรมที่เด็กต้องเป็น หรือควรเป็นกันทุกคน เพราะนี่คือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

แล้วทำไมเด็กบางคนเป็น บางคนไม่เป็น เรื่องนี้ต้องกลับมาย้อนดูเรื่องการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้วล่ะค่ะ ว่าเข้าข่ายเลี้ยงลูกแบบไหน เลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไปหรือไม่

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แก้พฤติกรรมของเด็กอย่างเดียว แต่ต้องแก้พฤติกรรมของพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย...

โดยปกติ เวลาเด็กส่วนใหญ่เจอของเล่นก็อยากได้เป็นธรรมดา พฤติกรรมที่เด็กเรียกร้องแล้วร้องไห้ลงไปนอนดิ้นกับพื้นแล้วกรี๊ดก็พบเห็นได้บ่อย คำถามก็คือแล้วทำไมลูกของเราถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ เราต้องกลับมาดูว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่

ส่วนใหญ่พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ลูกมีพฤติกรรมนี้ มักเกิดคำถามว่าทำไมลูกเราเป็น และพยายามหาวิธีจัดการแก้ปัญหา หรือปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกออกไปให้ได้

ลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าจะจัดการพฤติกรรมของลูกอย่างไร มาเป็นการปรับพฤติกรรมของตัวเราเองกันก่อน

ประการแรก ตรวจสอบตัวเอง

เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราเป็นพ่อแม่ที่มักจะตามใจลูกอยู่เสมอหรือไม่ ลูกอยากได้อะไรก็ไม่ค่อยขัด ถ้าใช่แล้วล่ะก็ต้องปรับตัวเองก่อนว่าจากนี้ไปจะไม่ตามใจลูกพร่ำเพรื่อ ควรจะมีขอบเขตบ้าง บางอย่างก็ต้องขัดใจบ้าง แต่เวลาขัดใจต้องอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไร เช่น ของเล่นชนิดนี้หนูมีหลายชิ้นแล้ว หรือไม่ก็ต้องบอกว่าลูกมีของเล่นมากแล้ว เราลองเอาของเล่นที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนวิธีเล่น หรือพ่อแม่ก็สามารถร่วมเล่นกับลูกด้วย

ประการที่สอง ต้องใจแข็งบ้าง

เวลาเจอเสียงร้องของลูก คนเป็นพ่อแม่มักทนไม่ได้ กลัวลูกไม่รักบ้าง กลัวลูกเสียใจ กลัวลูกไม่มีเหมือนคนอื่น กลัวลูกเสียงแหบ กลัวลูกจะกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ฯลฯ เรียกว่ามีเหตุให้กลัวมากมาย และนั่นก็นำไปสู่อาการใจอ่อนกับลูกทุกครั้งเมื่อลูกร้องไห้ แล้วจะไม่ให้ลูกจับทางพ่อแม่ถูกได้อย่างไร เด็กฉลาดกว่าที่เราคิด และมักใช้ความรักของพ่อแม่เป็นเครื่องมือต่อรองอยู่เสมอ ที่สำคัญมักสำเร็จด้วย เพราะเขารู้ว่าจะต้องทำแบบไหนเดี๋ยวพ่อหรือแม่ก็ใจอ่อนเอง

ประการสาม ตกลงกันก่อน

ทุกครั้งที่จะต้องเดินทางออกนอกบ้านไม่ว่าจะไปที่ไหนทั้งครอบครัว ควรจะพูดคุยกับเจ้าตัวน้อยของเราให้ชัดเจน เช่น เราจะไปห้างสรรพสินค้า จะไปเที่ยวทะเล ไปบ้านญาติ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดคุยกับลูกก่อนที่จะไปในสถานที่นั้นๆ เช่นจะไปห้างสรรพสินค้า ก็ควรตกลงกันว่าจะไม่ซื้อของเล่น (อย่าคิดว่าเขาเล็กเกินไปนะคะ) เขารู้เรื่องค่ะ เพียงแต่แรกๆ หนูน้อยอาจจะอยากลองของกันบ้าง ก็บอกเขาว่าเราตกลงกันแล้วนะจ๊ะ ว่าแม่ไม่อนุญาตให้ซื้อของเล่น อย่าใช้อารมณ์ค่ะ พยายามพูดกับลูกดีๆ และต้องยืนยันคำพูดเดิมว่าเราตกลงกันไว้แล้วนะลูก พร้อมกับเตือนตัวเองในข้อสองด้วย

ถ้าลองแล้วปรากฏว่าลูกก็ไม่ยอม มีพฤติกรรมร้องไห้แล้วลงไปดิ้นกับพื้นอยากได้อยู่ดี คุณแม่ต้องนึกถึงข้องสอง เพราะเราได้มีการตกลงกันก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าคุณแม่ใจอ่อนล่ะก็ ลูกจะเรียนรู้ว่าทำแบบนี้สุดท้ายก็ได้สิ่งที่ต้องการอยู่ดี

ประการที่สี่ ตักเตือนและเบี่ยงเบน

แม้คุณพ่อคุณแม่จะทำการบ้านมาดี แต่เวลาเด็กเห็นของเล่นแล้ว น้อยคนที่จะบังคับใจตัวเองไม่ให้อยากได้ มันเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ดุว่าอย่างเดียวว่าตกลงกันแล้วไงว่าไม่ซื้อๆ หน้าตาขมึงเชียว เด็กก็คือเด็ก พ่อแม่ควรเตือนควบคู่ไปกับการปลอบใจว่า “เราตกลงกันแล้วนะลูกว่าจะไม่ซื้อของเล่นในคราวนี้ แม่ว่าเราลองไปดูหนังสือกันไหม” เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้ไปสนใจในสิ่งอื่น หรือในสิ่งที่พ่อแม่อยากชักชวนให้ลูกเรียนรู้ร่วมกัน เพราะความสนใจของเด็กยังสั้นอยู่

ประการสุดท้าย เดินหนี

ดิฉันไม่ค่อยอยากให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีเดินหนีไปที่อื่น จริงอยู่ว่าโดยปกติเด็กจะจะร้องอยู่สักพัก แต่เมื่อแน่ใจว่าไม่ได้แน่ๆ เขาจะวิ่งไปหาพ่อแม่เอง แล้วเขาก็จะเรียนรู้ว่าทำวิธีนี้ก็ไม่ได้อยู่ดี ซึ่งส่วนใหญ่คนเป็นพ่อแม่มักจะไม่สามารถผ่านด่านลูกร้องไห้แล้วดิ้นไปได้ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรมของลูกต่อไป

วิธีการเดินหนีอยากจะให้เป็นหนทางสุดท้าย เพราะเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กด้วย และแนวโน้มคนเป็นพ่อแม่ก็มักพลาดพลั้งเพราะทนไม่ได้ที่เห็นลูกร้อง หรือเพราะอายผู้คนก็ตาม ฉะนั้น ถ้ามีการเตรียมรับมืออย่างดีมาก่อนหน้านี้ ก็อาจไม่ต้องมีใครเสียน้ำตา และไม่ต้องมีใครมาเสียใจในภายหลังด้วย

หลายพฤติกรรมของลูกที่เป็นปัญหามากมาย ผู้ใหญ่มักสรุปว่าเป็นเพราะนิสัยใจคอของเด็ก ลูกชอบเอาแต่ใจ ลูกดื้อ ลูกไม่เชื่อฟัง หรือสอนแล้วไม่จำ แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายอย่างของเด็ก ก็บ่งบอกและสะท้อนถึงการถูกเลี้ยงดูมาอย่างไรด้วย

เพราะบางครั้งก็เกิดจากพฤติกรรมของคนเป็นพ่อแม่ค่ะ...


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157978