วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

เมื่อผิวลูกเกิดการอักเสบ

เมื่อผิวลูกเกิดการอักเสบ!

นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเกือบทุกคนกับปัญหา “โรคผิวหนังอักเสบในเด็ก” เพราะหากมีการดูแลรักษาไม่ถูกวิธี อาจนำไปสู่การติดเชื้อ และเกิดการอักเสบจนบานปลายกลายเป็นแผลในวงกว้างได้ โดยเฉพาะการใช้ครีม หรือยา เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

นพ.วิทยา อัศววิเชียรจินดา ผู้เชี่ยวชาญกุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพญาไท 3 เปิดเผยถึงโรคผิวหนังอักเสบในเด็กเล็ก ว่า พบบ่อยในเด็กทารก หรือเด็กเล็ก อาการของโรค ผิวหนังจะแห้งและเกิดอาการคันร่วมด้วย ยิ่งเกาจะยิ่งเป็นมากขึ้น ผื่นจะเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาการอาจแตกต่างกัน แต่มักจะเกิดผื่นตามข้อศอก ข้อพับบริเวณเข่า บริเวณมือ เท้า แขน ขา ลำตัว หนังศรีษะ หน้า หรือหลังใบหู ผิวหนังจะแห้งเป็นขุย อักเสบแดงและบวม บางครั้งอาจจะแตก หรือเป็นเกล็ดและตกสะเก็ด กรณีเด็กทารก มักจะพบผื่นอักเสบบริเวณแก้ม ลำคอ ด้านนอกของแขนและขาทั้งสองข้าง

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า กรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วย สิ่งแวดล้อมที่บ้าน โรงเรียน สิ่งที่ทำให้เกิดผื่นคัน เรียกว่า ตัวกระตุ้น ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของโรค ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ละคนมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน เมื่อผิวหนังชั้นแรกแห้ง ผิวหนังจะเปราะบาง และอาจถึงขึ้นแตก จึงทำให้สิ่งแปลกปลอมภายนอกเข้าไปในร่างกาย ซึ่งทำให้ผิวหนังชั้นในเกิดความระคายเคือง และเกิดผื่นคันในที่สุด

ดังนั้น การรักษาจึงเป็นการรักษาผิวหนังที่แห้ง ผื่นคันระคายเคือง ให้กลับมาเป็นผิวหนังปกติ และป้องกันการเห่อซ้ำของผื่น ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวให้คงอยู่สม่ำเสมอ เลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวยิ่งแห้งและคันมากขึ้น ใช้ครีมอาบน้ำอ่อนที่มีฤทธิ์แก้คัน หรือเลือกสบู่ที่มีส่วนผสมของไขมันมากหน่อย หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการเห่อของผื่น เช่น ความร้อนหรือเย็นเกินไป พวกไรฝุ่น อาหารบางชนิด โดยให้สังเกตว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดผื่นมากขึ้นก็ควรหลีกเลี่ยง

“สัญญาณแห่งการติดเชื้อ ผิวหนังจะรู้สึกร้อนแดงขึ้น และอ่อนนุ่มกว่าปกติ มีผื่นเล็กๆ ขึ้นบนผิวหนัง บางรายแผลเป็นปื้นวงกว้าง อาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อ อาการคันทำให้เด็กนอนไม่หลับ ก่อความรำคาญ เบื้องต้นควรใช้ผ้าชุบน้ำเย็นปิดบริเวณที่คันสักพักก่อน แล้วค่อยทาครีมบำรุงผิว ถ้าเกิดอาการมากอาจต้องให้ใช้สเตียรอยด์ ร่วมด้วยสัก 2-3 วัน แต่ใช้นานกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี”

ทางที่ดี ควรเลือกใช้ครีมที่ผลิตจากสารธรรมชาติ ซึ่งมีสารสติมูเทค-เอเอส ที่ได้จากพืช สารตัวนี้จะช่วยลดอาการผื่นคัน บวมแดงร้อนได้ดี และสารแซคคาไรด์ ไอโซเมอเรท ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทำให้มีความปลอดภัยสูง สามารถใช้กับเด็กเล็กๆ อายุตั้งแต่ 15 วัน ก็สามารถใช้ได้แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นระดับน้อยถึงปานกลางใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ เมื่อหายแล้วก็ควรทาไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่

สำหรับกรณีที่เป็นผื่นแพ้ และมีอาการเห่อซ้ำบ่อยๆ อาจทาครีม เช่น ครีมอีเซอร์ร่า (Ezerra) หลังอาบน้ำทันที เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง หรือถ้าเริ่มมีอาการแสดงของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังปรากฏ เช่น แห้งตึง คันยุบๆ ยับๆ มีอาการแสบๆ คันๆ ก็ให้ทาครีมซ้ำได้ทันที จะทำให้ผื่นลามช้าลง ช่วยลดและป้องกันการกำเริบของผื่น แต่การเลือกใช้ครีมบางตัวควรปรึกษาแพทย์ และควรเป็นครีมที่ปราศจากสารสเตียรอยด์ ซึ่งปัจจุบันก็มีครีมที่สกัดจากพืชธรรมชาติที่แพทย์ในโรงพยาบาลคลินิกแนะนำให้ใช้ ซึ่งผู้ใช้ต้องปรึกษาแพทย์และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน

อย่างไรก็ดี มีผลการศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เด็กที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอี จะมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดอาการคันที่ผิวหนัง อันเนื่องมาจากโรคผิวหนังอักเสบ โดยเด็กที่มีระดับของวิตามินอีในเลือดสูงมากๆ จะมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรคผิวหนังอักเสบถึงร้อยละ 67 เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีระดับของวิตามินอีในเลือดต่ำ แต่ไม่พบว่าจะสามารถช่วยต่อต้านอาการของโรคภูมิแพ้ได้ สำหรับวิตามินอีนั้น พบได้ในผลไม้ที่มีสีเหลือง แดง และส้ม ทั้งยังพบได้ในน้ำมันจากพืช ถั่ว และธัญพืชเต็มเมล็ดด้วย


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000048376

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

แนวทางสร้างทักษะการเข้าสังคม ให้ลูกแบบง่าย ๆ

เชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่ทุก ๆ ท่าน คงไม่มีใครอยากเห็นลูกสุดที่รักเติบโตเป็นเด็กที่โดดเดี่ยว ไร้เพื่อน หรือไม่มีใครอยากมาเล่นด้วยกันหรอกนะครับ ใคร ๆ ก็อยากเห็นลูกมีความสุข และสนุกกับสังคมเล็ก ๆ ของเขาด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเด็กขาดการปลูกฝังทักษะการเข้าสังคมหรือการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งตัวเด็ก คนรอบข้าง และสังคม รวมไปถึงประเทศชาติอาจเกิดปัญหาตามมาได้

วันนี้เรามีแนวทางสร้างทักษะการเข้าสังคมง่าย ๆ ให้ลูกจากงานรักลูกเฟสติวัล 2012 มาฝากเป็นแนวทางกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยครับ

สำหรับลูกวัย 3 ปีแรก

- ให้เวลาพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของชีวิต ลูกจะรู้สึกสนุกสนานกับการทำหน้าตาแบบต่าง ๆ ของคุณ สนุกกับการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับพ่อแม่

- พาลูกไปเยี่ยมญาติมิตร นอกจากพ่อแม่แล้ว ลูกควรได้มีโอกาสเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เริ่มจากญาติพี่น้องใกล้ตัว และที่อยู่ห่างไกล ให้ลูกได้เล่นกับญาติพี่น้องที่เป็นเด็กด้วยกันหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

- ช่วยลูกเมื่อลูกอยู่ในช่วงวัย "กลัวคนแปลกหน้า" ถ้าลูกกำลังมีอาการกลัวคนแปลกหน้า พ่อแม่อย่าพลอยเป็นกังวลไปด้วย หรือรู้สึกอายเมื่อลูกไม่ยอมให้ใครอุ้ม อาจจะอุ้มลูกกลับมาให้สงบสักพัก แล้วค่อยให้ผู้ใหญ่เล่นกับลูกในขณะที่คุณอุ้มหรืออยู่กับเขาจะดีกว่า หรือค่อย ๆ ให้ผู้ใหญ่สร้างความคุ้นเคยกับลูกทีละน้อย เมื่อเห็นว่าลูกคุ้นเคยดีแล้วก็ส่งให้คนอื่นอุ้มในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยที่คุณยังอยู่ใกล้ ๆ ด้วย

แต่ถ้าลูกไม่มีอาการกลัวคนแปลกหน้าแล้ว และสามารถเล่นกับคนอื่นได้บ้าง คุณอาจจะหลบออกมาให้พ้นสายตาลูกสักพัก ถ้าลูกยังร้องหาคุณก็ค่อยลองใหม่ภายหลัง หรือบางครั้งอาจเดินเข้าเดินออกจากห้องเพื่อให้ลูกมั่นใจว่า ถึงแม้แม่ไม่อยู่ แต่อีกเดี๋ยวก็คงกลับมา

- ช่วยลูกเรียนรู้มารยาทสังคมแบบง่าย ๆ สอนลูกให้รู้จักไหว้ กล่าวคำสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ โบกมือบ๊ายบาย คุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างบ่อย ๆ จนลูกติดเป็นนิสัย ต่อไปเด็ก ๆ ก็จะทำได้เองโดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องสั่ง

- ช่วยลูกรู้เขารู้เรา ช่วงวัยเตาะแตะเป็นช่วงที่ลูกกำลังเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นตัวตนที่แยกออกจากคนใกล้ชิดโดยเฉพาะพ่อแม่ พร้อมกับเริ่มเรียนรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวมีเจ้าของ บางอย่างเป็นของตัวเอง บางอย่างเป็นของคนอื่น เวลาเห็นลูกหยิบข้าวของคนอื่นมาเล่น หรือมาเป็นของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ หยิบออกจากมือลูกพร้อมกับอธิบายง่าย ๆ ว่า "นี่เป็นของพี่เขาครับ/ค่ะ" และ "นี่ของหนูจ้ะ"

ส่วนในเด็กวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เริ่มเปิดประตูเรียนรู้สังคมที่กว้างกว่าบ้าน และครอบครัวของตัวเอง เด็กวัยนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโรงเรียนถึง 1 ใน 3 ของวัย เริ่มมีเพื่อนมากหน้าหลายตา ต้องปรับตัวกับหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งวัยนี้ทักษะการเข้าสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนลูกได้โดยหมั่นถามความรู้สึกของเขาต่อเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า และถ้าพวกคุณเองรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจลูก คุณเองก็ควรบอกความรู้สึกของคุณไปตรง ๆ เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกเริ่มรู้จักที่จะให้ และรับอย่างเหมาะสมตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ๆ เพราะเวลาเข้าโรงเรียนแล้วเขาจะได้ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะแบ่งของเล่น หรือขนมให้เพื่อน ๆ เพราะไม่เช่นนั้น ลูกอาจกลายเป็นเด็กไม่รู้จักแบ่งปัน โอกาสที่เพื่อน ๆ จะตีตัวออกห่าง และไม่้อยากเล่นด้วย ย่อมมีได้สูง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณพ่อคุณแม่คือต้นแบบที่สำคัญ หากมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปในทิศทางลบให้ลูกเห็น เช่น ใช้ความรุนแรงกับแม่ ออกคำสั่ง หรือวางอำนาจมากเกินไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมซับในตัวเด็ก และถูกนำไปใช้กับผู้อื่นต่อไป โดยเฉพาะกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน เช่น โอ้อวดจนเกินพอดี บางคนอาจจะมีพฤติกรรมที่ชอบทำตัวอวดเบ่ง ชอบข่มเพื่อน ๆ ให้หงอไปตาม ๆ กัน บางคนจู้จี้สั่งคนรับใช้ที่บ้านได้ พอมาถึงโรงเรียนก็ใช้คำสั่งกับเพื่อน ๆ หรือบางคนชอบเล่นแรง ๆ ผลักหน้าเพื่อนหรือชกต่อยเพื่อนราวกับเป็นเรื่องปกติ เด็กแบบนี้จะถูกปฏิเสธจากเพื่อนไปโดยปริยาย และไม่มีใครอยากเข้ามาเล่นด้วย

ดังนั้น เด็กจะเติบโตเป็นคนที่รู้จักอยู่ หรือโดดเดี่ยว ไร้เพื่อน ขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นต้นแบบ และผู้สอนที่สำคัญครับ



ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000042509