วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มาฝึกฟังลูกกันเถอะ

มาฝึกฟังลูกกันเถอะ


มาฝึกฟังลูกกันเถอะ
คำกล่าวที่ว่า “ลูกจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่” คงใช้ไม่ได้กับเด็กทุกวัย โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ต้องการมีบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง สนใจตัวเองมากขึ้น และเพื่อน คือ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กวัยรุ่นมากที่สุด ดังนั้น การสื่อสารพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะทักษะการฟัง เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการสื่อสาร เพราะทำให้ผู้พูดรู้สึกมั่นใจ เกิดความไว้วางใจที่จะพูดคุย หรือปรึกษากับพ่อแม่เมื่อมีปัญหา โดยเฉพาะกับลูก ส่วนจะฝึกฟังลูกอย่างไรนั้น บรรทัดด้านล่างนี้คือแนวทางดีๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป
      
       ตั้งเป้าก่อนสนทนาว่าจะตั้งใจฟังลูกพูดให้จบ      
       คุณพ่อคุณแม่พึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกควรได้มีสิทธิ์พูด หรืออธิบายบ้าง เพราะหัวใจสำคัญของการพูดคุยกับลูก คือ การเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งจะเกิดได้ต้องอาศัยทั้งบรรยากาศ การใช้คำพูด เป็นต้น
      
      ฟังโดยแสดงท่าทางสนใจ      
       การแสดงความสนใจต่อผู้เล่า ทั้งสีหน้า สายตา ท่าทาง เป็นประเด็นสำคัญของการฟังอย่างตั้งใจ เช่น สบตาลูก หรือพยักหน้าเป็นระยะ และแสดงอาการตอบรับ เช่น อืม จ้ะ เพื่อให้ลูกรู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่
ไม่พูดขัดจังหวะหรือพูดแทรก      
       การเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ควรพูดขัดจังหวะ หรือพูดแทรก แต่ควรฟังลูกพูดให้จบก่อน และเมื่อถึงเวลาตอบ พูดให้สั้นกระชับ ตรงประเด็น หากไม่มีข้อมูล บอกกับลูกตรงๆ และชวนลูกค้นหาข้อมูลด้วยกัน ไม่ใช้เวลานานในการพูดคุยแต่ละครั้ง นอกจากนั้น พยายามสะท้อนสิ่งที่ลูกพูดเป็นระยะเพื่อตรวจสอบความเข้าใจทั้งเรื่องที่เล่าและความรู้สึกของลูก และแสดงให้รู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟังลูก
   
        ใช้คำถามปลายเปิด
       ควรใช้ประโยคคำถามปลายเปิดแทนประโยคคำสั่ง เพื่อขอให้อธิบาย หรือขยายความเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พูดรู้สึกสบายใจที่จะพูดความจริง เช่น “ลูกไม่เข้าใจตรงไหนที่แม่พูดไป” “ไหนลองบอกเหตุผลสิว่าเป็นเพราะอะไร” หรือ “อะไรทำให้คิดแบบนั้น” เป็นต้น
      
       ดังนั้น การที่เด็กๆ หลายคนมักบ่นว่า พ่อแม่ไม่เคยฟังว่าเขามีปัญหาอะไร เอาแต่บ่นเรื่องซ้ำๆ ซากๆ ในขณะที่พ่อแม่เองก็หาว่าลูก “พูดเท่าไรก็ไม่ฟัง” แต่บางครั้งอาจลืมคิดไปว่า การที่ลูกไม่ฟัง ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้พูดหรือสั่งสอน ด้วยการให้ความรู้ หรือบอกเล่าเรื่องราว แต่เป็นการใช้อารมณ์ลงกับลูก ดังนั้น ถ้ารู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ต้องพูดเรื่องเดิมๆ กับลูก อาจต้องกลับมาลองคิดดูว่า
      
       - เคยถามลูกบ้างหรือไม่ว่า ทำไปเพราะอะไร
      
       - เมื่อถามแล้ว คุณหยุดฟังคำตอบจากลูกหรือยังก่อนที่จะรัวคำบ่นใส่ลูก
      
       - ให้เวลาลูกบ้าง เมื่อถามแล้วลูกเงียบ อย่าคิดว่า การที่ลูกอ้ำอึ้งเป็นการปิดบัง ลูกอาจกำลังคิดว่าจะพูดกับคุณอย่างไรเพื่อให้คุณเข้าใจและไม่โกรธ ไม่ดุเขา
      
       เรามาเป็นพ่อแม่ที่ลูกถามได้ คุยได้กันดีกว่า คงไม่มีใครอยากเป็นพ่อแม่ที่ลูกไม่อยากเข้าหา หรือคุยด้วย จริงไหมครับ
      
       ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากคู่มือการจัดกิจกรรมการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองกับบุตรหลานเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในเยาวชน
ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000102670

เมื่อลูกขี้แยเป็นนิสัย เอาแต่ใจเป็นที่สุด


Q&A : เมื่อลูกขี้แยเป็นนิสัย เอาแต่ใจเป็นที่สุด
คำถาม : ลูกชายวัย 3 ขวบ 10 เดือนแล้วค่ะ ตอนนี้งอแงร้องไห้แล้วก็เอาแต่ใจมาก ๆ เวลาร้องไห้จะชอบพูดคำเดิมๆ เช่น ถ้าไม่ให้เปิด ขวดนมเองก็จะพูดว่า ทำไม ทำไม ไม่หยุดค่ะ และตอนนี้ก็ติดดูการ์ตูนในคอมพิวเตอร์ด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไรดีค่ะ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
      
       คุณหมอสินดี : เด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ค่ะ ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะใช้วิธีร้องไห้ งอแง เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งตอนนี้คงต้องขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่ในการสอนเขา ว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะได้ หรือที่เราไม่ให้เพราะอะไร หากเขาไม่ฟังเพราะกำลังโกรธมากๆ อย่างกรณีลูกชายของคุณแม่บอกว่า เขาจะพูดคำเดิมๆ เวลาโมโห (เพราะตอนนั้นเด็กกำลังโกรธมากก็อาจหลุดเป็นคำพูดซ้ำๆ เพื่อแสดงความเสียใจหรือไม่ยอม) คุณควรรอให้เขาสงบก่อนค่ะ จึงค่อยบอกว่า ทำไมไม่ให้เปิด ไม่ควรพยายามอธิบายตอนที่เขาโมโห เพราะเขาไม่ได้ฟังเรา
      
       แต่!! ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าให้ลูกเห็นขวดนมตั้งแต่แรกหรือเราเปิดรอไว้เลยจะดีกว่าค่ะ เพราะเด็กวัยนี้เกินครึ่งอยากทำเองทุกอย่าง ดังนั้น เราก็ต้องมีเหตุผลพอ หรือถ้าคิดว่าการเปิดขวดนมเองของเขาไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร คุณแม่อาจจะลองให้เขาทำเอง ซึ่งถ้าหกเลอะ เขาเองก็จะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์จริงไปเลยและเขาต้องรับผิดชอบโดยการเอาผ้ามาเช็ดด้วย ซึ่งคุณแม่ก็อาจช่วยได้บ้างเล็กน้อยแต่ไม่ใช่ทำให้ทั้งหมดค่ะ
      
       ส่วนอีกเรื่องคือ ติดดูการ์ตูนในคอมพิวเตอร์ หมอขอถามสั้นๆ ว่า เขาจะติดหรือไม่ ถ้า ไม่มีคอมพิวเตอร์ ถ้า ลูกเปิดดูไม่ได้ ถ้า การเล่นกับพ่อแม่สนุกกว่าการ์ตูน ถ้า ออกไปเล่นนอกบ้านสนุกกว่า หมอเข้าใจค่ะว่าวิถีชีวิตยุคใหม่เราคงไม่สามารถจำกัดสิ่งเหล่านี้ออกจากตัวเด็กได้ ทั้ง smartphone, tablet, notebook ฯลฯ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ ควบคุมการใช้ให้เป็นเวลา อย่าให้มีอิทธิพลกับเขาจนรู้สึกว่าสนุกกว่าการเล่นของเล่นอย่างอื่น การเล่นกับเด็กคนอื่น หรือการเล่นกับพ่อแม่ หมอเชื่อว่าคุณทำได้ค่ะ ลูกเพิ่งอายุ 3 ปีกว่า เขายังเป็นวัยที่ดูเราเป็นต้นแบบและยังชอบการเล่นสมมติ เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ มากกว่าการสื่อสารทางเดียวกับทีวี หรือเกมค่ะ
      
ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000102098

ข้อคิดสำหรับพ่อแม่เตรียมรับมือเมื่อลูก ป.1 ได้แท็บเล็ต



ข้อคิดสำหรับพ่อแม่เตรียมรับมือเมื่อลูก ป.1 ได้แท็บเล็ต/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกอยู่วัยประถมหนึ่ง อ่านข่าวชิ้นนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ?
      
       “ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม มีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จากกรณีมีการเผยแพร่ ภาพที่อ้างว่า เป็นแท็บเล็ตพีซี ที่รัฐบาลแจกให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 มาทดสอบการสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ลามกอนาจาร โดยผู้ทดสอบ (ขอสงวนนาม) ได้อ้างว่า นำเครื่องแท็บเล็ตสำหรับแจกจ่ายให้นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่มารดานำกลับมาจากการอบรมมาทดสอบ โดยทดลองเข้าเว็บโป๊แห่งต่างๆ ซึ่งปรากฏว่า สามารถเข้าไปใช้บริการเว็บลามกอนาจารต่างๆ ได้ทุกเว็บที่ลองทดสอบ
      
       อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่า มีการบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ลักษณะดังกล่าวหมดแล้ว โดยเด็กนักเรียนที่ใช้แท็บเล็ตพีซีที่รัฐบาลแจกให้ จะสามารถเข้าได้เฉพาะเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเท่านั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง”
      
       ข่าวชิ้นนี้ถูกขยายผลมาจากสังคมออนไลน์ที่ได้มีการส่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้เด็กบางคนยังไม่ได้เครื่องแท็บเล็ตแต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่ก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นนี้จริงหรือ..!!
      
       ประเด็นเรื่องการเข้าถึงเว็ปไซต์ที่ไม่เหมาะสมของเด็กวัยประถมหนึ่ง เป็นเรื่องที่นักวิชาการและผู้ที่อยู่ในแวดวงคนที่ทำงานเด็กกังวลใจตั้งแต่ที่รู้ว่ามีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง และเชื่อว่า ปัญหาจะค่อยๆ ผุดออกมาเรื่อยๆ เมื่อเด็กได้รับและนำไปใช้แล้ว
      
       ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ประเด็นที่ถูกจับตาและมุ่งเน้น จะเป็นเรื่องของระบบ เครือข่าย ไวไฟที่ไม่ทั่วถึง ระบบไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ ไม่มีปลั๊กไฟ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องระบบ โครงสร้างที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อม หรือรองรับได้อย่างทันท่วงที แต่เจ้าแท็บเล็ตก็มาถึงแล้ว
      
       แต่ประเด็นใหญ่ที่น่ากังวลใจมากกว่า และถูกละเลยมองข้าม ก็คือ เมื่อเจ้าแท็บเล็ตถึงมือของหนูน้อยวัยประถมหนึ่งเมื่อพวกเขายังไม่พร้อม จะเกิดอะไรขึ้น ?
      
       ปัญหาไม่ได้เกิดให้เห็นทันที เหมือนประเภทไม่มีไฟก็ใช้ไม่ได้ แต่มันคือปัญหาทางด้านพฤติกรรม ปัญหาทางด้านสติปัญญา ปัญหาสังคม ที่มันจะตามมาอีกมากมาย และมันจะส่งผลระยะยาว กลายเป็นปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ที่จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน
      
       ก่อนหน้านี้ ดิฉันได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ Bill Gates (บิล เกตส์) ซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งไอทีอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft กลับมีความคิดเห็นที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งถ้าจะสามารถกระตุกให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราได้คิดสักนิดก็ยังดี..!!!
      
       บิลเกตส์ ให้สัมภาษณ์ กับ เว็บไซต์ The Chronicle of Higher Education ในประเด็นการแจกแท็บเล็ตมาใช้ในการสอนว่า
      
       “หากเป็นแท็บเล็ตไว้แจกตัวเครื่องให้นักเรียนอย่างเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่แย่มาก มันไม่ได้ช่วยให้การศึกษาดีขึ้นเลย มันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหลักสูตรและตัวบุคลากรครูผู้สอนไปพร้อมๆ กัน ยิ่งอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตไม่มีคีย์บอร์ดก็ไม่เหมาะสำหรับการศึกษา เพราะแท็บเล็ตไม่ใช่แค่มีไว้อ่านเหมือนหนังสือ แต่มันเป็นการสื่อสารที่ต้องใช้การโต้ตอบ เพื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งแนะนำให้ใช้พีซีราคาถูก เป็นคำตอบที่ดีและเหมาะสมกว่า ถ้าเราสามารถปรับปรุงด้านหลักสูตรให้ดีขึ้น มีความพร้อม และสร้างระบบ และมีนโยบายเพื่อการเข้าถึงหลักสูตรเหล่านั้น ตัวอุปกรณ์นั้นจะเป็นคอมพิวเตอร์ให้ยืมจากห้องสมุดก็สามารถใช้งานได้”
      
       จะว่าไปก็สอดคล้องนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กที่ก่อนหน้านี้ออกมาทักท้วงเรื่องความไม่เหมาะสม และความไม่พร้อมของเด็กประถมหนึ่ง เพราะยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านและทุกมิติมาก่อน แต่สุดท้ายนโยบายเรื่องนี้ก็คลอดออกมาอย่างรวดเร็ว และทุกอย่างก็ดูเร่งรีบไปซะทุกเรื่อง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นประเด็นถูกจับตาอย่างมาก
      
       และ..วันนี้แท็บเล็ตก็ทยอยแจกถึงมือเด็ก ป.1 กันแล้ว
      
       คำถามคือ จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นำเจ้าเครื่องแท็บเล็ตมาใช้?
      
       ความจริงเรื่องการแจกแท็บเล็ตก็มีข้อดีอยู่บ้าง เพราะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลทางเทคโนโลยีได้มากขึ้น เพราะเราก็ปฏิเสธโลกเทคโนโลยีไม่ได้แล้ว แต่คำถามหรือคำทักท้วงก็คือ ทำไมต้องเป็นเด็กประถมหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นเด็กชนบท เด็กที่ขาดโอกาส หรือเด็กที่ยังไม่พร้อม ยิ่งไม่เหมาะ เพราะเด็กบางคนยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อีกต่างหาก
      
       นโนบายนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากถ้ามีการแจกในวัยที่เหมาะสม และมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้านเสียก่อน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนของสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ให้ชัดเจน และทำความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่กับสังคมให้ได้อย่างทั่วถึงเสียก่อน

       แม้ในที่สุดภาครัฐจะยังไม่ได้เตรียมรับมือใดๆ หรือไขคำทักท้วงแต่ประการใด เจ้าแท็บเล็ตก็มาถึงมือของเด็กประถมหนึ่งกันแล้ว
      
       ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่เองแล้วว่า ควรต้องเตรียมรับมืออย่างไรให้รู้เท่าทัน
      
       หนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้เด็กใช้แท็บเล็ตลำพัง ควรมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกวิธี
      
       สอง กำหนดระยะเวลาในการใช้งาน หรือสร้างกฎกติกาภายในบ้านร่วมด้วย โดยอาจให้ลูกมีส่วนร่วมกันกำหนดด้วยก็ได้
      
       สาม สอนให้ลูกใช้งานให้ถูกวิธี ทุกครั้งที่ใช้ควรอยู่ในสถานที่ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ และมีระยะห่างกับจอพอสมควร มิฉะนั้น เด็กจะต้องใช้สายตาเพ่งมาก
      
       สี่ อย่าให้หมกมุ่นกับแท็บเล็ต จนไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นหรือออกกำลังกาย สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา มักกลายเป็นเด็กอ้วน หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง
      
       ห้า ให้แบ่งเวลาสำหรับการอ่านหนังสือเป็นประจำ อาจกำหนดช่วงเวลาด้วยเพื่อปลูกฝังให้ลูกไม่ทิ้งเรื่องการอ่านหนังสือด้วย
      
       หก หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วย เพราะเด็กบางคนที่เสพติดคอมพิวเตอร์ เสพติดเกม หรือเสพติดเทคโนโลยี มักจะเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หรืออาจเคยชินกับความรวดเร็ว ก็อาจไม่รู้จักการรอคอย ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องให้ได้ทันที ฯลฯ
      
       เจ็ด สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องให้คำแนะนำเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตที่เหมาะสม ต้องคอยสอดส่องและควบคุมการใช้งาน อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเจ้าเครื่องนี้มีทั้งประโยชน์และโทษอย่างไร ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีจะนำไปสู่อะไร
      
       ในเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง และลูกก็ได้รับแจกแท็บเล็ตด้วย พ่อแม่มีความจำเป็นต้องรู้เท่าทันและเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ต้องแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสซะเลย แต่คนเป็นพ่อแม่ต้องมีความรู้ และหาข้อมูลให้เท่าทันเทคโนโลยีด้วย
      
       หนักใจแทนพ่อแม่ยุคนี้จริงๆ เพราะนอกจากจะต้องรับมือเรื่องโลกการเรียนรู้ของลูกเองแล้ว ก็ยังต้องคอยรับมือกับนโยบายของภาครัฐที่ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะแจกยาหอมหรือยาพิษให้กับลูกหลานของเราเมื่อไรอีก…!!!

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000102082