วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ระวัง…ความเครียดในวัยเด็กส่งผลร้ายถึงวัยผู้ใหญ่

ระวัง…ความเครียดในวัยเด็กส่งผลร้ายถึงวัยผู้ใหญ่
บทความโดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

แม้ว่ารูปภาพในวัยเด็กของเราที่ติดไว้ที่ฝาผนังห้องรับแขกจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม หรือตอนเด็ก ๆ เราจะมีของเล่นมากมายที่เก็บอยู่ในห้องเก็บของจนถึงทุกวันนี้ แต่ในวัยเด็กของทุกคนล้วนต้องเคยผ่านความเครียดมาแล้วทั้งนั้น นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่าความเครียดเหล่านี้จะติดอยู่กับเราไปจนโตหรือจนกระทั่งเสียชีวิต

เมื่อเด็กได้รับความเครียดหรือต้องเผชิญกับความเจ็บปวดในวัยเด็กไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปฝังในก้านสมอง สมองสามารถตอบสนองต่อความทุกข์ทรมานได้และจะเกิดความไวต่อความเครียดที่เกิดขึ้น ดร.ราจิตา สินหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเครียดของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้สมองจะสร้างเส้นใยที่แน่นหนาต่อความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีประวัติได้รับความทุกข์หรือความเจ็บปวดในวัยเด็กและจะฝังติดแน่นอยู่มากกว่าเด็กที่ไม่มีประวัติ

ความเครียดชนิดไหนบ้างที่จะติดอยู่ในสมองของเด็กได้เป็นศตวรรษ จากการวิจัยพบว่า ความเจ็บปวด โรคภัยไข้เจ็บ และการบาดเจ็บจะเป็นความเครียดหลักสำหรับเด็กๆ แต่ระดับความเครียดจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว เช่นการหย่าร้าง การทารุณทั้งร่างกายและจิตใจ การต้องเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ปัญหาเรื่องการเงิน การสูญเสียผู้เป็นที่รัก หรือมีผู้ปกครองที่ติดยา หรือมีปัญหาทางจิต

การจากศึกษาของศูนย์สุขภาพจิต พบว่าโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเด็กเกิดความเครียดในระดับสูง เด็ก 1 ใน 8 คนอาจต้องเผชิญกับโรควิตกกังวล หวาดระแวงจนถึงขั้นเป็นโรคจิตได้

จากการศึกษาของดร.ราจิตาพบว่า เด็กเล็กที่อยู่ภายใต้ความเครียดจะมีอาการก้าวร้าวหรือซึมเศร้าที่น่าเป็นห่วง ในเด็กวัยรุ่นจะมีอาการแยกตัว จิตใจอ่อนแอ อารมณ์ไม่มั่นคง มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีครอบครัวที่แสนอบอุ่น แต่บางครั้งผู้ปกครองก็ไม่สามารถสร้างโล่ป้องกันความเครียดได้ตลอดเวลา เช่นปัญหาเด็กถูกแกล้งที่โรงเรียน หรือสูญเสียญาติผู้ใหญ่อย่างกะทันหัน แต่เราในฐานะที่เราเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู หรือผู้ดูแลเด็กเราสามารถช่วยเป็นกำลังใจ ปกป้อง คอยดูแลช่วยเหลือ แนะนำ และพูดคุย เพื่อให้เด็กผ่านประสบการณ์เหล่านั้นไปได้





วิธีการช่วยเหลือไม่ให้เด็กมีความเครียดสูงขึ้นและติดตัวไปจนกระทั่งเลยไปสู่วัยผู้ใหญ่

1. หาความช่วยเหลือจากสังคม การที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย ระบาย กับครอบครัวอื่นที่สามารถช่วยสนับสนุน เป็นวิธีเบื้องต้นจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้

2. ให้แหล่งความรู้และการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเด็ก ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น โรงเรียน ครอบครัว ชุมชน จะช่วยให้เด็กมีวิธีคิดที่ฉลาดและทำให้สมองได้พัฒนาและผ่านพ้นความเครียดไปได้

3. พัฒนายุทธวิธีการควบคุมอารมณ์ และความคิดทางบวก ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กสามารถมีอิทธิพลที่จะช่วยป้องกันความเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสันพบว่าเสียงของคุณแม่ในขณะที่พูดคุย เสียงกระซิบในขณะที่โอบกอด หรือเสียงโทรศัพท์คุยกับลูก มีนัยสำคัญทางไบโอเคมีที่จะตอบสนองให้ความอบอุ่นและลดความเครียดของลูกได้ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าเด็ก 405 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเมื่อได้เล่นโยคะ จะช่วยเสริมคุณค่าในตัวเองให้เด็กเกิดความเชื่อมั่น มีคะแนนการเรียนสูงขึ้น และลดพฤติกรรมที่มีปัญหาจากความยากจนได้ การที่เด็กได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้เด็กลดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการให้เด็กได้เล่นกิจกรรมที่สนุกสนาน จะช่วยสร้างโลกของเด็กให้สดชื่นและทำให้ความเครียดหมดไปอีกด้วย

ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว กับทุกคน อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่หากเราอยู่ในฐานะที่สามารถทำให้ความเครียดนั้นลดน้อยลง และไม่ติดตัวเด็ก ๆ ไปจนโตได้ เราก็จะสามารถสร้างประชากรน้อย ๆ ให้มีรอยยิ้มที่เบิกบานได้ตลอดไป เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000009968