วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“กาเฟอีน” ในขนมเด็ก..เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

“กาเฟอีน” ในขนมเด็ก..เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม




เมื่อพูดถึง “ขนม” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเด็กไทยมานานมาก เริ่มตั้งแต่ขนมไทยหลากหลายชนิด แต่ทุกวันนี้ เราคงต้องยอมรับว่า สื่อโฆษณาต่างๆ ด้านขนมเด็ก ทำหน้าที่โหมกระหน่ำและมุ่งเป้าไปยังเด็กทุกวัย ทำให้ขนมเปลี่ยนรูปหน้ากลายเป็นขนมกรุบกรอบรสชาติถูกลิ้น เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ซึ่งขนมบางอย่างมีการนำวัตถุดิบธรรมชาติที่มีกาเฟอีนผสมลงไปด้วย เช่น เค้กรสกาแฟ รสช็อกโกแลต หากรับประทานในปริมาณมาก และบ่อยเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพตามมาได้



ผศ.ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี นักวิชาการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ปัจจุบันกาเฟอีนในอาหารที่คนไทยรับประทานไม่ใช่มีเฉพาะน้ำชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมที่มีน้ำสีดำอย่างที่เข้าใจกัน แต่ในขนม และลูกอมต่างๆ เช่น ขนมเวเฟอร์ เค้ก คุกกี้ ลูกอมต่างๆ นม ไอศกรีม ก็ยังพบว่ามีกาเฟอีนผสมอยู่ ซึ่งกาเฟอีนเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการรวมถึงพัฒนาการของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต นับเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม



สำหรับสถานการณ์การบริโภคกาเฟอีนในเด็กไทย จากข้อมูลการสำรวจสภาวะพฤติกรรมสุขภาพเยาวชนอายุ 6-15 ปีของกองสุขศึกษา พบว่า เด็กและเยาวชนยังคงดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำทุกวัน 10.5 เปอร์เซ็น ดื่ม 5-6 วันต่อสัปดาห์ 28.4 เปอร์เซ็น ดื่ม 3-4 วันต่อสัปดาห์ 26.1 เปอร์เซ็น นอกจากนี้ยังหันมารับประทาน ช็อกโกแลต เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีกาเฟอีนผสมอยู่ ส่งผลให้มีปัญหาความจำ และสติปัญญาถดถอย บางรายสมาธิสั้นไม่สามารถจดจำข้อมูล และเรื่องราวที่เกิดขึ้นฉับพลันได้เป็นเวลานาน เด็กมักจะเหม่อลอย ไม่สนใจเรียน หากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้สารกาเฟอีนเข้าไปทำลายจิตประสาท และความจำบางส่วนได้



นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาปริมาณการบริโภคกาเฟอีนจากขนมและลูกอมในแต่ละวันของเด็กจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทำการศึกษาเด็ก 2 กลุ่ม คือ ในกลุ่มอายุ 7-11 ขวบ และอายุ 12-17 ปี พบว่า เด็กอายุ 7-11 ขวบ มีพฤติกรรมกินขนมและลูกอมรวมสูงสุดใน 1 วัน 392.8 กรัม ทำให้ได้รับกาเฟอีนเฉลี่ย 60.8 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนในกลุ่มอายุ 12-17 ปี กินขนมและลูกอมรวมกัน 209.2 กรัม ทำให้ได้รับกาเฟอีนเฉลี่ย 23.1 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในลูกอมรสกาแฟมีกาเฟอีน 2.7-3.2 มิลลิกรัมต่อเม็ด ลูกอมรสช็อกโกแลตมีกาเฟอีน 0.16 มิลลิกรัมต่อเม็ด นมรสช็อกโกแลตมีกาเฟอีน 12-14 มิลลิกรัมต่อกล่อง ขนมเวเฟอร์รสกาแฟมีกาเฟอีน 1.1-1.3 มิลลิกรัมต่อชิ้น และกาแฟมีกาเฟอีน 80-100 มิลลิกรัมต่อแก้ว



ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ขนาดของกาเฟอีนที่ทำให้เสียชีวิตได้ในเด็กเล็กประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั่นหมายความว่า ถ้าเด็กหนัก 10 กิโลกรัม ปริมาณกาเฟอีนที่จะทำให้เสียชีวิต คือ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก แต่ในทางปฏิบัติจริงคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ถ้าดูว่าการได้รับกาเฟอีนของเด็กอายุต่างๆ ในช่วง 7-17 ปีนั้นจะพบว่า เด็กกินขนมทุกอย่าง (ยังไม่รวมน้ำอัดลมสีน้ำตาลดำ และนมรสกาแฟหรือช็อกโกแลต) การได้รับกาเฟอีนยังไม่มากจนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทางที่ดี เด็กไม่ควรได้รับกาเฟอีนเกินวันละ 2.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แสดงว่าถ้าเด็กมีน้ำหนักตัวประมาณ 10-15 กิโลกรัม ก็ไม่ควรได้รับกาเฟอีนเกิน 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน



“ทุกวันนี้พฤติกรรมของเด็กไทยเปลี่ยนไปมาก โอกาสที่เด็กจะได้รับกาเฟอีนจากแหล่งอื่นๆ มีมากขึ้น ส่งผลให้เด็กได้รับกาเฟอีนในแต่ละวันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและภาวะโภชนาการของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กไทยมีโอกาสอ้วนมากขึ้น เพราะขนมเหล่านี้มีน้ำตาลและไขมันสูง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่เกี่ยวกับการเลือกบริโภคขนมและลูกอม ตลอดจนคำนึงถึงปริมาณในการบริโภคขนมและลูกอมในแต่ละวันด้วย”



แม้ว่ากาเฟอีนไม่ได้จัดเป็นสารเสพติดตามความหมายของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา และขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่า เด็กอาจติดในลักษณะของการกินจนเป็นนิสัย และทุกคนคงทราบกันดีว่า ขนมต่างๆ ในท้องตลาด ล้วนแล้วแต่เป็นขนมที่มีทั้งไขมัน และน้ำตาลสูงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเค้ก ไอศกรีม คุกกี้ ลูกอม เวเฟอร์ และช็อกโกแลต ถ้าเด็กได้กินบ่อยๆ และเป็นการกินนอกเวลาอาหาร การที่ขนมเหล่านี้มีพลังงานสูงและมีน้ำตาลสูงก็จะทำให้เด็กรู้สึกอิ่มจนไม่อยากกินอาหารหลักที่มีสารอาหารครบถ้วน โอกาสที่จะเจริญเติบโตไม่เหมาะสมตามวัย และมีปัญหาโรคอ้วนเพิ่มเข้ามาได้สูง



ทิปหลีกเลี่ยงการบริโภค “กาเฟอีน”



- หลีกเลี่ยงขนมและเครื่องดื่มกาแฟ หรือรสช็อกโกแลตในการเลือกขนมและเครื่องดื่มให้เด็ก ควรเลือกรสวานิลาหรือรสผลไม้ที่สกัดจากธรรมชาติ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเลือก milk chocolate มากกว่า dark chocolate



- ลองเขียนรายการอาหารและเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะให้เด็กรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนตามรายการที่เขียนขึ้น แต่ถ้าเด็กอยากรับประทานจริงๆ ควรจำกัดปริมาณให้น้อยที่สุดและไม่ควรให้เด็กรับประทานหลังจากช่วงอาหารเย็น เพราะจะมีผลกระทบต่อการนอนหลับของเด็กได้



- ควรให้เด็กรับประทานของว่างที่คุณแม่ทำเอง เพราะการที่คุณแม่ทำของว่างและเครื่องดื่มให้ลูกรับประทานเอง จะช่วยหลีกเลี่ยงการบริโภคกาเฟอีน รวมทั้งมีคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของลูกด้วย



ที่มา

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000057048