วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

'1,000 วันสำคัญสุด' ดูแลใกล้ชิดช่วยลูกฉลาดได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

 
'1,000 วันสำคัญสุด' ดูแลใกล้ชิดช่วยลูกฉลาดได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานการรักษาและการบริการที่มีประสิทธิภาพด้านเด็ก ในโอกาสฉลองครบ 9 ปี และก้าวย่างสู่ปีที่ 10 ของ รพ.เด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะสำหรับเด็กแห่งแรกในประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อฉลองในโอกาสดังกล่าวตลอดเดือน พ.ย. และในวันเปิดงานได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำหรับเหตุผลที่ รพ.เด็กสมิติเวชฯ

ให้ความสำคัญของการดูแลรักษาบุตรหลานวัยซน พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รอง ผอ.รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ เผยว่า ลูกเป็นสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับพ่อแม่ ที่ต้องเตรียมพร้อมในทุกด้าน เพราะชีวิตหนึ่งเจริญเติบโตขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งในเรื่องนี้สมาคมกุมารแพทย์อเมริการะบุว่า 1,000 วันสำคัญที่สุด นับตั้งแต่อยู่ในท้อง 9 เดือน ที่สมองเติบโตทุกส่วน บวกกับเวลาโตเป็นทารกและเด็กเล็กอีก 2 ปี เท่ากับ 1,000 วันพอดี เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์จำเป็นต้องมีสูตินารีแพทย์เป็นที่ปรึกษา

นอกจากนี้ในวันเปิดกิจกรรมยังจัดเสวนาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับการสร้างศักยภาพทางสมองให้ลูกน้อยในหัวข้อ “ความฉลาดเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์” ไว้เป็นคำแนะนำให้ผู้ปกครองที่สนใจนำไปปฏิบัติ นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล จากศูนย์ผู้มีบุตรยาก รพ.เด็กสมิติเวชฯ กล่าวว่า เวลาผู้หญิงจะแต่งงานคิดแต่เรื่องจัดงานอย่างไร แต่หมออยากให้คิดไกลกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนมีลูก จะทำอย่างไรให้ลูกเกิดมาปลอดภัยจากโรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมต่าง ๆ เรื่องที่ควบคุมได้ไม่ให้ลูกต้องเผชิญกับความเสี่ยงคือ การตรวจร่างกายทั้งพ่อและแม่หาโรคและพาหะ เช่น ธาลัสซีเมีย ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส เอดส์ การสอบถามโรคทางพันธุกรรมจากญาติพี่น้อง การงดกินยาที่เป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ งดการฉายรังสีหรือสัมผัสรังสี แม้แต่การไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเจอเชื้อโรคแปลก ๆ ก็ไม่ควร นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะอุจจาระมีพยาธิทำให้เด็กพิการได้ รวมทั้งการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ก็ต้องระวัง

“ความหวังของพ่อแม่นอกจากลูกครบ 32 แล้ว ก็อยากให้ลูกเป็นเด็กเก่งและฉลาด ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวสามารถทำได้จริง ไม่ต้องรอให้ธรรมชาติเป็นผู้กำหนด และเริ่มทำได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าก่อนท้องควรทำอย่างไร เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน ตรวจมะเร็งปากมดลูก อัลตราซาวด์หาเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก หรือถุงน้ำในรังไข่ เพราะถ้าเกิดท้องแล้วต้องผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูง ข้อแนะนำอีกอย่างคือให้คุณแม่กินโฟเลทวันละเม็ดจะช่วยลดอัตราเสี่ยงเรื่องระบบไขสันหลังและสมองพิการของลูก”

ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช แพทย์สูตินารีผู้เชี่ยวชาญการดูแลหญิงตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลเดียวกัน แนะนำว่า เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์กับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เนื่องจากหัวใจของกระบวนการฝากครรภ์คือการหาภาวะเสี่ยงให้เจอก่อนเหตุเกิด สถิติคนท้อง 100 คนแท้งก่อน 20 คน พอผ่านภาวะดังกล่าวมาได้ร้อยละ 10 จะมีอาการครรภ์เสี่ยงสูง ถ้าดูแลไม่เพียงพอคุณแม่อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในท้องได้ การฝากครรภ์ที่มีคุณภาพคือ การคัดกรองหาความเสี่ยงทั้งแม่และเด็ก ควรทำอัลตราซาวด์หนึ่งครั้งทุกไตรมาสการตั้งครรภ์ ครั้งแรกเพื่อตรวจให้รู้ว่าท้องกี่เดือน มีภาวะท้องนอกมดลูก ท้องลมหรือเปล่า สู่ไตรมาสที่ 2 ตรวจหาความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายและอวัยวะภายใน ส่วน 3 เดือนสุดท้ายรกเริ่มเสื่อมน้ำคร่ำเริ่มน้อย ต้องดูว่าไปขัดขวางพัฒนาการของเด็กหรือไม่ ถ้าอันตรายจำเป็นต้องผ่าออกจะดีกว่า.

ที่มา
http://www.dailynews.co.th/society/167756

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เผย 7 ทักษะพื้นฐานที่พ่อแม่ยุคใหม่อาจไม่มีเวลาสอนลูก


เผย 7 ทักษะพื้นฐานที่พ่อแม่ยุคใหม่อาจไม่มีเวลาสอนลูก

อาจเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ต้องเร่งทำงานหาเงินกันหนักขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ครอบครัวสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ท่ามกลางความบีบคั้นทางสังคมนั้นก็มีการสำรวจพบว่า บางกิจกรรมที่ดูจะเป็นเรื่องง่าย ๆ และพ่อแม่ในอดีตเคยเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะให้กับลูก ๆ นั้น พ่อแม่สมัยนี้ไม่มีโอกาสและเวลาที่จะมาสอนลูก ๆ ของพวกเขาได้อีกต่อไปแล้ว
      
       จากการสำรวจความคิดเห็นของพ่อแม่ชาวอังกฤษกว่า 1,000 คนโดยเว็บไซต์ yano.co.uk พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่อ้างเหตุผลหน้าที่การงานรัดตัวจนไม่สามารถมีเวลาว่างมาดูแลลูก ๆ ได้ อีกทั้งยังละเลยที่จะสอนพื้นฐานง่าย ๆ ในชีวิตให้กับลูกด้วย พื้นฐานเหล่านั้นได้แก่ การอ่านหนังสือกับลูก การสอนลูกเขียนหนังสือ การสอนลูกข้ามถนนอย่างปลอดภัย การสอนการนับเวลา การสอนขี่จักรยาน การสอนผูกเชือกรองเท้า และการเล่นวิ่งไล่จับนั่นเอง โดยพ่อแม่ทำงานยุคใหม่ยอมรับว่าชีวิตพวกเขายุ่งมากเกินกว่าจะมาจับงานที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ และพ่อแม่กว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวที่ต้องการผลักภาระการสอนทักษะเหล่านั้นให้กับครู และโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบแทน
      
       ไม่เพียงเท่านั้น พ่อแม่ถึง 3 ใน 5 ยังเผยด้วยว่า พวกเขาเหนื่อยกับงานเกินกว่าจะสอนลูกแปรงฟัน อ่านหนังสือกับลูก และสอนถึงการข้ามถนนอย่างปลอดภัยให้ลูกด้วย
      
       ขณะที่งานบ้านเช่น การซักผ้า ทำความสะอาดบ้านกลับได้รับความสำคัญเหนือกว่า โดยพ่อแม่ 6 ใน 10 ยอมรับว่า การทำงานบ้านสำคัญกว่าการสอนลูกแต่งตัวเสียอีก
      
       อย่างไรก็ดี ทักษะที่พ่อแม่ยุคนี้ต้องการให้ลูกมีมากที่สุดสามอันดับแรกคือ การอ่าน การเขียน และการข้ามถนนอย่างปลอดภัย โดยพ่อแม่เกือบครึ่ง (47 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับว่า หน้าที่เหล่านั้นส่วนหนึ่งได้คุณครูที่โรงเรียนช่วยสอนมาบ้างแล้ว และถึงมันจะไม่เพียงพอ แต่ก็ยังดีกว่ารอให้พ่อแม่มาสอน ซึ่งทางผู้สำรวจเผยด้วยว่า มีพ่อแม่กว่าครึ่งทีเดียวที่รู้สึกผิดจากปัญหาดังกล่าว
      
       แอน-มารี แมคคิมม์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Yano เผยว่า
       "เรามาถึงยุคที่พ่อแม่มีชีวิตที่ยุ่งมากจนไม่มีเวลาให้กับลูก ๆ แถมคนเป็นพ่อแม่เองยังหลงแข่งขันกับสังคมนอกบ้าน เช่น ต้องมีบ้านหลังใหญ่ ๆ มีเฟอร์นิเจอร์พร้อมมูล บ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงการมีลูกที่ฉลาดและสามารถพาไปอวดใครต่อใครได้ จึงจะถือว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่พ่อแม่กลุ่มนี้จะหลงไปกับสิ่งนอกกายจนลืมที่จะดูแลลูก และพัฒนาลูกในสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตพวกเขา"
      
       สำหรับประเทศไทย อย่าปฏิเสธว่าเราไม่ได้เดินตามกระแสข้างต้น เพราะคนเป็นพ่อแม่ทั้งหลายต่างทราบดีกว่า ครอบครัวของไทยเองก็เผชิญกับการบีบคั้นจากภาวะดังกล่าวไม่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้า และควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ของการพัฒนาประเทศเลยทีเดียว เพราะอย่าลืมว่า เด็กจำเป็นต้องมีทักษะเพื่อการมีชีวิตรอดในโลกใบนี้ และหากคนที่รักพวกเขามากที่สุดอย่างพ่อแม่ยังไม่มีเวลา สุดท้าย เราจะได้ประชากรแบบใดมาอยู่ร่วมกันในอนาคต คงไม่ยากที่จะคาดเดา

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000140598

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เผย 3 ต้นเหตุ “ชีวิตขี้เกียจตัวเป็นขน” ของเด็กยุค 2012


เผย 3 ต้นเหตุ “ชีวิตขี้เกียจตัวเป็นขน” ของเด็กยุค 2012

เป็นสิ่งที่พบเห็นจนชินตาของผู้ที่อยู่ในเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่ๆ กับภาพของเด็กเล็กที่นั่งอยู่ในรถเข็นคันกะทัดรัด แม้จะมาพร้อมพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยง แต่บางครั้งเด็กก็อาจไม่มีโอกาสเดิน หรือลงมาคลานกับพื้นแต่อย่างใด กิจกรรมที่ทำได้บนรถเข็นคันเล็กๆ อาจมีเพียงการนั่งนิ่งๆ และหันมองบางสิ่งบางอย่างที่เด็กคิดว่าน่าสนใจ และใครๆ ต่างก็เห็นว่าดีที่เด็กอยู่เป็นที่เป็นทาง แต่หารู้ไม่ว่า ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวนี้กำลังสร้างเด็กพันธุ์ใหม่ที่มีพัฒนาการทางร่างกายถดถอยลง!
      
       โดยการศึกษาจาก The Institute for Neuro-Physiological Psychology ในเมืองเชสเตอร์ ที่ได้ทำการทดสอบความสามารถทางร่างกายของเด็ก 60 คน (อายุ 4-5 ปี) ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเวสต์มิดแลนด์ พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กกลุ่มนี้ประสบปัญหาไม่สามารถปฏิบัติในสิ่งที่นักวิจัยขอให้ทำ เช่น การยืนทรงตัวบนขาข้างเดียว 3 วินาที หรือการคลานในระยะทางสั้นๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น
      
       หากพิจารณาจากวิถีชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ พบว่า มี 3 ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก ได้แก่ การนั่งในรถเข็นเด็ก - คาร์ซีท, การรับชมรายการทีวี - เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการเรียนที่มุ่งเน้นผลการเรียนมากเกินไป
      
       คำอธิบายก็คือ เพราะการใช้เวลาอยู่นิ่งๆ ในรถเข็น หรือนั่งนิ่งๆ หน้าจอทีวี ฯลฯ มากเกินไปส่งผลต่อร่างกายของเด็กๆ ที่เรารักในด้านต่างๆ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อไม่พัฒนา ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดๆ ได้นาน และทำให้การละเล่นสนุกๆ ที่พ่อแม่เคยเล่นสมัยเด็กอย่างวิ่งไล่จับ วิ่งเปี้ยว กระโดดยาง กระต่ายขาเดียว ฯลฯ เด็กยุครถเข็นอาจไม่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงพอจะเล่น หรือสนุกไปกับมันได้เหมือนยุคพ่อแม่อีกแล้วก็เป็นได้
      
       นอกจากนั้น นักวิจัยยังได้ให้เหตุผลว่า อุปกรณ์เหล่านี้ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะปีนป่ายซุกซนตามประสาเด็ก เช่น การวิ่ง กระโดด ม้วนตัว กลิ้งไปมา คลาน ซึ่งสามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อไปอย่างน่าเสียดาย และอาจส่งผลถึงการเรียนของเด็กในอนาคตด้วย แต่ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะพ่อแม่สมัยนี้ห่วงเรื่องความปลอดภัย เกรงว่า ลูกจะได้รับบาดเจ็บจากการหกล้ม ตกจากที่สูง จึงคอยห้ามลูกอยู่เรื่อย ๆ หรือหาเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกอยู่นิ่งๆ มาใช้เพื่อจะได้มั่นใจว่าลูกจะปลอดภัยที่สุดนั่นอง
      
       ขณะที่อีกต้นเหตุของการทำให้เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างเพียงพอ ก็คือ การแข่งขันด้านผลการเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เด็กมีชั่วโมงเรียนมากขึ้น รวมถึงต้องนั่งทำการบ้านมากขึ้น จึงขาดโอกาสเล่นตามประสาเด็กไปนั่นเอง

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137849

ฝึก 9 ข้อ สอนลูกรับมือภัยร้ายในชีวิตประจำวัน

ฝึก 9 ข้อ สอนลูกรับมือภัยร้ายในชีวิตประจำวัน/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


ดูเหมือนสถานการณ์ภัยร้ายในยุคปัจจุบันจะเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงทุกขณะ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเด็กและสตรีที่มักกลายเป็นเหยื่อของภัยร้ายในชีวิตประจำวัน
      
        ท่ามกลางสถานการณ์ข่าวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นทุกวี่วัน จึงอยากชวนพ่อแม่ ผู้ปกครองหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้อง ดูแล และป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเราตกเป็นเหยื่อของภัยร้ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องเริ่มอย่างจริงจังได้แล้ว
      
       พ่อแม่ควรเตรียมตัวและรับมืออย่างไร ?
      
       ประการแรก – สอนให้ลูกเข้าใจถึงเรื่องความปลอดภัย และไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน อย่าคิดว่าลูกเล็กเกินไปไม่เข้าใจ แต่ให้ดูวัยของเขาและสอนให้เหมาะกับวัย ให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสม และฝึกให้ลูกระมัดระวังตัว ถ้าเป็นเด็กเล็ก ต้องฝึกไม่ให้ลูกไปกับคนแปลกหน้าหรือรับของจากคนแปลกหน้า ฝึกลูกปฏิเสธให้เป็น หรือสอนให้ลูกได้เรียนรู้ว่าในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี ฯลฯ
       
       ประการที่สอง – เมื่อลูกเริ่มโต ควรสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องการป้องกันตัวเอง เรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัว อาจหยิบยกสถานการณ์ให้ลูกคิดตามก็ได้ เช่น ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ลูกจะทำอย่างไร และชวนกันคิดต่อไปเรื่อยๆ ด้วยการสมมติสถานการณ์ที่อาจเป็นข่าวด้วยก็ได้ อย่าคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นกับลูกเราเด็ดขาด แต่ควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้ว่ามันอาจเกิดขึ้นกับเราก็ได้ แล้วถ้าเกิดขึ้นเราควรทำอย่างไรต่างหาก
      
        ประการที่สาม – ฝึกให้ลูกเป็นเด็กสังเกตสิ่งรอบตัว ต้องยอมรับว่า เด็กในยุคสมัยก่อน เป็นเด็กที่มีความสังเกตสิ่งรอบตัวมากกว่าเด็กในยุคปัจจุบัน เพราะเด็กยุคนี้มักจะหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยี เวลาอยู่ในที่สาธารณะหรืออยู่บนรถ เรียกว่าแทบจะทุกหนทุกแห่ง เราจะเห็นเด็กจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งทำให้บรรดาพวกมิจฉาชีพสบโอกาสในการทำสิ่งไม่ดีได้ง่าย
      
        ประการที่สี่ – ฝึกให้ลูกจดจำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งโทรศัพท์ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือจำสถานที่ตั้งของบ้าน รวมไปถึงฝึกการจดจำสถานที่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญ เผื่อว่าเกิดเหตุการณ์ใด แล้วสามารถบอกจุดต่างๆ ได้ เช่น จดจำชื่อซอยบ้านตัวเอง วิธีสังเกต หรือเวลาขึ้นรถแท็กซี่ควรจะจดหรือจำหมายเลขทะเบียนรถ และมองหน้าคนขับรถว่ามีจุดสังเกตใดที่จดจำได้ง่าย เมื่อฝึกเรื่อยๆ เด็กก็จะเรียนรู้และหมั่นจดจำได้โดยอัตโนมัติ
      
        ประการที่ห้า – ฝึกให้ลูกมีสติ เพราะเวลาเกิดเหตุใดขึ้นมา ถ้าขาดสติ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ หรืออาจจะเป็นอันตรายด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง กรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่โจรขโมยรถแล้วไม่รู้ว่ามีเด็กนอนอยู่ท้ายรถ แต่เด็กคนนั้นตั้งสติได้ดีมาก รีบปรับโทรศัพท์มือถือจากเสียงเป็นสั่นทันที เพราะรู้ว่าเดี๋ยวแม่ต้องโทรเข้ามาหาตัวเองแน่ แล้วใช้วิธีส่งข้อความหาแม่ว่าตอนนี้โจรขับรถผ่านที่ใดบ้าง และอาศัยช่วงที่โจรจอดรถ รีบวิ่งลงไปที่ร้านค้า แล้วแจ้งให้คนช่วยเหลือ จนสามารถรอดปลอดภัยได้ ตรงกันข้าม ถ้าเด็กคนนี้ขาดสติ เมื่อเห็นโจรขโมยรถแล้วเกิดร้องตะโกน เพราะกลัว เมื่อโจรเห็นก็อาจกลายเป็นอันตรายได้
      
        ประการที่หก – ฝึกให้ลูกระมัดระวังในการรับสื่อ อย่าปล่อยให้ลูกดูทีวีโดยลำพัง พ่อแม่ควรจะอยู่ด้วยและอรรถาธิบายให้ลูกเข้าใจ โดยคำนึงถึงวัยของลูกเป็นหลัก ถ้าเด็กเล็กก็อธิบายแบบง่ายๆ ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็สามารถอธิบายได้ซับซ้อนมากขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังและการสังเกตเข้าไปด้วย ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่น ก็ถือโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก รวมถึงให้ลูกมีส่วนร่วมในการเสนอแนะด้วย
      
       ประการที่เจ็ด – ฝึกให้ลูกช่วยกันดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนของตัวเอง ถ้าเห็นอะไรผิดสังเกตบอกให้ลูกแจ้งคุณครูทันที รวมไปถึงการเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติจากบทเรียนที่โรงเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอธิบายให้ลูกฟังว่า ลูกควรตั้งใจเรียนและพยายามจดจำ ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งอาจได้นำมาใช้จริง ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดไฟไหม้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา และมีคุณแม่ชาวต่างชาติคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเธอรอดชีวิตมาได้ เพราะลูกสาววัยอนุบาลของเธอ ที่บอกว่าให้คลานต่ำๆ เวลาเกิดเพลิงไหม้ เพราะคุณครูที่โรงเรียนสอนมา และเธอก็ทำตาม จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือสองแม่ลูกในที่สุด
      
       ประการที่แปด – ฝึกให้เห็นความสำคัญของชุมชน ชีวิตจากนี้ไปต้องคิดถึงเพื่อนบ้าน ต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งให้ได้ เพราะที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตประหนึ่งตัวใครตัวมัน บ้านใครบ้านมัน ธุระไม่ใช่ แต่หากเราสร้างชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เราก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นอะไรผิดปกติ ก็ต้องบอกกัน ช่วยเหลือกัน เพราะเมื่อเกิดภัยร้าย ก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อย่าหวังหรือรอการดูแลจากภาครัฐอย่างเดียว เพราะไม่มีทางจะดูแลทั่วถึงอย่างแน่นอน
      
       ประการสุดท้าย – สร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ถ้าเห็นภัยใดๆ ต่อหน้าต่อตา ควรสอนให้ลูกรู้จักขอความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ดูดายกับความไม่ถูกต้อง หรือถ้ามีโอกาสใดที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ควรลงมือ แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของตัวเองด้วย
      
       ทั้ง 9 ประการเป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรฝึกลูกให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่เล็ก เพราะภัยร้ายในชีวิตประจำวันมีอยู่รอบตัว ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ฉะนั้น การเรียนรู้ การรับมือ และเตรียมป้องกันภัยร้ายในหลากหลายรูปแบบก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ต้องรู้เท่าทันภัยร้ายที่ซับซ้อนมากขึ้นนั่นเอง
       
       ทักษะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของเด็กบ้านเรายังต่ำมาก เพราะส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ก็คือค่านิยมและทัศนคติของพ่อแม่ยังคงเน้นเรื่องการเรียนวิชาการของลูกเป็นเรื่องแรกเสมอ ลองคิดดูว่าถ้าลูกเราเรียนเก่งมาก แต่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือไม่สามารถป้องกันตัวเองเมื่อภัยมาถึงตัว
      
       แล้วคุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อถึงเวลานั้น..!!!

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137836

“กล้องส่งลูกเข้านอน” สิ่งประดิษฐ์น่าสนใจไอเดียคุณพ่อ



“กล้องส่งลูกเข้านอน” สิ่งประดิษฐ์น่าสนใจไอเดียคุณพ่อ


คุณพ่อนักประดิษฐ์และครอบครัว (ภาพในแท็บเล็ตเป็นภาพการนอนของลูก ๆ ที่กล้องถ่ายและส่งสัญญาณมาได้)
Rupert Plumridge วัย 35 ปี จาก Bristol กลายเป็นคุณพ่อนักประดิษฐ์ที่สามารถพัฒนาเครื่องมือสานสัมพันธ์ครอบครัวที่ช่วยให้เขาสามารถ “มองเห็น” ลูกน้อยได้ไม่ว่าตนเองอยู่ที่ไหนก็ตาม

โดยผลงานการประดิษฐ์นี้ เป็นการใช้กล้องเว็บแคมที่สามารถถ่ายภาพในเวลากลางคืนได้ร่วมกับอุปกรณ์ประเภทแท็บเล็ตพีซี สมาร์ทโฟน หรือ แลปท็อป โดยเว็บแคมนี้สามารถปรับหันซ้ายขวาได้ผ่านการควบคุมในระยะไกลจากผู้ใช้ อีกทั้งยังมีลำโพงติดตั้งมาด้วย ดังนั้น เขาและภรรยาจึงสามารถอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนได้แม้ตัวพ่อแม่จะไม่ได้อยู่ที่บ้านกับลูกน้อยในคืนนั้น

สำหรับแรงบันดาลใจในการพัฒนามาจากผู้เป็นพ่อไม่ถูกใจอุปกรณ์ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด จึงเริ่มพัฒนาขึ้นมาใช้เอง โดยเขาเริ่มทดลองทำตั้งแต่ปี 2010 และสำเร็จในที่สุด คิดเป็นต้นทุนในการพัฒนาที่ 50 ปอนด์

“ด้วยเครื่องมือนี้ ผมสามารถดูภาพของลูก ๆ จากที่ไหนในโลกก็ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ขอเพียงมีสัญญาณของผู้ให้บริการเครือข่าย หรือเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมไปลอนดอน ผมก็สามารถส่งลูกๆ เข้านอนได้”

“บางคนอาจจะคิดว่า สิ่งประดิษฐ์นี้อาจไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูก แต่สำหรับผม มันคือเครื่องมือที่ทำให้พ่อคนหนึ่งมั่นใจได้ว่า ลูกๆ นอนหลับอย่างปลอดภัยเท่านั้นเอง ซึ่งการใช้งานเว็บแคมนั้นอาจมีแสงออกมาบ้าง แต่สำหรับลูกสาวก็ไม่ได้กลัว เพราะมันคือแสงที่ทำให้เธอรู้ว่า พ่อและแม่เฝ้ามองดูเธออยู่”

สำหรับผลงานการประดิษฐ์นี้ ทางคุณพ่อเจ้าของไอเดียได้พัฒนาออกมาสู่ท้องตลาดแล้ว โดยประกอบด้วยกล้องเวบแคมที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกล และสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ซึ่งจะเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตในบ้าน เช่น WiFi ส่วนสัญญาณที่กล้องส่งออกมานั้นจะสามารถรับชมได้ผ่านทางเบราเซอร์ หรือซอฟต์แวร์มีเดีย อื่นๆ

“มันมีประโยชน์มากกว่าตรงที่มันไม่ได้เป็นภาพขนาดจิ๋วที่คุณต้องเพ่งมอง แต่นี่คุณสามารถดูบนจอขนาดใดก็ได้ที่คุณมี และในที่ใดก็ได้ที่คุณต้องการประโยชน์ของมัน คือ หากคุณต้องไกลบ้าน และต้องการเห็นหน้าลูก มันสามารถช่วยได้” คุณพ่อนักประดิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี ลำโพงที่มากับตัวกล้องนั้นยังมีระบบเสียงที่ไม่ดีพอ และหากต้องถ่ายทอดสัญญาณเสียงจากระยะไกลอาจทำให้เสียงของคุณพ่อคุณแม่กลายเป็นเสียงที่น่ากลัวได้เช่นกัน
ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000138379

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อึ้ง! ทุก 20 วิ มีเด็กตายจากปอดบวม 1 คน

อึ้ง! ทุก 20 วิ มีเด็กตายจากปอดบวม 1 คน

อึ้ง! ทุก 20 วินาที จะมีเด็กตายจากปอดบวม 1 คน มากกว่าเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน ไทยเร่งรณรงค์ให้ความรู้ป้องกัน แนะมีไข้สูงเกิน 3 วันควรพาไปพบแพทย์ ก่อนเสี่ยงเชื้อลุกลามจนเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ
      
       วันนี้ (12 พ.ย.) ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ที่ปรึกษาชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษโรคระบบหายใจ รพ.รามาธิบดี กล่าวระหว่างแถลงข่าวรณรงค์ “วันปอดบวมโลก 2012” ว่า ปัจจุบันโรคปอดบวมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตจำนวน 20 ล้านคนต่อปี โดยเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมมากถึงร้อยละ 18 หรือประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 1 คนต่อ 20 วินาที ซึ่งมากกว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคหัดรวมกัน และยังพบด้วยว่าร้อยละ 99 ของเด็กที่เสียชีวิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวอีกว่า WHO ได้จับมือกับองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day Coalition) จัดรณรงค์ “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) โดยรณรงค์ให้ทุกประเทศให้ความรู้ในการป้องกัน เพื่อลดจำนวนเด็กเสียชีวิต ซึ่งในปีนี้ WHO เน้นรณรงค์ในเรื่อง “Fight Pneumonia, Save a Child” สำหรับประเทศไทยได้มีการรณรงค์ป้องกันโรคปอดบวมในเด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง แต่พ่อแม่บางคนคิดว่าโรคปอดบวมเป็นโรคที่ไม่อันตราย และละเลยการป้องกัน จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการไม่ลดลง
      
       “โรคปอดบวมมักพบการแพร่ระบาดหนักในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงและหนาวเย็น พ่อแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการไข้หวัด ไอจาม มีไข้นานเกิน 3 วัน น้ำมูกไหล ต้องรีบพบแพทย์ แต่หากปล่อยให้เป็นหวัดเรื้อรัง เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังหูชั้นกลางและปอดได้ และอาจเกิดการติดเชื้อกลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคปอดบวมรุนแรง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าว
      
       ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวด้วยว่า โรคปอดบวมจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงเด็กที่อยู่รวมกันในสถานที่ที่หนาแน่น เช่นโรงเรียนอนุบาล ด้านเด็กเล็กโดยเฉพาะในทารกที่ไม่สามารถพูดหรือบอกอาการได้ ผู้ปกครองสังเกตอาการจากอัตราการหายใจ ซึ่งในเด็กเล็กอายุกว่า 1 ปี หายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที และเด็กเล็กที่อายุมากกว่า 1 ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที หรือหายใจหอบจนซี่โครงบุ๋ม หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ให้สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคปอดบวม นอกจากนี้อาจจะมีไข้สูง ไม่กินนม และอาจจะมีอาการชักด้วย
      
       รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีอย่างใกล้ชิด ในช่วงที่อากาศเปลี่ยน เพราะโรคปอดบวมรุนแรงเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบได้ เพาะจากสถิติพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีมากถึงร้อยละ80 มีโอกาสเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งหากในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดเป็นเยื่อแก้วหูทะลุ และเมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง มีหนองไหลออกจากหู และอาจทำให้สูญเสียการได้ยินได้ นอกจากนี้การอักเสบของหูยังสามารถลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อสมองอักเสบ และฝีในสมอง
      
       รศ.พญ.อัจฉรา กล่าวอีกว่า พ่อแม่ควรให้ความสำคัญในการป้องกันโรคหูอักเสบในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นโรคที่สังเกตได้ยาก หากปล่อยจนเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอาจทำให้มีผลกระทบด้านการสื่อสารของเด็กในระยะยาว ทั้งนี้ โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กสังเกตได้จาก เด็กมีการร้องกวน งอแง เอามือจับหูบ่อยๆ หรือเอานิ้วแยงหูหรือไม่ยอมให้ผู้ปกครองจับบริเวณหู ควรนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในทารกควรเลี้ยงด้วยนมแม่ ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และสอนให้เด็กรู้จักกับสุขอนามัยที่ถูกต้อง รวมทั้งการฉีดวัคซีนต่างๆ ที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ โดยในประเทศไทยวัคซีนไอพีดี ปอด-หูอักเสบยังเป็นวัคซีนทางเลือกเพราะยังเป็นวัคซีนที่มีความใหม่อยู่
      
       อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 พฤศจิกายน 2555 พบผู้ป่วย 168,490ราย เสียชีวิต 1,074 ราย กลุ่มอายุ 65 ปีพบประมาณร้อยละ 24.1 อายุ 1 ปีพบร้อยละ 12.27 อายุ 2 ปีพบร้อยละ 8.43 ทั้งนี้ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด คือแม่ฮ่องสอน พบ 553.24 รายต่อแสนประชากร ฉะเชิงเทรา 542.17 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ตาก อ่างทอง และเชียงราย
ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000138244

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

IQ ดี EQ สูง ปั้นที่หนึ่งได้ไม่ยาก





IQ ดี EQ สูง ปั้นที่หนึ่งได้ไม่ยาก (M&C แม่และเด็ก)

IQ (Intellingence Quotient) ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือความฉลาดในการเรียนรู้ ส่วน EQ (Emotional Quotient) ความสามารถในการพัฒนาอารมณ์และสังคม เป็นความฉลาดในการแยกแยะ ควบคุม และจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งการที่อยู่ในโลกเร่งด่วนและเคร่งเครียดอย่างนี้ การปั้น IQ และ EQ ดี ๆ ให้ลูก ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยค่ะ

เตรียมพร้อมรับ IQ–EQ

เด็กที่มีการเตรียมพร้อมพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างดี จะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถใช้ความอยากรู้อยากเห็นมาช่วยเตรียมความพร้อมให้ลูกได้

รู้จักช่วยเหลือตัวเอง หัดให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัยอย่างเหมาะสม เมื่อเขาทำสำเร็จก็จะเกิดความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

การควบคุมอารมณ์และรู้จักรอคอย อย่าใส่ใจกับพฤติกรรมไม่ดีของลูก แต่ต้องคอยตักเตือนด้วยเหตุผลไม่ให้ลูกทำพฤติกรรมอย่างนั้นอีก รวมทั้งชมเชยลูกเมื่อเขาแสดงออกอย่างเหมาะสม

เรียนรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัว เพราะจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและจิตใจอย่างสมบูรณ์ ด้วยการพาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน หมั่นตั้งคำถามง่าย ๆ กับลูก เล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ฟังบ่อย ๆ

การเข้าสังคม เพราะจะทำให้ลูกไม่เขินอาย หรือกลัว ยามเจอคนแปลกหน้า เล่นกับคนอื่นได้ เมื่อถึงวัยเข้าเรียนก็สอนให้รู้จักสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรหยิบของผู้อื่น รู้จักแบ่งปัน และขอบคุณเมื่อใครทำอะไรให้ หรือรู้จักขอโทษเมื่อทำความผิด

เทคนิคเสริมสร้าง IQ–EQ

ดูแลอาหารการกินให้หลากหลาย และครบห้าหมู่

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ หากลูกมีความสามารถด้านกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ควรส่งเสริมโดยตรง

พักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ เมื่อสมองแจ่มใสปลอดโปร่งจะตื่นตัว ความคิดสร้างสรรค์ก็จะตามมา

ชวนกันอ่านหนังสือ เล่านิทาน ทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกันทั้งครอบครัวเป็นประจำ

ผ่อนคลายด้วยดนตรี ศิลปะ หรือออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะจะช่วยเปิดโลกทัศน์ และปลูกฝังสร้างจินตนาการที่ดีให้แก่ลูก

มองความสามารถของลูกตามความเป็นจริง อย่าคาดหวังกับลูกมากเกินไป จนกลายเป็นการบีบบังคับกดดัน ให้ลูกทำในสิ่งที่ยากเกินความสามารถและพัฒนาการตามวัย

เลี้ยงลูกด้วยความรัก โอบกอดลูกเสมอให้เขารู้สึกในความอบอุ่นอิ่มเอมใจ

จำเป็นต้องวัด IQ–EQ หรือไม่ ?

ไม่จำเป็นหรอกค่ะ เพราะเด็กที่วัดไอคิวส่วนใหญ่ คือเด็กที่สงสัยว่ามีปัญหาทางด้านสติปัญญา ซึ่งความจริงแล้ว เราสามารถประเมินไอคิวของลูกได้เอง โดยหมั่นสังเกตปฏิกิริยาของลูกเมื่อถูกสิ่งเร้ามากระตุ้น ดูว่า เขาจะจัดการสนองตอบต่ออารมณ์แบบไหน ผลที่ได้จะแม่นยำกว่าแบบทดสอบทางด้านสติปัญญาอีกค่ะ


ที่มา
http://baby.kapook.com/เรื่องน่ารู้คุณลูก-49405.html

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"ลูก-งานไปด้วยกันได้"กับ 6 สไตล์งานน่าสนใจสำหรับพ่อแม่


"ลูก-งานไปด้วยกันได้"กับ 6 สไตล์งานน่าสนใจสำหรับพ่อแม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนั่งทำงานออฟฟิศอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนเป็นพ่อแม่ในยุคนี้อีกต่อไป เหตุเพราะมีปัจจัยหลาย ๆ ประการเข้ามาข้องเกี่ยว เช่น การไม่มีใครให้ฝากเลี้ยง จะพาไปฝากเนิร์สเซอรี่ก็เสี่ยงที่จะป่วยบ่อย ถูกทำร้าย สถานที่ไม่ได้มาตรฐาน จะจ้างพี่เลี้ยงก็เสี่ยงไม่แพ้กัน เพราะเด็กเล็กต้องการคนดูแลที่สามารถปลูกฝังพฤติกรรมดี ๆ ให้กับเด็กได้ ไม่ใช่เลี้ยงแบบทิ้งขว้าง หรือเปิดทีวีให้ดูละครน้ำเน่าทั้งวัน ส่วนทางเลือกที่จะฝากปู่ย่าตายาย ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ปู่ย่าตายายในยุคนี้บางท่านก็ยังต้องทำงาน ไม่สามารถสละเวลามาช่วยเลี้ยงหลานได้เหมือนปู่ย่าตายายในอดีต
      
       หันไปหันมา หนีไม่พ้นพ่อแม่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตนเองให้เหมาะกับสถานภาพของครอบครัวในเวลานี้เสียเอง ซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้น ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าคนที่มีลูกเล็กนั้นต้องการงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่จำเป็นต้องนั่งติดกับโต๊ะทำงานตลอดทั้งวัน เพราะเด็กเล็กจะค่อนข้างไม่อยู่นิ่ง หรือบางคนก็ป่วยง่าย หากเป็นงานที่ต้องลาไปพบแพทย์ หรือต้องขาดงานเพราะลูกไม่สบายอยู่เนือง ๆ ก็จะลำบากใจไม่น้อย สำหรับคนที่มีลูกโตขึ้นหน่อยนั้นก็ต้องการงานที่ยืดหยุ่นได้ไม่แพ้กัน แต่เป็นความยืดหยุ่นคนละแบบ เพราะในเด็กวัยเรียนเป็นความยืดหยุ่นที่อาจมีการวางแผนล่วงหน้า เช่น คุณครูประจำชั้นนัดพบผู้ปกครอง วันที่โรงเรียนมีกิจกรรมและต้องให้ผู้ปกครองไปร่วมงานด้วย เป็นต้น
      
       ลักษณะงานที่เหมาะสมสำหรับพ่อแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกเอง
      
       - เป็นงานที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถบริหารจัดการเวลาทำงานเองได้
       - เป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องนั่งติดกับโต๊ะทำงานตลอดเวลา
       - เป็นงานที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์
      
       อย่างไรก็ดี การได้โอกาสดังกล่าวมาครอบครองคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ถ้าสามารถทำได้ก็จะเป็นชีวิตในฝันที่ได้มีโอกาสทั้งดูแลลูก และทำงานไปพร้อม ๆ กัน โชคดีของคุณพ่อคุณแม่ที่ได้งานในลักษณะนี้ก็คือไม่ต้องไปฝากชีวิตคนที่เรารักไว้กับคนอื่น เช่น พี่เลี้ยงอาเซียน หรือเนิร์สเซอรี่ที่บางท่านก็ได้พบกับประสบการณ์ไม่ดี โดยคุณอาจต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น การทำงานในเวลาที่แตกต่างจากคนอื่นบ้างเพื่อให้ตนเองสามารถดูแลลูกได้ (เพราะคนที่เป็นพ่อแม่และได้เลี้ยงลูกเองจะทราบดีว่า ในเวลาที่ลูกตื่นนั้น ยากที่จะหาความสงบได้นั่นเอง และยิ่งลูกเริ่มหัดเดิน เริ่มซน เริ่มวิ่งได้ คุณจะยิ่งไม่มีเวลาไปสนใจสิ่งอื่น ๆ เพราะต้องไล่ตามเจ้าตัวเล็กจนกว่าพวกเขาจะหมดแรง และนอนหลับไป จากนั้นจึงจะถึงตาของคุณที่จะได้จัดการงานต่าง ๆ ของตนเองบ้างนั่นเอง)
      
       วันนี้เราจึงขอหยิบยกลักษณะงานที่ใกล้เคียงกับงานในรูปแบบดังที่กล่าวไว้ข้างต้นมาฝากกัน จะมีงานอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ
      
       - เปิดเนิร์สเซอรี่
      
       หากคุณมีลูกเล็ก และมีความพร้อมในการดูแลเด็ก ๆ รวมถึงมีทุนในระดับหนึ่ง การเปิดสถานรับดูแลเด็กขึ้นมาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คุณมีรายได้ และสามารถดูแลลูกของคุณ (พร้อม ๆ กับดูแลลูกของผู้ใช้บริการท่านอื่น ๆ) ไปพร้อม ๆ กัน สนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ดี งานในลักษณะดังกล่าวอาจต้องมีการรับพี่เลี้ยงเด็ก และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งหากคุณเป็นพ่อแม่ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ และสามารถดูแลธุรกิจได้แล้วนี่อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับคำแนะนำที่จะมีให้กับผู้สนใจธุรกิจดังกล่าว เราขอบอกได้เพียงว่า ความต้องการของคนเป็นพ่อแม่ที่อยากจะหาเนิร์สเซอรี่ดี ๆ นั้นยังมีสูงมาก โดยเฉพาะในย่านที่มีสำนักงาน สถานที่ราชการกระจุกตัวกันมาก ๆ นั่นเอง (ยกตัวอย่างเช่น ย่านศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ) เพราะคนเป็นพ่อแม่ก็ต้องมาทำงานในย่านนั้น ๆ อยู่แล้ว การได้ทราบว่าลูกอยู่ใกล้ ๆ สามารถแวะไปเยี่ยมในช่วงพักเที่ยงได้ หรือมีเหตุฉุกเฉินใด ๆ ก็สามารถบึ่งมาหาได้อย่างรวดเร็วก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุขขึ้นอีกมากค่ะ
      
       - ผู้ผลิตสินค้าสำหรับเด็ก
      
       คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเมื่อมีประสบการณ์ในการเลี้ยงเด็กมาพอสมควรแล้ว หลายคนก็มองทะลุไปถึงความต้องการของพ่อแม่ที่มีลูกวัยเดียวกัน หรืออ่อนกว่า และคิดพัฒนาสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อแม่เหล่านั้นออกมาได้ เช่น คุณพ่อท่านหนึ่งผลิตรั้วกั้นสำหรับเด็กเล็กไม่ให้วิ่งซนจนเกินอันตรายออกมาวางจำหน่ายและก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หรือคุณแม่ท่านหนึ่งที่พัฒนากางเกงในผ้าอ้อมสาลูแทนการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เหล่านี้เป็นต้น หากสินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีการบอกต่อในกลุ่มพ่อแม่ด้วยกันอย่างกว้างขวางแล้วล่ะก็ ธุรกิจนี้ก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย ๆ ไม่แพ้การทำงานออฟฟิศเช่นกัน
      
       - ขายของทางอินเทอร์เน็ต
      
       สำหรับการเป็นแม่ค้าขายของทางอินเทอร์เน็ต ห้องที่ใหญ่และมีพ่อแม่เข้าไปเยี่ยมชมแน่นหนาที่สุดอาจหนีไม่พ้น ห้องเปิดท้ายฯ ในโต๊ะชานเรือนของเว็บไซต์พันทิป ซึ่งไม่เพียงแต่มีของมือสองของเด็ก ๆ มาส่งต่อให้กับพ่อแม่คนอื่นในราคามิตรภาพแล้ว บางทียังมีของมือหนึ่ง หรือของแปลก ๆ น่าสนใจมาประกาศกันมากมาย อย่างไรก็ดี การขายของทางอินเทอร์เน็ต กฎที่ต้องยึดถือคือการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เพราะมีพ่อแม่หลายรายมีปัญหากับผู้ขายเนื่องจากโอนเงินไปแล้วไม่มีการส่งสินค้าตามที่ระบุมาให้ หรือนำภาพจากเว็บอื่นมาหลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อว่ามีสินค้าจริงแล้วโอนเงินมาให้ก็มี
      
       - นักแปล นักวาดภาพประกอบ เขียนหนังสือ
      
       หากคุณคุ้นเคย หรือชื่นชอบแวดวงหนังสือ และมีความถนัดด้านการแปล การเขียนบทความ หรือวาดภาพประกอบ งานในลักษณะนี้ก็เป็นงานที่ทำจากบ้านได้เช่นกัน (และนั่นหมายความว่าคุณสามารถเลี้ยงลูกไปด้วยได้) แต่ผู้ทำต้องมีวินัยในตนเองพอสมควร เพราะทางสำนักพิมพ์จะมีเส้นตายของการรับต้นฉบับ หรือข้อกำหนดอื่น ๆ แต่ถ้าหากมีทุนมากพอ และรักในงานนี้มากพอ จะศึกษาข้อมูลและเปิดสำนักพิมพ์ของตนเองเลยก็ยังได้ค่ะ แต่อาจต้องทำใจเผื่อเอาไว้บ้าง เพราะในประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการอ่าน บางครั้งก็ยากจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำนะคะ
      
       - ครูสอนพิเศษ
      
       หากคุณมีความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น สามารถสอนภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่นได้ หรือเป็นติวเตอร์ การรับสอนพิเศษให้กับบุคคลทั่วไปก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการหารายได้พิเศษที่น่าสนใจ เพราะคุณสามารถกำหนดเวลาทำงานได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเป็นการทำงานในเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมง และเพราะเราเข้าใจว่า การต้องพาลูกไปฝากเลี้ยงยังเนิร์สเซอรี่ หรือจ้างพี่เลี้ยงนั้นทำใจลำบากเพียงใด การต้องห่างลูกเป็นเวลาไม่นานเช่นนี้จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจพอสมควรค่ะ
      
       - โปรแกรมเมอร์ กราฟิกดีไซน์
      
       งานไอทีก็เป็นอีกหนึ่งงานที่มีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านเปิดบริษัทรับงานจากบ้าน และรายได้ดีไม่แพ้งานอื่น ๆ เพียงแค่เปลี่ยนสถานที่นั่งหลังขดหลังแข็งจากในออฟฟิศมาเป็นที่บ้าน ยิ่งปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตทำให้โลกไร้พรมแดนมากขึ้น การจะรับงานจากต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าเงินบาทก็ยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น
      
       นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่ระบุว่า ความสุขจากการได้ขึ้นเงินเดือนนั้นไม่สามารถทัดเทียมได้กับผู้ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตงานกับชีวิตครอบครัวได้เลย เนื่องจากการได้ขึ้นเงินเดือนนั้นเป็นความสุขช่วงสั้น ๆ ของพ่อแม่มนุษย์เงินเดือน อีกทั้งเมื่อได้รับค่าตอบแทนในระดับที่ตนเองพอใจแล้ว คนเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปสนใจในเรื่องอื่นแทน เช่น ค่าตอบแทนของเพื่อนร่วมงาน ว่าคนอื่น ๆ ได้เท่าไรกัน และนำมาเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของตนเอง และแม้ว่าพนักงานผู้นั้นจะได้รับเงินเดือนจำนวนมากแล้วก็ตาม พวกเขาก็อาจเกิดความไม่พอใจขึ้นได้ หากพวกเขาได้รับทราบว่ามีความไม่เสมอภาคเกิดขึ้นในหมู่เพื่อนร่วมงาน ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากพอ คนเหล่านี้จะมีความสุขในชีวิตที่เหนือกว่านั่นเอง
ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135238

“สื่อ” ตัวการกระตุ้นความรุนแรงในเด็ก

“สื่อ” ตัวการกระตุ้นความรุนแรงในเด็ก..!!
บทความโดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
จาก http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135119
 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวช็อกสังคมเรื่องเด็กที่เกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 2 ข่าว
      
       เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 14 ปี ที่ทำร้ายแม่จนเสียชีวิต สาเหตุเพราะถูกห้ามไม่ให้ไปเล่นเกม จึงเกิดบันดาลโทสะเอามีดสปาร์ต้าแทงแม่จนเสียชีวิต และฟันพี่สาวที่พยายามจะเข้าไปห้าม ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติพบว่าเด็กมีปัญหาออทิสติก แต่รักษาหายแล้ว ปัญหาใหญ่คือเด็กติดเกมอย่างหนัก
      
       คำถามผุดขึ้นมากมายว่า ทำไมเด็กถึงติดเกม เด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร มีพื้นนิสัยอย่างไร ครอบครัวมีเวลาให้มากน้อยแค่ไหน เด็กถูกดุด่าว่ากล่าวและตำหนิเป็นประจำหรือไม่ เด็กมีอาการซึมเศร้าหรือเก็บกดหรือไม่ ปัญหาเรื่องอาการออทิสติกได้รับการแก้ไขและรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และทำไมถึงมีมีดสปาร์ต้าอยู่ในบ้าน ฯลฯ
      
       จริงอยู่ว่าเหตุการณ์นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว แต่นี่ก็เป็นปัญหาสังคมด้วยเช่นกัน เพราะทิศทางของเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่มีแนวโน้มติดเกมก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเด็กติดเกมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับดูอย่างการถูกเลี้ยงไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามมาอีกมากมาย กลายเป็นวงจรอุบาทว์ จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง และขยายผลไปอีกในหลายๆ เรื่อง เช่น เด็กติดเกม ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องสุขภาพ พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เสียการเรียน ถ้าไปเจอะเจอกับกลุ่มมิจฉาชีพ ชวนก่ออาชญากรรม เพราะต้องการได้เงิน หรือมีโอกาสไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดก็เป็นไปได้
      
       รายที่สองเป็นเด็กอายุ 8 ปี เลียนแบบรายการทีวีที่มีภาพแขวนคอติดต่อกัน จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และบอกกับเพื่อนว่าจะไปเล่นแขวนคอโดยนำเชือกมาผูกกับต้นหูกวาง จนหมดสติ ขาดอากาศหายใจนานกว่า 10 นาที แม้โชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่คุณหมอก็ยังต้องประเมินอาการนับจากนี้ โดยเฉพาะเรื่องสมอง
      
       คำถามต่อกรณีนี้ก็ผุดขึ้นมากมายเช่นกันว่า เด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร ทำไมปล่อยให้เด็กดูทีวีหรือรายการที่ไม่เหมาะสมซ้ำๆ ย้ำๆ ยิ่งพ่อให้สัมภาษณ์ว่าลูกดูภาพเหล่านี้ติดต่อกันหลายวัน และสนใจฉากเหล่านี้มากเป็นพิเศษ นั่นหมายความว่าเมื่อผู้ปกครองเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ควรให้ดู หรือควรพูดคุยอธิบาย เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกคิดอะไรอยู่ ถึงขนาดเพื่อนบอกว่าเพื่อนอยากเล่นแขวนคอ นั่นเป็นสัญญาณเตือนแล้วมิใช่หรือ
      
       ปัญหาเรื่องเด็กเลียนแบบสื่อเป็นปัญหามายาวนาน บรรดาผู้ผลิตละคร สื่อที่นำเสนอ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักจะออกมาพูดในเวลาที่เกิดปัญหาเมื่อสังคมออกมาต่อว่า ในท่วงทำนองที่ว่าเป็นเรื่องที่ครอบครัวควรให้ความใส่ใจ ไม่ใช่โทษละครหรือคนทำสื่อ ทำไมไม่เลียนแบบพฤติกรรมดีๆ บ้างล่ะ หรือที่ผลิตละครก็เพราะต้องการสะท้อนความเป็นจริงในสังคม ฯลฯ
      
       จริงอยู่ว่าครอบครัวไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไปได้แน่นอน แต่ปัญหานี้ก็มันไม่ได้จบลงที่ครอบครัวอย่างเดียว แต่มันเป็นปัญหาร่วมของสังคมด้วย
      
       อย่าลืมว่าครอบครัวที่ดูแลและใส่ใจคุณภาพลูกก็มีวิธี มีความรู้ว่าจะปกป้องเลี้ยงดูลูกของตัวเองอย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเป็นจริงในชีวิต ครอบครัวที่ขาดความรู้ และเลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี ปล่อยลูกอยู่กับสื่อไม่เหมาะสม และรู้ไม่เท่าทันสื่อ มีจำนวนมากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ กลุ่มเหล่านี้ต่างหากที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในชนบท
      
       ปัจจุบันสื่อและเทคโนโลยีที่ล้นทะลักเข้ามาทำให้เด็กสามารถเข้าถึงสื่อได้ทุกแขนง หน้ำซ้ำยังเป็นสื่อเคลื่อนไหว และสามารถดูซ้ำๆ ได้หลายๆ ครั้ง
      
       เราต้องยอมรับว่าสื่อเองก็มีปัญหาอย่างมากในยุคปัจจุบัน ทั้งขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เกิดอะไรขึ้นก็โทษว่าเพราะครอบครัวไม่รู้จักดูแล
      
       แต่รายการละครทั้งหลายก็เน้นหนักไปทางละครชิงรักหักสวาทและเน้นไปที่การตบตี และฉากความรุนแรงสะใจทั้งวาจาและท่าทาง บางช่องต้องมีการโปรโมทก่อนจะถึงฉากวันตบจริง พอวันตบจริงก็ออกซ้ำอีก ยังไม่หนำใจเล่าข่าวช่วงเช้าในช่องเดิมก็นำเอาฉากนั้นมาขยายผลต่ออีก ประหนึ่งฉากเมื่อวานใครไม่ได้ดูก็ดูซะ
      
       แล้วจะบอกว่าสื่อไม่ใช่ปัญหาได้อย่างไร..!!!
      
       ที่แย่ไปกว่านั้น เมื่อนำเสนอข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว กลับไม่พยายามนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านในการให้ข้อมูลความรู้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะดูแลบุตรหลานอย่างไร หรือสัมภาษณ์นักวิชาการเพื่อให้ข้อคิดในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม แม้บางช่องที่มีการสัมภาษณ์ก็จะให้พื้นที่และเวลาน้อยนิดชนิด 2-3 นาที แล้วก็บอกว่านำเสนอแล้วไง
      
       แล้วมันจะได้ใจความสำคัญอย่างรอบด้านได้อย่างไร
      
       ตรงกันข้าม รายการทีวีกลับขยายฉากประเภทตบตีให้ยืดขยายจนน่าเกลียด ประเภทนางร้ายตบมา นางเอกก็ตบกลับ แล้วต้องมีท่าจิกตัวทึ้งหัว ใช้เท้าถีบหรือผลักตก เรียกว่าเป็นฉากไฮไลต์และยืดเอาไว้ให้นานเป็นตอนๆ ให้เห็นท่าตบตีอย่างละเอียด หรือฉากที่ผู้ชายปล้ำผู้หญิงก็ต้องจ่อกล้องให้เห็นท่าปล้ำกันทุกท่วงท่า หรือแม้แต่ฉากฆ่าตัวตายก็ต้องเอื้อนทำท่าให้เห็นวิธีการของการผูกคอตายทุกขั้นตอน
      
       ถามว่าแล้วฉากเหล่านี้ให้อะไรกับสังคม นอกจากการสอนทางตรงออกสื่อ..!!!
      
       กรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้ง 2 ราย ไม่ใช่เหตุการณ์แรก แต่เป็นเหตุการณ์ที่สะสมความสะเทือนใจสังคมมาโดยตลอด เป็นวิกฤติสังคมที่ถูกกัดกร่อนมาอย่างยาวนาน และควรถูกตั้งคำถามได้แล้วว่า ถึงเวลาที่สื่อทุกแขนงต้องทบทวนตัวเองด้วยเช่นกัน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมที่ทวีมากขึ้นทุกขณะหรือไม่
      
       แต่ในระดับครอบครัวเองก็ต้องมีความรู้และวิธีป้องกันความรุนแรงในเด็กด้วย
      
       ประการแรก เริ่มจากพ่อแม่ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ ควรฝึกฝนให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ให้เด็กได้รู้ถึงคุณค่าของตนเอง
      
       ประการที่สอง ฝึกวินัยในเด็ก เช่น กำหนดช่วงเวลาของการรับสื่อ ถ้าในช่วง 2 ขวบปีแรก ไม่ควรให้ลูกดูสื่อทีวีหรือเข้าถึงสื่ออิเลคทรอนิกส์เลย และเมื่ออายุมากขึ้นก็กำหนดช่วงเวลา ถ้าลูกเล็กก็เวลาน้อย และค่อยๆ ยืดหยุ่น แต่สำหรับเด็กไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
      
       ประการต่อมา พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา แต่ควรใช้การพูดคุยด้วยท่าทีที่ต้องการแก้ไขปัญหาแบบไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ควรใช้การหันหน้าเข้าหากันเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก และเป็นการป้องกันมิให้เด็กใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาอีกด้วย
      
       ประการที่สี่ เวลาคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ครอบครัวกล้าที่จะพูดคุยหรือปรึกษาหารือกันเมื่อเกิดปัญหา หรือความคับข้องใจ และพ่อแม่ก็พร้อมที่จะให้คำชี้แนะที่เหมาะสมด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา
      
       ประการที่ห้า สังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยก่อนเข้สู่วัยรุ่น และวัยรุ่น ถ้าพบเห็นว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หรือแปลกไป ก็ควรจะได้มีการพูดคุยสอบถาม บางครั้งลูกอาจส่งสัญญาณบอกเราก็ได้
      
       ในระดับสังคมเองก็ต้องมีส่วนช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนในชาติด้วย โดยเฉพาะสื่อและเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ล้นทะลักเข้ามา ถ้าผู้ผลิตหรือเจ้าของสื่อมีระดับจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ก็ควรที่จะผลิตรายการช่วย “ลด” ปัญหาสังคม มิใช่ผลิตรายการ “ซ้ำเติม” ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
      
       นี่ยังไม่ได้นับรวมกับระดับนโยบายของภาครัฐ ที่มีอีกหลายโครงการที่กำลังถูกตั้งคำถามว่า กำลังสร้างปัญหาใหม่ให้กับเด็กและเยาวชนหรือไม่...
      
       ทั้งนโยบายแจกแท็บเล็ตเด็กป1 และนโยบายหวยออนไลน์..!!!