วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นักวิจัยเชื่อเด็กที่‘เสกสรรค์ปั้นเท็จ’ใช้สมองเป็น-เอาตัวรอดเก่งตอนโต

นักวิจัยเชื่อเด็กที่‘เสกสรรค์ปั้นเท็จ’ใช้สมองเป็น-เอาตัวรอดเก่งตอนโต

นักวิจัยเชื่อเด็กที่‘เสกสรรค์ปั้นเท็จ’ใช้สมองเป็น-เอาตัวรอดเก่งตอนโต

นักวิจัยเชื่อเด็กที่โกหกเป็นตั้งแต่เล็ก มีแนวโน้มสูงที่จะประสบความสำเร็จเมื่อโตขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวจะส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดและการสื่อสาร ตลอดจนถึงทักษะในการแก้ปัญหา

การศึกษาจากเด็ก 1,200 คน อายุระหว่าง 2-16 ปี พบว่าศิลปะในการโป้ปดเป็นขั้นตอนสำคัญของพัฒนาการทางความคิดในระยะเริ่มต้น และโดยธรรมชาติแล้วเด็กฉลาดจะมีคำโกหกที่ซับซ้อนและฟังดูดีมากกว่า

นักวิจัยจากอินสติติวท์ ออฟ ไชด์ สตัดดี้ ใน โทรอนโต แคนาดา เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘การทำงานแบบผู้บริหาร’ ที่มีการเก็บงำความจริงไว้ในสมองเพื่อสร้างเรื่องโกหกให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และพฤติกรรมนี้อาจช่วยพัฒนาทักษะในการสื่อสารเมื่อเด็กโตขึ้น รวมถึงเพิ่มพูนความสามารถในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ดี นักวิจัยปลอบพ่อแม่ว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะถึงอย่างไรก็สามารถจับเท็จเจ้าตัวน้อยได้อย่างง่ายดายจากดวงตา ตัวอย่างเช่นถ้าลูกขอขนมพ่อและพ่อถามว่า ‘แม่ว่าอย่างไร?’ แล้วลูกตอบว่าแม่บอกว่า ‘กินได้’ และมองไปทางขวา หมายความว่าเขากำลังมองภาพการโกหกที่สมองสร้างขึ้น แต่ถ้ามองทางซ้าย หมายความว่าเขากำลังนึกถึงเหตุการณ์จริงจึงเล่าความจริง

นักวิจัยยังบอกด้วยว่า ไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงการพูดปดในวัยเด็กกับการหลอกลวงหรือฉ้อฉลในวัยผู้ใหญ่

การศึกษาพบว่า ขณะอายุ 2 ขวบ เด็ก 20% จะโกหก สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็น 50% เมื่ออายุ 3 ขวบ และเกือบ 90% ในอีกหนึ่งปีต่อมา แนวโน้มนี้ดำเนินต่อมาจนเด็กอายุ 12 ขวบ ที่ไม่พบเด็กที่ไม่เคยโกหกเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุ 16 ปี ความนิยมในการโกหกลดลงเหลือ 70% เนื่องจากเด็กโตตระหนักว่าการพูดเท็จอาจไม่ทำให้เกิดผลดีแต่อย่างใด

ในการศึกษา นักวิจัยนำเด็กเล็กไปไว้ในห้องที่มีตุ๊กตาบาร์นีย์สีม่วงอยู่ด้านหลัง ก่อนออกจากห้อง นักวิจัยกำชับไม่ให้เด็กหันไปมองตุ๊กตา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กส่วนใหญ่แอบดูตุ๊กตาตอนที่นักวิจัยไม่อยู่ แต่เมื่อถูกถามจะปฏิเสธว่าไม่ได้ดู ซึ่งอาจบ่งชี้พฤติกรรมปกติในการที่เด็กไม่อยากมีปัญหา

ขั้นตอนต่อไปบ่งชี้ถึง ‘การทำงานแบบผู้บริหาร’ โดยนักวิจัยขอให้เด็กทายว่าของเล่นที่อยู่ด้านหลังเป็นตุ๊กตาอะไร ซึ่งปรากฏว่าส่วนใหญ่ตอบว่าบาร์นีย์

เด็กหญิงคนหนึ่งอธิบายเหตุผลที่รู้คำตอบของโจทก์ข้อนี้ว่าเป็นเพราะ ‘พระเจ้าเข้ามาในห้องและกระซิบบอกหนู’ เด็กหญิงอีกคนขอคลำตุ๊กตาที่ซ่อนไว้ใต้ผ้าห่ม ‘รู้สึกว่าจะเป็นสีม่วง เพราะฉะนั้นต้องเป็นบาร์นีย์แน่นอน’

ส่วนเด็กโตต้องทดสอบข้อเขียน โดยได้รับคำสั่งว่าห้ามแอบดูคำตอบที่ด้านหลังกระดาษข้อสอบ

เด็กที่แอบดูคำตอบสามารถตอบได้ว่าคนที่ค้นพบตูนีเซียคือ พรีซิเดียส แอกเคอแมน และเมื่อถูกถามว่ารู้ได้อย่างไร เด็กเหล่านี้จะตอบว่าที่โรงเรียนสอนมา


*** แต่คงเอาเปรียบคนอื่นๆ แย่เลยเนาะ


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

10 วิธีบริหารสมอง 'ส่วนการเรียนรู้' ของลูก/Mother&Care


10 วิธีบริหารสมอง 'ส่วนการเรียนรู้' ของลูก/Mother&Care

ช่วงแรกเกิด-3 ขวบปีแรก สมองมีการพัฒนาและเจริญเติบโตเร็วที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ ส่งเสริมอย่างถูกวิธี ก็เท่ากับได้กระตุ้นเซลล์สมองส่วนการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ในวันนี้เรามีกิจกรรมกาเรรียนรู้ของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้มานำเสนอค่ะ

วิธีการบริหารสมองส่วนการเรียนรู้

1. สบตาแล้วส่งยิ้มให้ลูกหรือทำหน้าตาให้ลูกเลียนแบบ เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ลูกเรียนรู้เรื่องการสังเกตใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่

2. ให้ลูกเรียนรู้การใช้สายตาในการสังเกตและมองสิ่งต่างๆ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เช่น แสงแดดที่ส่องลงมายังต้นไม้ ทำให้เกิดเงาบางส่วน ก็สามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้เข้าใจหลักการเรื่องเงา

3. การพูดคุย ร้องเพลงหรืออ่านหนังสือนิทาน (พร้อมท่าทางประกอบ) ของพ่อแม่ จะช่วยพัฒนาทักษะการฟังและภาษา เพราะข้อมูลเหล่านี้ จะถูกเก็บสะสมไว้ในสมอง และเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว พัฒนาต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

4. กระตุ้นความสนใจ ให้ลูกเรียนรู้ความแตกต่างเรื่องเสียงต่างๆ จากเสียงเหตุการณ์รอบตัว เช่น เสียงรถ, เสียงสัตว์, เสียงนาฬิกา หรือของเล่นมีเสียงที่บ้าน

5. การให้ลูกสัมผัส หยิบจับ วางซ้อนหรือต่อบล็อกผ้า, จิ๊กซอว์ (ชิ้นใหญ่) จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องทิศทางการสังเกตได้ดี และยังช่วยฝึกฝนทักษะการใช้ประสาทสัมผัสและการมองเห็น ให้ทำงานประสานสัมพันธ์กันได้ดีด้วยค่ะ

6. เมื่อลูกกินอาหารได้หลากหลายแล้ว ควรใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องรสชาติ ลักษณะอาหารแบบต่างๆ เช่น กล้วยสุก แตงกวาปลอกเปลือก หรือมะละกอ โดยหั่นเป็นชิ้นให้ลูกหยิบจับได้ง่าย

7. การเรียนรู้เรื่องกลิ่น ควรให้ลูกคุ้นเคยกับกลิ่นใกล้ตัวก่อน เช่น กลิ่นตัวของแม่ (ขณะที่อุ้มให้นม), กลิ่นอาหาร จากนั้นก็ค่อยๆ ให้ลูกเรียนรู้กลิ่นที่แตกต่าง เช่น กลิ่นดอกไม้ที่ไม่ฉุนเกินไป หรือกลิ่นปรุงแต่งของสารเคมี น้ำหอม

8. การอุ้มลูกพร้อมกับลูบไล้ตามแขนหรือลำตัวลูก เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส เรียนรู้เรื่องความรู้สึกที่สำคัญ สัมผัสความรู้สึกนี้ยังส่งผลดีต่อจิตใจและอารมณ์ในทางบวกของลูกค่ะ

9. เกมสนุกที่คุณเล่นกับลูก ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในหลายส่วนค่ะ เช่น ภาษาจากเกมสัมผัสอวัยวะ (พร้อมกับบอกชื่อ) เป็นต้น

10. การหาของเล่นในลักษณะต่างๆ เช่น สำลี, ผ้าขนหนู, น้ำ, ทราย, ดิน มาเป็นผู้ช่วย ให้หยิบจับ สัมผัสกับวัตถุนั้นๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส

ลูกเรียนรู้ได้ดี เพราะอะไร

สมองของลูกน้อยมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลให้เซลล์ประสาทในสมองก็ทำงานด้วย และการที่สมองสามารถเรียนรู้ได้ดีนั้น ก็เกิดจากที่เซลล์สมองมีส่งผ่านข้อมูลซึ่งกันและกัน จนมีการสื่อสาร เชื่อมโยง แตกขยายเซลล์สมองออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น ยิ่งเซลล์ประสาทได้รับข้อมูลมาก ยิ่งใช้มาก การเรียนรู้ของลูกน้อยก็เกิดได้เร็วและดีตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าจุดเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทไม่มีการกระตุ้นให้ทำงาน (การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5) การแตกแขนงของเซลล์สมองก็จะค่อยๆ น้อยลงไป จนขาดหายไปในที่สุด

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ลูกติดเว็บโป๊ทำอย่างไรดี/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

ลูกติดเว็บโป๊ทำอย่างไรดี/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในปัจจุบันมีเวปเกี่ยวกับเรื่องเพศ ภาพคลิปโป๊ต่างๆซึ่งเป็นเวปที่เป็นอันตรายต่อเด็กเป็นอันมาก และเนื่องจากโลกปัจจุบันนี้เป็นยุคของสังคมออนไลน์ จึงเป็นการเสี่ยงสำหรับเด็กๆต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการข้องแวะกับสื่อที่ไม่สมควรดังกล่าวไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

จากข้อมูลของเวปป้องกันความรุนแรงทางเพศหรือป้องกันการติดสื่อลามกต่างๆพบว่าเด็ก อายุระหว่าง 10-17 ปี 1 ใน 5 คนได้รับสื่อหรือภาพโป๊ผ่านทางอินเตอร์เนต เด็ก 1 ใน 4 คนที่ใช้อินเตอร์เนต เข้าไปข้องแวะกับเวปโป๊ทั้งที่โดยเจตนาและไม่เจตนา อีเมล์ที่ส่งติดต่อหากันในปัจจุบัน มากกว่า 2 หมื่นล้านฉบับเป็นเวปโป๊ เด็กวัยรุ่น 21 % ยอมรับว่าเข้าไปดูเวปโป๊โดยไม่บอกให้พ่อแม่รู้

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้คุณพ่อคุณแม่หนักใจเพราะไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี คำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองในการช่วยให้เด็กสามารถห่างไกลจากสื่ออันตรายดังกล่าวได้

1.แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ สอนและให้ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิด อย่าให้เวปต่างๆเป็นผู้สอนลูก แต่เราเป็นผู้ใกล้ชิดกับลูกมากกว่า ควรพูดคุยและให้ความรู้ที่ชัดเจน เมื่อลูกเข้าใจแล้ว ความอยากรู้อยากเห็นก็จะลดน้อยลง

2.อายุของเด็กและพัฒนาการของเด็กในแต่ละคนก็เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง หากเป็นเด็กเล็ก เด็กอาจดูโดยไม่มีความเข้าใจอะไรมากนัก แต่เผอิญเปิดไปเจอ แต่หากเป็นช่วงวัยรุ่น ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน การปกปิดเรื่องเพศทำให้เด็กสงสัยและอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น

3. คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งกฎให้ชัดเจนกับลูกในการสืบหาข้อมูลในอินเตอร์เนตทุกครั้ง บอกลูกถึงอันตรายของเวปต่างๆที่อาจเข้ามารบกวนขณะที่เรากำลังสืบหาข้อมูลที่อินเตอร์เนต อาจเขียนเป็นข้อตกลงและลงชื่อกำกับร่วมกันเพื่อความชัดเจน

4. กฎนี้ต้องใช้ได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพราะในโรงเรียนหรือห้องสมุดอาจมีโปรแกรมป้องกันการเข้าไปดูเวปที่ไม่สมควรแต่บางครั้งอาจเด็กไปที่บ้านเพื่อนหรือญาติอาจไม่ได้มีโปรแกรมดังกล่าว ดังนั้นต้องเตือนเด็กๆว่ากฏการใช้อินเตอร์เนต ครอบคลุมทั้งในบ้านและนอกบ้านด้วย

5. คุณพ่อคุณแม่ควรมีโปรแกรมป้องกันเวปที่ไม่สมควรดังกล่าว ซึ่งอาจหาข้อมูลได้จาก cybersitter

6. ในกรณีเด็กแอบดู หรือเริ่มติดโดยไม่บอกคุณพ่อคุณแม่ อาจใช้วิธีการเปิดกว้างโดยการให้เด็กดูไปพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ เพราะธรรมชาติของเด็ก อยากรู้อยากเห็น ดังนั้นการยิ่งห้ามอาจเหมือนยิ่งยุ การสอนและหาวิธีให้ความรู้ต่างๆจะอาจช่วยให้เด็กลดความสงสัยหรือลดความอยากรู้อยากเห็นได้

7. อย่าจัดให้ในห้องของลูกมีคอมพิวเตอร์ แต่ควรจัดไว้ในที่ๆคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

ปัจจุบันสื่อต่างๆมากมายที่อยู่รอบตัวเรามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ต้องฉลาดในการป้องกันลูกให้พ้นจากสื่อที่เป็นอันตรายต่อเด็ก โดยการให้ความรัก ความเข้าใจ และให้ความรู้ควบคู่กันไป ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสร้างเด็กให้เป็นคนฉลาดในการแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นสิ่งดีและอะไรเป็นสิ่งไม่ดีที่ควรหลีกเลี่ยง อย่าใช้วิธีวัวหายล้อมคอก เพราะนั่นอาจจะสายเกินไป

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

อย่าเครียด...เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ/ดร.แพง ชินพงศ์

อย่าเครียด...เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ/ดร.แพง ชินพงศ์

ปัจจุบันคำว่า "เด็กพิเศษ" (Special Child) เป็นคำที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ และหลายคนคงมีความเข้าใจในความหมายที่แตกต่างกันออกไป จริงๆแล้วคำว่า “เด็กพิเศษ” นั้น มาจากคำเต็มว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

อีกทั้งยังต้องการความช่วยเหลือและการดูแลเป็นพิเศษยิ่งกว่าเด็กทั่วๆไป เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ด้านต่างๆ ซึ่งอาจไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาอย่างเด็กทั่วไปได้ หรือเป็นเด็กที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยเราสามารถแบ่งประเภทของเด็กพิเศษได้ ดังนี้

- เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย

1. ความบกพร่องทางสุขภาพ หมายถึง เด็กที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีร่างกายพิการ เช่น แขนขาลีบ แขนขาด้วนหรือเป็นโรคร้ายแรง

2. ความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง เด็กที่มีปัญหาด้านการฟังหรือสูญเสียการได้ยิน เช่น หูตึง หูหนวก

3. ความบกพร่องทางการเห็น หมายถึง เด็กที่มีปัญหาด้านการมองเห็นภาพ เช่น มองเห็นไม่ชัดหรือตาบอดสนิท

- เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้

หมายถึง เด็กที่มีระดับของ IQ ต่ำกว่า 70 เช่น เด็กเรียนช้าหรือเด็กปัญญาอ่อน เด็กในกลุ่มนี้จะขาดทักษะทั่วไปในการเรียนรู้ โดยไม่สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการเรียนรู้ การดูแลช่วยเหลือตัวเอง การควบคุมตนเองหรือการสื่อความหมายกับผู้อื่นผ่านทางภาษาพูด ภาษาท่าทาง การฟังและการอ่าน ให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกับเด็กในวัยเดียวกันได้

- เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์

หมายถึง เด็กที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองให้อยู่ในสภาพปกติได้ บางกลุ่มอาการอาจมีพฤติกรรมเก็บกด ชอบแยกตัวจากผู้อื่น และบางกลุ่มอาการ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กสมาธิสั้น ซึ่งมักมีนิสัยไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบวิ่งวุ่น ปีนป่าย เล่นเงียบๆไม่ได้ ไม่สามารถรอคอย อีกทั้งไม่สามารถทำตามคำสั่งของคนอื่นได้ หรือเด็กออทิสติก ซึ่งจะมีพัฒนาการทางการพูดที่ล่าช้ากว่าเด็กปกติ ชอบทำกิริยาซ้ำๆ เช่น โยกหัวหรือโยกตัวไปมา สะบัดมือไม่หยุด หรือย้ำคิดย้ำทำ พูดจาซ้ำๆซากๆ บางครั้งพูดเป็นภาษาที่คนอื่นไม่สามารถเข้าใจได้ และโดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบอยู่ตัวคนเดียวมากกว่า

- เด็กพิการซ้ำซ้อน

หมายถึง เด็กที่มีความพิการมากกว่า 1 อย่างรวมอยู่ในคนๆเดียวกัน เช่น มีทั้งความบกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยิน หรือปัญญาอ่อนและพิการแขนขาด้วนด้วย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกของเราเป็นเด็กพิเศษ ควรจะทำอย่างไรต่อไป

1. พาไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เด็กพิเศษส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งอาจมีอาการหรือมีพฤติกรรมที่ปรากฏขึ้นมาในลักษณะที่เราไม่สามารถควบคุมเองได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาเยียวยาทางการแพทย์ช่วยจึงจะเป็นผล เช่น เด็กสมาธิสั้นหรือเด็กออทิสติก ต้องกินยาเพื่อปรับและควบคุมอาการไม่ให้กำเริบจนถึงระดับที่คลุ้มคลั่งหรือควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปรับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดและเมื่อแพทย์สั่งยามาให้ลูก ก็ควรดูแลให้ลูกได้รับประทานยาอย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ หากมีลูกเป็นเด็กพิเศษในกลุ่มของเด็กที่มีความพิการทางด้านร่างกาย เช่น แขนขาลีบ ตาบอดหรือหูหนวก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกไปทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งอาจช่วยแก้ไขความบกพร่องได้ส่วนหนึ่ง หรือพาลูกไปเข้าโรงเรียนสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนสอนคนหูหนวก เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างไม่รู้สึกลำบากหรือไม่รู้สึกแปลกแยก

2. ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กพิเศษนั้นมักต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจและความอบอุ่นในหัวใจให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง เพราะอาจจะมีปัญหาหลายอย่างตามมาอย่างคาดไม่ถึง ผู้เขียนรู้จักครอบครัวหนึ่งที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติก วันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ออกไปทำธุระนอกบ้านแล้วปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงตามลำพัง แต่พี่เลี้ยงกลับไปทำธุระอย่างอื่นแล้วทิ้งให้เด็กอยู่คนเดียว ปรากฏว่าเด็กจุดไฟเผาบ้าน ดีที่พี่เลี้ยงกลับมาดับไฟได้ทันก่อนที่ไฟจะลุกลามไหม้บ้านจนวอดวาย ดังนั้นอย่าปล่อยให้ลูกที่เป็นเด็กพิเศษต้องอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาดเพราะเขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้นั่นเอง

3. ให้เด็กทำกิจกรรมเสริมทักษะ เป็นต้นว่าให้เด็กออกกำลังกายอย่างง่ายๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่งเล่น โยนลูกบอลลงห่วง ให้เด็กทำงานศิลปะ เช่น วาดรูป ระบายสี ปั้น แปะรูปภาพ หรือให้เด็กทำกิจกรรมดนตรี เช่น ร้องเพลง เต้นระบำตามเสียงดนตรี เล่นดนตรี ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการสอนดนตรีกับเด็กพิเศษมาแล้วหลายคน พบว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่เด็กพิเศษประเภทออทิสติกนั้นมักจะมีความสามารถทางด้านดนตรีอย่างมากเลยทีเดียว เพราะมีเด็กออทิสติกหลายคนที่สามารถเล่นเปียโนได้ดีและเล่นได้จนจบเพลงโดยที่ไม่มีความผิดพลาด แม้ว่าเขาจะอ่านโน้ตไม่ได้เลยก็ตาม

การมีลูกเป็นเด็กพิเศษคงจะทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลไม่น้อย ทั้งคิดมากสารพัดว่าทำไมลูกเราถึงเกิดมาเป็นแบบนี้ แต่ผู้เขียนอยากเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษว่า อย่าคิดโทษสิ่งใดเลยที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนี้ คิดเสียว่าเรามีคนๆหนึ่งที่พิเศษเหลือเกินมาอยู่ในความคุ้มครองดูแลของเราแล้ว เราก็ควรทำหน้าที่ดูแลเขาให้ดีที่สุด

ที่สำคัญคือทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความเข้าใจในกันและกันให้มากๆ หมั่นคอยดูแลจิตใจของกันและกันให้ดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่สามารถจะนำมาใช้ดูแลลูกคนพิเศษของเราให้เติบใหญ่และมีชีวิตที่ราบรื่นเป็นสุขได้ นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษ คุณพ่อคุณแม่อย่าไปคาดหวังมากนักว่าทำอย่างไรลูกของเราจะช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น หรืออีกนานแค่ไหนที่ลูกของเราจะมีพัฒนาการในด้านต่างๆที่ดีขึ้น เพราะเราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถที่จะไปกะเกณฑ์สิ่งใดกับเขาได้

ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษทุกคนว่าให้รักเขาอย่างที่เขาเป็น อย่าไปสร้างเงื่อนไขหรือตั้งความหวังกับลูก เพราะนอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดแล้ว ยังจะทำให้ลูกอึดอัด เกิดความคับข้องใจ และอาจมีผลกระทบในแง่ลบต่อพฤติกรรมของเขาจนอาจจะทำให้อาการผิดปกติต่างๆที่เป็นอยู่นั้นถดถอยลงกว่าเดิมได้ ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ให้ความรักและความเอาใจใส่ก็ดีที่สุดแล้วสำหรับลูกคนพิเศษของเรา


ที่มา
manager.co.th

ทำไมลูกจึงสอบตก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

ทำไมลูกจึงสอบตก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

ถึงเวลาฟังผลสอบของลูกทีไร ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และลูกๆรู้สึกตื่นเต้นไม่แพ้กันโดยเฉพาะเด็กๆเรื่องการเรียนถือเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว หากผลการเรียนออกมาดี เด็กๆก็ดีใจเป็นธรรมดาแต่หากผลการเรียนไม่ดี ต้องซ่อมบางวิชา เด็กๆบางคนอาจไม่กล้าบอกคุณพ่อคุณแม่หรือบางคนอาจจะเป็นหนักถึงขนาดเอาสมุดพกไปซ่อน หรือในบางรายอาจไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร อาจจะใช้วิธีทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายไปบ้างก็มี ลองมาดูซิว่าสาเหตุต่างๆเหล่านี้มาจากอะไรและมีวิธีใดบ้างในการช่วยเหลือเด็กที่สอบตก

1. คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มีส่วนช่วยลูกหรือไม่มีเวลากับลูกเท่าที่ควร ครอบครัวที่มีลูกเรียนเก่งหรือประสบความสำเร็จในการเรียนส่วนใหญ่มักจะมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยแนะนำและให้ความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลาให้ลูก มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ถามลูกว่าวันนี้เรียนอะไรมาบ้าง ช่วยตรวจสอบว่าลูกทำการบ้านครบหรือยัง ถ้าเด็กตั้งใจทำการบ้านก็ควรให้คำชมเชยเพื่อให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจและมีกำลังใจที่จะมานะพยายามมากยิ่งขึ้น

2. การสร้างสานสัมพันธ์ที่ดีทั้งบ้านและโรงเรียน ข้อนี้จะช่วยให้ทราบความคืบหน้าเรื่องการเรียนของลูกและปัญหาของลูกเมื่ออยู่ที่โรงเรียนได้

3. ความรู้สึกด้อยค่า การสร้างความรักที่อบอุ่น สร้างความภูมิใจและให้กำลังใจแก่ลูกเมื่อลูกล้มเหลว จะช่วยให้ลูกมีการปรับตัวที่ดีขึ้น และส่งผลต่อการช่วยให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้

4. ปัญหาสุขภาพ เด็กบางคนมีร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจจะมาจากการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าไม่ครบ5หมู่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อีกทั้งขาดการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลลบต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กทั้งสิ้น

5. ลูกขาดการจัดการที่ดี ขาดการจัดหมวดหมู่ในวิชาเรียน ขาดทักษะในการหาข้อมูลในการทำการบ้านหรือรายงานต่างๆ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องช่วยจัดมุมที่บ้านในการนั่งทำการบ้านและมีข้อมูลและอุปกรณ์ที่เพียงพอในการทำการบ้าน อาจซื้อแฟ้มหลายๆสีให้ลูกเพื่อใส่อุปกรณ์และข้อมูลที่ต้องการในแต่ละวิชา พร้อมทั้งห่อปกหนังสือแต่ละเล่มให้เข้ากับสีแฟ้มต่างๆ

6. ลูกขาดทักษะการเรียนรู้ที่ดี บ่อยครั้งที่ลูกไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร บางครั้งลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังศึกษา และรู้สึกว่ายากเกินไป เมื่อขาดความเข้าใจมากขึ้นและมากขึ้น จนบางครั้งเกิดอาการต่อไม่ติด ดังนั้นควรสอนลูกให้เรียนรู้การทำความเข้าใจกับบทเรียนตั้งแต่เริ่มต้นใช้บัตรคำหรือบัตรงานช่วยจำเพื่อทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ไป การใช้เทคนิคการสร้างแผนที่ในสมอง ( mind map) ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและช่วยพัฒนาความจำได้ดี สอนลูกให้รู้จักวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยเพราะการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ความจำแต่อย่างเดียว ลูกต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไม หรือหากไม่ทำจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะช่วยในการเรียนรู้และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอีกด้วย

7. ลูกขาดทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ และเป็นระบบ เป็นขั้นตอน หากขาดพื้นฐานที่ดีจะทำให้ไม่สามารถเข้าใจวิชาที่เกี่ยวข้องได้เช่น เรขาคณิต แคลคูลัส เป็นต้น ดังนั้น หากลูกขาดพื้นฐานคณิตศาสตร์อาจต้องกลับไปเริ่มที่จุดที่ขาดความเข้าใจนั้นและหาครูพิเศษมาช่วยสอน เพื่อลดช่องว่างในการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นได้ การสร้างฐานที่มั่นคงในวิชาคณิตสาสตร์จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไป

8. ขาดทักษะการอ่านที่ดี หากไม่มีทักษะในการการอ่านที่ดี จะทำให้ขาดความเข้าใจ และนำไปสู่ความล้มเหลวในการเรียนวิชาต่างๆด้วย วิธีการพัฒนาการอ่านที่ดีคือ การอ่านมากๆ สร้างนิสัยการอ่านให้ลูก อ่านทุกเรื่อง ในถุงห่อขนม หนังสือพิมพ์ เป็นต้น พาลูกไปห้องสมุดทุกสัปดาห์ ให้ลูกๆเลือกหนังสือที่จะอ่าน หากเป็นได้อ่านออกเสียงให้ลูกฟัง จัดหาหนังสือ สื่อวีดีทัศน์ต่างๆซึ่ง จะช่วยพัฒนาลูกได้มากหากให้ลูกได้อ่านหนังสือประกอบการฟังซีดีควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน คำศัพท์และการออกเสียง

9. การติดกลุ่มเพื่อน หากลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นกลุ่มเพื่อนจะมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรับตัวให้เข้ากับลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ในการให้ความรัก ความเข้าใจ โดยให้ความสนิทสนมกับลูก เพื่อให้ลูกเกิดความไว้ใจและไม่มีความลับเรื่องใดๆกับพ่อแม่แม้แต่เรื่องการสอบตก ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกที่มีปัญหาในด้านการเรียนได้

10. ขาดการจูงใจ สาเหตุใหญ่ของการแรงจูงใจอาจเป็นเพราะมีความสับสน ไม่แน่ใจ คุณพ่อคุณแม่อาจถามลูกว่ามีอะไรรบกวนใจลูกอยู่ และพยายามเสริมแรงให้เห็นเป้าหมายในอนาคต แต่หากลูกขาดแรงจูงใจนานเกินไป อาจต้องสืบหาสาเหตุ ว่ามาจากอะไร เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาเรื่องเพศ ปัญหาการติดเกม หรือปัญหาการติดสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น

คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากให้ลูกสอบตก ดังนั้นการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือที่ทันท่วงทีและช่วยให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีขึ้นทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

มันมากับ "ความสุข" !?!...เอาใจเด็ก ถูกใจพ่อแม่


"สมศักดิ์ จันทวัฒนา" ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬา และท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร

มันมากับ "ความสุข" !?!...เอาใจเด็ก ถูกใจพ่อแม่

"มันมากับความสุข" ตามที่ได้พาดหัวไปนั้น พ่อแม่หลายคนอาจสงสัยว่า มันคืออะไร แล้วทำไมต้องมากับความสุข สิ่งที่ทีมงาน Life and family จะกล่าวต่อไปนี้ มันคือ รถคาราวานความสุข ที่เคลื่อนมาพร้อมกับคลังหนังสือน่าอ่าน สู่ทุกๆ ครอบครัวในพื้นที่ชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ภายใต้โครงการคาราวานความสุข นโยบายสร้างคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีหลังจากที่ผ่านมาหยุดอยู่กับที่ ไม่ได้เคลื่อนความรู้ไปไหน

ในเรื่องนี้ "สมศักดิ์ จันทวัฒนา" ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬา และท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร อธิบายถึงการทำงานของรถคาราวานคันนี้ว่า จะวิ่งไปตามชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครที่ขาดแหล่งเรียนรู้ เช่น ชุนชนที่ไม่มีห้องสมุด ประชาชนขาดโอกาสการเรียนรู้ ถือเป็นตัวช่วยในการเปิดโอกาสให้กับเด็กๆ หรือในชุมชนที่อยู่ห่างไกล การเดินทางไม่สะดวก ให้เข้าถึงได้มากขึ้น

"ปัจจุบันมีเด็กอยู่ 2 กลุ่ม คือ เด็กที่อ่านหนังสือเป็นประจำ และอีกกลุ่มเป็นเด็กที่ไม่อ่านหนังสือเลย เราจึงมุ่งหวังว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มที่ 2 หันมาสนใจรักการอ่านมากขึ้น ฉะนั้นเราจะต้องมีกิจกรรมที่สร้างแรงจูงใจให้กับเด็ก"

สำหรับ การตกแต่งภายในของ "ห้องสมุดเคลื่อนที่นี้ จะมีหนังสือที่จัดไว้สำหรับให้บริการกับเด็กๆ และประชาชน จะเป็นหนังสือที่ใช้งบประชาชนของกรุงเทพมหานครในการจัดซื้อ และมีความหลากหลาย เช่น หมวดหนังสือวิชาการ หมวดหนังสือทั่วไป หมวดบันเทิง หมวดหนังสือเด็ก ฯลฯ เพื่อให้ครอบคุมต่อความต้องการของผู้อ่านในชุมชน" นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมนันทการเสริมความสนุก เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ สร้างสัมพันธภาพภายในครอบครัวที่ พ่อ แม่ ลูกได้ร่วมทำด้วยกันเป็นอย่างดี

"ปัญหาเรื่องการอ่าน เป็นปัญหาระดับประเทศ มีการพูดคุยหลายต่อหลายครั้ง ก็ยังไม่มีการแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด แต่เราก็ยังต้องดำเนินการรณรงค์ให้เกิดการรักการอ่านขึ้น ไม่ว่ามันจะได้ผลหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยเราก็จะเป็นเสียงเล็กๆ ที่คอยกระตุ้นให้เกิดการอ่านให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ และต้องการส่งเสริมให้การอ่านสามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา โดยที่ไม่จำเป็นต้องอ่านให้ห้องสมุดหรือในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว" ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬา และท่องเที่ยวกทม.กล่าว

*** เอาใจเด็ก ถูกใจพ่อแม่

เมื่อมีรถคาราวานเคลื่อนที่กิจกรรม ความรู้ และความสุข "กชวรรณ จิตรทอง" หรือ "นิต" คุณแม่ลูก 3 ย่านราษฎร์บูรณะ เล่าว่า เมื่อก่อนไม่มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นแถวๆ ใกล้บ้าน ก็ทำให้เด็กๆ ไม่มีลานการทำกิจกรรม วิ่งเล่น พอมีโครงการนี้ก็สามารถพาลูกๆ ออกมาเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้าน เพราะปกติแล้ว การทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับเด็กก็จะต้องไปทำตามศูนย์การค้าที่มีการจัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์เด็กต่างๆ ตรงนั้นก็จะต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ว่าโครงการคาราวานความสุขเป็นการทำกิจกรรมที่สามารถทำได้ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปไกล และเข้าถึงคนในชุมชนอีกด้วย

"ปกติที่บ้านจะมีการทำกิจกรรมบ้าง แต่การที่ลูกได้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก ทำให้เขาเกิดการพัฒนา ได้เจอเพื่อนใหม่ รู้จักการเข้าสังคม บางกิจกรรมก็สอนให้เขารู้จักการแบ่งปัน ไม่ใช่เพียงการที่ลูกหันมาสนใจอ่านหนังสือ แต่ลูกมีพัฒนาการเรียนรู้ที่มากกว่าการอ่านหนังสือ" แม่นิตกล่าว

ขณะที่ "มะลิวัลย์ สุภจันทร์" หรือ "มะลิ" คุณแม่พนักงานบริษัท สะท้อนว่า บ้านของเธออยู่ในเขตพระประแดง พอถึงเวลาช่วงเย็นจะพาลูก และหลานไปเล่นกีฬา เตะฟุตบอล ในสนามเด็กเล่น และบริเวณลานวัดในหมู่บ้าน แต่ไม่ค่อยมีกิจกรรมวาดรูประบายสี เล่นเกมตอบปัญหา ทายคำศัพท์ โดยมีวิทยากรคอยให้คำแนะนำ เพราะว่าหมู่บ้านอยู่ชานเมือง จะเดินทางไปไหนก็ลำบาก จึงไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัว

"ดังนั้น อยากให้มีรถห้องสมุดมาจอดในหมู่บ้านเป็นประจำ เพราะชาวบ้านที่อาศัยในละแวกนี้ ยังขาดแหล่งเรียนรู้ และโอกาสที่ดี พอมีกิจกรรมจะเห็นว่าเด็กๆ ให้ความสนใจมากและกระตือรือร้น ต่างกับตอนอยู่ที่บ้านเด็กจะไม่ค่อยสนใจอ่านหนังสือ แต่พอมาทำเป็นกิจกรรมการเล่นเกม มีการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ทำให้เขาสนใจมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจอ่านหนังสืออย่างจริงจัง แต่อย่างน้อยก็หยิบหนังสือออกมาเปิดดูบ้าง" แม่มะลิอธิบาย

จะดีไม่น้อย ถ้ารถคาราวานความสุขเคลื่อนความรู้ไปหาครอบครัวในทุกชุมชนทั่วประเทศ เพราะถือเป็นการเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก และชุมชน หยิบยื่นความห่วงใยให้แก่กัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังต้องการการพัฒนา และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง หากพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนสนใจพาลูกมาร่วมทำกิจกรรมของคาราวานความสุขห้องสมุดเคลื่อนที่ สามารถติดตามเส้นทางการเดินทางของรถห้องสมุดเคลื่อนที่ประจำสำนักงานเขตที่จะออกไปตามชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร หรือติดต่อฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ของโครงการ "คาราวานความสุข" โดยตรงได้ที่ 086-701-7123

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

เจาะวิธีเสริมอีคิวแบบ '101s' สร้าง 'วินัยเชิงบวก' ให้ลูก

เจาะวิธีเสริมอีคิวแบบ '101s' สร้าง 'วินัยเชิงบวก' ให้ลูก

เชื่อว่าการมี "วินัยที่ดี" เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกบ้านคาดหวังให้เกิดกับลูก การปลูกฝังวินัยส่วนใหญ่ มักใช้วิธีหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ด้วยการตี ดุว่า โดยใช้คำว่า ห้าม อย่า หรือหยุด การสื่อสารด้วยคำพูดในลักษณะนี้ บางครั้งเป็นการระบายความโกรธของพ่อแม่ ซึ่งมีผลอย่างมากในการทำลายความสัมพันธ์ที่ดี และยับยั้งการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของเด็ก ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ในเรื่องนี้ "ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร" หรือ "ครูหม่อม" ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 101 Positive Discipline ที่ปรึกษาบริษัท MindMax และผู้ดูแลการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับองค์กรสานใจ กล่าวว่า พ่อแม่ส่วนมาก จะใช้วิธีหยุดพฤติกรรมด้านลบของลูก ด้วยการตี ดุว่า หรือการขู่ด้วยคำพูด เช่น “ห้ามนะ หยุดนะ ถ้าไม่ฟัง แม่ไม่รักแล้วนะ" วิธีเหล่านี้ เป็นการหยุดพฤติกรรมแค่ชั่วคราว และถือเป็นการปิดกั้น หรือยับยั้งนิสัยที่จะสำรวจ และเรียนรู้ของเด็ก

"เด็กทุกคนต้องการความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่น การไปห้ามหรือขู่ลูกมากๆ ลูกก็จะต่อต้าน ทำให้ความสัมพันธ์ขาดหาย เด็กจึงเชื่อฟังพ่อแม่น้อยลง เพราะถ้าเด็กรู้สึกไม่ดีกับใครแล้ว ก็ไม่อยากเชื่อฟัง โดยมีผลวิจัยระบุว่า ถ้าทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี 1 ครั้ง จะต้องใช้ความรู้สึกดีๆ ถึง 10 ครั้ง ถึงจะดึงความรู้สึกดีๆ ของเด็กกลับคืนมา และถามว่าเด็กลืมเรื่องนั้นหรือไม่ เขาไม่ลืมค่ะ" ครูหม่อมกล่าว

ด้าน "ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร" หรือ "ครูใหม่" ผู้เชี่ยวชาญด้านเดียวกัน เผยว่า การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังวินัยเชิงบวก แต่พ่อแม่บางคนลืมใส่ใจในรายละเอียดของคำพูดที่จะทำให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง เช่น ไม่รู้ว่าอารมณ์หงุดหงิดนั้น เรียกว่าอะไร เด็กจึงจัดการไม่เป็น

"สิ่งที่พ่อแม่ควรจะทำตั้งแต่ลูกยังเล็กคือ เวลาลูกโกรธ หรือร้องไห้ ให้สื่อสารกับลูก เช่น "ตอนนี้หนูกำลังโกรธอยู่นะลูก" หรือ "ตอนนี้หนูกำลังง่วงนอน หนูถึงหงุดหงิดแบบนี้ใช่ไหม ไม่เป็นไร คุณแม่เข้าใจ" ซึ่งเป็นการสอนคำศัพท์ทางอารมณ์ให้ลูก ทำให้เด็กฝึกเข้าใจอารมณ์ และควบคุมตัวเองได้ดี" ครูใหม่กล่าว

อย่างไรก็ดี การตี หรือไม่ออกคำสั่งกับลูก จะเป็นการตามใจลูกเกินไปหรือไม่นั้น ครูใหม่ บอกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจอ่อนกับลูกมากนัก

"พ่อแม่ใจดีได้ แต่อย่าใจอ่อน เช่น ลูกอยากไปเล่น แต่การบ้านไม่เสร็จ ถ้าลูกร้องงอแง อย่าพยายามห้ามเด็ก หรือใช้คำว่าถ้า...แล้วตามด้วยไม่ได้ เช่น ถ้าทำไม่เสร็จ ไม่ต้องไปเล่นเลยนะ แต่ควรเปลี่ยนมาพูดว่า ถ้าหนูไม่ทำ หมายถึงหนูเลือกแล้วนะคะ หนูก็ไม่ได้เล่น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องดุลูก แค่บอกให้เขาเลือก เป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบกับทุกอย่างที่ลูกตัดสินใจ ถามว่าเราเหรอที่ไม่ให้เขาเล่น เปล่า เราให้เขาเลือกต่างหาก และลูกจะเชื่อในคำพูดของแม่"

สำหรับวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับเด็ก ทั้งครูหม่อม และครูใหม่ ใช้หลักการ 101s: A Guide to Positive Discipline ของ ดร.แคททาลีน ซี เคอร์ซี่ ผู้อำนวยการการอบรมพัฒนาวิชาชีพเรื่องการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับครูปฐมวัย และผู้นำด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย ในเมืองนอร์ฟอร์ก และเวอร์จิเนียบีช แห่งมลรัฐเวอร์จิเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลักการนี้ ดร.แคททาลีน ได้รวบรวมจากการสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงการศึกษามากกว่า 50 ปี เป็น 101 เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกที่ใช้สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ และการปฏิบัติต่อเด็กด้วยการยอมรับ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก

โดยในปี 2008 ได้ถูกนำมาวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กที่อยู่ในห้องเรียนโดยครูใช้เทคนิคนี้ มีความสามารถทางอารมณ์ สังคม และวิชาการดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ และที่สำคัญ ในปี 2009 ครูหม่อม และครูใหม่ ได้นำมาทำการวิจัยกับเด็กไทยที่โรงเรียนทับทอง ได้ผลวิจัยตรงกัน จึงสะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมไม่ใช่อุปสรรค เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กทุกคนก็ต้องการความรัก ความเข้าใจเหมือนกัน

"การสร้างวินัยเชิงบวก มันอาจไม่เห็นผลในทันที มันจะค่อยๆ พัฒนาไป ดังนั้นต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง แต่ถ้าการไปหยุดด้วยวิธีเดิม เช่นตี ดุว่า คุณก็ต้องตามหยุดไปตลอด และเมื่อลูกโตเขาไม่มาอยู่ให้คุณหยุดแน่นอน" ครูหม่อมฝาก



ครูหม่อม และครูใหม่


5 หลักการสร้าง "วินัยเชิงบวก" ให้ลูก

ทิ้งท้ายนี้ ครูหม่อม และครูใหม่ได้แนะ 5 หลักการจาก 101s: A Guide to Positive Discipline ของ ดร.แคททาลีน ซี เคอร์ซี่ เพื่อเป็นแนวทางปลูกฝังวินัยเชิงบวกให้พ่อแม่นำไปใช้กับลูกง่ายๆ ดังนี้

1. หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ การให้ความสนใจเชิงบวกกับเด็กๆ เวลามีพฤติกรรมที่เหมาะสม แทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ด้วยชมเชย ขอบคุณ กอด แต่การชม ควรเจาะจงพฤติกรรมไปเลย เช่น มังกรเก่งจังเลยที่หนูรอให้คุณแม่พูดจบก่อน แล้วหนูค่อยพูด หรือขอบคุณลูกนะคะที่ตื่นมาไม่ร้องไห้ รู้จักหน้าที่ ช่วยแม่เก็บของ เป็นต้น

2. หลักการให้ทางเลือกเชิงบวก การเสนอทางเลือกที่ยอมรับได้ให้เด็ก 2 ทาง และให้โอกาสให้เด็กตัดสินใจเลือกว่า จะทำตามทางเลือกไหน เช่น จะให้คุณพ่อ หรือ คุณแม่อาบน้ำให้ดีคะ

3. หลักการอะไรก่อน-หลัง การบอกเด็กๆ ให้ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จก่อน แล้วถึงจะอนุญาตให้เด็กทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เช่น เมื่อทานข้าวเสร็จแล้ว ไปเล่นกับเพื่อนได้ค่ะ ไม่ใช่บอกว่า "ถ้าไม่กินข้าว ก็ห้ามไปเล่น"

4. หลักการมองตา การนั่งลดระดับลงมาในระดับสายตาของเด็ก และใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลเวลาพูดคุยกับเด็ก ๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับเด็ก ๆ และทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และเป็นมิตรเวลาที่อยู่กับครู หรือพ่อแม่

5. หลักการกระซิบ การใช้เสียงกระซิบ หรือใช้เสียงเบา ๆ เมื่อต้องการเรียกความสนใจจากเด็ก ๆ และควบคุมให้ห้องเรียนมีความปกติ คุณครูอาจจะพูดเบา ๆ หรือร้องเพลงเบา ๆ ก็ได้ ลดการตะโกน หรือแข่งกับเสียงเด็ก หรือลูกจะเสียงดังมากในรถ ในบ้าน พ่อแม่อาจจะทำเป็นเสียงกระซิบคุยกัน จากนั้นเด็กจะเงียบ เพราะเขาสงสัยละ ว่าพ่อแม่คุยอะไรกัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.101thaikids.com

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รู้ทัน 'ลูกวัยเตาะแตะ' เลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด


"พญ.พัฎ โรจน์มหามงคล"


ขึ้นชื่อว่าลูกวัยหัดเดิน หรือ "วัยเตาะแตะ" เป็นช่วงที่เด็กกำลังน่ารัก และน่าฮัก (กอด) เพราะนอกจะเริ่มหัดเดินแล้ว ยังเป็นช่วงที่เด็กเริ่มหัดพูด และหัดเล่นกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ถือเป็นช่วงสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัยอย่างเต็มที่ แต่จะทราบ และใช้หลักอะไรเป็นแนวทาง ทีมงาน Life and Family มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากคุณหมอเด็กเก็บมาฝากกันค่ะ

ในเรื่องนี้ "พญ.พัฎ โรจน์มหามงคล" อาจารย์พิเศษหน่วยพัฒนาเด็กและกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ว่า การเลี้ยงเด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ หรือที่เราเรียกกันว่า วัยเตาะแตะ ในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรมากมาย แต่อยากจะให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการของลูก และต้องเข้าใจธรรมชาติของลูก เข้าใจนิสัย พื้นฐานของอารมณ์ เข้าใจว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และนำมาปรับใช้การเลี้ยงดูให้เข้ากับตัวเขามากที่สุด

"อยากจะให้เน้นเรื่องของการให้โอกาสกับลูก ในเวลาที่เขาต้องการเล่นหรือว่าต้องการไปไหน อยากทำอะไรเป็นพิเศษ การที่เด็กเรียกร้อง แสดงว่าเขาอยากจะทำจริงๆ ดังนั้นพ่อแม่จะเห็นถึงความมุ่งมั่นและพยายามของลูก ให้เขาได้ลองทำ ลองคิด ลองสำรวจ แต่ในขณะเดียวกันพ่อแม่จะต้องคอยระวัง เรื่องของความปลอดภัยให้กับลูก ให้เขาได้รับอันตรายจากการเล่นน้อยที่สุด" พญ.พัฎกล่าว

*** พัฒนาการ 4 ด้านของเจ้าหนู 'วัยเตาะแตะ'

กุมารแพทย์แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสังเกตจาก พัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนักตัว รูปร่าง และพัฒนาไปสู่การเริ่มหัดเดิน เขาจะมีความรู้สึกว่าเป็นอิสระ สามารถทำอะไรได้ตามใจ ในวัยนี้การใช้กล้ามเนื้อมือ แขน ขา จะเริ่มมีความถนัดมากขึ้น เขาจึงมีความพร้อมที่จะสำรวจในสิ่งที่เขาเห็น บางครั้งก็อยากรู้อยากลอง พอมองเห็นอะไรก็อยากจะเข้าไปเล่น เข้าไปหยิบ

ส่วนอันดับที่ 2 พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม สำหรับเด็กในช่วงนี้ จะมีการพัฒนาการเรื่องนี้มาก มีความคิดของตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เขาทำอะไร เด็กก็อาจจะไม่ทำตามเสมอไป และอาจจะปฏิเสธบ้าง ส่วนในเรื่องของการเข้าสังคมในวัยนี้ก็เป็นวัยที่ยังติดคุณแม่อยู่ เพราะว่าคุณแม่เป็นคนที่เขาผูกพันมากที่สุด นอกจากนั้นการเล่นกับเพื่อนก็เป็นต่างคนต่างเล่น อาจจะยังไม่มีการแบ่งปัน เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่จะต้องมีการปลูกฝังเรื่องของการแบ่งปันให้กับลูก แม้ว่าเขาจะเล็กอยู่ แต่ถ้าได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะทำให้เขาจดจำได้


อันดับที่ 3 เป็น พัฒนาการทางด้านสมอง เด็กในวัยนี้ก็จะเป็นเด็กที่ต้องการอยากรู้อยากลอง เพราะเริ่มเคลื่อนที่ได้ มีความจำที่ดี เริ่มรู้จักสังเกต นอกจากนั้นเด็กในช่วงอายุนี้จะมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษารวดเร็วมาก เขาจะค่อยๆ จดจำคำ เลียนแบบการพูดมากขึ้น พ่อแม่ควรใส่ใจเรื่องการพูดคุยแบบสุภาพ ควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์กับลูก

และอันดับสุดท้ายเป็น พัฒนาการสู่โลกกว้าง การเลือกสื่อที่เหมาะกับเด็ก เลือกสื่อที่เป็นประโยชน์กับตัวเด็กด้วย การเปิดรับสื่อก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างรอบด้าน รู้จักโลกกว้างมากขึ้น บางแง่มุมก็อาจเป็นการเลือกสื่อเรียนรู้ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก แต่ก็อย่ามองข้าม เพราะว่าเด็กจะเรียนรู้และจดจำเรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อ มากกว่าการสอนจากคำพูดของพ่อแม่

อย่างไรก็ดีคุณหมอฝากแง่คิดว่า พื้นฐานที่จะทำให้พัฒนาการของลูกเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น คือ การมีร่างกายที่แข็งแรง การกินอาหารที่มีประโยชน์ มีความเหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัย การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เพราะว่าพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้ลูกตื่นขึ้นมาพร้อมกับอารมณ์ที่สดชื่น แจ่มใส

นอกจากนั้น "การออกกำลังกาย" ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญพลังงานทำงานดีขึ้น ช่วยให้ลูกนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ และยังเป็นการกระตุ้นเรื่องการรับประทานอาหารของลูกได้อีกด้วย เนื่องจากลูกใช้พลังงานไปในปริมาณที่มาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการอาหารในปริมาณที่เพียงพอเช่นกัน ทำให้เด็กๆ มีร่างกายที่แข็งแรงและพร้อมออกไปผจญภัยสู่โลกกว้างอย่างเต็มที่


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์