วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เตือนพ่อแม่รู้เท่าทันภัยร้ายจากภาชนะ "พลาสติก"

เตือนพ่อแม่รู้เท่าทันภัยร้ายจากภาชนะ "พลาสติก"

คงต้องยอมรับว่า สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัวเด็กในยุดสมัยใหม่นี้ มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก ยิ่งมีข่าวออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ขวดนมเด็กที่ขายตามท้องตลาดร้อยละ 80 ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนตซึ่งมีผลต่อฮอร์โมนเพศและการเจริญเติบโตบกพร่องในเด็ก ยิ่งทำให้พ่อแม่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป

พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ รองผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสารอันตรายมากมายหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก และสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สารปนเปื้อนบางชนิดที่สะสมอยู่ในร่างกายของเด็ก อาจใช้เวลานานหลายปีก่อนจะปรากฏอาการเด่นชัด ซึ่งเมื่อปรากฏอาการหรือตรวจพบในภายหลังจะไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้เป็นปกติได้

โดยเฉพาะอันตรายจากการเลือกใช้ภาชนะพลาสติกที่หากเลือกใช้ไม่ถูกต้อง และรู้ไม่เท่าทัน อาจส่งผลต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว เห็นได้จากกรณีข่าวขวดนมเด็กในท้องตลาดร้อยละ 80 พบสาร Bisphenol A (BPA) ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาระบบประสาทและเป็นตัวกวนฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนเพศในร่างกายของเด็ก เกิดความสับสน ส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางเพศ และลดความสามารถในการสืบพันธุ์ในอนาคต

ดังนั้น พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม และเลขาฯ โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ขวดนมพลาสติกสำหรับทารก และเด็กเล็กที่ผลิตจากพลาสติก Polypropylene หรือ PP แทนการใช้ขวดนมพลาสติกที่ผลิตจาก Polycarbonate ซึ่งมีสาร BPA โดยหลักการเลือกขวดนมที่ดี และปลอดภัยนั้น ควรเลือกขวดนมที่เขียนว่า BPA Free หรือ PP หรือสังเกตก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์ มีเลข 5 ตรงกลางและมีรูปลูกศรล้อมรอบ แต่หากเป็นขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต บริเวณก้นขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางและมีลูกศรล้อมรอบ


นอกจากนี้ การเลือกใช้ขวดนมที่ดี ควรเลือกแบบเรียบ ๆ บริเวณฝาครอบฝาเกลียว และเกลียวของปากขวดนมจะต้องไม่มีความคม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกรักได้ และควรตรวจจสภาพขวดนมเสมอว่า อยู่ในสภาพดี และไม่มีรอยปริแตก

"ปัจจุบันมีประเทศแคนาดา สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ ได้ประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายขวดนมที่มีสาร BPA ไปแล้ว แต่ตามท้องตลาดในประเทศไทย ยังมีการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจาก polycarbonate ซึ่งมีสาร BPA อยู่เป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้จะมีพ่อแม่และผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลาสติกที่ไม่เป็นอันตรายมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดกลับยังผลิตจากพลาสติกที่เป็นอันตรายอยู่ ผู้บริโภคจึงไม่มีทางเลือกมากนัก" แพทย์หญิงรัชดาเผย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมการผลิตและการใช้ขวดนมพลลาสติกสำหรับทารก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งจะทราบผลในเร็ววันนี้

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110110

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น