วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ลูกร้องกรี๊ดดิ้นกับพื้นต้องปรับแก้พฤติกรรมของพ่อแม่..!!

ลูกร้องกรี๊ดดิ้นกับพื้นต้องปรับแก้พฤติกรรมของพ่อแม่..!!
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน



"เวลาเด็กอยากได้สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วลงไปนอนดิ้นร้องกรี๊ดกับพื้น"

เป็นเรื่องที่ดิฉันได้ยินได้ฟังจากคนเป็นพ่อแม่มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก จนกระทั่งโตและกลายเป็นแม่ของลูกแล้ว ก็ยังพบเห็นและได้ยินเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของคนเป็นพ่อแม่ทุกยุคทุกสมัย

นั่นหมายความว่า พฤติกรรมที่ว่านี้เป็นเรื่องปกติของเด็กอย่างนั้นหรือ !!

ไม่ใช่แน่ค่ะ ไม่ใช่พฤติกรรมที่เด็กต้องเป็น หรือควรเป็นกันทุกคน เพราะนี่คือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

แล้วทำไมเด็กบางคนเป็น บางคนไม่เป็น เรื่องนี้ต้องกลับมาย้อนดูเรื่องการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้วล่ะค่ะ ว่าเข้าข่ายเลี้ยงลูกแบบไหน เลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไปหรือไม่

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แก้พฤติกรรมของเด็กอย่างเดียว แต่ต้องแก้พฤติกรรมของพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย...

โดยปกติ เวลาเด็กส่วนใหญ่เจอของเล่นก็อยากได้เป็นธรรมดา พฤติกรรมที่เด็กเรียกร้องแล้วร้องไห้ลงไปนอนดิ้นกับพื้นแล้วกรี๊ดก็พบเห็นได้บ่อย คำถามก็คือแล้วทำไมลูกของเราถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ เราต้องกลับมาดูว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่

ส่วนใหญ่พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ลูกมีพฤติกรรมนี้ มักเกิดคำถามว่าทำไมลูกเราเป็น และพยายามหาวิธีจัดการแก้ปัญหา หรือปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกออกไปให้ได้

ลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าจะจัดการพฤติกรรมของลูกอย่างไร มาเป็นการปรับพฤติกรรมของตัวเราเองกันก่อน

ประการแรก ตรวจสอบตัวเอง

เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราเป็นพ่อแม่ที่มักจะตามใจลูกอยู่เสมอหรือไม่ ลูกอยากได้อะไรก็ไม่ค่อยขัด ถ้าใช่แล้วล่ะก็ต้องปรับตัวเองก่อนว่าจากนี้ไปจะไม่ตามใจลูกพร่ำเพรื่อ ควรจะมีขอบเขตบ้าง บางอย่างก็ต้องขัดใจบ้าง แต่เวลาขัดใจต้องอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไร เช่น ของเล่นชนิดนี้หนูมีหลายชิ้นแล้ว หรือไม่ก็ต้องบอกว่าลูกมีของเล่นมากแล้ว เราลองเอาของเล่นที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนวิธีเล่น หรือพ่อแม่ก็สามารถร่วมเล่นกับลูกด้วย

ประการที่สอง ต้องใจแข็งบ้าง

เวลาเจอเสียงร้องของลูก คนเป็นพ่อแม่มักทนไม่ได้ กลัวลูกไม่รักบ้าง กลัวลูกเสียใจ กลัวลูกไม่มีเหมือนคนอื่น กลัวลูกเสียงแหบ กลัวลูกจะกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ฯลฯ เรียกว่ามีเหตุให้กลัวมากมาย และนั่นก็นำไปสู่อาการใจอ่อนกับลูกทุกครั้งเมื่อลูกร้องไห้ แล้วจะไม่ให้ลูกจับทางพ่อแม่ถูกได้อย่างไร เด็กฉลาดกว่าที่เราคิด และมักใช้ความรักของพ่อแม่เป็นเครื่องมือต่อรองอยู่เสมอ ที่สำคัญมักสำเร็จด้วย เพราะเขารู้ว่าจะต้องทำแบบไหนเดี๋ยวพ่อหรือแม่ก็ใจอ่อนเอง

ประการสาม ตกลงกันก่อน

ทุกครั้งที่จะต้องเดินทางออกนอกบ้านไม่ว่าจะไปที่ไหนทั้งครอบครัว ควรจะพูดคุยกับเจ้าตัวน้อยของเราให้ชัดเจน เช่น เราจะไปห้างสรรพสินค้า จะไปเที่ยวทะเล ไปบ้านญาติ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดคุยกับลูกก่อนที่จะไปในสถานที่นั้นๆ เช่นจะไปห้างสรรพสินค้า ก็ควรตกลงกันว่าจะไม่ซื้อของเล่น (อย่าคิดว่าเขาเล็กเกินไปนะคะ) เขารู้เรื่องค่ะ เพียงแต่แรกๆ หนูน้อยอาจจะอยากลองของกันบ้าง ก็บอกเขาว่าเราตกลงกันแล้วนะจ๊ะ ว่าแม่ไม่อนุญาตให้ซื้อของเล่น อย่าใช้อารมณ์ค่ะ พยายามพูดกับลูกดีๆ และต้องยืนยันคำพูดเดิมว่าเราตกลงกันไว้แล้วนะลูก พร้อมกับเตือนตัวเองในข้อสองด้วย

ถ้าลองแล้วปรากฏว่าลูกก็ไม่ยอม มีพฤติกรรมร้องไห้แล้วลงไปดิ้นกับพื้นอยากได้อยู่ดี คุณแม่ต้องนึกถึงข้องสอง เพราะเราได้มีการตกลงกันก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าคุณแม่ใจอ่อนล่ะก็ ลูกจะเรียนรู้ว่าทำแบบนี้สุดท้ายก็ได้สิ่งที่ต้องการอยู่ดี

ประการที่สี่ ตักเตือนและเบี่ยงเบน

แม้คุณพ่อคุณแม่จะทำการบ้านมาดี แต่เวลาเด็กเห็นของเล่นแล้ว น้อยคนที่จะบังคับใจตัวเองไม่ให้อยากได้ มันเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ดุว่าอย่างเดียวว่าตกลงกันแล้วไงว่าไม่ซื้อๆ หน้าตาขมึงเชียว เด็กก็คือเด็ก พ่อแม่ควรเตือนควบคู่ไปกับการปลอบใจว่า “เราตกลงกันแล้วนะลูกว่าจะไม่ซื้อของเล่นในคราวนี้ แม่ว่าเราลองไปดูหนังสือกันไหม” เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้ไปสนใจในสิ่งอื่น หรือในสิ่งที่พ่อแม่อยากชักชวนให้ลูกเรียนรู้ร่วมกัน เพราะความสนใจของเด็กยังสั้นอยู่

ประการสุดท้าย เดินหนี

ดิฉันไม่ค่อยอยากให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีเดินหนีไปที่อื่น จริงอยู่ว่าโดยปกติเด็กจะจะร้องอยู่สักพัก แต่เมื่อแน่ใจว่าไม่ได้แน่ๆ เขาจะวิ่งไปหาพ่อแม่เอง แล้วเขาก็จะเรียนรู้ว่าทำวิธีนี้ก็ไม่ได้อยู่ดี ซึ่งส่วนใหญ่คนเป็นพ่อแม่มักจะไม่สามารถผ่านด่านลูกร้องไห้แล้วดิ้นไปได้ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรมของลูกต่อไป

วิธีการเดินหนีอยากจะให้เป็นหนทางสุดท้าย เพราะเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กด้วย และแนวโน้มคนเป็นพ่อแม่ก็มักพลาดพลั้งเพราะทนไม่ได้ที่เห็นลูกร้อง หรือเพราะอายผู้คนก็ตาม ฉะนั้น ถ้ามีการเตรียมรับมืออย่างดีมาก่อนหน้านี้ ก็อาจไม่ต้องมีใครเสียน้ำตา และไม่ต้องมีใครมาเสียใจในภายหลังด้วย

หลายพฤติกรรมของลูกที่เป็นปัญหามากมาย ผู้ใหญ่มักสรุปว่าเป็นเพราะนิสัยใจคอของเด็ก ลูกชอบเอาแต่ใจ ลูกดื้อ ลูกไม่เชื่อฟัง หรือสอนแล้วไม่จำ แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายอย่างของเด็ก ก็บ่งบอกและสะท้อนถึงการถูกเลี้ยงดูมาอย่างไรด้วย

เพราะบางครั้งก็เกิดจากพฤติกรรมของคนเป็นพ่อแม่ค่ะ...


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157978

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น