วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

"BabySign" สื่อสารภาษาเด็ก


สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สอนให้เด็กได้ใช้กันที่จิมโบลี


รู้จัก "BabySign" สื่อสารภาษาเด็ก

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงนึกภาพออก ถึงวันที่เจ้าตัวน้อยทำท่าฮึดฮัด หน้ายุ่ง บ้างก็แสดงอาการขัดใจ ด้วยว่าทำอย่างไร พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจหนูเสียที ฝ่ายพ่อแม่ก็รู้สึกว่า ลูกส่งเสียง "อื้อ ๆ ๆ" อยู่นั่น ต้องการอะไรกันนะ หาอะไรมาให้ก็ไม่ถูกใจสักอย่าง

ความยุ่งยากในการสื่อสารนี้ คงเริ่มคลีี่คลายลงในวันที่ลูกโตพอจะเริ่มหัดพูด ส่งจูบเป็น ออกมายืนส่งคุณพ่อก็โบกมือบ๊ายบายได้ เจอญาติผู้ใหญ่ก็เริ่ม "ธุจ้า" ฯลฯ

แต่ยังมีอีกหนึ่งหนทางให้พ่อแม่สามารถเข้าใจเด็ก ๆ และสอนให้เด็ก ๆ สื่อสาร เพื่อบอกถึงความต้องการของตนเองได้ตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้อาการขัดอกขัดใจมีน้อยลง แต่ยังเป็นการเพิ่มคำศัพท์ในสมองของลูกได้อีกต่างหาก นั่นก็คือการสอนให้เด็กใช้สัญลักษณ์ท่าทางแทนการสื่อความหมาย

"ในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารโดยการพูดได้นั้น การสื่อสารโดยใช้ภาษาธรรมชาติ หรือก็คือการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง กระทั่งการใช้ตำแหน่งมือและการเคลื่อนไหว เพื่อการสื่อสารบอกถึงความต้องการของคน ๆ นั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เด็กสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองได้" คุณจิ๊บ - ชามาภัทร สิทธิอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลย์แอนด์มิวสิก เจ้าของลิขสิทธิ์ จิมโบลี ประเทศไทย กล่าว

"หากเราสามารถสอนให้เด็ก ๆ รู้จักสื่อสาร บอกความรู้สึกความต้องการของตนเองผ่านภาษาท่าทาง ก็จะช่วยให้ผู้ใหญ่ และเด็กสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
แถมยังช่วยให้สมองเด็กมีการพัฒนา มีการเชื่อมโยงของเซลล์สมองมากขึ้น เพราะเขาจะมีการจดจำคำศัพท์ต่าง ๆ ได้มากกว่าด้วยค่ะ"

ทั้งนี้ คุณชามาภัทรกล่าวด้วยว่า การสอนคำศัพท์ผ่านการแสดงออกของท่าทางอาจแบ่งได้ตามความจำเป็นใช้งานของเด็ก ๆ เช่น ศัพท์สำหรับการรับประทานอาหาร, ศัพท์สำหรับการอาบน้ำ, ศัพท์สำหรับการแต่งตัว, ศัพท์สำหรับการไปเที่ยวนอกสถานที่ ฯลฯ เป็นต้น ยกตัวอย่างคำศัพท์ง่าย ๆ ที่สามารถแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ท่าทางได้ เช่น คำว่า "ง่วงนอน" ผู้ปกครองสามารถทำท่าง่วงนอนโดยการประกบมือสองข้าง วางไว้ที่บริเวณต้นคอ แล้วเอียงใบหน้าลงมาซบกับมือ พร้อม ๆ กับหลับตา

นอกจากนี้ คุณชามาภัทรได้ยกตัวอย่างของ Dr. Acrodolo Acredolo นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กหลายเล่ม โดย ดร. Acrodolo นั้น สังเกตเห็นว่าลูกของตน (Kate) ขณะที่อายุได้ 12 เดือน มีการทำท่าทางต่างๆ ที่สามารถสื่อสารกับผู้ใหญ่ได้ เช่น เคทวิ่งไปที่ตู้ปลาในคลีนิคหมอ และทำท่าเหมือนเป่าเทียน หรือชี้ไปที่ดอกกุหลาบในสวน และทำท่าดม นั่นจึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า "Symbolic Gesturing in Language Development" จากนั้นได้ขยายผลไปสู่การทดสอบศักยภาพเด็กในวงกว้าง ซึ่งก็พบว่า เด็ก ๆ พยายามแสดงท่าทางต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับผู้ใหญ่อยู่เช่นกัน

"การสอนให้ลูกใช้ท่าทางในการสื่อความหมายที่ถูกวิธีนั้น ต้องทำพร้อม ๆ กับการพูดคำศัพท์นั้น ๆ ข้อดีก็คือ ทำให้เด็กได้ยินคำศัพท์บ่อยขึ้นกว่าปกติ เป็นการกระตุ้นให้เด็กเห็นพลังแห่งการสื่อสาร และพร้อมที่จะสื่อสารด้วยทุกวิธีที่สามารถทำได้ ซึ่งที่จิมโบลีเราเรียกว่า BabySign แต่ก็มีความเข้าใจผิดว่า ถ้าเด็กสื่อสารด้วยวิธีดังกล่าวแล้วจะทำให้พูดช้าลง นั่นอาจเป็นเพราะเกิดความเข้าใจผิดจากการนำไปเปรียบเทียบกับการใช้ภาษามือของคนที่มีปัญหาในการพูด ซึ่งมักมีปัญหาพื้นฐานจากความผิดปกติในการฟังมากกว่าค่ะ"

อย่างไรก็ดี การสอนให้ลูกเล็กใช้สัญลักษณ์ท่าทางจะดีต่อเด็กที่สุดนั้นก็ต่อเมื่อ พ่อแม่สังเกตเห็นว่าเด็กเริ่มสนใจอะไรบางอย่าง แล้วเค้ามองมาที่เรา หรือส่งสัญญาณอะไรบางอย่างมาว่าเค้าอยากรู้จักเจ้าสิ่งนั้น และอย่าลืมว่าต้องออกเสียงด้วย ให้เด็กได้รู้จักทั้งภาษาท่าทางและเสียง เพื่อให้ลูกน้อยได้จดจำ และเมื่อไรที่เค้าพร้อม เชื่อว่าเขาจะแสดงท่าทางนั้น ๆ ออกให้เห็นแน่นอน


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000024198

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น