วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

"สารพัดความเสี่ยง" ช่วงปิดเทอม ภัยที่พ่อแม่พึงระวัง!

"สารพัดความเสี่ยง" ช่วงปิดเทอม ภัยที่พ่อแม่พึงระวัง!

ในยุคที่พ่อแม่หลาย ๆ ท่านต้องทำงานด้วยกันทั้งคู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนเป็นพี่เลี้ยงหลักที่ช่วยดูแลลูกได้มาก แต่เมื่อโรงเรียนปิดเทอม ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะปิดตามไปด้วย ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งถูกปล่อยเกาะให้อยู่บ้านคนเดียว ในขณะที่บางคนอยู่กับพี่เลี้ยง หรือถูกส่งตัวไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ เช่น บ้านปู่ย่าตายาย

เมื่อเด็กมีเวลาว่าง และถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล เด็กกลุ่มนี้ย่อมมีความเสี่ยงที่จะขลุกอยู่กับเกม โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต นำไปสู่การเผชิญหน้ากับสารพัดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึงตามมา ถือเป็นปัญหาที่พ่อแม่ทุกท่านจะละเลย หรือมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมนี้

"สารพัดความเสี่ยง" ในร้านเน็ต

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ช่วงปิดเทอม เด็กใช้เวลาอยู่กับเกม และอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก และมีจำนวนไม่น้อยนิยมเข้าใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ เด็กมักถูกข่มขู่ รีดไถมากที่สุด รองลงมาถูกทำร้ายร่างกาย ตบ ตี ชก ต่อย เป็นหนี้ร้านอินเทอร์เน็ต ถูกลวนลามทางเพศ พยายามข่มขืน บังคับให้สูบบุหรี่ตามลำดับ (อ้างอิงจากผลสำรวจเอแบคโพลล์ในปี 2548 และ 2551)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้จัดการสสส. เผยถึงแนวโน้มว่า เด็กจึงมีความเสี่ยงต่อการหายตัวออกจากบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่า ในช่วงปิดเทอม คือ เดือนเมษายน มีเด็กเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาคือ มีนาคม พฤษภาคม และตุลาคม โดยสาเหตุอันดับ 1 มาจากการจมน้ำเสียชีวิต คิดเป็น 5-6 คนต่อวัน รองลงมาคือ อุบัติเหตุอื่น ๆ และอันดับ 3 คือ อุบัติเหตุทางจราจร

อ้วน-ฟันผุ-สานตาสั้นเทียม

ด้านสุขภาพของเด็กที่น่าเป็นห่วงในช่วงปิดเทอมนั้น นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว เปิดเผยว่า ปิดเทอม 1 ครั้ง เด็กน้ำหนักตัวขึ้น 3-4 กิโลกรัม เพราะเด็ก 70-80 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกม กินอาหารไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กในเขตเมือง เนื่องจากเด็กไม่ทำกิจกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้ง อ้วน สายตาสั้นเทียม ฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ ติดเกม นำไปสู่ความก้าวร้าวตามมา

"เมื่อเด็กอยู่กับจอสี่เหลี่ยมมากเข้า การบริโภคนิยมก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กจะดูไปกินไป และยิ่งเด็กสมัยนี้ ไม่ถึง 2 ขวบก็มีอำนาจในการสั่งซื้อแล้ว พูดง่าย ๆ คือ เดินชี้นิ้วเอาอันนั้นอันนี้แม่ก็ซื้อให้ทันที เด็กจึงมีปัญหาสุขภาพ ทั้งอ้วน และฟันผุ รวมไปถึงเด็กโตที่จะมีปัญเรื่องสายตาสั้นเทียม และก้าวร้าว เพราะติดเกม" นพ.สุริยเดวเผย

ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น คุณหมอเดวบอกว่า กิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยคุณหมอแนะนำว่า พ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมี 6 ฐานกิจกรรมดังต่อไปนี้

1. ดนตรี เช่น ร้องคาราโอเกะ หรือชวนกันไปดูหนัง ฟังดนตรี จากนั้นพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในครอบครัว

2. ศิลปะ เช่น วาดภาพ หรือสร้างงานศิลปะร่วมกัน

3. สร้างปัญญา เช่น พากันไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ชวนกันเล่นเกมที่สร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์

4. จิตวิญญาณ เช่น จูงมือกันเข้าวัด ทำบุญ หรือให้ลูกได้มีโอกาสเป็นมัคคุเทศน์น้อยในชุมชน

5. พลังกาย เพิ่มได้จากการออกกำลังกาย ผจญภัย ท่องเที่ยวตามสถานที่ธรรมชาติต่าง ๆ ใกล้บ้าน

6. ฟรีเพลย์ คือ ทำสิ่งที่ชอบอะไรก็ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูความปลอดภัยในกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย

ทั้ง 6 ฐานกิจกรรมนี้ คุณหมอเดวบอกว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถพัฒนาทักษะลูกได้ทุกวัย ไม่ควรทำเพื่อเด็กแค่วันเดียว แต่ควรทำทุกวันเท่าที่จะทำได้ ซี่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับลูกไม่มากก็น้อย เช่น พัฒนาการทางอารมณ์ ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ส่วนการให้ลูกทำกิจกรรมทางวิชาการอย่างเดียวนั้น เด็กอาจจะขาดปฏิสัมพันธ์ และจมอยู่กับโลกที่มีแต่การแข่งขัน

นอกจากนี้ ทางสสส.ยังรวบรวม 32 กิจกรรมเพื่อเด็ก และครอบครัว แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1. สนุกสุดมันส์กับกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อบรมจัดทำหนังสั้น ผลิตเพลง และมิวสิควิดีโอ ดนตรี ละคร ศิลปะ 2. แค่ขยับเท่ากับเริ่มออกกำลังกาย อาทิ อบรมสอนว่ายน้ำ กิจกรรมเดิน-วิ่ง 3. ฝึกทักษะสร้างอาชีพ 4. อบรมกิจกรรมเสริมปัญญา และ 5. ค่ายอาสาสร้างสุข อาทิ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ

หากพ่อแม่ท่านใดกำลังมองหากิจกรรมให้ลูก ๆ ในช่วงปิดเทอม คลิกเข้ามาเลือกกันได้ที่ www.happyschoolbreak.com หรือถ้าบ้านไหนมีกิจกรรมดี ๆ และอยากจะส่งต่อให้กับบ้านอื่น ๆ โทรมาอัพเดทกิจกรรมกันที่เบอร์โทรศัพท์ 02-298-0500 ทางสสส.จะรวมรวมเป็นฐานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

เอาเป็นว่า ช่วงปิดเทอมแบบนี้ เราในฐานะพ่อแม่ มาฉวยเวลาทองสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อลูก ๆ กันดีกว่าครับ

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น