วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลูกกินไม่สมดุล เสี่ยงโรคเรื้อรังในอนาคต!

ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กหลายๆ คนมีปัญหาภาวะโภชนาการจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการบริโภคอย่างไม่สมดุล ส่งผลให้เด็กในเมืองมีความเสี่ยงสูงต่อการด้อยพัฒนาการทางกายและสมอง ขาดวิตามิน และเกลือแร่ แต่ได้รับไขมันและคาร์โบไฮเดรตเกิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของเด็กไทยที่พ่อแม่ควรเร่งปรับพฤติกรรมการบริโภคของลูก เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนก่อนสายเกินแก้
      
       ดร.ภญ.มาลิน จุลศิริ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็กวัยซนกำลังน่าเป็นห่วง เพราะวิถีชีวิตที่เร่งรีบทำให้หลายครอบครัวต้องซื้ออาหารจานด่วน ซึ่งส่วนใหญ่ขาดความสมดุลทางโภชนาการให้เด็กบริโภคอยู่ประจำ อีกทั้งเด็กจำนวนไม่น้อยนิยมบริโภคขนมและดื่มน้ำอัดลมจนติดเป็นนิสัย จากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กไทยใช้เงินซื้อขนมเฉลี่ยคนละ 9,800 บาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่จ่ายเพียงคนละ 3,024 คนต่อปี
      
       สำหรับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องนั้น มักเริ่มตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียนคือ 4-5 ขวบ พอถึง 6 ขวบเด็กจะติดเป็นนิสัย และยิ่งโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ยิ่งมีความยากลำบากในการดูแลเด็กเหล่านี้ ทำให้บ่อยครั้งเด็กเกิดปัญหาขาดสารอาหารที่จำเป็น ขณะเดียวกัน เกิดปัญหาของโรคอ้วน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและตามสถิติดูเหมือนเร็วที่สุดในโลก เคยมีรายงานว่าเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็น 7.9 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็น 6.7 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ภายในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านๆ มา ทั้งยังพบว่าเด็กไทยมีเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐานที่ระดับ 90 มีมากถึง 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25
      
       “ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็ก นอกจากส่งผลต่อการพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กแล้ว ถ้าปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยไม่รีบแก้ไข จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กดังกล่าวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยจะเกิดปัญหาของโรคเรื้อรังง่ายขึ้น เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อม เป็นต้น” ดร.ภญ.มาลิน เผยถึงปัญหาที่ตามมา



 


       ดร.ภญ.มาลิน บอกต่อไปว่า ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็ก แก้ไขไม่ยาก เพียงให้เด็กบริโภคอาหารที่เหมาะสมทุกวันโดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า ให้บริโภคคอาหารที่มีคุณค่า และในปริมาณที่เพียงพอ ถ้าไม่แน่ใจว่าเด็กจะบริโภคอาหารได้อย่างสมดุลทั้งในด้านคุณค่าสารอาหารและปริมาณสารอาหาร การให้เด็กบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพิ่มเติม เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กมีโอกาสได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาการของเขา
      
       “คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองอาจต้องพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาโภชนาการในเด็ก โดยพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับเด็ก เช่น วิตามินบีชนิดต่างๆ ธาตุเหล็ก ฯลฯ รวมทั้งกรดอะมิโนจำเป็น เช่น ไลซีน เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบในการสร้างโปรตีน นอกจากนี้ สารอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลหวานและไขมัน เช่น โอลิโกแซ็กคาไรด์ ฯลฯ ซึ่งถูกจัดเป็นใยอาหารชนิดละลาย ทั้งยังช่วยในการขับถ่ายด้วย”
      
       ถึงกระนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมักมีรสหวานและกลิ่นหอม ในส่วนนี้ ดร.ภญ.มาลิน บอกว่า คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรดูว่า ความหวานในผลิตภัณฑ์นั้นมาจากน้ำตาลหรือไม่ ถ้าใช่น่าจะพิจารณาให้ดี เพราะการบริโภคบ่อยๆ อาจเกิดปัญหาจากน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ตามมาได้ เช่น เกิดเป็นกรดในน้ำลายและก่อปัญหาฟันผุในภายหลัง
      
       “โอลิโกแซ็กคาไรด์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นสามารถให้ความหวาน แต่ไม่เกิดปัญหาแบบน้ำตาล สารอาหารชนิดนี้มีคุณสมบัติที่น่าสนใจ คือ การเป็นพรีไบโอติกซึ่งจะไม่ถูกย่อยและดูดซึมในลำใส้เล็ก จึงไม่ก่อปัญหาการถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม แต่จะลงไปที่ลำใส้ใหญ่ เป็นอาหารให้จุลินทร์ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ปริมาณจุลินทรีย์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งยังช่วยการขับถ่าย และเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายด้วย” ดร.ภญ.มาลิน กล่าวเสริม
      
       ถ้าไม่เร่งปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้องให้เด็กในวันนี้ ประเทศไทยอาจต้องรับมือกับภาวะประชากรที่ขาดสุขภาพดีในวันหน้า และทำให้ต้องสูญเสีย ทั้งคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชาติในการดูแลบุคคลเหล่านี้ ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งสังคมที่เกี่ยวข้องต้องช่วยการดูแลลูกหลาน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารให้สมดุล และครบทั้ง 5 หมู่

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000091477

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น