วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มาฝึกฟังลูกกันเถอะ

มาฝึกฟังลูกกันเถอะ


มาฝึกฟังลูกกันเถอะ
คำกล่าวที่ว่า “ลูกจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่” คงใช้ไม่ได้กับเด็กทุกวัย โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ต้องการมีบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง สนใจตัวเองมากขึ้น และเพื่อน คือ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กวัยรุ่นมากที่สุด ดังนั้น การสื่อสารพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะทักษะการฟัง เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการสื่อสาร เพราะทำให้ผู้พูดรู้สึกมั่นใจ เกิดความไว้วางใจที่จะพูดคุย หรือปรึกษากับพ่อแม่เมื่อมีปัญหา โดยเฉพาะกับลูก ส่วนจะฝึกฟังลูกอย่างไรนั้น บรรทัดด้านล่างนี้คือแนวทางดีๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป
      
       ตั้งเป้าก่อนสนทนาว่าจะตั้งใจฟังลูกพูดให้จบ      
       คุณพ่อคุณแม่พึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกควรได้มีสิทธิ์พูด หรืออธิบายบ้าง เพราะหัวใจสำคัญของการพูดคุยกับลูก คือ การเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งจะเกิดได้ต้องอาศัยทั้งบรรยากาศ การใช้คำพูด เป็นต้น
      
      ฟังโดยแสดงท่าทางสนใจ      
       การแสดงความสนใจต่อผู้เล่า ทั้งสีหน้า สายตา ท่าทาง เป็นประเด็นสำคัญของการฟังอย่างตั้งใจ เช่น สบตาลูก หรือพยักหน้าเป็นระยะ และแสดงอาการตอบรับ เช่น อืม จ้ะ เพื่อให้ลูกรู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่
ไม่พูดขัดจังหวะหรือพูดแทรก      
       การเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ควรพูดขัดจังหวะ หรือพูดแทรก แต่ควรฟังลูกพูดให้จบก่อน และเมื่อถึงเวลาตอบ พูดให้สั้นกระชับ ตรงประเด็น หากไม่มีข้อมูล บอกกับลูกตรงๆ และชวนลูกค้นหาข้อมูลด้วยกัน ไม่ใช้เวลานานในการพูดคุยแต่ละครั้ง นอกจากนั้น พยายามสะท้อนสิ่งที่ลูกพูดเป็นระยะเพื่อตรวจสอบความเข้าใจทั้งเรื่องที่เล่าและความรู้สึกของลูก และแสดงให้รู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟังลูก
   
        ใช้คำถามปลายเปิด
       ควรใช้ประโยคคำถามปลายเปิดแทนประโยคคำสั่ง เพื่อขอให้อธิบาย หรือขยายความเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พูดรู้สึกสบายใจที่จะพูดความจริง เช่น “ลูกไม่เข้าใจตรงไหนที่แม่พูดไป” “ไหนลองบอกเหตุผลสิว่าเป็นเพราะอะไร” หรือ “อะไรทำให้คิดแบบนั้น” เป็นต้น
      
       ดังนั้น การที่เด็กๆ หลายคนมักบ่นว่า พ่อแม่ไม่เคยฟังว่าเขามีปัญหาอะไร เอาแต่บ่นเรื่องซ้ำๆ ซากๆ ในขณะที่พ่อแม่เองก็หาว่าลูก “พูดเท่าไรก็ไม่ฟัง” แต่บางครั้งอาจลืมคิดไปว่า การที่ลูกไม่ฟัง ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้พูดหรือสั่งสอน ด้วยการให้ความรู้ หรือบอกเล่าเรื่องราว แต่เป็นการใช้อารมณ์ลงกับลูก ดังนั้น ถ้ารู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ต้องพูดเรื่องเดิมๆ กับลูก อาจต้องกลับมาลองคิดดูว่า
      
       - เคยถามลูกบ้างหรือไม่ว่า ทำไปเพราะอะไร
      
       - เมื่อถามแล้ว คุณหยุดฟังคำตอบจากลูกหรือยังก่อนที่จะรัวคำบ่นใส่ลูก
      
       - ให้เวลาลูกบ้าง เมื่อถามแล้วลูกเงียบ อย่าคิดว่า การที่ลูกอ้ำอึ้งเป็นการปิดบัง ลูกอาจกำลังคิดว่าจะพูดกับคุณอย่างไรเพื่อให้คุณเข้าใจและไม่โกรธ ไม่ดุเขา
      
       เรามาเป็นพ่อแม่ที่ลูกถามได้ คุยได้กันดีกว่า คงไม่มีใครอยากเป็นพ่อแม่ที่ลูกไม่อยากเข้าหา หรือคุยด้วย จริงไหมครับ
      
       ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากคู่มือการจัดกิจกรรมการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองกับบุตรหลานเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในเยาวชน
ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000102670

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น