วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

“สื่อ” ตัวการกระตุ้นความรุนแรงในเด็ก

“สื่อ” ตัวการกระตุ้นความรุนแรงในเด็ก..!!
บทความโดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
จาก http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135119
 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวช็อกสังคมเรื่องเด็กที่เกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 2 ข่าว
      
       เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 14 ปี ที่ทำร้ายแม่จนเสียชีวิต สาเหตุเพราะถูกห้ามไม่ให้ไปเล่นเกม จึงเกิดบันดาลโทสะเอามีดสปาร์ต้าแทงแม่จนเสียชีวิต และฟันพี่สาวที่พยายามจะเข้าไปห้าม ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติพบว่าเด็กมีปัญหาออทิสติก แต่รักษาหายแล้ว ปัญหาใหญ่คือเด็กติดเกมอย่างหนัก
      
       คำถามผุดขึ้นมากมายว่า ทำไมเด็กถึงติดเกม เด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร มีพื้นนิสัยอย่างไร ครอบครัวมีเวลาให้มากน้อยแค่ไหน เด็กถูกดุด่าว่ากล่าวและตำหนิเป็นประจำหรือไม่ เด็กมีอาการซึมเศร้าหรือเก็บกดหรือไม่ ปัญหาเรื่องอาการออทิสติกได้รับการแก้ไขและรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และทำไมถึงมีมีดสปาร์ต้าอยู่ในบ้าน ฯลฯ
      
       จริงอยู่ว่าเหตุการณ์นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว แต่นี่ก็เป็นปัญหาสังคมด้วยเช่นกัน เพราะทิศทางของเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่มีแนวโน้มติดเกมก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเด็กติดเกมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับดูอย่างการถูกเลี้ยงไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามมาอีกมากมาย กลายเป็นวงจรอุบาทว์ จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง และขยายผลไปอีกในหลายๆ เรื่อง เช่น เด็กติดเกม ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องสุขภาพ พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เสียการเรียน ถ้าไปเจอะเจอกับกลุ่มมิจฉาชีพ ชวนก่ออาชญากรรม เพราะต้องการได้เงิน หรือมีโอกาสไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดก็เป็นไปได้
      
       รายที่สองเป็นเด็กอายุ 8 ปี เลียนแบบรายการทีวีที่มีภาพแขวนคอติดต่อกัน จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และบอกกับเพื่อนว่าจะไปเล่นแขวนคอโดยนำเชือกมาผูกกับต้นหูกวาง จนหมดสติ ขาดอากาศหายใจนานกว่า 10 นาที แม้โชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่คุณหมอก็ยังต้องประเมินอาการนับจากนี้ โดยเฉพาะเรื่องสมอง
      
       คำถามต่อกรณีนี้ก็ผุดขึ้นมากมายเช่นกันว่า เด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร ทำไมปล่อยให้เด็กดูทีวีหรือรายการที่ไม่เหมาะสมซ้ำๆ ย้ำๆ ยิ่งพ่อให้สัมภาษณ์ว่าลูกดูภาพเหล่านี้ติดต่อกันหลายวัน และสนใจฉากเหล่านี้มากเป็นพิเศษ นั่นหมายความว่าเมื่อผู้ปกครองเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ควรให้ดู หรือควรพูดคุยอธิบาย เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกคิดอะไรอยู่ ถึงขนาดเพื่อนบอกว่าเพื่อนอยากเล่นแขวนคอ นั่นเป็นสัญญาณเตือนแล้วมิใช่หรือ
      
       ปัญหาเรื่องเด็กเลียนแบบสื่อเป็นปัญหามายาวนาน บรรดาผู้ผลิตละคร สื่อที่นำเสนอ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักจะออกมาพูดในเวลาที่เกิดปัญหาเมื่อสังคมออกมาต่อว่า ในท่วงทำนองที่ว่าเป็นเรื่องที่ครอบครัวควรให้ความใส่ใจ ไม่ใช่โทษละครหรือคนทำสื่อ ทำไมไม่เลียนแบบพฤติกรรมดีๆ บ้างล่ะ หรือที่ผลิตละครก็เพราะต้องการสะท้อนความเป็นจริงในสังคม ฯลฯ
      
       จริงอยู่ว่าครอบครัวไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไปได้แน่นอน แต่ปัญหานี้ก็มันไม่ได้จบลงที่ครอบครัวอย่างเดียว แต่มันเป็นปัญหาร่วมของสังคมด้วย
      
       อย่าลืมว่าครอบครัวที่ดูแลและใส่ใจคุณภาพลูกก็มีวิธี มีความรู้ว่าจะปกป้องเลี้ยงดูลูกของตัวเองอย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเป็นจริงในชีวิต ครอบครัวที่ขาดความรู้ และเลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี ปล่อยลูกอยู่กับสื่อไม่เหมาะสม และรู้ไม่เท่าทันสื่อ มีจำนวนมากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ กลุ่มเหล่านี้ต่างหากที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในชนบท
      
       ปัจจุบันสื่อและเทคโนโลยีที่ล้นทะลักเข้ามาทำให้เด็กสามารถเข้าถึงสื่อได้ทุกแขนง หน้ำซ้ำยังเป็นสื่อเคลื่อนไหว และสามารถดูซ้ำๆ ได้หลายๆ ครั้ง
      
       เราต้องยอมรับว่าสื่อเองก็มีปัญหาอย่างมากในยุคปัจจุบัน ทั้งขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เกิดอะไรขึ้นก็โทษว่าเพราะครอบครัวไม่รู้จักดูแล
      
       แต่รายการละครทั้งหลายก็เน้นหนักไปทางละครชิงรักหักสวาทและเน้นไปที่การตบตี และฉากความรุนแรงสะใจทั้งวาจาและท่าทาง บางช่องต้องมีการโปรโมทก่อนจะถึงฉากวันตบจริง พอวันตบจริงก็ออกซ้ำอีก ยังไม่หนำใจเล่าข่าวช่วงเช้าในช่องเดิมก็นำเอาฉากนั้นมาขยายผลต่ออีก ประหนึ่งฉากเมื่อวานใครไม่ได้ดูก็ดูซะ
      
       แล้วจะบอกว่าสื่อไม่ใช่ปัญหาได้อย่างไร..!!!
      
       ที่แย่ไปกว่านั้น เมื่อนำเสนอข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว กลับไม่พยายามนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านในการให้ข้อมูลความรู้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะดูแลบุตรหลานอย่างไร หรือสัมภาษณ์นักวิชาการเพื่อให้ข้อคิดในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม แม้บางช่องที่มีการสัมภาษณ์ก็จะให้พื้นที่และเวลาน้อยนิดชนิด 2-3 นาที แล้วก็บอกว่านำเสนอแล้วไง
      
       แล้วมันจะได้ใจความสำคัญอย่างรอบด้านได้อย่างไร
      
       ตรงกันข้าม รายการทีวีกลับขยายฉากประเภทตบตีให้ยืดขยายจนน่าเกลียด ประเภทนางร้ายตบมา นางเอกก็ตบกลับ แล้วต้องมีท่าจิกตัวทึ้งหัว ใช้เท้าถีบหรือผลักตก เรียกว่าเป็นฉากไฮไลต์และยืดเอาไว้ให้นานเป็นตอนๆ ให้เห็นท่าตบตีอย่างละเอียด หรือฉากที่ผู้ชายปล้ำผู้หญิงก็ต้องจ่อกล้องให้เห็นท่าปล้ำกันทุกท่วงท่า หรือแม้แต่ฉากฆ่าตัวตายก็ต้องเอื้อนทำท่าให้เห็นวิธีการของการผูกคอตายทุกขั้นตอน
      
       ถามว่าแล้วฉากเหล่านี้ให้อะไรกับสังคม นอกจากการสอนทางตรงออกสื่อ..!!!
      
       กรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้ง 2 ราย ไม่ใช่เหตุการณ์แรก แต่เป็นเหตุการณ์ที่สะสมความสะเทือนใจสังคมมาโดยตลอด เป็นวิกฤติสังคมที่ถูกกัดกร่อนมาอย่างยาวนาน และควรถูกตั้งคำถามได้แล้วว่า ถึงเวลาที่สื่อทุกแขนงต้องทบทวนตัวเองด้วยเช่นกัน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมที่ทวีมากขึ้นทุกขณะหรือไม่
      
       แต่ในระดับครอบครัวเองก็ต้องมีความรู้และวิธีป้องกันความรุนแรงในเด็กด้วย
      
       ประการแรก เริ่มจากพ่อแม่ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ ควรฝึกฝนให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ให้เด็กได้รู้ถึงคุณค่าของตนเอง
      
       ประการที่สอง ฝึกวินัยในเด็ก เช่น กำหนดช่วงเวลาของการรับสื่อ ถ้าในช่วง 2 ขวบปีแรก ไม่ควรให้ลูกดูสื่อทีวีหรือเข้าถึงสื่ออิเลคทรอนิกส์เลย และเมื่ออายุมากขึ้นก็กำหนดช่วงเวลา ถ้าลูกเล็กก็เวลาน้อย และค่อยๆ ยืดหยุ่น แต่สำหรับเด็กไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
      
       ประการต่อมา พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา แต่ควรใช้การพูดคุยด้วยท่าทีที่ต้องการแก้ไขปัญหาแบบไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ควรใช้การหันหน้าเข้าหากันเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก และเป็นการป้องกันมิให้เด็กใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาอีกด้วย
      
       ประการที่สี่ เวลาคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ครอบครัวกล้าที่จะพูดคุยหรือปรึกษาหารือกันเมื่อเกิดปัญหา หรือความคับข้องใจ และพ่อแม่ก็พร้อมที่จะให้คำชี้แนะที่เหมาะสมด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา
      
       ประการที่ห้า สังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยก่อนเข้สู่วัยรุ่น และวัยรุ่น ถ้าพบเห็นว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หรือแปลกไป ก็ควรจะได้มีการพูดคุยสอบถาม บางครั้งลูกอาจส่งสัญญาณบอกเราก็ได้
      
       ในระดับสังคมเองก็ต้องมีส่วนช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนในชาติด้วย โดยเฉพาะสื่อและเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ล้นทะลักเข้ามา ถ้าผู้ผลิตหรือเจ้าของสื่อมีระดับจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ก็ควรที่จะผลิตรายการช่วย “ลด” ปัญหาสังคม มิใช่ผลิตรายการ “ซ้ำเติม” ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
      
       นี่ยังไม่ได้นับรวมกับระดับนโยบายของภาครัฐ ที่มีอีกหลายโครงการที่กำลังถูกตั้งคำถามว่า กำลังสร้างปัญหาใหม่ให้กับเด็กและเยาวชนหรือไม่...
      
       ทั้งนโยบายแจกแท็บเล็ตเด็กป1 และนโยบายหวยออนไลน์..!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น