วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เผย 3 ต้นเหตุ “ชีวิตขี้เกียจตัวเป็นขน” ของเด็กยุค 2012


เผย 3 ต้นเหตุ “ชีวิตขี้เกียจตัวเป็นขน” ของเด็กยุค 2012

เป็นสิ่งที่พบเห็นจนชินตาของผู้ที่อยู่ในเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่ๆ กับภาพของเด็กเล็กที่นั่งอยู่ในรถเข็นคันกะทัดรัด แม้จะมาพร้อมพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยง แต่บางครั้งเด็กก็อาจไม่มีโอกาสเดิน หรือลงมาคลานกับพื้นแต่อย่างใด กิจกรรมที่ทำได้บนรถเข็นคันเล็กๆ อาจมีเพียงการนั่งนิ่งๆ และหันมองบางสิ่งบางอย่างที่เด็กคิดว่าน่าสนใจ และใครๆ ต่างก็เห็นว่าดีที่เด็กอยู่เป็นที่เป็นทาง แต่หารู้ไม่ว่า ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวนี้กำลังสร้างเด็กพันธุ์ใหม่ที่มีพัฒนาการทางร่างกายถดถอยลง!
      
       โดยการศึกษาจาก The Institute for Neuro-Physiological Psychology ในเมืองเชสเตอร์ ที่ได้ทำการทดสอบความสามารถทางร่างกายของเด็ก 60 คน (อายุ 4-5 ปี) ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเวสต์มิดแลนด์ พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กกลุ่มนี้ประสบปัญหาไม่สามารถปฏิบัติในสิ่งที่นักวิจัยขอให้ทำ เช่น การยืนทรงตัวบนขาข้างเดียว 3 วินาที หรือการคลานในระยะทางสั้นๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น
      
       หากพิจารณาจากวิถีชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ พบว่า มี 3 ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก ได้แก่ การนั่งในรถเข็นเด็ก - คาร์ซีท, การรับชมรายการทีวี - เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการเรียนที่มุ่งเน้นผลการเรียนมากเกินไป
      
       คำอธิบายก็คือ เพราะการใช้เวลาอยู่นิ่งๆ ในรถเข็น หรือนั่งนิ่งๆ หน้าจอทีวี ฯลฯ มากเกินไปส่งผลต่อร่างกายของเด็กๆ ที่เรารักในด้านต่างๆ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อไม่พัฒนา ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดๆ ได้นาน และทำให้การละเล่นสนุกๆ ที่พ่อแม่เคยเล่นสมัยเด็กอย่างวิ่งไล่จับ วิ่งเปี้ยว กระโดดยาง กระต่ายขาเดียว ฯลฯ เด็กยุครถเข็นอาจไม่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงพอจะเล่น หรือสนุกไปกับมันได้เหมือนยุคพ่อแม่อีกแล้วก็เป็นได้
      
       นอกจากนั้น นักวิจัยยังได้ให้เหตุผลว่า อุปกรณ์เหล่านี้ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะปีนป่ายซุกซนตามประสาเด็ก เช่น การวิ่ง กระโดด ม้วนตัว กลิ้งไปมา คลาน ซึ่งสามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อไปอย่างน่าเสียดาย และอาจส่งผลถึงการเรียนของเด็กในอนาคตด้วย แต่ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะพ่อแม่สมัยนี้ห่วงเรื่องความปลอดภัย เกรงว่า ลูกจะได้รับบาดเจ็บจากการหกล้ม ตกจากที่สูง จึงคอยห้ามลูกอยู่เรื่อย ๆ หรือหาเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกอยู่นิ่งๆ มาใช้เพื่อจะได้มั่นใจว่าลูกจะปลอดภัยที่สุดนั่นอง
      
       ขณะที่อีกต้นเหตุของการทำให้เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างเพียงพอ ก็คือ การแข่งขันด้านผลการเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เด็กมีชั่วโมงเรียนมากขึ้น รวมถึงต้องนั่งทำการบ้านมากขึ้น จึงขาดโอกาสเล่นตามประสาเด็กไปนั่นเอง

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137849

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น