วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"ภาวะซีด" ของแถมที่มากับการตั้งครรภ์

"ภาวะซีด" ของแถมที่มากับการตั้งครรภ์

นอกจากความกังวลก่อนตั้งครรภ์แล้ว เชื่อว่าระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดคุณแม่หลายคนคงจะมีเรื่องให้คิดอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูก การเลี้ยงดู จนลืมสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรืออาการผิดปกติของตัวเอง อย่าง "ภาวะซีด" ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งต่างก็สงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าตนไม่ได้ป่วยเป็นโรคโลหิตจางหรือมาจากพันธุกรรมแต่อย่างใด จึงทำให้คุณแม่บางคนเกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับเธอและลูกได้หรือไม่

"รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ" หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการสร้างเม็ดเลือดและพลาสมาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้การเพิ่มของเม็ดเลือดอาจจะมีน้อยกว่าคนปกติ อีกทั้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีภาวะซีดลงเล็กน้อยอยู่แล้ว นอกจากนั้นเมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของแม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเลือดแดงในการส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงลูก ส่วนลูกก็ต้องสร้างเม็ดเลือดแดงของตัวเองขึ้นมาเหมือนกัน ทำให้มีการใช้ธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้นจากการดึงมาจากร่างกายของแม่

"คุณแม่วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีด เพราะร่างกายมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการยังไม่เต็มที่ จึงต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่มากกว่าวัยอื่นๆ และหากมีการตั้งครรภ์ก็ย่อมมีความต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงยิ่งขึ้นไป เพราะถ้าหากคุณแม่ที่อายุยังน้อยรับประทานธาตุเหล็กไม่เพียงพอร่างกายก็จะดึงธาตุเหล็กที่สะสมไว้มาใช้ หากยังไม่เพียงพออีกก็จะเกิดภาวะซีดขึ้น โดยภาวะซีดระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดส่วนใหญ่เกิดจากเหตุนี้ แต่บางคนอาจมีภาวะซีดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซีดจากการขาดแร่ธาตุและวิตามินชนิดอื่นๆ หรือซีดจากโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ซึ่งต้องค้นหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อสงสัยว่าจะเกิดภาวะซีด"

อย่างไรก็ดี สูติแพทย์รายนี้ยังบอกอีกว่า หากภาวะซีดไม่รุนแรงมากก็คงไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรมากมาย แต่ถ้าตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดเมื่อไปฝากครรภ์ โดยมีอาการที่รุนแรงอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ มีอาการหน้ามืดเวลาลุกนั่งหรือยืนบ่อยๆ รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง หากเป็นในระยะเวลาที่ยาวนาน อาจมีอาการใจสั่นเพราะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และพบว่ามีความดันโลหิตค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ คุณหมอฝากแนะนำทิ้งท้ายว่า คุณแม่ที่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในอาการของภาวะซีด ในระยะเริ่มต้นควรใส่ใจเกี่ยวกับอาหารการกิน เลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงตั้งแต่ที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เช่น อาหารประเภทตับและเลือดของสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง กะปิ และอาหารจำพวกพวกพืชผัก ได้แก่ มะเขือพวง ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู ดอกแค ใบตำลึง พริกแห้ง และธัญพืชต่างๆ ขณะที่ถึงเวลาไปฝากครรภ์แพทย์อาจจะมีการให้ยาวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็กมารับประทานเสริม และอาจตรวจเลือดติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ดังนั้นผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนอาการภาวะซีดที่เกิดจากสาเหตุอื่นก็จะต้องรักษาตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000104275

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น