วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

บ่มเพาะเด็กไทยจากวิกฤตแผ่นดินไหวญี่ปุ่น



อาจจะผ่านมาหลายสัปดาห์แล้วกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่เชื่อว่าทุกครอบครัวไทยที่ได้รับชมวิกฤตครั้งนี้ผ่านทางหน้าจอทีวีคงสัมผัสได้ถึงความมีระเบียบวินัย และความเสียสละที่คนในชาติ ๆ หนึ่งพร้อมที่จะทำเพื่อประเทศของตนเอง ซึ่งในวันนี้ เราก็มีจิตแพทย์จากโรงพยาบาลมนารมย์ที่มาชี้ให้เห็นถึงคุณค่าจากวิกฤตของชาวญี่ปุ่น และแนะว่าสิ่งใดควรนำมาใช้บ่มเพาะเด็กไทยให้พร้อมรับมือกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

พญ.จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ จิตแพทย์ และประธานกรรมการ โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิธีการรับมือภัยพิบัติของชาวญี่ปุ่นว่า ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม สึนามิ ที่ไม่มีใครทราบล่วงหน้า การได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวที่ดีของชาวญี่ปุ่นจะช่วยให้เราสามารถรับมือเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเรียบร้อย ไม่โกลาหล

"จากการศึกษาวิธีรับมือกับวิกฤตของชาวญี่ปุ่นทั้งในระดับประเทศและระดับพลเมือง จะพบว่าในระดับประเทศ ความเป็นชาตินิยมนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดความสามัคคี ซึ่งในช่วงแย่ที่สุด จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นมีความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความรักชาติของเขา"

“มีเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่น หลังจากเกิดเรื่องกัมมันตภาพรังสีรั่ว ก็ถามว่าทำไมไม่บินมาไทย เขาตอบว่าประเทศเขาเป็นแบบนี้แล้วจะให้ทิ้งมาได้อย่างไร จะเห็นว่าเขามีความรักชาติและมีความสามัคคีสูงมาก ซึ่งเขาจะมาเมืองไทยหรือหนีออกนอกประเทศก็ได้ แต่เขาไม่มา เขายินดีที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และยินดีเสียสละเพื่อชาติ ดังตัวอย่างที่พนักงาน 50 คน ที่ยอมรับความตายเฝ้าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อความปลอดภัยของประเทศ เห็นแล้วซาบซึ้งใจมาก หรือคนแก่ที่ติดอยู่หลายชั่วโมง พอช่วยเหลือออกมาได้ สิ่งแรกที่เขาถามว่า อนาคตพวกเราจะเป็นไง เขาไม่ถามถึงตัวเขาเอง เขาถามว่าอนาคตจะเป็นไง เราน่าจะโฟกัสเรื่องนี้บ้างว่าในฐานะประเทศ เวลาเกิดวิกฤตขึ้นเมื่อใดทุกคนสามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคร่วมกันได้”

พญ.จันทิมากล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะพลเมือง การรับมือวิกฤตของชาวญี่ปุ่นสะท้อนคุณค่าที่ได้ถูกหล่อหลอมและบ่มเพาะมาตั้งแต่เยาว์ ซึ่งเราควรนำเอาตัวอย่างที่ดีเหล่านี้ นำมาสอนเด็กของเรา เช่น

1. การมีสปิริต พลังใจ กำลังใจของคนญี่ปุ่น ที่ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน เขาก็จะไม่ท้อถอย

2. ความมีวินัยของคนญี่ปุ่นที่แม้จะหิวจะเหนื่อย แต่เขาก็จะยืนเข้าแถว ไม่ทะเลาะ ไม่แย่ง ไม่เอาเปรียบกัน เชื่อว่าหากเขาไม่มีวินัยคงจะเสียหายหนักกว่านี้ แต่นี่ไม่มีใครผลักใคร เพื่อแย่งชิงเอาอาหาร น้ำ หรือข้าวของ

3. การที่เขามีความหวัง เขาไม่สิ้นหวัง ซึ่งคนญี่ปุ่นจะมองไปข้างหน้า ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

4. ความอดทน ไม่ย่อท้อ ต่ออุปสรรค แม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะใหญ่แค่ไหน แต่เขาก็จะไม่ยอมแพ้ มองย้อนกลับไปพวกรุ่น 70-80 คือผ่านสงครามโลกมา โดนซ้ำแล้วซ้ำอีก สิ่งที่เขามีคือความกล้าหาญ เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ไม่ย่อท้อ ทำให้เขารอดพ้นมาได้”

5. ความเข้มแข็ง แต่ไม่ได้สำคัญตนผิด ซึ่งในยามวิกฤต นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แสดงออกถึงความเข้มแข็งแบบเหมาะสม โดยหลังจากประเมินความสามารถของตนเอง ก็กล้าออกมาบอกขอความช่วยเหลือทันทีเลย จะเห็นว่าเขาเข้มแข็งจริง แต่ไม่ใช่ว่าเขาแน่นะ ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นเขาพร้อมที่สุด ไม่มีใครรับมือได้เพราะเขาซ้อมมาตั้งแต่เด็ก พอเขาออกโทรทัศน์เขาขอความช่วยเหลือทันที

6. การมีคุณธรรมและมีความละอายต่อบาป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นถึงความมีน้ำใจ เมตตา ไมตรีจิตต่อกัน เอื้ออาทรกัน ห่วงใยกัน ไม่ฉวยโอกาส มีความเกรงกลัวและละอายต่อบาป หรือที่เรียกว่ามี หิริโอตัปปะ คือถึงมีโอกาสแต่ก็ไม่ฉกฉวย ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม เขาก็ไม่ทำ ถ้าไม่ใช่ของตัวเองเขาไม่เอา เป็นคุณธรรมที่สูงและน่าประทับใจมาก

"จะเห็นว่าธรรมชาติ ไม่ได้สงบอย่างที่หวัง ถ้าจะให้ประเทศชาติของเรารอดพ้นไปด้วยดี ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันสร้างคุณสมบัติที่ดีทั้งในส่วนของบุคคลและชาติด้วย โดยเฉพาะการสร้างเยาวชนของไทย เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอ แต่เกิดจากการอบรมบ่มสอน และจำเป็นต้องรีบทำ เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ถาโถมเข้าสู่สังคม ค่านิยมที่เอาแต่ความสวยงาม มุ่งเน้นวัตถุ และความอยู่รอดของตนเองเป็นหลัก จะทำให้การดำเนินชีวิตของเยาวชนไทยของเรายากขึ้น"



สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือเริ่มจากภายในบ้าน



ในการสร้างเยาวชนไทยให้มีคุณสมบัติที่ดีและสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้นั้น จิตแพทย์ระบุว่า การสร้างเยาวชนเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเริ่มต้นกันตั้งแต่ระดับพ่อแม่ ระดับครอบครัว ระดับโรงเรียน ระดับครู ระดับที่ทำงาน บริษัทไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ก็ต้องทำ สถาบันศาสนา สถาบันชาติ โดยอาจจะเริ่มจากการดูตัวเองก่อน แล้วก็มาดูคนรอบตัวของตัวเอง แล้วมาดูสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันทั้งนั้น คนละไม้คนละมือ

ทั้งนี้แนวทางในการสร้างเยาวชนให้มีความพร้อมเหมือนญี่ปุ่นสำหรับพ่อแม่ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนั้นพญ.จันทิมาให้คำแนะนำประเด็นที่พ่อแม่ควรจะต้องให้ความสำคัญคือ

1. สอนให้ลูกอยู่ในความเป็นจริง พ่อแม่ต้องให้ลูกรู้จักว่าชีวิตคืออะไร อย่าให้ลูกอยู่ในโลกของจินตนาการ ความเพ้อฝัน โดยที่ไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ไหน อย่าปลูกฝังค่านิยมว่าจะต้องเป็นคนเด่นที่สุด เก่งที่สุด แต่ควรสร้างให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง และมีความมั่นใจในตัวเองว่าเขาสามารถที่จะแก้ไขปัญหารับมือกับปัญหา มีความสุข พอใจตัวเอง รู้ว่าตัวเองคือใคร รู้จักคนอื่น และรู้จักที่จะช่วยคนอื่นได้ เข้ากับคนอื่นได้เมื่อมีโอกาส

2. พ่อแม่จำเป็นต้องสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ฝึกให้มีความรับผิดชอบ โดยให้เด็กรู้จักทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองให้มากที่สุดตามวัยและวุฒิภาวะ และยินดีรับผลของการกระทำนั้นหากทำไม่เสร็จ ไม่ใช่พ่อแม่ทำแทนหรือออกรับแทน ซึ่งการปลูกฝังเรื่องนี้สำคัญ หากเกิดเหตุอะไรขึ้นเขาจะสามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่โทษคนอื่น และมีความเข้มแข็งผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้

3. พ่อแม่ควรฝึกเด็กให้รู้จักเสียสละ มีวินัย รู้จักความอดทนการรอคอย สมัยก่อนพ่อแม่จะบอกว่า ต้องผู้ใหญ่ก่อน แล้วเด็ก แต่เดี๋ยวนี้เป็นเด็กก่อน ทำให้เด็ก ๆ ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองตัวเองเป็นแกนกลางของโลก ต้องได้ทุกอย่าง ไม่รู้จักความเสียสละ ดังนั้นพ่อแม่อาจเริ่มจากสอนให้รู้จักการเสียสละ เช่น การกระทำตนเป็นตัวอย่างโดยการบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

4. การสอนให้เด็กมีความเข้มแข็ง สามารถรับปัญหาได้ แก้ไขปัญหาได้ โดยให้ลูกได้สัมผัสประสบการณ์ ทั้งดีและไม่ดี สมหวังและผิดหวัง เมื่อผิดหวังแล้วก็สามารถลุกขึ้นสู้ แก้ปัญหาด้วยตนเองได้สำเร็จ จะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานทางจิตใจ

5. การสอนให้ลูกรู้ว่ามีความไม่แน่นอนอยู่ในโลกนี้ มีสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ เราไม่สามารถกำหนดให้ได้ทุกสิ่งอย่างใจหวัง ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ เขาก็จะสามารถรับได้

6. นอกจากการเรียนแล้วควรสอนให้เด็กได้สนใจเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพื่อจะได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การเสียสละ ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้อภัยให้กำลังใจกัน

อย่างไรก็ตาม พญ.จันทิมาย้ำว่า การปลูกฝัง ค่านิยมที่ดีให้เกิดขึ้นในเด็กนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่หัวใจแห่งความสำเร็จอยู่ที่พ่อแม่ก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก และพ่อแม่จะต้องเชื่อว่าไม่มีอะไรสายเกินไป ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต พัฒนาการของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด อย่ามองว่าพอเป็นผู้ใหญ่แล้วจะสิ้นสุด เพราะเราจะเห็นว่าพัฒนาการมีตั้งแต่เด็กเล็ก พอโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็พัฒนาไปอีก รวมถึงพัฒนาบุคลิกภาพด้วย พอเรียนต่อก็พัฒนาบุคลิกภาพอีก การพัฒนาเป็นไปได้ตลอดชีวิต ขอให้เชื่อว่าการปลูกฝังเรื่องนี้ทำได้ และช่วยกันลงมือทำ เราก็จะสามารถรับมือวิกฤตได้เรียบร้อยเฉกเช่นชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เราได้ประจักษ์และเห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000042344

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น