วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

คุณพ่อสองภาษาแนะ สอน Eng ให้ลูกอย่ามองข้าม "โฟนิกส์"

ถึงวันนี้ คงไม่ยากแล้วหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษา เพราะในหลายปีที่ผ่านมา มีหลายภาคส่วนที่ออกมาให้ความรู้ และเทคนิคในการสอนภาษาที่สองให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็กกันมากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือ "เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้" ของคุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ เจ้าของเว็บไซต์ www.2pasa.com อันโด่งดัง ซึ่งปัจจุบันมีคุณพ่อคุณแม่สมัครสมาชิกนับหมื่นราย

อย่างไรก็ดี เมื่อตัดสินใจเดินหน้าแล้ว ก็ใช่ว่าเส้นทางนี้จะง่ายดายประหนึ่งโรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะหากคุณพ่อคุณแม่ผู้เตรียมจะสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกน้อยเคยถูกระบบการศึกษาไทยสอนให้มองภาษาอังกฤษในแบบที่ผิดจากความเป็นจริง

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง อีกทั้งยังได้สัมผัส และให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา คุณพงษ์ระพีให้ความเห็นว่า "คนไทยเรียนหลักไวยากรณ์อังกฤษเป็นเล่ม ๆ แต่ผมอยากให้ลองนึกถึงภาพคนไทยเวลาคุยกัน เราพูดโดยไม่ต้องใช้หลักไวยากรณ์ใด ๆ เลย เพราะเราพูดจากความรู้สึก นั่นจึงเป็นที่มาว่า เราควรสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกโดยเริ่มต้นจากความรู้สึกเช่นเดียวกัน"

ทั้งนี้ คุณบิ๊กได้ให้ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับการฝึกพูดจากความรู้สึก โดยเริ่มจากการให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการตีความสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่ต้องการจะสื่อสาร ไม่มีการแปล เช่น ยกถ้วยกาแฟขึ้น พร้อมออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ให้เด็กได้ยิน จากนั้นเด็กจะพยายามเลียนแบบด้วยการเปล่งเสียงออกมา และพ่อแม่คอยช่วยด้วยการพยุงการพูดให้เขา ถ้าลูกพูดผิด พ่อแม่ต้องคอยแก้ไขให้ ไม่นานเด็กจะเริ่มจำคำศัพท์นั้น ๆ ได้ และพ่อแม่ควรเพิ่มความถี่ในการใช้คำศัพท์นั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในที่สุด วันหนึ่งเด็กจะสามารถใช้งานคำศัพท์ หรือประโยคนั้น ๆ ได้จากความรู้สึกที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง

สำหรับการเริ่มต้นควรเริ่มจากประโยคใกล้ตัว คำศัพท์ง่าย ๆ ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และควรฝึกการออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักโฟนิกส์ด้วย เพื่อให้ลูกจดจำสิ่งที่ถูกต้องนั่นเอง

เผชิญหน้า"กับดัก"ในภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงการเรียนภาษา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในภาษาที่เรียนกันทั่วไปอย่างภาษาอังกฤษนั้น มีกับดักแฝงอยู่มากมาย และหลายคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อาจตกหลุมพรางนี้ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์การศึกษาภาษาอังกฤษ แล้วนำมาสอนลูก คุณบิ๊กเผยว่า ภาษาอังกฤษยังมีหลุมพรางมากมายที่สามารถต้อนให้เราตกลงไปได้ง่าย ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของเทคนิค "ให้การพูดค้ำการอ่าน" ที่คุณพ่อท่านนี้ออกแบบขึ้น

"คำว่า sugar คนไทยอาจอ่านว่า ชูการ์ แต่เมื่อไปเทียบกับการออกเสียงตามหลักโฟนิกส์ของภาษาอังกฤษจริง ๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น หลาย ๆ ครั้งที่เราคิดว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่คงเส้นคงวา เขียนมาอย่างไรก็ออกเสียงอย่างนั้น ถ้าเห็นตัว s ก็ต้องเป็น ส.เสือ แต่จริง ๆ แล้วมันคือภาพลวงตา และทำให้หลายคนออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษผิดไปจากที่ควรจะเป็น" คุณบิ๊กกล่าว

"ภาษาไทยเราเองก็มีกับดักที่ว่านี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า บัณฑิต คงไม่มีใครอ่านเป็น "บัน-ทิด" ทั้ง ๆ ที่ตัว ฑ.นางมณโฑ ต้องออกเสียงเป็น ท.ทหาร แต่เราก็อ่านว่า “บัน-ดิด” กันทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะเราถูกสอนโดยให้ความรู้สึกในการพูดค้ำการอ่าน ขยายความก็คือ เราได้ยินคำว่า บัน-ดิด มานานจนอยู่ในความรู้สึกแล้ว ไม่ว่าอย่างไร เราก็ไม่เคยพูดผิด เพราะความรู้สึกในการพูดมันค้ำอยู่ หรือใครพูดผิด พูดแตกต่างออกไป เราก็จะทราบทันที"

"ดังนั้น การสอนภาษาอังกฤษให้ลูก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรมีการตรวจสอบการออกเสียงคำศัพท์อยู่เสมอ ยิ่งปัจจุบันโลกอินเทอร์เน็ตก้าวไกล เราสามารถเช็คการออกเสียงได้ง่าย ๆ ได้จากเว็บไซต์ที่ให้บริการ เช่น www.thefreedictionary.com หรือ google.com/translate ก็ได้ครับ" คุณบิ๊กกล่าวพร้อมยกตัวอย่างเว็บ

ก่อนจากกัน สิ่งที่คุณพ่อสองภาษาแห่งหมู่บ้านสองภาษาได้ฝากถึงครอบครัวที่สนใจในการสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกด้วยตนเองด้วยว่า “ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก และโฟนิกส์ก็ไม่ใช่เรื่องพิสดารเกินกว่าที่พ่อแม่จะทำความเข้าใจ ที่สำคัญ การฝึก “ออกเสียงให้ชัดเจน” เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่พ่อแม่ควรใส่ใจมากกว่าปริมาณคำศัพท์ที่พูดออกมาได้ ร่วมกับการเน้นให้เด็ก “พูดจากความรู้สึก” มากกว่าการท่องจำ ผมเชื่อว่า การเดินทางสายนี้อาจต้องเจอกับอุปสรรคที่เปรียบเหมือนด่านทดสอบจิตใจกันบ้าง แต่ถ้าผ่านไปได้ มันจะกลายเป็นน้ำเลี้ยงชโลมจิตใจอย่างดีให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านครับ”

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000045284

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น