วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ชี้เด็กไกลพ่อห่างแม่..ชีวิตแย่ การศึกษาด้อย!

ปรากฎการณ์เกี่ยวกับเด็กระยะหลังมานี้ มีหลาย ๆ เรื่องที่น่าเป็นห่วง อย่างเรื่องหนึ่งที่มีงานวิจัยล่าสุดออกมาเปิดเผยว่า เด็กมีโอกาสอยู่ในครัวเรือนที่มีครบทั้งพ่อและแม่น้อยลง โดยเด็กในครัวเรือนยากจนมีโอกาสอยู่กับพ่อแม่ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่เด็กในครัวเรือนไม่ยากจนมีโอกาสอยู่กับพ่อ-แม่ คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์

คำถาม คือ ปรากฎการณ์นี้จะมีผลเพียงใดต่อ "โอกาส" และ "คุณภาพ" การศึกษาของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่

วันนี้ ทีมงาน Life & Family มีผลวิเคราะห์จากงานวิจัยชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนไทยในรอบ 20 ปี จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาสรุปให้เห็นภาพกันว่า เมื่อเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กบ้าง

โดยผลวิเคราะห์จากการศึกษาวิจัยข้างต้นนั้น ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลสำรวจให้ฟังว่า ถ้าเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ โอกาสของลูกชายเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโอกาสผู้หญิงเรียนต่อมัธยมปลายลดลง 0.2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีแรงจูงใจและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้อยกว่าเด็กกลุ่มที่มีครอบครัวพร้อมหน้า

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ชิ้น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่จะเสียเปรียบด้านการเงิน และการศึกษามากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อ หรือแม่คนเดียว

ส่วนเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากมีทั้งพ่อ และแม่ย้ายถิ่น มีงานวิจัยพบว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ และการศึกษา อีกทั้งยังเพิ่มภาระให้แก่เครือญาติ หรือปู่ย่าตายายในการเป็นผู้ดูแลอีกด้วย

ในกรณีที่พ่อแม่ย้ายถิ่นบ่อย ๆ นั้น มีรายงานสุขภาพคนไทยปี 2553 จากงานศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพในประเด็นผลกระทบของการอพยพแรงงานย้ายถิ่นต่อพัฒนาการของเด็ก โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กที่พ่อแม่มีการย้ายถิ่นบ่อย ๆ พัฒนาการด้านสติปัญญาจะล่าช้ากว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ย้ายถิ่น

นอกจากพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูจนส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมของผู้ดูแลเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปู่ย่าตายายเป็นหลัก โดยพ่อแม่ที่ย้ายถิ่นไปทำงานมักส่งเงินไม่สม่ำเสมอ หรือได้รับเพียงจำนวนน้อย ในขณะที่ปู่ย่าตายายไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เด็ก ๆ ไม่ได้รับการดูแลทั้งทางด้านโภชนาการ และการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามวัยได้ดีเท่าที่ควร

ฉะนั้น เมื่อเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ภาระส่วนหนึ่งจึงตกไปอยู่กับปู่ย่าตายายมากขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นเด็กกับผู้สูงอายุพบว่า เด็กอาจได้รับการตามใจมากเกินไป ทำให้เด็กก้าวร้าวเอาแต่ใจตัวเองได้สูง

ขณะเดียวกัน ปู่ย่าตายายส่วนมากไม่แน่ใจว่าคุณครูที่โรงเรียนคาดหวังให้พวกเขาสนับสนุนการเรียนของเด็กในชั้นเรียนอย่างไร จึงเป็นไปได้ว่าผู้สูงอายุที่มีการศึกษาน้อยจะประสบความยากลำบากในการสอนการบ้าน หรือบทเรียนทางวิชาการแก่เด็ก ซึ่งอาจนำไปสู่ประสิทธิภาพทางการเรียนของเด็กที่ลดลงได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ส่งแรงสะเทือนต่อชีวิตครอบครัว และสังคม ทำให้เด็กมีโอกาสอยู่กับพ่อแม่น้อยลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.นิพนธ์ เสนอแนวทางที่ได้จากผลงานวิจัยว่า รัฐบาลควรมีนโยบายด้านสังคมที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายการศึกษา คุณภาพสำคัญกว่าการขยายโอกาสทางการศึกษา ภาครัฐควรจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กยากจนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ หรือพ่อแม่มีการศึกษาน้อยว่าควรเป็นอย่างไร นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทช่วยดูแลเด็กยากจน เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เช่น บทบาทของอบต และชุมชน

ส่วนเด็กที่อยู่กับผู้สูงอายุ ควรสนับสนุนดูแลผู้สูงอายุยากจน และครัวเรือนที่มีทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่มีเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุ มีฐานะยากจน และควรให้โอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ ตลอดจนเตรียมทรัพยากรด้านดูแล และค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ รวมทั้งนโยบายด้านสุขภาพจิต

ด้านเศรษฐกิจ ควรมีนโยบายกระจายรายได้ โดยปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน หุ้น มรดก และขยายฐานภาษีเงินได้ สร้างระบบคุ้มครองทางสังคม ดูแลหนี้ในระบบเป็นหลัก เพราะขณะนี้มีการกู้หนี้ในระบบมากเกินไป รวมทั้งต้องควบคุมราคาสินค้าในภาพรวมให้ได้

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสอยู่กับพ่อ-แม่มากขึ้นในอนาคต ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการมีบุตรที่ไม่เป็นภาระหนักเกินไปสำหรับพ่อแม่ เพื่อลดสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และควรมีการลดหย่อนภาษีรายได้สำหรับผู้มีบุตรในอัตราก้าวหน้า และคุณแม่ที่ต้องทำงาน รวมทั้งสวัสดิการช่วยเหลือการมีบุตร

นับเป็นนัยเชิงนโยบายที่หากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความจริงจัง และตั้งใจในการนำไปถกคิด และปรับใช้อย่างเหมาะสม เชื่อว่าจะเป็นนโยบายทางสังคมที่จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร เข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราได้ทางกล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้ อย่างน้อย ๆ จะได้ช่วยกันเสนอแนวทางที่ควรจะเป็นเพื่อสร้างครัวเรือน และสังคมที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น