วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

สัญญาณหยุดหายใจ! ภาวะนอนกรนในเด็ก

สัญญาณหยุดหายใจ! ภาวะนอนกรนในเด็ก


ต่อมทอนซิล 2 ข้าง


ผศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา:บทความ
นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ : เรียบเรียง

จากผลการวิจัย พบว่า เด็กไทยนอนกรนเป็นประจำร้อยละ 10 และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร้อยละ 1 ของประชากรซึ่งจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กก่อนวัยเรียน และในช่วงประถมศึกษา

นอนกรนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น และที่สำคัญคือ เป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งมีสาเหตุที่พบบ่อยและสำคัญที่สุด คือ การมีต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ ภาวะอ้วน นอกจากนี้ อาจมาจากโครงหน้าผิดปกติ คางสั้น คางเล็ก หน้าแคบ ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม โรคทางสมอง และกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ


ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ด้านหลังของโพรงจมูก


หากเด็กมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้พัฒนาการด้านร่างกาย และสติปัญญาผิดปกติตามมา วิธีการสังเกตว่า เด็กจะมีภาวะนี้หรือไม่ สามารถดูได้จากอาการต่างๆ ได้แก่ นอนกรนดังเป็นประจำ นอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก ต้องหายใจทางปากบ่อยๆ ปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมก้าวร้าวซุกซนกว่าปกติ หรือเติบโตช้า และมีผลการเรียนแย่ลง นอกจากนี้ ถ้ารุนแรงมากอาจมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจโตร่วมด้วยได้ เป็นต้น

เมื่อมาพบแพทย์ เด็กที่นอนกรนจะได้รับซักประวัติ ตรวจร่างกายตั้งแต่บริเวณศีรษะ ใบหน้า หู คอ จมูก ช่องปาก ตรวจปอด และหัวใจ อาจมีการเอกซเรย์บริเวณศีรษะด้านข้าง เพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจ และหากทำได้เด็กที่นอนกรนควรรับการทดสอบการนอนหลับ(sleep test) เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งสามารถทำในโรงพยาบาลหรือที่บ้านตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและช่วยเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับแนวทางการรักษาภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก เริ่มต้นที่การปรับสุขอนามัยการนอน นอนพักผ่อนให้พอเพียง เข้านอน และตื่นอย่างตรงเวลา สม่ำเสมอ ในรายที่อ้วนต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร งดรับประทานขนมจุกจิก หรืองดน้ำหวาน และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการรักษาด้วยยาที่ใช้บ่อย ได้แก่ การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยารักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือยาแก้อักเสบเพื่อรักษาต่อมทอนซิลติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่อง CPAP และรวมถึงการใช้เครื่องขยายขากรรไกร ซึ่งเป็นทางเลือกอื่นๆ อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล และอะดีนอยด์ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก แต่จะรักษาวิธีใดขึ้นอยู่กับแต่ละรายไป


การติดเครื่องตรวจการนอนหลับ (sleep test ในเด็ก)



การนอนกรนนั้น เป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ซึ่งมีอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถรักษาได้ผลดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา

ดังนั้น หากบุตรหลานของท่าน นอนกรนเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000048195&Page=3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น