วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

รับมืออย่างไร เมื่อคนในบ้านเกิดอาการสำลัก

รับมืออย่างไร เมื่อคนในบ้านเกิดอาการสำลัก!

อาการสำลักมักเกิดจากอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมลงไปกีดขวางทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ที่สำลักไม่สามารถพูด ไอ หรือหายใจได้ ซึ่งหากช่วยเหลือไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีปฏิบัติ และวิธีรับมือเมื่อคนในบ้านเกิดอาการสำลักจากศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลกรุงเทพมาฝากกันครับ

ความรุนแรง หรืออันตรายของการสำลักมีดังนี้

- ตำแหน่งที่เกิดการอุดตัน เช่น เกิดการอุดตันเหนือบริเวณสายเสียง สิ่งอุดตันก็จะหลุดได้ง่ายกว่าบริเวณที่ต่ำกว่า

- หากขนาดของสิ่งที่ไปอุดตันมีขนาดใหญ่มากก็จะสามารถหลุดออกได้ยาก

- ถ้าเป็นการอุดตันเพียงบางส่วน สิ่งที่เข้าไปอุดก็จะหลุดออกมาได้ง่ายกว่า เช่น หมากฝรั่งที่เหนียวก็จะหลุดได้ยากกว่าเมล็ดผลไม้

- ระยะเวลาที่มีการอุดตัน หากนานเกินไปก็จะเป็นอันตรายมาก เนื่องจากสิ่งอุดตันจะทำให้เยื่อบุท่อทางเดินหายใจมีอาการบวมและเกร็งตัว

อาการของคนสำลักที่สังเกตได้

- ผู้ที่สำลักมักจะใช้มือจับไปที่คอของตนเอง

- ผู้ที่สำลักหายใจไม่ออก ไอ หรือหายใจไม่ได้

- ผู้ที่สำลักไม่สามารถพูดได้

- ผู้ที่สำลักไม่สามารถไอ เพื่อให้อาหารหรือสิ่งแปลกปลอมออกมาได้

- ริมฝีปาก และหน้าเปลี่ยนสี

- ผู้ที่สำลักหมดสติ เป็นลม

การสำลักนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจและมักเป็นสาเหตุของการตายที่พบได้บ่อย ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ที่สำลักมีวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

หากผู้ที่สำลักไม่สามารถไอได้เอง หรือได้พยายามไอแล้ว และไม่ได้ผล ควรทำการตบแรง ๆ ที่บริเวณหลังของผู้สำลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไอ ควรทำซ้ำ 5 ครั้ง หากสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก วิธี Heimlich Maneuver สามารถปฏิบัติได้ในผู้ใหญ่ หรือเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ขวบขึ้นไป

1. ให้ผู้ป่วยยืนขึ้น

2. ยืนข้างหลังผู้ป่วยโดยให้ขาข้างหนึ่ง อยู่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย เพื่อพยุงผู้ป่วยในกรณีที่หมดสติ

3. ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่า กำลังจะให้ความช่วยเหลือ

4. ใช้แขนทั้ง 2 ข้าง โอบรอบเอวผู้ป่วย ควรระวังอย่าให้แขนอยู่บริเวณกระดูกซี่โครง เนื่องจากอาจมีผลทำให้ซี่โครงหักได้

5. กำมือข้างหนึ่ง โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ชิดกับตัวผู้ป่วย ในบริเวณที่เหนือสะดือขึ้นมาเล็กน้อย และอยู่ใต้ข้อต่อกระดูกแผงหน้าอก

6. ใช้มืออีกข้างจับมือข้างที่กำเอาไว้

7. ออกแรงดันมือที่กำไว้ขึ้นมาทางด้านบนอย่างรวดเร็ว และควรออกแรงให้มากพอที่จะดันสิ่งแปลกปลอมออกมา

8. ในการออกแรงดันนั้น จะช่วยทำให้กระบังลมดันให้อากาศออกมาจากปอดของผู้ป่วย ทำให้เกิดลักษณะที่คล้ายกับการไอ

9. ออกแรงพยุงผู้ป่วยไว้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจหมดสติหากไม่ได้ผล

10. ควรทำซ้ำได้ถึง 5 ครั้ง หากไม่ได้ผลต้องรีบทำการกู้ชีพทันที และควรเรียกรถพยาบาลโดยด่วน

ข้อควรระวัง

- ไม่ควรใช้วิธี Heimlich maneuver หากไม่แน่ใจว่าเป็นการสำลัก

- ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติไปแล้ว ควรเรียกรถพยาบาลโดยด่วน และเริ่มทำการกู้ชีวิต CPR เป่าปาก ปั๊มหัวใจหากมีหัวใจหยุดเต้นทันที

- ในหญิงมีครรภ์ และคนอ้วน สามารถใช้วิธี Heimlich maneuver โดยใช้กำปั้นกดหน้าทองบริเวณใต้ลิ้นปี่ พร้อมกับการตบหรือทุบหลัง แรงพอที่จะช่วยเพิ่มแรงดันในช่องอกและทางเดินหายใจ ทำให้สิ่งอุดตันนั้นถูกขับออกมาได้และควรทำซ้ำถ้าสิ่งอุดตันยังไม่หลุดออกมา


สำหรับในกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก มีข้อแนะนำง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

- วางเด็กคว่ำลงบนแขน และวางแขนนั้นลงบนหน้าตัก ให้ศีรษะของเด็กอยู่ต่ำ

- เคาะหลัง 5 ครั้งติดต่อกัน แถวกึ่งกลางระหว่างกระดูกสะบักทั้งสองข้าง

- พลิกเด็กให้หงายบนแขนอีกข้าง ซึ่งวางบนหน้าตัก ให้ศีรษะอยู่ต่ำ แล้วกดหน้าอกโดยใช้ 2 นิ้วกดบนกระดูกหน้าอกในตำแหน่งที่กว่าเส้นลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างลงมาหนึ่งความกว้างนิ้วมือ

- ทำซ้ำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนเด็กหมดสติ หากเด็กหมดสติ ให้ทำการประเมินการหายใจ การเต้นชีพจร และให้การช่วยเหลือการหายใจสลับกับการเคาะหลัง และกดหน้าอก

อาการสำลักถึงแม้บางครั้งจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้ามีอาการรุนแรง และไม่รู้วิธีรับมือ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้




ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000113218

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น