วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

คุณเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูก ๆ ไม่อยากคุยด้วยหรือเปล่า

คุณเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูก ๆ ไม่อยากคุยด้วยหรือเปล่า

เมื่อพูดถึงการสื่อสารในครอบครัว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่หากสื่อสารไม่ดี อาจสร้างปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะการคุยกับลูกวัยรุ่นที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือมีปัญหาการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดเป็นช่องว่าง และอคติจนทำให้พ่อแม่ และลูกไปกันไม่ค่อยได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงตามมา เช่น เด็กหนีออกจากบ้าน หรือน้อยใจคิดสั้นทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

วันนี้เพื่อเป็นการเตือนตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ ทีมงาน Life & Family มีข้อมูลดี ๆ จากองค์กรแพธ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ถึงการใช้คำพูดของพ่อแม่ที่อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีจนทำให้ลูก ๆ ทั้งหลายไม่อยากคุยด้วยมานำเสนอกัน ว่าแต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันครับ

พ่อแม่ที่ใช้ประโยคคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูก "ตำหนิ"

การใช้ถ้อยคำรุนแรง แสดงท่าที น้ำเสียง อารมณ์ ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกว่าถูกกล่าวหาไปแล้ว โดยไม่ได้ต้องการคำอธิบาย เช่น

- ใช้คำพูดจับผิด ใช้คำพูดดักคอ ใช้ประโยคคำสั่ง เช่น "บอกมานะว่า..." หรือ "อย่าให้รู้เชียวนะ"

- ใช้การถามนำ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายอธิบาย เช่น ประโยคที่ลงท้ายว่า "..ใช่หรือเปล่า"

- ท่าที กิริยาอาการแสดงออกชัดเจนว่า "ไม่ยอมรับฟัง"

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้ลูก ๆ ไม่ค่อยอยากคุย และไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง เช่น

- ไม่มีการใช้คำพูดที่แสดงถึงความห่วงใย เช่น "แม่เสียใจที่เห็นลูกใช้เงินเปลือง ลูกรู้ไหมว่าเงินทองเป็นของหายาก แม่เหนื่อยมากกว่าที่จะหามาให้ลูกใช้ได้" หรือ "พ่อไม่สบายใจเลยที่ลูกใช้เงินแบบนี้ มีปัญหาอะไรบอกได้ไหม" แต่มักจะใช้คำพูดที่ห่วงแต่ดุ เช่น "กล้าดียังไงเอาเงินที่พ่อแม่หาให้ไปเลี้ยงไปเที่ยวกับแฟนทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญญาหาเงินเอง"

ดังนั้นควรเริ่มด้วยประโยคที่ทำให้ลูกรู้ว่าคุณเป็นห่วงจริง ๆ เช่น ถ้าลูกกลับบ้านดึก ประโยคแบบนี้ที่ลูกอยากได้ยินจากคนเป็นพ่อแม่

"เป็นอย่างไร เหนื่อยไหม วันนี้กลับดึกจังนะลูก" หรือ "การบ้านเยอะเหรอ ถึงได้กลับมาช้า เป็นห่วงแทบแย่"

ถ้าลูกเก็บตัวเงียบขรึมผิดปกติ ประโยคแบบนี้ที่ลูกอยากฟังจากปากพ่อกับแม่

"ดูท่าทางเหนื่อย ๆ นะ เรียนหนักไหม การบ้านเยอะหรือเปล่า" หรือ "กินข้าวน้อยจัง ไม่สบายหรือเปล่า" หรือ "อยู่แต่ในห้องทั้งวัน เมื่อคืนนอนดึกเหรอ"

ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อต้องการคุยกับลูก อยากรู้สาเหตุว่าทำไมลูกกลับบ้านดึก หายไปทั้งวัน หรือเอาแต่เก็บตัวเงียบ คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย

- อย่าคิดเอาเองว่า ลูกจะต้องไปทำอะไรไม่ดี

- อย่าดักคอลูกด้วยการพูดจาถากถางประชดประชัน

- อย่าตั้งคำถามว่า "ทำไม" ตลอดเวลา

- ไม่มีการใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้โอกาสอีกฝ่ายได้ตอบแบบอธิบาย หรือเปลี่ยนจากประโยคบอกเล่า เป็นคำถาม เพื่อเปิดให้มีการพูดคุยกัน เช่น "ไหนลองบอกเหตุผลให้ฟังหน่อยว่าทำแบบนั้นเพราะอะไร" หรือ "พ่ออยากรู้ว่าอะไรทำให้แกคิดแบบนั้น" แต่ส่วนใหญ่มักจะพูดกับลูกว่า"...เออ ถ้าเกิดปัญหาขึ้น ก็อย่ามาให้พ่อ/แม่แก้ให้แล้วกัน..."

- ไม่มีการใช้คำพูดที่บอกความต้องการชัดเจนว่าผู้พูดต้องการเห็นพฤติกรรมอะไร เช่น "ถ้าจะกลับบ้านดึก ต้องโทรบอกก่อนล่วงหน้า แม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง" หรือ "ลองบอกสิว่าอยากให้พ่อแม่ทำยังไงกับเรื่องที่ลูกไม่โทรมาบอกล่วงหน้าว่าจะกลับบ้านดึก" แต่ที่พบส่วนใหญ่มักใช้คำพูดที่ว่า "....ทำไมเพิ่งกลับ ไปไหนมาไหน ทำไมไม่เคยบอกกล่าวกันเลย..."

- ไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจนเมื่อไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอีกฝ่าย เช่น "พ่อไม่สบายใจที่เห็นลูกแต่งตัวแบบนี้ ลูกกำลังจะไปไหนเล่าให้พ่อฟังก่อน" แต่ส่วนมากมักใช้คำพูดที่ว่า "...จะบ้าหรือเปล่า เป็นผู้หญิงใส่กระโปรงสั้นจู๋แบบนี้ แล้วจะออกไปข้างนอกได้ยังไง..."

- ไม่ค่อยมีการขอความเห็นจากอีกฝ่ายว่าต้องการเห็นทางออกอย่างไรบ้าง เช่น "ถ้าจะทำให้ลูกกล้าบอกพ่อตรงๆ ว่าไปทำอะไรมาลูกอยากให้พ่อทำตัวยังไง" แต่ส่วนมากจะขึ้นเสียงด้วยประโยคที่ว่า "...อย่าให้รู้เชียวว่าโกหก..."

นอกจากนี้ การไม่ฟังลูกพูดเลย ก็อาจทำให้ลูกไม่ค่อยอยากคุยกับคุณก็เป็นได้ เนื่องจากเด็ก ๆ มักบ่นว่า พ่อแม่ไม่เคยฟังว่าเขามีปัญหาอะไร ชอบบ่น ด่าแต่เรื่องซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่กลับว่าลูกว่า "พูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง" ดังนั้นการที่ลูกไม่ฟัง ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้พูดหรือสั่งสอนด้วยการให้ความรู้ หรือบอกเล่าเรื่องราว แต่เป็นการ "ใช้อารมณ์ลงกับลูก"

ในเรื่องเดียวกันนี้ ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสังคม พร้อมคณะ ได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นว่า เขาอยากฟังอะไรจากพ่อแม่บ้าง โดย 100 คำพูดดี ๆ ที่พ่อแม่ควรพูด 3 อันดับแรกสูงสุดที่เด็ก ๆ อยากได้ยิน คือ

1. พูดด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ อ่อนหวานน่าฟัง

2. พูดให้กำลังใจ ไม่เป็นไรทำใหม่ได้

3. ให้คำปรึกษาหารือ เช่น ปรึกษาพ่อแม่ได้นะลูก ทำดีแล้วลูก ดีมากจ้ะ เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.สมพงษ์ให้แนวทางเพิ่มเติมว่า คนเป็นพ่อแม่ไม่ควรใช้คำว่า "ห้าม" กับลูกวัยรุ่นมากเกินไป เพราะผลการศึกษาพบเด็กสารภาพว่า ถ้าการขออนุญาตกระทำสิ่งใดแล้ว พ่อแม่ห้าม เขาจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะอยากท้าทาย และอยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น พ่อแม่ยุคนี้ต้องฟังลูกให้มาก บ่นให้น้อยลง อยู่กับเขาอย่างใจเย็น พูดคุยด้วยการดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการเตือนตัวเองว่า คำพูดรุนแรงที่อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับลูก 3 อันดับแรกคือ พูดคำหยาบ คำไม่สุภาพ ตามมาด้วย การด่าทอ พูดเสียงดังโหวกเหวก พูดจาแดกดัน ไม่ยอมรับฟังเหตุผล

เมื่อรู้แบบนี้ ถึงแม้ว่าลูกจะโต และดื้อขนาดไหน ก็ไม่ยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะพิชิตใจได้


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000120115

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น