วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ไม่อยากตีลูก...ควรแก้ไขลูกอย่างไรดี

7 ทางเลือกที่ดีกว่า "ตี" เพื่อบ้านนี้ไม่มีความรุนแรง

ช่วงนี้สังคมไทยเต็มไปด้วยข่าวการทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็กแทบทุกวัน แถมการทำร้ายที่ปรากฏเป็นข่าวแต่ละครั้งก็รุนแรงมากขึ้นทุกที ด้านเด็กที่รับเคราะห์ ส่วนมากยังอยู่ในวัยน่ารักไร้เดียงสา อายุเพียง 1 - 4 ขวบเท่านั้น ส่วนคนทำใช่ใครอื่น หากไม่ใช่พ่อแม่ก็ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดของเด็กนั่นเอง

คงไม่ผิดหากจะบอกว่าความรุนแรงเหล่านี้เกิดเพราะหลายครอบครัวยังใช้ การตีเป็นการระบายอารมณ์โกรธของผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจต่อการกระทำของลูก รูปแบบการตีจึงมักรุนแรง รวดเร็ว ขาดการยั้งคิด ส่วนเด็กนอกจากจะตกใจและเจ็บปวดกับสิ่งที่ได้รับแล้ว บางครั้งเขาเองก็ยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจว่า สิ่งที่ทำไปนั้นผิดตรงไหน และอาจรอคำอธิบายจากผู้ใหญ่อยู่ก็เป็นได้

ดังนั้น ก่อนจะตีเด็ก ลองทำเรื่องดี ๆ กับใจของตนเองกันก่อนดีไหมคะ ว่าในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง เราจะก้าวผ่านช่วงอารมณ์โกรธพุ่งสูงนี้ไปได้อย่างไร โดยไม่เผลอใจ "ลงโทษ" ลูกไปเสียก่อน

1. ทำใจให้สงบ

อาจเป็นการเริ่มต้นที่ค่อนข้างยากสักนิด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ขี้โมโห เจอลูกทำผิด ไม่ได้ดั่งใจก็ฟาดเพี้ยะ แต่ทางเลือกที่ดีกว่าการตีกลับกลายเป็นการที่พ่อแม่พยายามสงบใจ แล้วค่อย ๆ อธิบายให้ลูกฟังว่าเขาทำอะไรผิดไป เพราะบางทีเด็กก็ไร้เดียงสา และไม่ทราบจริง ๆ ว่านั่นคือสิ่งที่ผิด

2. หาเวลาให้ตัวเองบ่อย ๆ

แม้จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ต้องแบ่งเวลาดูแลตัวเองด้วย การให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน ฟังเพลง คุยกับเพื่อน อ่านหนังสือ ฯลฯ เหล่านี้จะช่วยให้คุณกลับมามีพลัง พร้อมสำหรับการดูแลคนอื่น ๆ มากขึ้น สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้ให้ตัวเอง มักจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เผลอตีลูก หากลูกทำอะไรให้ไม่พอใจด้วย ดังนั้น หาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองบ่อย ๆ นะคะ

3. บอกลูกในแบบที่เด็กรับฟังได้

พ่อแม่มักจะตีลูกเวลาที่พูดแล้วลูกไม่ฟัง ครั้งต่อไป ลองใช้วิธีย่อตัวลง ให้ระดับสายตาของคุณกับลูกอยู่ในระดับเดียวกัน วางมือบนไหล่ของลูกอย่างอ่อนโยน จากนั้นบอกให้เขาทราบเกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากให้เขาทำ ช้า ๆ แต่หนักแน่น

4. เสนอทางเลือก

การให้ทางเลือกกับเด็กเป็นเทคนิคที่ดีที่จะช่วยให้เด็กหันไปสนใจกับ ทางเลือกที่เขามี แทนที่จะมาดื้อกับพ่อแม่ ลองเสนอทางเลือกสัก 2 ทางที่ "เข้าทาง" คุณ เช่น หากลูกมัวแต่เล่นเพลินบนโต๊ะทานข้าว ทางเลือกที่คุณเสนออาจเป็น "ลูกจะหยุดเล่นแล้วทานข้าวให้เสร็จ หรือจะขึ้นห้องนอนทั้ง ๆ ที่ยังหิวดีนะ" จากนั้นก็กระตุ้นให้เขาตัดสินใจบนทางเลือกที่เขามี (อาจจะบอกถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาในแต่ละข้อด้วยก็ดีค่ะ)

5. สอนให้เด็กแก้ไขความผิดพลาด

สมมติว่า ลูกของคุณซนจนทำกระจกหน้าต่างเพื่อนบ้านแตก แล้วคุณเห็นเข้า ก็เลยลงโทษด้วยการตีไปเรียบร้อย สิ่งที่เด็กเรียนรู้คืออะไร พ่อแม่อาจคิดว่า เด็กจะเรียนรู้ว่าอีกหน่อยไม่ควรทำ แต่เขาก็อาจเรียนรู้ว่า คราวหน้าถ้าเขาเกิดทำผิดขึ้นมาแล้วไม่อยากโดนตี เขาจะต้องซ่อนความผิดพลาด ลองพูดกับลูกว่า "แม่เห็นว่าลูกทำกระจกบ้านตรงข้ามแตก ลูกจะทำอะไรได้บ้างเพื่อชดเชยให้เขา"

6. ทำข้อตกลงกับลูก

หากใครได้ดูชินจัง ก็จะพบว่า ชินจังกับแม่มิซาเอะมีข้อตกลงร่วมกันนับร้อยข้อเพื่อความปกติสุขในครอบครัว คุณก็สามารถทำข้อตกลงร่วมกับลูกได้เช่นกัน แต่ถ้าลูกทำผิดข้อตกลงขึ้นโดยที่เขาไม่ตั้งใจ ลองให้โอกาสเขาแก้ตัวใหม่แทนการตี หรือลงโทษ ก็จะช่วยให้เขารู้สึกดีด้วยเช่นกัน

7. อย่าลงไปทะเลาะกับลูก
หากลูก (ที่ยังเล็ก) ใช้คำพูดหรือกริยาท่าทางที่ไม่ดีกับคุณจนคุณโมโห คำแนะนำคืออย่าลงไปทะเลาะกับลูก เพราะจะไม่มีฝ่ายใดชนะเลย ลองเลือกที่จะสงบใจ อดทน ไม่ตีทันที แล้วบอกกับลูกว่า "แม่ (หรือพ่อ) จะนั่งอยู่ที่ห้อง... ไว้ลูกพร้อมที่จะคุยค่อยมาหาแม่ได้" เทคนิคนี้ก็เป็นเรื่องดีที่ปล่อยให้เด็ก (และตัวพ่อแม่เอง) ได้จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ไม่ให้โทสะเข้าครอบงำจนใช้ความรุนแรงตอบโตได้ค่ะ

การอบรมสั่งสอนลูกถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจท้าทายสำหรับพ่อแม่ทุกคน แถมเมื่อได้เห็นลูกเติบโตเป็นคนดียิ่งเปรียบเหมือนรางวัลที่ยิ่งใหญ่จน ประเมินค่าไม่ได้ เทคนิคเหล่านี้จึงเหมือนอีกหนึ่งตัวช่วยให้งานของพ่อแม่นั้นง่ายขึ้น และเดินทางสู่จุดหมายได้ไวขึ้นนั่นเองค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น