วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 29-32

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 29-32


เมื่อเข้าเดือนที่ 7 นับเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

คุณแม่จะอุ้ยอ้ายมากขึ้น เดินแบบเป็ด อึดอัด ถ่ายไม่สะดวก มีริดสีดวงทวารเกิดขึ้น และยังรู้สึกเจ็บท้องเป็นบางครั้ง เป็นการเจ็บเตือน ที่เรียกทางภาษาแพทย์ว่า Braxton-Hicks contraction บางคนมีอาการคัดจมูก ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน ที่หลั่งในกระบวนการตั้งครรภ์ค่ะ ไม่ได้เกิดจากเป็นหวัดแต่อย่างใด

เมื่อจวนครบกำหนดคลอด หรือไตรมาสสุดท้ายนี้ คุณแม่อาจจะเกิดอารมณ์วิตกกังวลไปต่างๆนาๆ ว่าการคลอดจะเจ็บไหม การเป็นแม่นี้จะเป็นอย่างไร ลูกที่ออกมาจะครบ 32 หรือไม่ ให้สงสัยหวาดหวั่นไปต่างๆ ซึ่งคุณแม่ควรจะพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือสามี ถึงเรื่องกังวลใจของคุณ สามีซึ่งจะเป็นคุณพ่อในอนาคตอันใกล้นี้ ควรพูดให้กำลังใจ ช่วยดูแลคุณแม่ และช่วยกันศึกษาหาความรู้ ให้ลูกเกิดมาปลอดภัย และแข็งแรง

ทารกในครรภ์ จะตัวใหญ่ ดิ้น แตะ ยืดตัว จนบางครั้งเห็นเป็นก้อนนูนแหลม เคลื่อนไหวที่หน้าท้องแม่ ลูกจะดูดนิ้ว ลืมตา หลับตา บางครั้งอาจจะนั่งไขว่ห้าง ดูดนิ้วด้วย กระดูกของลูกจะแข็งแกร่งขึ้น ผิวหนังสีชมพู แต่ยังเหี่ยวย่น เพราะว่ามีไขมันใต้ผิวหนังน้อย

หนูน้อย 7 เดือน จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 1140-1360 กรัม และจะยาวประมาณ 37.5 ซ.ม.

เข้าไตรมาสที่ 3

เดือนที่ 7 นี้ ถือว่าเป็นการเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 3 ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็สดชื่นดี แต่พอหลังอาหารกลางวันก็เหนื่อยหมดแรง อยากนอน สำหรับคุณแม่ทำงานออฟฟิศ ก็ลำบากหน่อย หาที่เอนหลังไม่ค่อยได้ เหนื่อยนักจะลาพักก็กลัวจะเสียงาน ว้าวุ่นพอสมควร

ช่วงนี้ข้อเท้าจะบวมใหญ่ขึ้น ขาจะล้า อย่าเพิ่งเบื่อตัวเองนะคะ คุณแม่ที่นั่งโต๊ะทำงาน ก็หาม้านั่งเตี้ยๆ มาวางเอาไว้ใต้โต๊ะ วางเท้าบนม้านั่ง ยกเท้าให้สูงเอาไว้ อาการบวมที่ข้อเท้าจะทุเลาลงค่ะ ถ้าอยู่บ้านก็นั่งเก้าอี้โยก โยกช้าๆ เป็นการออกกำลังกายข้อเท้า และขาได้ดีพอสมควร

ถ้าคุณแม่ต้องนั่งรถ หรือเดินทางไกลๆ นานๆ ควรหยุดพัก เข้าห้องน้ำ ยืดแข้งยืดขา เป็นระยะๆ ถ้าทำได้นะคะ

ทารกในครรภ์ในวัย 7 เดือน จะมีอวัยวะครบทุกส่วน นอนขดอยู่ในมดลูกของแม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น