วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ท่านควรฝากครรภ์เมื่อไรที่ไหน ? ทำไมจึงจะต้องฝากครรภ์ ?

ท่านควรฝากครรภ์เมื่อไรที่ไหน ? ทำไมจึงจะต้องฝากครรภ์ ?

การฝากครรภ์นั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ที่จะเป็นมารดา นับว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์แก่แม่และเด็กจริงๆ แต่ว่า เมื่อไรท่านจึงต้องไปฝากครรภ์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์แนะนำให้ผู้ที่จะเป็นมารดาไปฝากครรภ์ได้ทันทีที่คิดหรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์

บางท่านอาจจะคิดว่าทำไมจะต้องรีบร้อนไปฝากอะไรกันนักหนา เพิ่งเริ่มต้น เพิ่งจะทราบ เพราะเป็นระยะแรกเริ่มแท้ๆ น่าจะไปฝากครรภ์ทีหลังก็ได้ หรือไปฝากจวนๆ ที่จะคลอดก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไรเลย ไม่ต้องเสียเวลาไปหลายครั้งหลายหนด้วย

ความจริงแล้วความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยมากแล้วเราจะเห็นได้ว่าที่แผนกตรวจคนไข้นอกนั้น ผู้ที่จะเป็นมารดามักมาฝากครรภ์เกินระยะ 6 เดือนไปแล้วมากมาย ซึ่งส่วนมากยังไม่ทราบถึงประโยชน์ของการฝากครรภ์อย่างแท้จริง


ความสำคัญของการฝากครรภ์
เรื่องนี้จะต้องให้ผู้เป็นมารดาทราบเอาไว้ เพราะมีความสำคัญจริงๆ คือ

1. แพทย์จะได้ทำการตรวจและให้ความแน่นอนว่าการตั้งครรภ์ของท่านนั้นเป็นปกติหรือ ผิดปกติ นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นมารดาได้รับคำแนะนำ การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองให้ดี ถูกต้อง ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากโรคแรกซ้อนต่างๆ ในขณะที่ตั้งครรภ์ ให้ความปลอดภัยเกี่ยวกับการคลอด ตลอดจนการรู้จักดูแลรักษาตัวเองภายหลังคลอดอีกด้วย อีกทั้งผู้ที่เป็นมารดาก็จะมีความใกล้ชิดกับแพทย์ พยาบาล มีความเชื่อมั่น อีกทั้งมีโอกาสที่จะสอบถามขอคำแนะนำในสิ่งที่ตนเองสงสัยข้องใจจากแพทย์และพยาบาลหรือผดุงครรภ์ที่ดูแลอยู่

2. ในการตรวจครรภ์ครั้งแรกนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยทั่วไปอีกด้วย เพื่อ ตรวจดูว่าผู้ที่จะเป็นมารดานั้นมีโรคอะไรที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อทารกในครรภ์บ้าง หากว่ามีก็จะได้ทำการรักษาเสียให้หายขาดในระยะแรกๆ เป็นต้นว่า บางทีก็ตรวจพบว่าเป็นเป็นโรคหัวใจแต่ทว่าคนไข้ก็ยังไม่มีอาการอะไรออกมาให้เห็น โรคพวกนี้ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่รักษาเสียแต่ในระยะแรกอาจจะเกิดหัวใจวายได้เมื่อครรภ์แก่ใกล้คลอด ในระยะคลอดหรือหลังคลอดก็ได้

3. การตรวจทางห้องทดลองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก จำเป็นอย่างไรโปรดพิจารณาดูได้ ดัง ต่อไปนี้

ก. การตรวจโลหิต แพทย์จะได้ทราบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โรคที่แพทย์พบบ่อยๆ ก็ คือ โรคโลหิตจาง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกส่วน หรือมีสาเหตุมาจากโรคเลือดอย่างอื่นๆ หากพบเสียแต่แรกก็จะได้ทำการรักษาผู้ที่จะเป็นมารดา ได้ทันเวลาก่อนที่จะย่างเข้าสู่ระยะคลอด

ข. ตรวจเลือดเพื่อจะดูว่าผู้ที่เป็นมารดานี้เป็น กามโรคชนิดใดหรือไม่อย่างไร? หากมีอยู่ เช่น ซิฟิลิส โกโนเรีย ก็จะได้ทำการรักษาให้หายเสียก่อน เพื่อป้องกันโรคมิให้แพร่เข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้

ค. การตรวจปัสสาวะ อาการผิดปกติของการตั้งครรภ์บางอย่างก็ตรวจพบได้ด้วยการหา "ไข่ขาว" ในปัสสาวะ นอกจากนั้นการตรวจปัสสาวะก็จะทราบได้ว่ามีอาการผิดปกติในทางเดินปัสสาวะด้วยหรือไม่ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ซึ่งมักพบได้บ่อยๆ ในระยะตั้งครรภ์ การตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะก็เป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องตรวจให้แน่ว่า ผู้ที่จะเป็นมารดานี้ป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ ถ้าป่วยก็จะต้องได้รับการเยียวยารักษาต่อไปอีก หลังจากการตรวจครั้งแรกผ่านไปแล้ว แพทย์ก็จะนัดให้ผู้ที่จะเป็นมารดาไปตรวจอีกเป็นระยะๆ ไป ในรายที่ครรภ์อ่อนๆ ก็จะต้องได้รับการตรวจทุกๆ 4 - 6 สัปดาห์ ในระยะหลังๆ ของการตั้งครรภ์ก็จะนัดให้ไปตรวจทุก 1 - 3 สัปดาห์ แล้วแต่ความจำเป็นที่แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป การไปตรวจครรภ์ตามนัดนั้น ขอให้ผู้ที่จะเป็นมารดาเข้าใจว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าไม่สามารถไปตามนัดได้ก็รีบไปในทันทีที่มีเวลา ในการตรวจครรภ์ในระยะนี้ก็เพื่อจะได้ทราบถึงภาวะของการตั้งครรภ์ เช่น ทารกมีความเจริญเติบโตตามกำหนดหรือไม่ อย่างไร ทารกอยู่ในท่าที่เป็นปกติหรือเปล่า หรือมีอาการของโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง โรคแทรกซ้อนบางอย่างนั้นบางชนิดก็เกิดในระยะหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งหากได้รับการรักษา ป้องกัน ก็จะทำให้การคลอดดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยทั้งมารดาและทารกด้วย


ฝากครรภ์ที่ไหน?
ในการฝากครรภ์นั้น ผู้ที่จะเป็นมารดาควรจะไปฝากที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย แพทย์จะได้ทำประวัติ แนะนำวิธีปฏิบัติตนเองและตรวจวินิจฉัยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นควรทำอย่างไร หรือไม่ควรทำอะไร อะไรที่ควรงดเว้นเด็ดขาด อีกประการหนึ่งแพทย์ก็จะได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ด้วย และมีการกำหนดวันคลอดให้อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น