วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 9-12

ดูแลครรภ์สัปดาห์ที่ 9-12

ท้องจะยังไม่โตให้เห็น ขนาดของมดลูกระยะนี้มีขนาดเท่าลูกเทนนิส นิ่ม มีเมือกมาปิดบังแถวปากมดลูก เพื่อป้องกันลูกน้อยเอาไว้ ไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปโดยง่าย เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น คลำได้เป็นก้อนใหญ่ เรียกว่า เต้านมคัด

คุณจะรู้สึกเหนื่อย และต้องการพัก คุณพ่อควรช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระการงาน ให้คุณแม่คนใหม่ได้พักบ้าง
ลูกน้อยในท้องแม่ เริ่มก่อรูปร่าง ด้านบนเป็นศีรษะ และใบหน้า มีข้อศอก เข่า นิ้วมือ และนิ้วเท้า ให้เห็นได้แล้ว อวัยวะต่างๆพัฒนาขึ้น แต่ยังไม่สมบูรณ์ ระยะนี้จะมีน้ำหนักไม่ถึง 30 กรัม และยาวประมาณ 3-7 ซ.ม.

ลูกและแม่สื่อสารติดต่อกันทางรก โดยมีสายสะดือเป็นท่อต่อจากตัวลูก ไปยังรกที่ติดอยู่กับผนังมดลูกของแม่ ลูกน้อยจะได้รับอาหาร และออกซิเจนผ่านทางรก เข้าไปทางสายสะดือ ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ลูกน้อยจึงเติบโตขึ้นทุกวันคืน

ในเดือนที่ 2 นี้ คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง ยังรับประทานอาหารไม่ได้ ต้องพยายามรับประทานอาหาร ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ อาจจะรับประทานวันละ 6 มื้อ งดการสูบบุหรี่ และดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด และไม่ควรซื้อยามากินเอง ยาบางชนิดอาจหยุดยังการพัฒนา อวัยวะของลูก เช่น ยาทาลิโดไมด์ (Talidomite) ทำให้มีความพิการของแขนขา เป็นต้น

กินดี อยู่ดี
คนท้อง ต้องรับประทานอาหาร ที่เป็นประโยชน์ ต่อตัวคุณเอง และลูกน้อย โดยปริมาณต้องเพิ่มขึ้น ลูกต้องการอาหารไปสร้างเนื้อเยื่อ เซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะ อาหารที่มีโปรตีนสูง คือ เนื้อ นม ไข่ เต้าหู้ เนื้อปลา ไก่ เนย ปลากระป๋องที่ไม่มีกระดูก และผักใบเขียวต่างๆ

แคลเซียม
ต้นตอของแคลเซียมที่ดี คือ นมวัว หรือ โยเกิร์ต การดื่มนมเพื่อให้ได้แคลเซียมนั้น มีความสำคัญมากสำหรับคนท้อง ถึงขนาดที่ในรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา มีคูปอง ให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไปแลกได้ฟรี โดยได้นมสด 2 ถ้วย และโยเกิร์ต 2 ถ้วย ต่อวัน การที่ให้กินโยเกิร์ต ก็เพื่อให้ได้จุลินทรีย์สุภาพ แม่จะมีจุลินทรีย์ชนิดที่ดีๆ ในตัว เมื่อลูกคลอดผ่านช่องคลอดออกมา ก็จะได้จุลินทรีย์ที่ดีตั้งแต่เกิด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน จุลินทรีย์สุขภาพค่ะ)

วิตามิน
วิตามิน มีอยู่ในผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว สตอเบอรี่ เป็นต้น ส่วนวิตามินอื่นๆ คุณหมอจะจัดมาให้คุณแม่รับประทาน เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ ซึ่งจะมีวิตามินรวม แคลเซียม ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิค คุณแม่ไม่ควรหาวิตามินมารับประทานเอง นอกเหนือจากที่แพทย์สั่งนะคะ เพราะวิตามินบางชนิด ถ้ามากเกินไปอาจเกิดอันตรายต่อลูกได้

สำหรับคุณแม่ ที่รับประทานอาหารพวกเนื้อสัตว์ มากๆไม่ได้ ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม แนะนำให้ใช้รายการอาหารแลกเปลี่ยน คือ รับประทานอาหารอย่างอื่นเพื่อให้ได้รับ ปริมาณโปรตีนเพียงพอ รายการอาหารแลกเปลี่ยนมีดังนี้

-นมถั่วเหลือง 1 ถ้วย
-ไข่ 1 ฟอง
-ปลาทูตัวใหญ่ครึ่งซีก หรือตัวเล็ก 1 ตัว
-เต้าหู้แผ่น หรือ แบบหลอด 1 แผ่น หรือ หลอด
-ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง 2 ช้อนโต๊ะ
-ถั่วลิสง 30 เม็ด

ให้รับประทานให้ได้ทั้ง 2 ข้อ ต่อ 1 วัน ก็จะได้รับโปรตีนเพียงพอ ต่อความต้องการใน 1 วัน ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น