วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พ่อแม่ย้ายถิ่น ทำลูกหัวช้า !!!

พ่อแม่ย้ายถิ่น ทำลูกหัวช้า !!!



ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเด็ก เป็นช่วงเวลาที่สมองมีการเจริญเติบโต และการพัฒนาสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้ การเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็กจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ เด็กๆ จึงควรได้รับการดูแลทั้งด้านโภชนาการ และการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ตามวัยอย่างเหมาะสม

แต่ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งมีการย้ายถิ่นเพื่อหมุนตัวเองไปตามวงล้อของการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางทีอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กได้ไม่น้อย

อย่างล่าสุด จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2553 ได้มีงานศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพในประเด็นผลกระทบของการอพยพแรงงานย้ายถิ่นต่อพัฒนาการของเด็ก โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กที่พ่อแม่มีการย้ายถิ่น พัฒนาการด้านสติปัญญาจะล่าช้ากว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ย้ายถิ่น

โดยข้อมูลสำคัญที่ผู้วิจัยค้นพบในการย้ายถิ่นของพ่อแม่กับพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอายุ 1-12 ปี ในจ.แพร่ บุรีรัมย์ สระบุรี และกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มเด็กที่พ่อแม่ย้ายถิ่นจะมีสติปัญญาในเกณฑ์ล่าช้าถึงร้อยละ 42.9 ส่วนพ่อแม่ที่ไม่ได้ย้ายถิ่นมีสัดส่วนน้อยกว่าคือ ร้อยละ 28.9 แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มเด็กที่มีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นกลุ่มเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ย้ายถิ่น ร้อยละ 71.1 และกลุ่มเด็กที่พ่อแม่ย้ายถิ่น ร้อยละ 57.1

นอกจากนี้ผลการศึกษาวิจัยยังพบต่อว่า ปัญหาสำคัญคือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมของผู้ดูแลเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่คือปู่ย่าตายาย โดยพ่อแม่ที่ย้ายถิ่นไปทำงานมักส่งเงินไม่สม่ำเสมอ หรือได้รับเพียงจำนวนน้อย ในขณะที่ปู่ย่าตายายไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เด็กๆ ไม่ได้รับการดูแลทั้งทางด้านโภชนาการ และการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ตามวัยได้ดีเท่าที่ควร

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของผลกระทบอันเร้นลึกจากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ส่งแรงสะเทือนต่อชีวิตครอบครัว และสังคม ดังนั้นเด็กจะมีคุณภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการดูแล และเอาใจใส่ของพ่อแม่

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น